posttoday

‘รันเวย์’ สะพานเชื่อมบาติกสู่ชายแดนใต้

05 กันยายน 2561

จากผลงานกลุ่มผู้ผลิตผ้า 4 จังหวัดชายแดนใต้และดีไซเนอร์ชื่อดังของไทย

เรื่อง : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ลวดลายและสีสันสะดุดตาของผ้าบาติก สะกดทุกสายตาไว้บนรันเวย์ แอล แฟชั่น วีก 2018 ซึ่งเบื้องหลังการออกแบบไม่ได้มีเพียงไอเดียและเทคนิค แต่เกิดขึ้นจากการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตผ้า 4 จังหวัดชายแดนใต้และดีไซเนอร์ชื่อดังของไทย สร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงอัตลักษณ์ไว้อย่างงดงาม

แฟชั่นโชว์ชุด Contemporary Southern Batik by OCAC เป็นการแสดงผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายจากโครงการ “ผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้” ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) กระทรวงวัฒนธรรม โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตผ้า 24 กลุ่ม จาก 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา กับนักออกแบบเครื่องแต่งกาย 3 คน คือ ศรันรัตน์ พรรจิรเจริญ แบรนด์ Sarunrat Panchiracharoen by Everyday Karmakarmet ธีระ ฉันทสวัสดิ์ แบรนด์ T-RA และวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข แบรนด์ Wisharawish จนเกิดเป็นผลงานลวดลายผ้าและการจับคู่สีใหม่รวม 24 ลาย ซึ่งเผยโฉมครั้งแรกในงาน แอล แฟชั่น วีก เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา

‘รันเวย์’ สะพานเชื่อมบาติกสู่ชายแดนใต้ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข (คนที่ 3 จากซ้าย)

นอกจากแฟชั่นโชว์ โครงการดังกล่าวยังมีการจัดนิทรรศการแสดงผลิตภัณฑ์จากนักออกแบบผลิตภัณฑ์ 3 คน คือ ศรัณย์ เย็นปัญญา แบรนด์ 56 Studio ธันย์ชนก ยาวิลาศ และปัญจพล กุลปภังกร แบรนด์ This Means That และหิรัญกฤษฏิ์ ภัทรบริบูรณ์กุล ซึ่งเป็นการสร้างสรรค์มูลค่าเพิ่มให้กับผ้าบาติกในรูปแบบของผลิตภัณฑ์

หนึ่งในนักออกแบบที่ลงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ที่มีความหลงใหลในงานฝีมือและงานหัตถกรรม โดยเขาสามารถนำความประณีตของความเป็นท้องถิ่นมาตีความในมิติใหม่ให้มีความเป็นสากล จนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่ทำให้แบรนด์ Wisharawish ประสบความสำเร็จ

เขากล่าวถึงการทำงานครั้งนี้ว่า นักออกแบบได้ลงพื้นที่ 2 ครั้ง ครั้งแรกเพื่อไปพบปะพูดคุยและแชร์ไอเดียกับกลุ่มผู้ผลิตผ้าบาติก จากนั้นครั้งที่สองได้ลงพื้นที่เพื่อผลิตลวดลายใหม่ในชุมชน ซึ่งการเข้าถึงถิ่นทำให้นักออกแบบเห็นรายละเอียดที่สามารถนำมาใช้ในการออกแบบลวดลาย และได้รับแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งกว่าซึ่งสามารถใส่เข้าไปในผลงาน

‘รันเวย์’ สะพานเชื่อมบาติกสู่ชายแดนใต้

“ลวดลายทั้ง 24 เป็นลายใหม่ที่ดึงคาแรกเตอร์ของลายดั้งเดิมมาปรับประยุกต์ เปลี่ยนวัสดุ ปรับสี หรือปรับองค์ประกอบของลวดลายต่างๆ เพราะหากเราสร้างลวดลายใหม่ขึ้นมาเลย จะทำให้เอกลักษณ์เดิมและความถนัดในท้องถิ่นถูกโยนทิ้งไป เราจึงพยายามนำของเดิมมาผสมกับของใหม่เพื่อคงความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ ไว้ และยังเป็นการรักษากลุ่มลูกค้าเดิมของชุมชนนั้นไว้ด้วย”

เมื่อนักออกแบบเข้าไปทำงานร่วมกับผู้ผลิตผ้าบาติกท้องถิ่น เป้าหมายสูงสุดคือไม่ได้ทำเพื่อสร้างผลงานสำหรับแฟชั่นโชว์ แต่เพื่อพัฒนาสินค้าท้องถิ่นให้มีความร่วมสมัยและขายได้ เพื่อผู้ผลิตสามารถนำไปผลิตซ้ำและจำหน่ายภายใต้แบรนด์ของตัวเอง

“การทำให้ผ้าบาติกซึ่งมีความท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าไฮแฟชั่นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับนักออกแบบ เพราะผ้าบาติกมีความเรียบง่าย ใช้วัสดุที่ราคาไม่แพงมาก และเป็นผ้าที่ชาวบ้านใช้ในชีวิตประจำวัน นักออกแบบจึงต้องพยายามเพิ่มมูลค่าให้โดยใช้การออกแบบเข้าช่วย เช่น นำเทคนิคซิลค์สกรีนเพิ่มเข้าไปให้มีความพิเศษมากขึ้น ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใครๆ ก็ทำได้ และไม่แพงจนเกินไป ผู้ประกอบการจึงสามารถนำไปผลิตได้เอง

นอกจากนี้ การทำงานร่วมกันยังทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเห็นตลาดที่มีความสากล ซึ่งทำให้เขาเห็นโอกาสทางธุรกิจเพื่อกลับไปพัฒนาและต่อยอดสินค้าของตัวเอง ในขณะเดียวกันสำหรับนักท่องเที่ยวก็จะได้เห็นความสวยงามของผ้าบาติก และอาจเป็นการจุดประกายให้อยากมาเที่ยวชายแดนใต้ และเปลี่ยนภาพจำใหม่ให้มีแต่ความสวยงาม”

‘รันเวย์’ สะพานเชื่อมบาติกสู่ชายแดนใต้

เจ้าของแบรนด์ Wisharawish ยังกล่าวด้วยว่า ผ้าบาติกมีความโดดเด่นตรงที่เหมาะกับการสวมใส่ในประเทศไทย และยังเป็นผ้าที่มีความสนุกสนานสะท้อนถึงสีสันของธรรมชาติ ซึ่งสามารถเป็นตัวแทนให้ชาวต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นผ่านผืนผ้า

ด้าน รอวียะ หะยียามา ผู้ก่อตั้งร้านบาติก เดอ นารา และหนึ่งในผู้ประกอบการ จ.ปัตตานี ที่ทำงานร่วมกับนักออกแบบในโครงการ กล่าวว่า ผ้าบาติกในยุคแรกคนส่วนใหญ่จะนึกถึงผ้านุ่งและโสร่ง แต่พอมายุคหลังๆ เริ่มมีการออกแบบลวดลายให้ร่วมสมัย แต่ยังคงใช้วิธีการวาดลวดลายเทียนด้วยจันติ้ง หรือประทับลายที่มีความซับซ้อน และลงสีด้วยมืออยู่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่โรงงานทำแทนไม่ได้

“เรื่องราวของแฟชั่นมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่แทบจะไม่มีการคิดลายใหม่ จะเป็นการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยอย่างแบรนด์บาติก เดอ นารา เราเป็นเจ้าแรกๆ ที่มีการปรับสีผ้าบาติกให้อ่อนลง จากสีสันฉูดฉาดให้เป็นโทนพาสเทลและเอิร์ทโทน และออกแบบให้เป็นผ้าพันคอกับผ้าคลุมไหล่เพื่อขายให้ลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ หลังจากนั้นเราได้มีการออกแบบเพื่อตอบโจทย์คนปัตตานีเอง โดยได้เปลี่ยนจากผ้าไหมมาใช้ผ้าเรยอน (ไหมสังเคราะห์) เพื่อลดต้นทุน และขายเป็นผ้าชิ้นตัดเสื้อ ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดี คนปัตตานีรวมไปถึงนักท่องเที่ยวก็ซื้อผ้าบาติกไปตัดเสื้อมากขึ้น”

รอวียะ เคยเข้าร่วมโครงการผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ของ สศร. เมื่อปี 2558 ซึ่งครั้งนั้นเธอได้ทำงานกับนักออกแบบคิดลวดลายผ้าดอกดาหลาที่ประยุกต์จากลายดั้งเดิม จนกลายเป็นลายยอดนิยมซึ่งเธอผลิตขายมาถึงปัจจุบัน

‘รันเวย์’ สะพานเชื่อมบาติกสู่ชายแดนใต้

สานต่อมาถึงปีนี้ เธอและนักออกแบบได้ร่วมกันสร้างสรรค์ 2 ลายใหม่ คือ ลายใบไม้ผสมลายนก เป็นโทนสีเขียวมินต์ ฟ้า และครีม และลายคลื่นทะเล โทนเนวีบลู ซึ่งเป็นเทรนด์สีที่กำลังมาแรงของปี โดยทั้งสองลายนี้เธอจะนำไปใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์คอลเลกชั่นใหม่ปลายปีนี้ด้วย

“การทำงานกับดีไซเนอร์ทำให้เราได้เห็นว่า บางสิ่งที่เรามีอยู่และอาจมองข้ามไปกลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และยังเข้ามาช่วยในเรื่องของการออกแบบลวดลาย สีสัน และการเลือกใช้วัตถุดิบ โดยนำสิ่งที่เราถนัดมาปรับให้ตรงกับความนิยม เช่น เราถนัดในเรื่องของงานเส้นสาย ดีไซเนอร์ก็จะนำเทรนด์มาจับให้มันมีความโมเดิร์นและตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น เขาจึงไม่ได้เข้ามาเปลี่ยน แต่มาปรับให้ร่วมสมัย ที่สำคัญคือผู้ประกอบการแต่ละคนสามารถนำลายผ้าบาติกที่คิดร่วมกันไปต่อยอดในสินค้าของตัวเองได้”

แบรนด์บาติก เดอ นารา ก่อตั้งมานานกว่า 20 ปี เธอเผยว่า ในช่วง 10 ปีแรกเธอทำเพื่อเป็นอาชีพและมีรายได้ โดยนำสินค้าหัตถกรรมในปัตตานีออกไปจำหน่ายในร้านขายของที่ระลึกตามเมืองท่องเที่ยวต่างๆ แต่เมื่อได้ทำงานกับนักออกแบบทำให้เธอมีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป คือเริ่มสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเลกชั่นใหม่ และเริ่มคิดถึงเทรนด์แฟชั่น ซึ่งปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นจากกลุ่มลูกค้า และเมื่อสินค้ามีเรื่องเล่าทำให้ผ้ามีคุณค่านำไปสู่การเพิ่มมูลค่ามากขึ้น

“เมื่อมีกระบวนการคิดเข้ามาในการออกแบบผ้า ทำให้ผ้าผืนนั้นมีเรื่องราว ไม่ใช่แค่วาดแล้วป้ายสีลงไปได้เลย แต่กว่าจะได้ผ้าผืนหนึ่งต้องผ่านการคิดวิเคราะห์และทดลองมาก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านที่ไม่ได้เรียนดีไซน์มาเริ่มคิดตามและทำตาม และกลายเป็นเรื่องสนุกมากกว่าแค่ทำธุรกิจ”

เมื่อถามว่าผ้าบาติกมีโอกาสสูญหายไปจากภาคใต้หรือไม่ รอวียะ กล่าวว่า ปัจจุบันในภาคใต้มีคนทำผ้าบาติกมากขึ้นก็ไม่ใช่ มีน้อยลงก็ไม่เชิง แต่เป็นงานที่โตช้า เนื่องจากเป็นงานหัตถกรรมที่คนขายต้องอดทนเพราะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น แรงงานมีฝีมือที่หายากขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึงสภาพดินฟ้าอากาศทางภาคใต้ที่มีฝนมาก เป็นอุปสรรคต่อการผลิตผ้าบาติก ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการหลายกลุ่มที่ทำผ้าบาติก แต่การยืนระยะให้นานไม่ใช่เรื่องง่าย

‘รันเวย์’ สะพานเชื่อมบาติกสู่ชายแดนใต้

นอกจากนี้ เธอยังมีแนวคิดที่จะต่อยอดผ้าบาติกให้เข้าถึงทุกคน โดยจะผลิตแพ็กเกจทำบาติกแบบดีไอวายส่งขายไปทั่วประเทศ เพื่อเป็นการต่อยอดสินค้าและสืบสานภูมิปัญญาของชาวแดนใต้ให้อยู่ต่อไป

ด้าน ดร.ฉวีรัตน์ เกษตรสุนทร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการพัฒนาลายผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้นี้ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้นกว่าร้อยละ 25 ทำให้มีเงินหมุนเวียนเพิ่มมากกว่า 10 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังขยายตลาดผ้าไทยออกสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ทั้งกลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และไต้หวันมากขึ้น ส่วน สศร.ยังกำหนดเป้าหมายปี 2562 จะเชิญนักออกแบบต่างชาติมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และออกแบบลวดลายผ้าและเครื่อง
แต่งกาย รวมถึงจะร่วมงานกับกลุ่มอาเซียนมากขึ้น

โครงการผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยร่วมสมัยชายแดนใต้ จึงถือเป็นโมเดลในการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบกับกลุ่มผู้ผลิตท้องถิ่น โดยใช้แก่นของวัฒนธรรมมาพัฒนาลายผ้าไทยให้ร่วมสมัย แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์จะประสบผลสำเร็จได้ยังต้องการการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น รวมถึงการส่งเสริมในตลาดระดับนานาชาติ ซึ่ง สศร.จะทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เพื่อนำเสนอผลงานในระดับสากล และสร้างการรับรู้ถึงความร่วมสมัยในผ้าไทยให้มากยิ่งขึ้น