posttoday

ปิกัสโซ่ มาสเตอร์พีซ! @พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่-ปารีส

09 กันยายน 2561

พิ พิธภัณฑ์หอศิลป์แห่งชาติ ปิกัสโซ่-ปารีส (Musee NationalPicasso-Paris)

โดย อฐิณป ลภณวุษ  ภาพ  ปาโบล ปิกัสโซ่

พิ พิธภัณฑ์หอศิลป์แห่งชาติ ปิกัสโซ่-ปารีส (Musee NationalPicasso-Paris) เปิดนิทรรศการPicasso. Masterpieces! ชวนค้นหาคำตอบ “คำว่า ผลงานชิ้นเอก มีความสำคัญกับปิกัสโซ่อย่างไรบ้าง?” ด้วยการรวบรวมสุดยอดผลงานของ ปาโบล ปิกัสโซ่ จิตรกรชาวกาตาลันจากทั่วโลก มาจัดแสดงให้ชมตั้งแต่วันนี้-13 ม.ค.ปีหน้า โดยมีหลายๆ ภาพที่ไม่เคยจัดแสดงในกรุงปารีสมาก่อนเลย

Picasso. Masterpieces! ไม่เพียงมีให้ชมเฉพาะ “ผลงานชิ้นเอก” ในยุคคิวบิสม์ของเขาเท่านั้น ทว่าได้รวบรวมมาจากทุกยุคทุกสมัย ก่อนที่จะถึงยุคที่คลี่คลาย กลายเป็นมาสเตอร์ของจิตรกรแห่งรูปทรงเรขาคณิตดังกล่าว

ผลงานไฮไลต์ในนิทรรศการนี้ ก็มีตั้งแต่ Le Chef-d’oeuvre inconnu ที่หมายถึงผลงานชิ้นเอกซึ่งไม่เป็นที่รู้จัก แรงบันดาลใจจากนิยายของ ออนอคเร่ เดอ บัลซัก ชื่อเดียวกันที่ออกตีพิมพ์ในปี 1831 และเมื่อเวลาผ่านไป 1 ศตวรรษ ปาโบล ปิกัสโซ่ ก็ได้รับการติดต่อจาก ออมบรวส โฟลยาด์ ให้วาดภาพด้วยแรงบันดาลใจจากคอนเซ็ปต์ของนิยายเรื่องนี้

ปิกัสโซ่ มาสเตอร์พีซ! @พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่-ปารีส

ผลงานในส่วน Le Chef-d’oeuvreinconnu เต็มไปด้วยภาพเซลฟ์-พอร์เทรตมากมาย ทั้งแบบเดี่ยวๆ และที่วาดพร้อมนาย/นางแบบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เขาเป็นจิตรกรที่มีภาพวาดพอร์เทรตมากที่สุดคนหนึ่งของศตวรรษที่ 20

ปาโบล ปิกัสโซ่ ไม่ต่างอะไรจากเฟรนฮอฟเฟอร์ อาจารย์ของตัวเอกในนิยายของ ออนอคเร่ เดอ บัลซัก ที่มี “ผลงานชิ้นเอก” ในแต่ละช่วงตอนของความเคลื่อนไหวในศิลปะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานขนาดใหญ่ Guernica (1937) ที่เล่าเรื่องของสงครามกลางเมืองในแคว้นกาตาลัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์ศิลปะแห่งชาติ เรนา โซเฟีย ในกรุงมาดริด

Science and Charite (1897) ผลงานจากยุคเรียลิสม์ของจิตรกรกาตาลันที่หาชมได้ยาก โดยเป็นภาพที่เขาวาดตั้งแต่อายุ 16 และเป็นของรักของหวงที่เก็บเอาไว้ชื่นชมเอง ก่อนที่จะบริจาคให้พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่ เมืองบาร์เซโลนา ในปี 1970 ซึ่งนับเป็นความโชคดีที่พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่ทั้งสองแห่ง ในกรุงปารีสและบาร์เซโลนามีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก จึงทำให้ภาพเขียนหาชมยาก ภาพนี้ได้นำมาจัดแสดง ณ กรุงปารีส

ปิกัสโซ่ มาสเตอร์พีซ! @พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่-ปารีส

ปาโบล ปิกัสโซ่ วาดภาพ Science and Charite ขณะที่กำลังศึกษาอยู่ที่ญอตย่า โรงเรียนศิลปะและการออกแบบในบาร์เซโลนาซึ่งเขาเลือกที่จะสร้างสรรค์ผลงานในธีมยอดฮิตของศิลปะเรียลิสม์ในขณะนั้น ก็คือ ธีมเยี่ยมไข้ เบื้องหลังมาจากเรื่องราวในชีวิตจริงของเขาเอง ที่เขาวาดถึงคอนชิตา น้องสาวของเขาที่ป่วยหนักและจากไปเมื่อปี 1895 โดยหมอในภาพคือบิดาของเขาเอง

ภาพนี้ทางโรงเรียนส่งไปประกวดในงาน General Exhibition of Fine Arts ที่กรุงมาดริด และได้รับคำชื่นชมมากมาย ก่อนที่จะไปได้รางวัลชนะเลิศเหรียญทองในงาน Provincial Exhibition of Malaga ที่เมืองมาลากา

มาถึงภาพที่เริ่มมีเค้ารางของความเป็นคิวบิสม์ Les Demoiselles d’Avignon (1907) ซึ่งหลังจากที่มาจัดแสดงที่ซาลงดองแต็ง ในกรุงปารีส ในปี 1916 ก็เป็นภาพที่ได้รับการโจษจันเป็นอย่างมาก บรรดานักวิจารณ์ศิลปะบอกว่า ภาพที่เริ่มมีกลิ่นอายของคิวบิสม์นี้ ปฏิวัติศิลปะของศตวรรษที่ 20 โดยสิ้นเชิง

ปิกัสโซ่ มาสเตอร์พีซ! @พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่-ปารีส

ชักส์ ดูเซต์ ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสเป็นคนซื้อภาพนี้ด้วยคำแนะนำของกวี อองเดร เบรอตง ในปี 1924 และเมื่อเขาเสียชีวิตชิ้นงานนี้ก็ออกสู่ตลาดศิลปะ ก่อนที่จะกลายเป็นสมบัติของ โมมา หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ กรุงนิวยอร์ก ในปี 1939

ภาพวาดหนุ่มน้อยตัวตลก Les Arlequins (หรือคาแรกเตอร์ The Fool ในไพ่ทาโรต์) ก็นับว่าเป็น Topic ฮิตแห่งยุคต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีศิลปินนิยมวาดกันมากมาย เฉพาะปาโบล ปิกัสโซ่เองก็วาดเอาไว้หลายๆ ภาพ โดยนักค้างานศิลปะ โปล โรเซนเบิร์ก เอเย่นต์ของปาโบล เป็นคนที่ทำให้ภาพในชุดนี้โด่งดังไปทั่วโลก

ปาโบล ปิกัสโซ่ นำเอาบุคลิกของฆาซินโต ซัลบาโด้ จิตรกรชาวสเปน มาวาดเป็น “ตัวตลก” ในแบบของเขา จากชิ้นแรก ไปถึงชิ้นที่ 2, 3, 4... ตัวตลกของปาโบล ยังสวมเสื้อผ้าชุดเดิม นั่งในโพสต์เดิม และอารมณ์ภาพแบบเดิมๆ ทว่า ผู้คนยังตื่นตาตื่นใจทุกครั้งกับ Arlequin ภาพใหม่ๆ

ปิกัสโซ่ มาสเตอร์พีซ! @พิพิธภัณฑ์หอศิลป์ปิกัสโซ่-ปารีส

ไฮไลต์ในนิทรรศการ Picasso. Masterpieces! นี้ ยังมี Les baigneuses (TheBathers) ที่เขาวาดในปี 1936-1937 เป็นภาพที่เริ่มมีความเซอร์เรียลิสม์เข้ามามาก เป็นมาสเตอร์พีซของจิตรกรกาตาลันที่อยู่ในความครอบครองของเอกชน ก่อนจะเผยโฉมเมื่อไม่นานมานี้ที่เปกกี้ กุกเกนไฮม์ ในเมืองเวนิส ประเทศอิตาลี และได้นำมาจัดแสดงครั้งแรกในกรุงปารีสที่นิทรรศการนี้

ศิลปะคอลลาจ Femmes a leur toilette (1937-1938) เป็นอีกภาพที่นำมาจัดแสดงเป็นครั้งแรก หลังจากผ่านการบูรณะภาพในปี 2018 ภาพขนาดใหญ่ภาพนี้ ปาโบลวาดภรรยาของเขา โอลกา ปิกัสโซ่ กับอีก 2 สาว มารี-เตแรส วอลเทอร์ และดอร่า มาร์ โดยตั้งใจทำให้ห้องแต่งตัวของสาวๆ เป็นเหมือนผ้าทอประดับผนังห้อง

ในงานนี้ยังมีประติมากรรม Le Faucheur (1943) มาจัดแสดงเอาไว้ด้วย เช่นเดียวกับศิลปะตัดกระดาษ งานภาพพิมพ์หิน จดหมายที่เขียนถึงเพื่อนสนิท และผลงานชีวประวัติของเขาที่เขียนโดยเพื่อนสนิท อย่าง โฆเซป ปาเลา อี ฟาบเบร ฯลฯ เรียกว่านิทรรศการที่แสดงมหกรรมปาโบล ปิกัสโซ่ ครั้งยิ่งใหญ่โดยแท้