posttoday

กิตติศักดิ์ คเชนทร์ บ้านในโคลน...ในความทรงจำ

09 กันยายน 2561

“ผมเกิดและโตที่นั่น” กิตติศักดิ์ คเชนทร์ หนึ่งในนักเขียนผู้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2561

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน

“ผมเกิดและโตที่นั่น” กิตติศักดิ์ คเชนทร์ หนึ่งในนักเขียนผู้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2561 เจ้าของหนังสือ “บ้านในโคลน” แมวบ้านสำนักพิมพ์ เล่าถึงที่มาก่อนจะเป็นหนังสือเล่มนี้ บ้านในโคลน...บ้านในความทรงจำ

บ้านในความทรงจำของกิตติศักดิ์ ย้อนกลับไปยังหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขา อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช เขาคือเด็กชายวัย 4-5 ขวบ ที่ประสบเหตุการณ์น้ำท่วมซุงถล่ม บ้านของพ่อพังลง และเรือนของปู่ก็พังลงด้วย ไม่เฉพาะบ้านของพวกเขา แต่บ้านทุกหลังในหมู่บ้าน จมหายไปในทะเลโคลนท่ามกลางกระแสซุงนับหมื่นต้น

“ปู่เกิดที่นี่ พ่อเกิดที่นี่ ผมและน้องชายก็เกิดที่นี่ พ่อกำลังสร้างบ้านหลังใหม่ ภาพที่ผมจำได้คือภาพของคนที่กำลังตอกค้อนอยู่บนโครงหลังคา บ้านของพ่อเสร็จสมบูรณ์แล้ว รอเพียงฤกษ์เข้าบ้าน แต่ก็มาพังลงในวันนั้น”

อีกภาพหนึ่งที่จำได้และผุดขึ้นมาในความทรงจำเสมอ คือภาพที่พ่อแบกเขาข้ามทะเลซุงที่สูงท่วมหลังคา หลังเหตุการณ์น้ำท่วมซุงถล่ม ทุกสิ่งทุกอย่างทลายเป็นราบกลอง พ่อแบกลูกชายคนโตเดินบนท่อนซุง เดินผ่านเจ้าหน้าที่ที่กำลังลงพื้นที่ เดินผ่านศพคนตาย และเดินผ่านผู้คนที่กำลังมองหาศพญาติมิตร

เรื่องราวผสมผสานเค้าโครงจากภัยพิบัติ ทว่าจุดเริ่มเรื่องคือเมื่อต้นปีที่พ่อได้ลงเสาเอกของบ้าน ความหวังความฝันของพ่อ และเหตุการณ์ที่เป็นไป ในที่สุดพวกเขาต้องมาอยู่บ้านสงเคราะห์ที่ทางการสร้างให้ บ้านกับที่ดิน 1 งาน เหมือนกับเพื่อนบ้านในหมู่บ้านใหม่อีก 200 หลังคาเรือน

บ้านในโคลนถูกเล่าในมุมผู้ประสบภัย อยู่และดำรงอยู่ในฐานะผู้ประสบภัย ช่วง 3 ปีแรกที่บ้านสงเคราะห์สร้างไม่เสร็จ ลำบากกันมาก ปู่ต้องออกจากบ้านที่น้ำท่วม มาสร้างเพิงพักด้วยการเอาไม้ไผ่มาสร้างเป็นบ้านชั่วคราว ความช่วยเหลือส่วนใหญ่มาจากโลกภายนอก

“สิ่งที่เราเหลือมีเสื้อผ้ากันคนละชุด ผมโตขึ้นมาบนขนำชั่วคราว ได้รับแจกยาแจกผ้าห่ม ได้รับแจกมาม่าปลากระป๋อง ต้องขอบคุณทุกคนที่ทำให้เรามีชีวิตรอด ทุกวันนี้ผมก็ยังขอบคุณพวกเขาอยู่ ไม่รู้ว่าเป็นใครบ้างด้วยซ้ำ”

กิตติศักดิ์เรียนคณะรัฐศาสตร์ รามคำแหง เกิดคำถามผุดขึ้นในใจว่าชีวิตต้องการอะไร มีบางสิ่งบางอย่างอยู่ภายในที่ไม่เข้าใจ ใช่หรือไม่ที่กำลังเดินทางไป มีเพื่อนคนหนึ่งแนะนำให้เขียนออกมา เขาบอกให้เขียนสิ เขียนเป็นบันทึก แต่มันก็ไม่ได้เรื่อง ต่อมาได้มีโอกาสทำความรู้จักนักเขียนรุ่นพี่ จำลอง ฝั่งชลจิตร, ศิริวร แก้วกาญจน์ และ จเด็จ กำจรเดช กลุ่มนักเขียนที่มีคุณูปการต่อเขา โดยเฉพาะจำลอง ที่แนะให้สั่งสมต้นทุน อ่าน เขียน และคิดให้มาก

“ช่วงนั้นได้อ่านงานความสุขแห่งชีวิตของวิลเลียม ซาโรยัน ประทับใจ แต่ก็ยังคิดไม่ได้ หลับตามองตัวเองมีช่วงไหนบ้างนะที่เรามีความสุข ก็ค่อยๆ เห็นตัวเองในวัยเด็ก ที่แม้ประสบภัย แต่ก็สุขตามประสาเด็ก ผมมีความสุขนะ”

“พ่อกำลังสร้างบ้านใหม่ แม่มีรอยยิ้มเต็มใบหน้าในวันที่เสาต้นแรกยืนขึ้น” ...นี่คือ บรรทัดแรกของหนังสือบ้านในโคลนจุดเริ่มต้นความสุขที่กิตติศักดิ์ได้ย้อนมองกลับไป นี่คือนวนิยายที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของวรรณกรรมเล่าเรื่อง คนอ่านจะได้พบทั้งความสุขความทุกข์ อีกสิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาทรายและภูเขาซุง

ให้ภัยพิบัติจากธรรมชาติได้บอกเล่าถึงตัวเอง ขณะเดียวกันเขาก็อยากเล่าถึง ความเป็นมนุษย์ในภัยพิบัติที่สะท้อน ทั้งความโลภ ความเห็นแก่ตัว ความเมตตา ความเป็นห่วงเป็นใย และความหวัง ทุกวันนี้ภัยพิบัติทางธรรมชาติเกิดขึ้นไม่เฉพาะเมืองไทย ลาวเขื่อนแตก เมียนมาเขื่อนแตก ญี่ปุ่นแผ่นดินไหว ภัยพิบัติกำลังเกิดขึ้นทั่วโลก กิตติศักดิ์อยากให้คนฉุกคิดเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ชั่งน้ำหนักในสิ่งที่กำลังทำให้มากขึ้น

“ผมอยากให้คนมองเห็นความเป็นมนุษย์ในภัยพิบัติ เมื่อเกิดภัยพิบัติ เราไม่มีเวลามาโทษหรือโกรธเกลียดกันอีกต่อไปหรอกเราต้องมาช่วยกัน เพื่อที่เราจะเอาชีวิตรอด และเราต้องช่วยกันเพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก”