posttoday

โอโซนโฮล หลุมยักษ์ของโลกที่ยังปิดไม่ได้

13 กันยายน 2561

16 ก.ย. 2530 เป็นวันที่คนทั้งโลกต่างรับรู้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก และหากไม่หยุดสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้จะตายจากไปอย่างรวดเร็ว

เรื่อง : โยธิน อยู่จงดี ภาพ : เอเอฟพี, องค์การนาซ่า

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2530 เป็นวันที่คนทั้งโลกต่างรับรู้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก และหากไม่หยุดสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้จะตายจากไปอย่างรวดเร็ว ปัญหานั้นก็คือ โอโซนโฮล หรือรูรั่วที่ชั้นบรรยากาศโลก ก่อให้เกิดสนธิสัญญาความร่วมมือครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ก็คือ อนุสัญญาเวียนนาและพิธีสารมอนทรีออล

ลงนามพร้อมใจเปลี่ยนมาใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน หรือเอชซีเอฟซี แทนสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน หรือซีเอฟซี ที่ทำลายโอโซนในชั้นสตราโทสเฟียร์ โดยมีผลบังคับใช้ในปี 2532 และกำหนดให้วันที่ 16 ก.ย.ของทุกปีเป็นวันโอโซนโลก

โอโซนโฮล หลุมยักษ์ของโลกที่ยังปิดไม่ได้

โอโซนมีทั้งดีและไม่ดี

ดร.นริศรา ทองบุญชู อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี นักวิจัยนาซ่า และผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษในชั้นบรรยากาศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง บอกว่า เมื่อพูดถึงวันโอโซนโลก จึงอยากจะใช้โอกาสตรงนี้ทำความเข้าใจว่า โอโซนนั้นคืออะไร เพราะยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับโอโซนบางอย่างอยู่

“โอโซนแบ่งออกเป็นกู๊ดโอโซนและแบดโอโซน ในสูตรเคมีทั้งสองแบบคือสูตรเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันตรงสถานที่ที่อยู่ของโอโซน หากอยู่ในชั้นสตราโทสเฟียร์ที่สูงกว่าผิวโลกประมาณ 20-30 กม. จะเป็นโอโซนที่ดี ทำหน้าที่ห่อหุ้มชั้นบรรยากาศโลก ไม่ให้รังสีหรือแสงที่มีความยาวคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตส่งผ่านถึงพื้นโลก

หากเป็นโอโซนที่อยู่ในชั้นบรรยากาศที่เราอาศัยอยู่ ก็คือชั้นโทรโพสเฟียร์นั้นจะเป็นโอโซนที่ไม่ดี ที่เขาบอกกันว่าไปเที่ยวสูดโอโซน หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีโอโซนสูง ที่จริงแล้วมันไม่ดีอย่างที่คิด ก๊าซโอโซนมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรคที่ดีมาก แต่หากสูดดมเข้าไปจะเกิดอาการแสบโพรงจมูก แสบคอ แสบตา เป็นอันตรายต่อเยื่อบุผิวหนัง

ดังนั้น ปัญหาเรื่องโอโซนของโลกจึงอยู่ที่ชั้นบรรยากาศ คือ โอโซนโฮล ที่จะส่งผลกระทบต่อคนทั่วโลก แต่โอโซนที่ใช้ในการฆ่าเชื้อโรคมีเครื่องอบโอโซนในรถ ในห้องนอน นั้นเป็นกิจกรรมภาคพื้นดินที่ส่งผลกระทบในแง่สุขภาพส่วนบุคคล หากมีการใช้งานอย่างไม่ถูกต้อง”

 

โอโซนโฮล หลุมยักษ์ของโลกที่ยังปิดไม่ได้

จุดเริ่มต้นของโอโซนโฮล

ย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นที่เรารู้จักกับโอโซน คือเมื่อประมาณ 61 ปีที่แล้ว เริ่มมีเครื่องมือตรวจวัดค่าต่างๆ มีดาวเทียมที่ช่วยในการตรวจวัดโอโซนแล้วเก็บเป็นข้อมูลทุกปี จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์เริ่มพบว่าบริเวณขั้วโลกใต้มีปริมาณความหนาแน่นของโอโซนลดลงอย่างน่าประหลาดใจ จึงพยายามค้นหาข้อมูลว่าเกิดอะไรขึ้นกับโอโซนของโลก

ในที่สุดก็เจอสมมติฐานว่า เกิดจากสารเคมีบางกลุ่มหรือสารพิษต่างๆ เช่น สารประกอบซีเอฟซีในเครื่องปรับอากาศ เครื่องดับเพลิง ที่เป็นสารในกลุ่มฟลูออโรคาร์บอน ไม่ทำปฏิกิริยากับอะไรเลย แต่มีนักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มหนึ่งสามารถพิสูจน์และอธิบายได้ว่าสารประกอบซีเอฟซีนี้ทำปฏิกิริยากับก๊าซโอโซนในชั้นบรรยากาศโลก พอมีหลักฐานยืนยันให้ชัดเจนขึ้น จึงมีการทำพิธีสารมอนทรีออล เพื่อยับยั้งไม่ให้โอโซนโฮลขยายตัวไปมากกว่านี้

ดร.นริศรา เสริมว่า โอโซนโฮลนี้เกิดขึ้นเฉพาะฤดูร้อนของขั้วโลกใต้เท่านั้น จะไม่เกิดโอโซนโฮลในแถบเส้นศูนย์สูตรหรือขั้วโลกเหนือ เพราะปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดรูรั่วในชั้นโอโซนก็คือเรื่องความเย็น

“ในแถบซีกโลกเหนือ หากดูแผนที่โลกเราจะเห็นได้ว่ามีพื้นที่ที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเกิดความร้อนที่ทำให้สารประกอบซีเอฟซีที่ลอยสู่ชั้นบรรยากาศ รวมตัวทำปฏิกิริยากับโอโซนของโลกไม่ได้ หรือเกิดแต่ก็เกิดขึ้นน้อยมากและอยู่ไม่นาน

สารเหล่านี้จะจับรวมตัวกันเป็นกลุ่มเมื่อเจอสภาพอากาศหนาวเย็น จึงถูกพัดไปตามกระแสลมของโลกเมื่อพัดไปถึงบริเวณขั้วโลกใต้ เจอกับอากาศเย็นจัดจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มเมฆอยู่ในบริเวณนั้น พอเริ่มเข้าช่วงฤดูร้อน อากาศเริ่มอุ่นขึ้นสารประกอบซีเอฟซีก็จะถูกคลายตัวปล่อยออกมาทำปฏิกิริยากับโอโซน ทำให้เกิดโอโซนโฮลดังในพื้นที่ขั้วโลกใต้

ที่จริงแล้วในชั้นสตราโทสเฟียร์ เราพบว่าไม่มีเพียงแค่สารประกอบซีเอฟซีเท่านั้น ยังมีก๊าซและสารเคมีอื่นๆ ที่พบอยู่ในแผ่นดินของโลกลอยไปปะปนอยู่ในชั้นสตราโทสเฟียร์ที่สูงขนาดนั้น เพราะมีปัจจัยที่ส่งให้สารพิษ สารเคมี และฝุ่นละอองต่างๆ ลอยขึ้นไปปะปน เช่น การเกิดพายุที่สามารถพัดพาเอาก๊าซและสารเคมีที่ลอยอยู่ในอากาศจากพื้นโลกขึ้นไปสู่ข้างบนได้ การเกิดกระแสลมพัดพาให้สารเคมีเหล่านี้ลอยสูงขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศระดับบนได้

หากประเทศใดประเทศหนึ่งทำกิจกรรมที่ปล่อยสารพิษสารเคมีที่เป็นอันตรายออกมาในอากาศ ประเทศเพื่อนบ้านหรือกระทั่งคนที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งที่ห่างไกลก็จะได้รับผลกระทบนี้ตามไปด้วย

สำหรับสถานการณ์โอโซนโฮลในปัจจุบันตอนนี้ดีขึ้นไหม ต้องตอบว่าปัญหาโอโซนโฮลของโลกยังมีอยู่ เพราะว่าสารเหล่านี้เมื่อถูกปล่อยออกไปแล้วจะมีอายุเป็นร้อยปีกว่าจะเสื่อมสลายไป ดังนั้น 30 ปีที่ผ่านมาที่มีการลดการใช้สารซีเอฟซี รวมทั้งสารอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ เราพยายามกันอยู่ในเวลานี้ก็เพื่อลูกหลานของเราในอีกร้อยปีข้างหน้า ไม่ให้แย่ลงไปกว่านี้”

โอโซนโฮล หลุมยักษ์ของโลกที่ยังปิดไม่ได้

สารใหม่ไม่ทำลายโอโซน

หากมองเรื่องโฮโซนโฮลที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยคงไม่ชัดนัก แต่ด้วยประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าร่วมลงนามพิธีสารมอนทรีออล เราจึงมีการบังคับใช้สารซีเอฟซีตามมติโลก ข้อมูลที่ได้รับจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ประเทศไทยนั้นครบกำหนดการห้ามใช้สารซีเอฟซีมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการใช้สารซีเอฟซีในทุกอุตสาหกรรมแล้ว

จากการประชุมพิธีสารมอนทรีออลครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 ได้มีมติให้ขยายผลการลดและเลิกใช้สารเอชซีเอฟซี ที่เคยใช้ทดแทนสารซีเอฟซี เนื่องจากมีการค้นพบว่าสารเอชซีเอฟซีมีคุณสมบัติเป็นสารที่ยังทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนอยู่ แม้จะไม่มากเท่ากับสารซีเอฟซี จึงเป็นหน้าที่ในการหาสารทำความเย็นแบบใหม่ที่ทำลายชั้นบรรยากาศให้น้อยที่สุดและไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมด้านอื่น ซึ่งใช้เวลาเกือบ 10 ปี กว่าจะได้มติลงความเห็นว่าให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากการใช้สารเอชซีเอฟซีมาเป็นการใช้สารทำความเย็นเอชเอฟซี 32 หรือชื่อย่อว่า อาร์ 32 แทน

เดิมทีสารเอชซีเอฟซีมีค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน (ODP - Ozone Depleting Potential) อยู่ที่ 0.05 และค่าศักยภาพทำให้โลกร้อน (GWP - Global Warming Potential) อยู่ที่ 1,810 แต่สารทำความเย็นเอชเอฟซี 32 มีค่าศักยภาพการทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนอยู่ที่ 0 และมีค่าศักยภาพทำให้โลกร้อนจีดับบลิวพีอยู่ที่ 675 หมายความว่า สารตัวใหม่อย่าง เอชเอฟซี 32 จะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศน้อยลงกว่าสารเดิม ถึง 2.68 เท่า และไม่ทำลายชั้นโอโซนในบรรยากาศโลกอีกด้วย

หลังจากปี 2561 เป็นต้นไป กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศ และกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตโฟม เดิมประเทศไทยเรานำเข้าสารเอชซีเอฟซีสูงถึง 1.8 หมื่นล้านตัน เพื่อผลิตเครื่องปรับอากาศส่งออกไปต่างประเทศ จะค่อยๆ ทำการปรับเปลี่ยนมาใช้สารเอชเอฟซี 32 ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 20 ปี จึงเลิกใช้สารเอชซีเอฟซีได้หมด เหมือนที่เคยยกเลิกสารซีเอฟซีมาก่อนหน้านี้

โอโซนโฮลไม่น่ากลัวเท่าภาวะโลกร้อน

ดร.นริศรา ทิ้งท้ายถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับชั้นบรรยากาศโลกที่กระทบต่อเนื่องอีกว่า หากจะว่าไปแล้วเวลานี้โอโซนโฮลนั้นเป็นปัญหาใหญ่อยู่ก็จริง แต่ก็เกิดเฉพาะขั้วโลกใต้ในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น และยังต้องใช้เวลาอีกเป็นร้อยปีกว่าผลกระทบนี้จะลดลง รวมทั้งกระทบกับประเทศที่อยู่ใกล้แถบขั้วโลกใต้ ในเวลาที่โอโซนโฮลกระจายตัวไปบริเวณรอบๆ

หากปัญหาที่กระทบกับคนทั้งโลกทุกเวลา ก็คือปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นวิกฤตด้านพลังงานในโลก เมื่อชั้นบรรยากาศมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และก๊าซอื่นๆ ที่ส่งผลต่อภาวะเรือนกระจกโลกสูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่ออุณหภูมิโลกโดยตรง

ธรรมชาติโลกของเราจะมีความพยายามในการปรับสมดุลของโลก เราจึงพบว่ามีพายุที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะพลังงานความร้อนบนโลกเพิ่มขึ้น กิจกรรมของมนุษย์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาตลอดเวลา โดยเฉพาะก๊าซมีเทนที่ส่งผลมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลายเท่า เรากลับมองข้ามไป

ก๊าซมีเทนเกิดได้จากการทำปศุสัตว์และการเกษตร เช่น การทำนา ในพื้นที่น้ำขังเป็นเวลานานเชื้อจุลินททรีและแบคทีเรียต่างๆ จะย่อยอาหารและปล่อยก๊าซมีเทนออกมาในปริมาณสูง แต่เราไม่สามารถควบคุมตรงนี้ได้เพราะเป็นแหล่งเพาะปลูกอาหารของมนุษย์

สิ่งที่เราจะทำเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ก็คือการปลูกต้นไม้ ลดการใช้พลังงาน เลือกการใช้รถและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน อย่างน้อยที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การปลูกต้นไม้ที่ช่วยดูดซับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรอบอย่างมีประสิทธิภาพ แล้วปล่อยก๊าซออกซิเจนที่เป็นประโยชน์กับสิ่งมีชีวิตออกมา เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของเราไว้ได้