posttoday

เส้นทางเกินฝัน ของ เจมส์ ตง

04 กันยายน 2561

เปิดแนวคิดซีอีโอคนใหม่แห่งลาซาด้า ไทยแลนด์

เรื่อง พุสดี สิริวัชระเมตตา  ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน

เห็นลุคนิ่งๆ ดูขรึมๆ แบบนี้ ถ้าไม่เฉลยอาจเดาไม่ออกว่า เจมส์ ตง ซีอีโอคนใหม่แห่งลาซาด้า ไทยแลนด์ (Lazada Thailand) แท้จริงแล้วไม่ใช่คนไทย แต่เป็นหนุ่มจีนที่มีโอกาสข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนคว้าปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ เคยร่วมงานกับบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่างแมคคินซีย์ (McKinsey) ก่อนจะมาร่วมทีมกับอาลีบาบา กรุ๊ป (Alibaba Group) ผู้นำด้านอี-คอมเมิร์ซและเทคโนโลยีด้านไอทีสุดล้ำของจีนที่เชื่อว่านาทีนี้ไม่มีใครไม่รู้จัก และได้รับโอกาสสำคัญให้มาเป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารคนใหม่ของลาซาด้า ประเทศไทย ซึ่งอาลีบาบาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

“ผมเพิ่งมารับหน้าที่นี้ได้ 2-3 เดือนครับ” เจมส์ เปิดฉากบทสนทนาอย่างอารมณ์ดีก่อนที่จะเผยถึงประสบการณ์ในการทำงานที่เขาใช้คำว่า “เรื่องยาวมาก” กว่าจะมาถึงวันนี้ “ผมเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์จากประเทศจีน เพราะฝันว่าอยากเป็นวิศวกร แต่พอเข้าสู่โลกแห่งการทำงานจริงๆ ผมกลับพบว่าตัวเองมีความสนใจด้านธุรกิจมากกว่าเลยไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจที่อังกฤษ และทำงานในบริษัทที่ปรึกษาอย่างแมคคินซีย์ ซึ่งเป็นงานที่ผมชอบมาก นอกจากจะได้เปิดโลกกว้าง ยังได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากมายจากหลากหลายธุรกิจ ได้เดินทางไปทั่วโลก”

การพาตัวเองออกจากกรอบไปเปิดโลกที่กว้างใหญ่นี้เอง ทำให้เจมส์กล้านิยามตัวเองว่าเป็นคนรุ่นใหม่ที่เป็นที่ต้องการขององค์กรยุคดิจิทัล เพราะเขาสามารถผสมผสานวัฒนธรรมของโลกตะวันตกและตะวันออกได้อย่างลงตัว แถมยังเข้าใจกลไกของโลกธุรกิจในบริบทที่หลากหลาย ทำให้วันหนึ่งเมื่อเขาตัดสินใจยื่นใบสมัครมาที่อาลีบาบา บริษัทที่เขาหมายตาว่าอยากร่วมงานด้วยไม่ต่างจากคนทั้งโลก หนทางที่หลายคนอาจมองว่ายากจึงโรยด้วยกลีบกุหลาบ

“เหตุผลที่ทำให้อาลีบาบาเลือกผม เพราะผมมีประสบการณ์การทำงาน และการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนใคร อย่างที่บอกว่างานหลักของผมคือ การเป็นที่ปรึกษา งานอดิเรกคือการเดินทาง ผมสามารถผสมผสานทั้งการทำงานและการใช้ชีวิตได้เป็นอย่างดี ทำให้ผมมีมุมมองที่แตกต่างทั้งในด้านการบริหารธุรกิจ และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งอาลีบาบาเป็นบริษัทที่มีสำนักงานอยู่มากกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ต้องทำงานกับผู้คนที่หลากหลายจากทั่วทุกมุมโลก ดังนั้น ผมจึงเป็นคนที่ตอบโจทย์” เจมส์ ฉายภาพให้เห็นเส้นทางการทำงานอย่างออกรส ก่อนเผยถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่

“ตำแหน่งแรกที่ผมเข้าไปทำ คือ ดูแลด้านยุทธศาสตร์และการบริหารจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ผมยังจำได้เลยว่า ประเทศแรกที่ผมเดินทางไปคือ อินเดีย ผมนำแพลตฟอร์มของอาลีบาบาเข้าไปช่วยพ่อค้าแม่ค้าท้องถิ่นให้สามารถขายสินค้าได้แบบไร้พรมแดน ทำให้มีรายได้มากขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ผมมีความสุขมากที่ได้ทำงานนี้ ถึงแม้การทำงานที่อาลีบาบาจะแตกต่างจากการทำงานเป็นที่ปรึกษาอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในแง่ความรวดเร็วในการทำงาน เพราะด้วยความที่เราเป็นบริษัทน้องใหม่เพิ่งเกิดเมื่อปี 1999 เราทำงานกับตลาดโลก ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วโลก เพราะฉะนั้นความเร็วเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน”

เส้นทางเกินฝัน ของ เจมส์ ตง

หลังจากสนุกกับการทำงานที่อาลีบาบาอยู่ 4 ปี เจมส์ก็ได้รับโอกาสสำคัญให้เดินทางมาเป็นซีอีโอคนใหม่ของลาซาด้า ประเทศไทย ถามว่าทำไมถึงเป็นเจมส์ คำถามนี้ทำให้เอาผู้บริหารหนุ่มอมยิ้ม หยุดคิดสักครู่

“ตลาดเมืองไทยถือเป็นตลาดที่สำคัญมากๆ เนื่องจากผู้บริโภคที่มีความพร้อมสูง วัดจากจำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่น โซเชียลมีเดีย ประกอบกับลาซาด้า ประเทศไทย ค่อนข้างมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง เพราะฉะนั้น ภารกิจของซีอีโอที่จะมาคือ ทำอย่างไรเพื่อยกระดับความแข็งแกร่งนี้ให้ก้าวขึ้นอีกขั้น

เราไม่ได้มองว่าลาซาด้าเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ แต่เราเป็นบริษัทเทคโนโลยีและข้อมูล เป้าหมายของเราคือ นำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อทำงานกับพาร์ตเนอร์ คู่ค้า เพื่อให้ทำธุรกิจให้ง่ายขึ้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขณะที่ลูกค้าก็ได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นย้อนกลับมาที่ว่าทำไมต้องเป็นผม มีเหตุผลอยู่ไม่กี่ข้อ คือ ผมมีประสบการณ์ด้านการค้าและการทำธุรกิจระหว่างประเทศ เข้าใจความหลากหลายของวัฒนธรรม

ที่สำคัญแต่ไม่รู้ว่าจริงหรือเปล่า คือ มีหลายคนบอกว่าหน้าตาผมเหมือนคนไทย ผมบอกกับทีมงานลาซาด้า ประเทศไทยเสมอว่า การที่ได้มาทำงานที่นี่ถือว่าเป็นเรื่องที่เหนือกว่าความฝันใดๆ ที่มี ผมชอบเมืองไทยมาก ทั้งผู้คน วัฒนธรรม อาหาร ไลฟ์สไตล์ ผมมีโอกาสเดินทางมาที่ประเทศไทยหลายครั้ง ร่วมทำโปรเจกต์กับลาซาด้า ประเทศไทยหลายหน พอรู้ว่าผมจะได้มาทำงานที่นี่ ผมตัดสินใจได้แบบไม่ยากเลย”

ถึงใจจะมาเต็มร้อย แต่หากถามว่า หลังจากมาชิมลางได้ร่วมเดือน เจมส์มองเห็นความท้าทายอะไรในตลาดเมืองไทยบ้าง คำถามนี้ ทำเอาแววตาขี้เล่นของผู้บริหารหนุ่มกลับไปจริงจังอีกครั้ง ก่อนจะเผยว่า สิ่งที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย คือ โครงสร้างพื้นฐาน หลายประเทศอาจจะเข้าสู่สังคมไร้เงินสดแล้ว แต่ในประเทศไทยอาจยังไปไม่ถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือ การพัฒนาเทคโนโลยีในการจ่ายเงินให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น

ถัดมาคือ เรื่องโลจิสติกส์ ประเทศไทยถือว่ามีระบบนิเวศที่ดีมาก จากการสนับสนุนของรัฐบาล เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) แต่ยังต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของหลายภาคฝ่ายต่อไป สุดท้ายคือ ทำอย่างไรเพื่อให้ลูกค้ามีไลฟ์สไตล์ที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไม่ใช่แค่การนำสินค้ามาขายในราคาถูก แต่เรากำลังยกระดับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า ที่ผ่านมาเรามีการทำ Super Brand นำบิวตี้ลักซ์ชัวรี่แบรนด์มาจำหน่ายออนไลน์ ร่วมมือกับแบรนด์ออนไลน์ดังๆ มาเปิดร้านออนไลน์ในแพลตฟอร์มของเรา เป็นต้น

“ผมเชื่อว่าในอนาคตคำว่าอี-คอมเมิร์ซจะน้อยลง อย่างในจีนตอนนี้เรามองว่าแพลตฟอร์มออนไลน์กับการซื้อขายแบบออฟไลน์เป็นสิ่งที่ส่งเสริมกัน เรากำลังบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างสามส่วนคือ แบรนด์สินค้า ผู้ขาย และผู้ให้บริการให้เข้ามาสู่โลกดิจิทัลมากขึ้น เพื่อดึงลูกค้าเข้ามามีส่วนร่วมแทนที่จะรอให้ลูกค้าเดินเข้ามาหาเหมือนในอดีต โลกอนาคตกำลังเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “New Retail Ecosystem” ที่เส้นแบ่งระหว่าง “โลกออฟไลน์” และ “โลกออนไลน์” เริ่มบางลง แต่ถ้าถามว่าห้างสรรพสินค้ายังอยู่มั้ย คำตอบคือ อยู่แน่นอน เพียงแต่รูปแบบจะเปลี่ยนไป ออนไลน์กับออฟไลน์จะกลายเป็นส่วนผสมที่ส่งเสริมกันทำให้ 1+1 มากกว่า 2”

สำหรับเป้าหมายในอนาคต เจมส์หวังว่าจะผลักดันพันธกิจขององค์กรที่จะทำให้ชีวิตผู้บริโภคง่ายขึ้นด้วยเทคโนโลยีให้สำเร็จ ส่วนตัวเขาเองมีความตั้งใจว่าจะประจำการอยู่เมืองไทยให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ก่อนจะจบการสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟของเจมส์กับสื่อไทยเป็นครั้งแรก เจมส์ยังทิ้งท้ายถึงหลักการทำงานที่น่าสนใจว่า เริ่มจากยอมรับ ยอมรับในความเห็นที่แตกต่าง แล้วอาศัยความเข้าใจเพื่อรับมือกับความแตกต่างนั้น

“จากนั้นพยายามจัดลำดับความสำคัญ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีปัญหาหรืออุปสรรค ผมจะคิดหาทางเพื่อแก้ปัญหาที่สามารถทำได้อย่างเร็วที่สุดก่อน สุดท้ายคือ ปล่อยวาง บางครั้งเราไม่สามารถจัดการทุกอย่างได้ วิธีการคือ เอามันออกไป วิธีสลัดความเครียดของผมคือ ไปเล่นกีฬา”