posttoday

ชิน ประสงค์ ประติมากรเอก ตำนานแห่งอนุสาวรีย์

08 กันยายน 2561

หลบความแออัดของตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ไปบนถนนรัตนาธิเบศร์ มุ่งหน้าไปยัง จ.นนทบุรี

โดย ธเนศน์ นุ่นมัน  

หลบความแออัดของตัวเมืองกรุงเทพมหานคร ไปบนถนนรัตนาธิเบศร์ มุ่งหน้าไปยัง จ.นนทบุรี พิกัดซอยท่าอิฐ ต.ไทรม้า ไม่ไกลจากแม่น้ำเจ้าพระยา หยุดหน้าบ้านซึ่งครึ้มเขียวไปด้วยต้นไม้ที่มีป้ายเล็กๆ เขียนว่า “ชิน ประสงค์”

ป้ายนี้บอกว่า ที่นี่เป็นแหล่งพำนักของประติมากรเอก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านประติมากรรม อดีตผู้อำนวยการส่วนประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ ผู้รังสรรค์ผลงานประติมากรรมมากมาย

หลายชิ้นอาจจะเคยผ่านตาหลายคนมาแล้ว เพียงแต่อาจจะยังไม่ทราบว่าที่เห็นนั้น คือผลงานของประติมากรระดับตำนานท่านนี้

อาจารย์ชินเริ่มเล่าประวัติของตัวเองด้วยบุคลิกที่สุขุมคัมภีรภาพว่า เริ่มต้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานศิลปะด้วยความรักหลงใหล โดยเริ่มจากสอบเข้าศึกษาต่อในวิทยาลัยช่างศิลป (วังหน้า) จากนั้นก็พัฒนาฝีมือตัวเองจนสามารถสอบเข้าศึกษาต่อในคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ ในปีที่ชื่อว่า เป็นนักศึกษารุ่นสุดท้ายที่ ศ.ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกข้อสอบภาคปฏิบัติ

ชิน ประสงค์ ประติมากรเอก ตำนานแห่งอนุสาวรีย์

เมื่อได้เข้าไปเรียนในสถาบันที่วาดหวังไว้แล้ว ก็พบว่า การเรียนการสอนนั้นเต็มไปด้วยเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง

“การเรียนการสอนยุคโน้น จะวิจารณ์งานกันแรงและตรงไปตรงมามาก และสอนโดยเน้นเรื่องฝีมืออย่างหนัก อาจารย์ศิลป์ ท่านออกแบบการเรียนการสอนไว้เพื่อให้แต่ละคนเรียนจบมาเพื่อประกอบอาชีพที่แต่ละคนถนัด เรียนจบแล้วไม่ไปเป็นศิลปิน ก็สามารถรับจ้างทำงานต่างๆ ได้

นักศึกษาแต่ละคนเรียนจบแล้วจะทำได้ทุกอย่าง เขียนแบบ ปั้น วาดรูป ต้องเป็นตามที่อาจารย์ศิลป์บอกว่า ลูกศิษย์ฉันต้องไม่อดตาย การเรียนการสอนจึงต้องอยู่กับงานทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติที่หนักมาก ไม่มีเวลาว่างเลย

...เมื่อก่อนจะจบการศึกษาหรือเรียนผ่านไปแต่ละปีไม่ใช่เรื่องง่าย ทำงานเหมือนจริงก็ใช่ว่าจะผ่านได้ ต้องมีความพิเศษ เรียนถึงปี 3 ถ้ายังไม่สามารถค้นพบแนวทางของตัวเองก็ไปต่อไม่ได้ ต้องยอมรับแค่วุฒิการศึกษา อนุปริญญา ไม่ได้เรียนต่อปี 4-5 จนจบปริญญาตรี ทำงานเรียนโดยไม่มีพัฒนาการไม่ได้ ไม่มีการสอบซ่อม ตกก็คือตกเลย ซ้ำชั้นได้ไม่เกิน 3 ปี

ชิน ประสงค์ ประติมากรเอก ตำนานแห่งอนุสาวรีย์

...มีรุ่นพี่เล่าให้ฟังว่า การเรียนการสอนสมัยที่อาจารย์ศิลป์สอนเข้มข้นมาก ท่านจะชี้ชะตาเด็กแต่ละคนจากผลการเรียนเลย บางคนเข้ามาเรียนจิตรกรรมแต่เรียนไปแล้วไม่รอด อาจารย์ก็แนะนำให้ไปเรียนคณะโบราณคดี ให้ไปเรียนคณะสถาปัตยกรรม ซึ่งแต่ละคนที่เปลี่ยนคณะวิชาตามที่ท่านแนะนำ บางคนก็โกรธที่ท่านบอกอย่างนั้น แต่ก็ไปได้ดีกันทุกคน ที่สุดก็ต้องกลับมาขอบคุณท่าน” อาจารย์ชินเล่าถึงบรรยากาศการเรียนเมื่อ 50 กว่าปีก่อน

อาจารย์ยังเล่าด้วยว่า โอกาสในการจบการศึกษาในยุคนั้นเป็นเรื่องที่ยากมาก หากไม่มีความสามารถในศิลปะด้านใดด้านหนึ่ง ศ.ศิลป์ พีระศรี ก็อาจจะไม่ให้จบการศึกษาได้

“สมัยโน้นเรียนจบเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ละปีรับนักศึกษาแค่ 30 คน กว่าจะเรียนไปถึงปี 5 เป็นเรื่องที่ผ่านด่านไปยากมาก รุ่นที่ อาจารย์ชลูด (ศ.ชลูด นิ่มเสมอ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ประติมากรรม ปี 2541) เรียนสมัยที่อาจารย์ศิลป์ยังสอน ก็มีท่านเรียนจบคนเดียว รุ่นที่ผมเรียน ถือว่าผ่านไปเรียนจนจบเยอะมาก มีถึง 7 คน นอกนั้นก็ได้วุฒิการศึกษาแค่อนุปริญญา พอมาถึงยุคที่อาจารย์ชลูดสอนนี่ท่านก็รับวิธีการสอนมาจากอาจารย์ศิลป์หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องต้องไปทำงานกับของจริง วาดเส้นรูปสัตว์ในสวนสัตว์นี่ก็วาดให้ได้ทะลุปรุโปร่ง ใครไปถ่ายรูปมาวาดนี่ไม่ได้เลย

นักศึกษาในยุคโน้นต้องไปอยู่ที่เขาดินกันเป็นอาทิตย์ ไปสังเกตสัตว์แต่ละตัว ดูนิสัย วาดกันจนจำรายละเอียดได้อย่างแม่นยำถ่ายทอดความรู้สึกผ่านสิ่งที่วาดให้ได้ หรืออย่างสมัยอาจารย์ไพฑูรย์ (ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ปี 2529) นี่ท่านให้ขนดินไปปั้นที่เขาดินกันเลย ต้องไปจับคาแรกเตอร์สัตว์ให้ได้ อาจารย์ศิลป์ท่านก็ไม่ให้ปั้นใครจากรูปถ่าย ต้องปั้นจากแบบจริง หรือแบบที่สเกตช์มาจนจำรายละเอียดได้

ชิน ประสงค์ ประติมากรเอก ตำนานแห่งอนุสาวรีย์

และด้วยการเรียนที่ดูนักศึกษาอย่างใกล้ชิด จะทำให้ผู้สอนรู้ความสามารถของนักศึกษาแต่ละคน ชี้จุดอ่อนจุดแข็งได้ อย่างสมัยอาจารย์ศิลป์นี่ เรียนจบท่านจะรู้เลยว่านักศึกษาของท่านคนไหน เหมาะกับงานอะไร บางคนเช่นอาจารย์สนั่น (สนั่น ศิลากรณ์ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประติมากรเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ปั้นอนุสาวรีย์สำคัญๆ หลายแห่ง) ซึ่งทำงานใหญ่ๆ ได้ ท่านแนะนำเลยว่าจบแล้วต้องไปอยู่โรงหล่อทำงานปั้นอนุสาวรีย์ เพราะเห็นความสามารถว่าทำได้ บางคนก็ต้องไปเป็นครูอาจารย์ เพราะท่านเห็นแววว่าบุคลิกแบบนี้ต้องไปสร้างคน” อาจารย์ชินเล่ารายละเอียด

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีศิลปบัณฑิต (ด้านประติมากรรม) คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2512 อาจารย์ชินก็ก้าวไปสู่โลกอีกใบหนึ่งในทันที ด้วยการเริ่มทำงาน นำสิ่งที่ได้ร่ำเรียนมาไปใช้ในชีวิตจริง

“เรียนจบ ผมก็ทำงานรับราชการในโรงหล่อของกรมศิลปากรทันที รุ่นผมจบมาทำงานปั้นอนุสาวรีย์แค่ 3 คน เป็นงานที่ต้องสู้กันจริงๆ เพราะเป็นงานหนัก จำได้ว่า งานแรกที่ทำผมกลัวมาก นั่นก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จ.ชลบุรี

ก่อนหน้านั้นสมัยเรียน มีคนเคยมาจ้างผมให้ปั้นท่าน แต่ผมก็ไม่กล้าทำ เพราะความรู้สึกผมคิดว่าเป็นงานยาก ประกอบกับที่เคยเห็นอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เคยปั้นท่านไว้ เป็นงานที่สมบูรณ์ จนตัวเองไม่กล้าตามรอยท่าน

ชิน ประสงค์ ประติมากรเอก ตำนานแห่งอนุสาวรีย์

แต่ในที่สุด งานแรกที่ต้องทำตอนรับราชการ ที่ได้รับมอบหมายจากอาจารย์สนั่น ศิลากรณ์ ก็คือ ต้องทำสิ่งที่เคยกลัว แต่ก็ทำออกมาได้ จำได้ว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาของ ร.6 เสด็จมาทรงเป็นประธานเปิดอนุสาวรีย์ ก็ยิ่งกลัวเข้าไปใหญ่ เพราะเป็นงานที่ทำหลังจากเพิ่งเรียนจบ” อาจารย์ย้อนเล่าถึงงานแรกที่เริ่มทำให้ฟัง

อาจารย์ชิน เล่าอย่างถ่อมตนด้วยว่า นับตั้งแต่วันแรกที่ทำงาน มีสิ่งที่ทำให้เรียนรู้ตลอดมาและไม่มีทีท่าว่าการเรียนรู้ในการทำงานจะสิ้นสุดลงเกิดขึ้นทุกวัน

“จำได้อีกว่า ระว่างที่ปั้นพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.6 ผมต้องแอบไปทำงาน เพราะกลัว แต่อาจารย์สนั่นซึ่งเป็นผู้ออกแบบในตอนนั้นก็มาเห็น ตอนที่ผมกำลังใช้ค้อนตบๆ ดิน ที่ปั้นให้เป็นพื้นผิวตามจังหวะทุบ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เหมือนที่คนอื่นเขาทำ พออาจารย์มาเห็น ผมก็นึกว่าอาจารย์จะดุ แต่ท่านกลับบอกว่า วิธีการนี้จะเป็นการทำงานในแบบของคุณเอง แต่ที่สุดผมก็ไม่กล้าปล่อยให้มีพื้นผิวแบบนั้น ทำงานปีแรกๆ รับผิดชอบเต็มที่ บางครั้งก็ทำกระทั่งวันหยุดให้เสร็จ เพราะทำด้วยความกลัว ว่างานจะออกมาไม่ดี ผมไม่ใช่คนเก่ง แต่ไม่หยุดเรียนรู้และพยายาม

งานแต่ละชิ้นมีอุปสรรคต่างกันไป งานที่จำได้ดีอีกชิ้นก็คือ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงม้าเผชิญศึก ที่ทุ่งนาเชย จ.จันทบุรี ปีนั้นต้องศึกษากายวิภาคม้ากับอาจารย์สนั่นที่บ้านท่านเพราะต้องปั้นม้า เป็นอนุสาวรีย์ที่ถือว่าเป็นงานที่หนักมาก ปั้นม้าและพระยาพิชัยดาบหักด้วยปูน

อาจารย์สนั่นท้วงว่า ปั้นด้วยปูนนั้นยากกว่าดิน 10 เท่านะ ถึงรู้อย่างนั้น ผมก็บอกตัวเองต้องยอมทำงานที่ท้าทายความสามารถ แต่เพราะเป็นงานใหญ่ จึงทำได้ช้ามาก บางวันปั้นเสร็จแล้วคิดว่าน่าจะได้แล้ว แต่เมื่อลงจากนั่งร้าน ถอยไปดู ก็ต้องแก้ใหม่ ทำงานทุกวัน ทำไปเรียนรู้ไป รวมถึงเรียนจากครูบาอาจารย์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม คือ ขอคำแนะนำและดูจากงานที่ท่านทำอนุสาวรีย์พระเจ้าตาก เป็นงานชิ้นที่ต้องทำนานถึง 7 ปี แต่ก็ไม่เคยท้อ” ประติมากรเอก เล่าถึงงานที่ทำ

ระหว่างที่รับราชการในส่วนงานประติมากรรม สำนักช่างสิบหมู่ อาจารย์ชินได้รังสรรค์ผลงานปั้นประติมากรรมไว้มากมายผลงานชิ้นสำคัญๆ ประกอบด้วย

- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จ.สุราษฎร์ธานี

- พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ค่ายลูกเสือแห่งชาติ จ.ชลบุรี

- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ทุ่งนาเชย จ.จันทบุรี

- อนุสาวรีย์พ่อขุนผาเมือง ที่ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์

- อนุสาวรีย์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ที่ค่ายภาณุรังษี จ.ราชบุรี

- อนุสาวรีย์พระยาไชยบูรณ์ จ.แพร่

- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.ลำปาง

- พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเอกาทศรถ จ.พิษณุโลก

- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก

- พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ ทุ่งภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา

นอกจากนี้ อาจารย์ยังเป็นผู้ที่ออกแบบอนุสาวรีย์หลายแห่ง อาทิ ภาพแกะสลักหินนูนต่ำ พระกรณียกิจสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่นิเวศสถาน ย่านคลองสาน ออกแบบและอำนวยการสร้างพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประดิษฐานที่สวนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 12 แห่งทั่วประเทศ พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 บริเวณเชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งธนบุรี รวมถึงประติมากรรมสุนัขทรงเลี้ยงทั้ง 12 สุนัข ตั้งแต่ปี 2553-2559 ถวายในหลวง ร.9 ก่อนเสด็จสวรรคต

ปัจจุบัน แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้วหลายปี อาจารย์ยังคงทำงานปั้นที่รักอย่างต่อเนื่อง ตามความตั้งใจที่ได้บันทึกความรู้สึกที่มีไว้ในงานศิลปะทุกชิ้นที่สร้างขึ้น