posttoday

เทคนิคสำคัญใช้จัดพอร์ตรับวัยเกษียณ

11 กันยายน 2561

เรื่องเงินปัญหาใหญ่สังคมสูงอายุ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีเงินดูแลตัวเอง

เรื่อง กันย์ ภาพ Pixabay

สังคมผู้สูงวัยเริ่มขึ้นแล้วในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ไทยเรามีผู้สูงอายุมากถึง 14% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 30% ในอีก 30 ปี
ข้างหน้า สาเหตุ 3 อย่างของการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุคือ อัตราการเกิดน้อยลง แต่งงานกันช้า บางคู่ก็ไม่อยากมีลูก ประชาชนมีสุขภาพดีขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้ก้าวหน้าไปกว่าแต่ก่อนมาก และอัตราการตายน้อยลงเนื่องจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ซึ่งทั้ง 3 อย่างนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

เรื่องเงินปัญหาใหญ่สังคมสูงอายุ

อีก 30 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุ 15-20 ล้านคน แต่ที่น่ากลัวไปมากกว่านั้นคือพบว่า 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนยากจน มีเงินใช้เดือนชนเดือน และอาจไม่สามารถหาปัจจัย 4 ได้อย่างครบถ้วน บางคนไม่มีที่อยู่ บางคนไม่มีข้าวกิน บางคนไม่มีเสื้อผ้าใหม่ๆ ใส่ และบางคนไม่มีเงินซื้อยารักษาเมื่อไม่สบาย ต้นเหตุที่สำคัญที่สุดของปัญหาก็คือเรื่องเงิน คนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่เรียกว่ารุ่น Baby Boomer ซึ่งส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังเรื่องความขยันและการหาเงิน แต่คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักไม่รู้ถึงวิธีเก็บเงินที่ถูกต้อง

ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีเงินดูแลตัวเอง

สังคมไทยเป็นสังคมอุปถัมภ์ ลูกหลานมักจะเป็นผู้ดูแลคุณพ่อคุณแม่ยามแก่เฒ่า ทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าเรื่องการวางแผนเกษียณเป็นเรื่องไกลตัว จึงไม่ได้ให้ความสำคัญ ทำให้ไม่มีการวางแผนเพื่อการเกษียณอย่างถูกวิธี วันนี้คนไทยรู้จักวิธีการลงทุนที่ถูกต้องเพียง 6-7% เท่านั้นเอง หมายถึงการวางแผนและจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมกับระยะเวลาการลงทุนและเป้าหมาย ส่วนมากมองเรื่องลงทุนเป็นเรื่องยากและน่ากลัว อาจเป็นเพราะได้รับการปลูกฝังจากประสบการณ์ที่ไม่ดีในช่วงปีที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เหตุการณ์ในครั้งนั้นทำให้คนไทยหลายคนมองว่าตลาดหุ้นเป็นบ่อนการพนันเพราะหมดเนื้อหมดตัวจากช่วงวิกฤต ความเป็นจริงแล้วคนไทยส่วนใหญ่ลงทุนอย่างไม่ถูกต้อง การลงทุนที่ถูกควรมีการจัดพอร์ตการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ จำไว้เลยเวลาที่ขาดทุนหุ้นตก จะมีสินทรัพย์ชนิดอื่นที่สามารถเข้ามาลดแรงกระแทกได้เสมอ

สิ่งที่ต้องทำสำหรับจัดพอร์ตเกษียณ

1.อายุมากขึ้น ความเสี่ยงต้องลดลง

คนที่อายุเยอะๆ ใกล้ๆ วันเกษียณในบ้านเราปัจจุบันมักจะมีการลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงมากกก บางคนอาจลงทั้ง 100% ของพอร์ตลงทุนเลยทีเดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วอายุมากขึ้น ความเสี่ยงต้องลดลงการแก้ปัญหานี้คือการสร้างพอร์ตสำหรับแต่ละช่วงอายุขึ้นมาที่เรียกว่า Glide Path หลักการคือในช่วงที่อายุน้อยๆ จะเน้นลงทุนในหุ้นเยอะๆ เพื่อสร้างผลตอบแทน และสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจะลดลงเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีก่อนการเกษียณสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจะลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป้าหมายการลงทุนสำหรับผู้ที่กำลังจะเกษียณคือมุ่งเน้นรักษาเงินต้น การทำแบบนี้เป็นหลักการลดความเสี่ยงที่สำคัญสำหรับการวางแผนลงทุนเพื่อการเกษียณ

2.เลือกแผนลงทุนเพียงครั้งเดียว สัดส่วนจะเปลี่ยนตามอายุงานที่เหลือ

หลายคนเลือกแผนการลงทุนสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไว้ตอนเข้าทำงานและไม่เคยเปลี่ยนเลย เป็นหลักการที่ผิดอย่างยิ่ง ปัญหาของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพคือ สมาชิกมักไม่ค่อยทำการเปลี่ยนแผนการลงทุนอาจจะเพราะขาดความรู้ความเข้าใจหรือไม่มีเวลา กองทุนสมดุลตามอายุมีการใช้เทคนิคปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนอัตโนมัติทุก 10 ปีเพื่อให้ความเสี่ยงลดลงเมื่ออายุมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อค่อยๆ รักษาเงินลงทุนให้พร้อมในวันที่เราเกษียณ และจะมีการลดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีสุดท้ายของการทำงานเพื่อความปลอดภัย นับว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ

3.วางพอร์ตระยะยาว แต่ต้องปรับเปลี่ยนได้ในระยะสั้น

การวางแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณเป็นการจัดพอร์ตระยะยาวสำหรับ 30 ปีข้างหน้าหรือที่เรียกว่า Strategic Asset Allocation แต่ในความเป็นจริงนั้นพอร์ตลงทุนก็ควรมีการปรับเปลี่ยนระยะสั้นเหมือนกันเรียกว่า Tactical Asset Allocation ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้างผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากมุมมองการลงทุนของผู้เชี่ยวชาญ เช่น พอร์ตการลงทุนระยะยาวควรมีหุ้นอยู่ในพอร์ต 50% แต่เริ่มมีสัญญาณว่าอาจเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอีก 3 เดือนข้างหน้า ผู้จัดการกองทุนจะมีบทบาทในการปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนหุ้นให้ลดลงเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง โดยอาจลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 35% เป็นต้น บางคนอาจคิดว่า ก็มันจะเกิดวิกฤตทำไมไม่เอาหุ้นออกจากพอร์ตไปให้หมดล่ะ ไม่ควร เพราะอะไรมันก็ไม่แน่ไม่นอน วิกฤตที่คิดไว้อาจจะไม่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้ และถ้าเอาหุ้นออกไปหมดแล้วไม่เกิดขึ้นพอร์ตการลงทุนของเราก็เสียโอกาสการลงทุนไปมากทีเดียว

เวลาที่ลงทุนไปนานๆ สัดส่วนการลงทุนอาจไม่เท่ากับที่เลือกไว้ตอนแรก จึงต้องทำการปรับสัดส่วนของพอร์ตลงทุนคือการซื้อถูก ขายแพง ในปีที่หุ้นขึ้นมาเยอะๆ ก็ควรขายทำกำไรออกบ้างและเอากำไรที่ได้ไปลงทุนในสินทรัพย์อย่างอื่นแทนเรียกว่าขายแพง ในปีที่หุ้นตกเยอะๆ จนสัดส่วนเพี้ยนไปจากตอนแรกมาก ก็ควรซื้อหุ้นกลับเข้าพอร์ต การซื้อหุ้นในช่วงที่หุ้นตกก็คือการซื้อถูก นั่นเอง

หลายคนตั้งใจลงทุนและวางแผนการเกษียณมาอย่างดี แต่พอเกษียณปุ๊บ เอาเงินทั้งหมดออกมาจากกองทุนแล้วฝากธนาคารไว้กินดอกเบี้ยเพื่อความสบายใจ จริงๆ แล้วไม่ถูกต้อง หลังจากที่เกษียณแล้วเรายังมีเวลาอีกหลายสิบปีก่อนที่จะเสียชีวิต เงินจำนวนนั้นก็ยังคนต้องลงทุนอยู่ แต่จะเป็นการจัดพอร์ตสำหรับวัยหลังเกษียณ ที่เน้นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งออกแบบให้มีแผนการลงทุนหลังเกษียณไว้ให้โดยเฉพาะ ทำให้มั่นใจได้ว่าการดูแลไม่ได้มีแค่ช่วงที่ทำงานเท่านั้น แต่หลังจากเกษียณไปแล้วก็ยังต้องลงทุนกันอยู่

การเกษียณไม่ใช่เรื่องไกลตัว อย่าคิดว่าอีกตั้งนานกว่าจะเกษียณยังไม่ต้องเตรียมตัวก็ได้ เป็นความคิดที่ผิดอย่างยิ่ง ออมก่อน รวยกว่า ยังคงใช้กับการลงทุนได้เสมอทุกยุคทุกสมัย