posttoday

ชีวิตใหม่ไร้ขยะ... เป็นไปได้!

17 กันยายน 2561

Go Zero Waste เป็นชื่อของนิทรรศการหมุนเวียน จัดขึ้นโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

ชีวิตใหม่ที่ไร้ขยะจะเป็นอย่างไรหนอ นึกภาพไม่ออกเลยทีเดียว เพราะมองไปรอบตัวขณะนี้ ก็เป็นอย่างที่เห็นและเป็นอยู่ นี่คือโลกใบเดิมที่ใหญ่ขึ้น โลกใบเดิมที่ขยะมากขึ้น ปัญหาที่พวกเราเพิ่งได้ตระหนักและรู้ซึ้งถึงพิษภัยเมื่อไม่นานมา สำหรับคนที่กำลังมองหาความท้าทาย นี่อาจเป็นความท้าทายที่เรียกได้ว่าที่สุดของทศวรรษนี้ Go Zero Waste...ชีวิตใหม่ไร้ขยะ โปรเจกต์เปลี่ยนโลก ที่ท้าทายมนุษย์โลกทุกคน

ชีวิตใหม่ไร้ขยะ... เป็นไปได้!

Go Zero Waste เป็นชื่อของนิทรรศการหมุนเวียน จัดขึ้นโดยกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นิทรรศการสำรวจพฤติกรรมต้นกำเนิดขยะและทางออกของปัญหา ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ขยะอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา การทำให้เหลือศูนย์คือความท้าทาย ถือโอกาสนี้ชักชวนทุกคนมาจุดประกายอีกครั้งในสังคมเรา

ชีวิตใหม่ไร้ขยะ... เป็นไปได้!

“โลกรณรงค์เรื่องขยะมาไม่ต่ำกว่า 3 ทศวรรษ ขณะที่ไทยแกะรอยตามมาอย่างช้าๆ ท่ามกลางความเข้มข้นของผลกระทบ ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากพิษภัยขยะ”

ดร.สุปรีดา เล่าว่า ปัญหาขยะในบ้านเรา คือการใช้อย่างไม่คุ้มค่า คือความสูญเปล่าที่สร้างปัญหา และคือการกำจัดทิ้งที่ไม่ถูกวิธี ปัจจุบันไทยสร้างขยะสูงสุดติดอันดับ 6 ของโลก ด้วยการสร้างปริมาณขยะมูลฝอยรวม 27.4 ล้านตัน/ปี โดย 1 ใน 5 ของขยะทั้งหมดมาจากกรุงเทพมหานคร นั่นหมายถึงการต้องกลับมาทบทวนพฤติกรรมตัวเองในฐานะต้นตอขยะ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยลดปริมาณขยะลง คำตอบมีอยู่แล้ว

ชีวิตใหม่ไร้ขยะ... เป็นไปได้!

“คำตอบคือการขยับตัวจากทุกระดับ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครในสังคมนี้ ตั้งแต่ระดับบุคคลในครัวเรือน ไปจนถึงระดับองค์กร ชุมชน และในระดับประเทศ สำคัญมากที่สุดก็คือตัวเราทุกคนว่าในฐานะผู้ผลิตขยะ ที่จะผลิตขยะให้ต่ำสุดได้อย่างไร หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ขนาดไหน เรียนรู้ที่จะกำจัดขยะให้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพเพียงใด”

ขณะเดียวกันกรอบนโยบายในระดับประเทศ ที่ใช้กำกับและสนับสนุนต่อกระบวนการใดใดที่เกี่ยวข้อง ก็สำคัญไม่แพ้กัน ดร.สุปรีดาตั้งข้อสังเกตว่า ไทยสามารถเรียนรู้จากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วในเรื่องนี้ เช่น กลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียน กลุ่มยุโรปตะวันออก บางมลรัฐของสหรัฐอเมริกา หรือในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น ไต้หวัน และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ถือว่ามีมิติของการกำจัดขยะที่ทรงประสิทธิภาพสูงสุด

“เราเรียนรู้ได้ และประยุกต์ให้เข้ากับบริบทสังคมของเราได้”

ปราณี หวาดเปีย คุณครูประจำโรงเรียนรุ่งอรุณ เล่าว่า โรงเรียนรุ่งอรุณเริ่มเห็นปัญหาขยะจากโรงเรียน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะอาหาร เป้าหมายของการจัดการขยะในโรงเรียนมาจากความคาดหวังที่จะดูแลขยะในชุมชนของตัวเอง และส่งต่อขยะที่เหลือน้อยที่สุดให้ กทม. ขยะที่สร้างปัญหาที่สุดคือขยะอาหาร

“ขยะอาหารนั้น ไม่เหลือ ทิ้งน้อยที่สุด ดีที่สุด”

จากจุดเริ่มต้นที่คัดแยกขยะเมื่อ 14 ปีก่อน ขณะนั้นโรงเรียนมีขยะ 206 กิโลกรัม/วัน ถึงปัจจุบันปี 2561 โรงเรียนมีขยะไม่เกิน 30 กิโลกรัม/วัน ปราณีเล่าว่า เด็กและทุกคนในโรงเรียนจัดการขยะของตัวเอง นั่นคือการจัดการที่ต้นทาง อีกแนวทางหนึ่งคือการเปลี่ยนขยะให้เป็นทรัพยากร มองให้เห็นประโยชน์ของทรัพยากร

“โลกนี้ไม่มีขยะ เพราะมองในมุมหนึ่งแล้วขยะก็คือทรัพยากรโลก เมื่อเรามองที่ประโยชน์ ก็จะเห็นประโยชน์ เห็นแนวทางที่จะจัดการ”

ชีวิตใหม่ไร้ขยะ... เป็นไปได้!

สำหรับการคัดแยกขยะสำหรับผู้เริ่มต้น ปราณีแนะนำว่า ขอให้ใช้หลักการสังเกต สังเกตว่าขยะนั้นควรแยกอย่างไร ทำมาจากอะไร หรือหาความรู้ในการคัดแยกแล้วส่งต่อแก่ผู้ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้คือใช้หลักการต่อสู้กับจิตใจของ
ตัวเอง ฝึกฝืนจากความสบายหรือความคุ้นชินเก่าๆ สุดท้ายคือการลงมือปฏิบัติ

ดร.กุลธิดา จันทร์เจริญ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุมชน (ศวพช.) มหาวิทยาลัยสยาม เล่าว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำงานกับชุมชนในเขตเมืองจำนวนกว่า 2,000 ชุมชน พบว่าปัญหาอันดับหนึ่งของทุกชุมชนล้วนเป็นปัญหาเดียวกัน นั่นคือปัญหาขยะ และเป็นทุกคนในทุกชุมชนที่ชี้ออกนอกตัวหมด

“ทุกคนชี้ไปที่คนอื่น คนอื่นเอาไปสิ หน่วยงานต่างๆ เอาไปทิ้งสิ แต่ลืมนึกว่าขยะเกิดจากตัวของพวกเขาเอง”

การเดินหน้าแก้ปัญหาขยะในเมือง ดร.กุลธิดาเล่าว่า ได้เริ่มทดลองจากชุมชนในเขตภาษีเจริญ ที่มีขยะท่วมทับกำแพงบ้านหลังหนึ่งในชุมชนจนกำแพงขยะแห่งนี้สูงมิดกว่า 2 เมตร รวมทั้งกินพื้นที่ติดต่อไปอีก 2 ไร่ กลายเป็นภูเขาขยะ ที่สร้างปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง

“จุดประกายด้วยการท้าทาย สองไร่นี้เอาขยะออกไปให้หมดภายใน 15 วันทำได้มั้ย เราท้าทั้งชาวบ้าน ท้าทั้งเขต ท้าทั้งภาคี ปรากฏว่าทำได้ ขยะ 2 ไร่กลายเป็นพื้นที่ส่วนกลางที่สวยงามและทุกคนได้ใช้ประโยชน์ ช็อกไปตามๆ กัน”

ปฏิบัติการช็อกแล้วแชร์ ช็อกทั้งคนในพื้นที่ ช็อกทั้งคนนอกพื้นที่ กระบวนการเริ่มจากการสร้างศรัทธาคนในชุมชน เมื่อพวกเขาทำได้ สำนึกรักชุมชนก็เกิดไม่ยาก ทุกคนทำได้และช่วยรักษามันเอาไว้ จากนั้นจึงแชร์หรือแบ่งปันต่อไปยังชุมชนอื่นที่มีปัญหาขยะล้น

“ช็อกและแชร์ เริ่มจากศรัทธาในตัวเอง ที่สำคัญคือไม่หยุด หากเขยื้อนต่อไปเรื่อยๆ เพราะขยะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าไม่รักษาไว้ จะกลับมาซ้ำเดิม เรื่องนี้สอนว่าไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ ไม่ว่าขยะจะล้นเมืองหรือมากขนาดไหน ก็ทำได้แน่นอน”

ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย ตัวแทนกลุ่มแทรช ฮีโร (Trash Hero) ประเทศไทย เล่าว่า 80% ของขยะทั้งหมดจมอยู่ในทะเล จากขยะบกหรือขยะบนบก ที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นขยะทะเล เนื่องจากธรรมชาติของขยะจะเคลื่อนตัวไหลลงสู่ที่ต่ำไปกองสุมอยู่ที่ก้นทะเลลึก เกิดเป็นกองภูเขาขยะที่มองไม่เห็น ปัญหาขยะในทะเลถือเป็นปัญหาระดับโลก ที่ไม่มีทางออกใดเลยนอกจากทำให้เป็นศูนย์ให้เร็วที่สุด

“ทางรอดคือซีโร่ ขยะที่มีอยู่แล้วขณะนี้กว่า 8 ล้านตันในทะเล ยังไม่รู้จะกู้เก็บขึ้นมายังไงเลย ถ้ายังเพิ่มเรื่อยๆ อีกปีละ 8 ล้านตัน อะไรจะเกิดขึ้น หรือขนาดว่าเราหยุดตัวเลขให้เป็นศูนย์ในวันนี้นะ ก็ที่ก้นทะเลตอนนี้ล่ะ ปัจจุบันไม่มีเทคโนโลยีใดที่กู้เก็บได้”

ไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ขยะเหลือศูนย์ จะทันหรือไม่กับวิกฤตการณ์ขยะโลกที่ก่อตัวขึ้น ตัวแทนกลุ่มแทรช ฮีโร บอกว่า ตอบยาก แต่อย่างน้อยที่สุดก็ดีกว่าไม่เริ่มหรือไม่ลงมือทำอะไรเลย ขยะเริ่มจากตัวเรา เริ่มที่ตัวเรา สุดท้ายแล้วคือการร่วมมือกัน ช่วยกัน และสนับสนุนกันในอย่างใดอย่างหนึ่ง

Trash Hero เป็นปฏิบัติการพิชิตขยะ จิตอาสาที่ระดมพลเก็บขยะในหลายภูมิภาคทั่วโลก ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี เก็บขยะไปแล้วมากกว่า 6 แสนกิโลกรัม หรือ 600 ตัน มีสมาชิกหรือแนวร่วมกว่า 1 แสนคนทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมี 25 แห่งทั่วประเทศ เข้าไปดูรายละเอียดและลงทะเบียนร่วมเก็บขยะ (ใกล้บ้านคุณ) ได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Trash Hero Thailand

การจัดการขยะเป็นความท้าทายของทุกภาคส่วน ต้องเริ่มจากคนทุกคนในสังคม ใช่! แม้บางครั้งที่เราคิดว่า ปัญหาของโลกมันช่างใหญ่และท่วมท้นจนไม่มีทางแก้ไขหรือสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ แต่ก็มีหลายวิธีที่เราจะช่วยได้ เริ่มจากการท้าทายตัวเองว่า จากจุดที่ยืนอยู่ เราทรงพลังเพียงไหน และเราจะช่วยเปลี่ยนแปลงโลกไปในทางบวกเพียงไหน

Go Zero Waste

นิทรรศการหมุนเวียนและความคาด หวัง นั่นคือการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนต่อสถานการณ์ขยะที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นิทรรศการสร้างจิตสำนึกผ่านประสบการณ์การเรียนรู้ใน 4 โซนหลัก
1.Check & Shock สำรวจพฤติกรรมสร้างขยะ (ของตัวเอง บ้าน ร้านค้า
โรงเรียน ฯลฯ) ในชีวิตประจำวัน
2.Waste Land สถานการณ์ขยะปัจจุบัน
3.Waste Wow นวัตกรรมการกำจัดขยะใกล้ตัว เช่น ไซดักขยะที่บ้านนาดี จ.ศรีสะเกษ กล่องหมักปุ๋ย Eco Brick
4.Zero Waste World เรียนรู้ต้นแบบ การจัดการขยะจากทั่วโลก

ขอเชิญมาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถึงแนวคิด วิธีการ รวมทั้งปัจจัยความสำเร็จ ทางออกปัญหาขยะล้นเมือง หนทางที่ทุกคนต้องช่วยกัน นิทรรศการจัดแสดงตั้งแต่วันนี้-30 ม.ค. 2562 ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.