posttoday

ชุมชนสู้หนี้ครัวเรือน ปลดหนี้สู่ความมั่งคั่ง

04 กันยายน 2561

หนทางแก้หนี้คนในชุมชนคือให้ความรู้การออมที่ถูกต้อง

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี 

ปัจจุบันคงมีน้อยคนนักที่จะไม่มีหนี้สินเพราะเวลานี้ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนที่คิดเป็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีของประเทศอยู่ที่ 77% ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นพวกเราทุกคนที่อยู่ในสภาวะหนี้สินพัวพัน แต่จะทำอย่างไรให้พวกเราปลดหนี้สินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชุมชนต้นแบบ ปลอดหนี้ครัวเรือน โดยความช่วยเหลือของมูลนิธิซิตี้ และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย

เป็นหนี้เพราะไม่ระวัง

“ข้อมูลที่เราได้จากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่าตอนนี้คนไทยมีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนค่อนข้างสูง ซึ่งทั้งหมดเกิดจากพฤติกรรมการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวัง ใช้จ่ายเกินตัว โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีอายุตั้งแต่ 25-35 ปี มีการก่อหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด เพราะมีรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่าย มีปัญหาชำระหนี้สินล่าช้า และเลือกแก้ปัญหาด้วยการกู้เงินนอกระบบ จนทำให้ปัญหาหนี้สินที่มีอยู่พอกพูนเพิ่มขึ้น เพราะขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการเงินที่ถูกต้อง” วันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน เพื่อมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านการเงินส่วนบุคคลในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเกิดขึ้น ซึ่งในช่วง 2 ปีหลังจากเริ่มโครงการกว่า 40 ชุมชน ล้วนมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีชุมชนตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดก็คือ ชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ ซึ่งในเวลานี้คนในชุมชนแทบไม่มีหนี้สินนอกระบบอีกเลย อีกทั้งยังมีเงินเก็บและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

วันวิสาข์ เล่าต่อว่า เริ่มโครงการนี้เมื่อ 2 ปีนี้ ก็ติดต่อกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ก็พบว่ามีหลายชุมชนที่มีภาวะหนี้ครัวเรือนสูงมาก เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ เพราะการที่คนมีหนี้สินจำนวนมากจะส่งผลต่อปัญหาอื่นๆ ของสังคมในอนาคต

“เราจะทำอย่างไรเราถึงจะช่วยสังคม ช่วยเหลือชุมชนต่างๆ จึงร่วมมือกับสถาบันคีนันฯ ที่มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาด้านนี้โดยตรงมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เข้ามาช่วยเหลือชุมชนให้มีความรู้ และเข้าถึงเรื่องของการบริหารการเงินในครอบครัวและชุมชน เราก็จะเน้นในเรื่องของการทำเวิร์กช็อป ในการออมการวางแผนเป้าหมายทางด้านการเงิน รวมทั้งหลักสูตรการดำเนินธุรกิจให้กับพวกเขา”

ชุมชนสู้หนี้ครัวเรือน ปลดหนี้สู่ความมั่งคั่ง วันวิสาข์ โคมินทร์ ผอ.อาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย

หนี้นอกระบบเพิ่มความยากจน

ธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานสหกรณ์เคหสถานคลองลัดภาชีร่วมพัฒนา เล่าถึงเส้นทางของชุมชนที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาไม่น้อยกว่าจะประสบความสำเร็จทุกวันนี้ว่า ปัญหาแรกของการตั้งชุมชน คือปัญหาในเรื่องของที่อยู่อาศัยเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน

“เราไปอยู่อาศัยในพื้นที่รกร้างของบุคคลอื่นมานานจนกระทั่งถูกไล่ที่มาเรื่อยๆ จนเห็นว่ามีพื้นที่บริเวณนี้ถึงเป็นป่ารกร้างเราก็เลยทำการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นที่อยู่อาศัย แล้วติดต่อกับเจ้าของที่ดินว่าจะพวกเราจะขอซื้อเพื่อทำเป็นที่อยู่อาศัยให้กับคนในชุมชน ซึ่งทางเจ้าของที่ดินเองก็อนุญาตให้มีการเข้าอยู่อาศัยแล้วก็มีการผ่อนจ่ายค่าที่ดินของชุมชนให้กับเจ้าของที่ดิน แล้วตัวของเจ้าของที่เองก็บริจาคที่ดินอีกแปลงหนึ่งสำหรับตั้งเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้กับชุมชนเป็นสาธารณประโยชน์

บอกตามตรงเลยว่าสมัยก่อนพวกเราไม่ได้มีความรู้เรื่องของการออมทรัพย์เลย ฉะนั้นปัญหาที่เราประสบมากที่สุดก็คือปัญหาหนี้สินครัวเรือน เรามีหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท/หลังคาเรือน และส่วนมากจะเป็นหนี้สินนอกระบบ ภาพอาบังขี่มอเตอร์ไซค์มาทวงหนี้เป็นภาพที่เราคุ้นตากันดี ซึ่งบอกได้เลยว่าเป็นหนี้ที่ไม่มีวันใช้คืนได้หมดสิ้น

คิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน ต้องจ่ายทบต้นทบดอกหรือบางครั้งก็จ่ายได้แค่ดอกเบี้ย ด้วยความที่เราไม่ได้มีความรู้ทางด้านการเงิน ไม่ได้มีการศึกษา ไม่ได้มีบ้านที่เป็นสินทรัพย์เป็นหลักค้ำประกัน ก็ทำให้ธนาคารไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับเราได้ ก็ยิ่งทำให้พวกเราเข้าไปพัวพันกับหนี้สินนอกระบบมากขึ้น แล้วก็เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด

จนกระทั่งทางมูลนิธิซิตี้กับทางสถาบันคีนันฯ เข้ามาให้ความรู้เรื่องของการออมทรัพย์ การวางแผนทางการเงินในครัวเรือน ก็ทำให้เราเริ่มคิดแผนการบริหารเงินในครอบครัวอย่างเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พอเรามีความรู้เรื่องการบริหารจัดการเงินก็ทำให้ปัญหาหนี้สินค่อยๆ ลดน้อยลงไป”

จ่ายไม่น้อยกว่าหนี้คือหวย

ธรรมศักดิ์ เล่าต่อว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการก็ทำให้เห็นปัญหาด้านการเงินต่างๆ ได้ชัดขึ้น หลังจากที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงานหาเงินใช้หนี้สิน โดยเครื่องมือที่ทำให้เราเห็นภาพชัดที่สุดก็คือการทำสมุดบัญชีรายรับรายจ่ายในครอบครัว แบ่งเป็นช่องรายรับ รายจ่ายที่จำเป็น และรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

“ช่องรายจ่ายที่ไม่จำเป็นสำหรับครอบครัวที่เยอะที่สุดของพวกเราก็คือ หวย เล่นกันทุกวัน หนักกว่าค่าเหล้าค่าบุหรี่เสียอีก เป็นแบบนี้กันทุกบ้านซื้อหวยกันหนักมาก อย่างตัวผมเองสมัยก่อนซื้อหวยเดือนนึงจะตกอยู่ประมาณ  4,000 บาท/เดือน บางหลังก็เล่นหวยเดือนละ 8,000 บาท หรือมากกว่านั้นเป็นหลักหมื่นบาทต่อเดือนก็มี ซึ่งถือว่าเยอะมาก แต่ถามว่าซื้อขนาดนี้แล้วถูกเยอะไหม ได้รางวัลตอบแทนกลับมาคุ้มค่ากับการลงทุนไปหรือเปล่า ก็ต้องตอบว่าไม่ใช่เลย เมื่อเอามาคำนวณดูแล้วเล่นหวยปีสองปีจะถูกเลข 2 ตัว 3 ตัวสักครั้งหนึ่ง เทียบสิ่งที่ลงทุนกับผลตอบแทนที่กลับมา ทำให้ผมเกิดความคิดที่จะเลิกเล่นหวยไปเลย

ไม่ใช่แค่ผมคนเดียวคนอื่นในหมู่บ้านก็พบปัญหาเดียวกัน บางคนเห็นตัวเลขค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยอย่างค่าหวย ค่าเหล้า ค่าสูบบุหรี่ รวมกันเสียเงินร่วมประมาณแสนกว่าบาท 5 หมื่นบาทบ้าง แสนบาทบ้างก็เกิดความคิดที่จะเลิกเล่นหวยแล้วก็เลิกกินเหล้าสูบบุหรี่ไปเลย สู้เอาเงินที่เสียกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปซื้ออุปกรณ์การเรียนให้ลูก ซื้อของเล่นให้ลูก หรือจ่ายเป็นค่าเทอมโรงเรียนดีๆ ให้ลูกดีกว่า ยอมรับว่าการทำบัญชีทำให้เราเห็นภาพตัวเลขรายรับรายจ่ายในครอบครัวที่ชัดเจนมากขึ้น”

ชุมชนสู้หนี้ครัวเรือน ปลดหนี้สู่ความมั่งคั่ง ธรรมศักดิ์ มากนคร และลูกบ้านสู้หนี้ครัวเรือน

กองทุนปลดหนี้นอกระบบ

หลังจากให้ความรู้เรื่องการเงินกับผู้นำในชุมชนเพื่อนำไปสอนและบอกต่อให้กับคนในชุมชน จนตระหนักถึงค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นและแนวทางในการบริหารเงินของตัวเองแล้ว ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขและทำให้กลายเป็นชุมชนปลอดหนี้ครัวเรือนโดยสมบูรณ์ก็คือ ปัญหาหนี้นอกระบบ

วันวิสาข์ ให้ความเห็นว่า ปัญหาหนี้นอกระบบเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน นอกจากการขาดความรู้เรื่องการบริหารเงินแล้ว ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รายรับไม่สัมพันธ์กับช่วงที่ต้องจ่าย

“ช่วงที่คนเงินเดือนออกกับช่วงที่ต้องจ่ายหนี้สินไม่ตรงกัน เช่น จะต้องจ่ายหนี้ทุกวันที่ 28 ของเดือน แต่เงินเดือนไปออกวันที่ 2 ซึ่งมันจะทำให้เกิดช่องว่าง 4-5 วัน ซึ่งความจำเป็นของการใช้เงินในช่วงที่ต้องจ่าย แล้วไม่มีเงินกู้ในระบบต้องไปหาเงินกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยเป็นรายวัน เพราะคนที่มีรายได้น้อยจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของสถาบันการเงินได้ง่ายนัก ทำให้หนี้สินนอกระบบไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้รู้จักจบจักสิ้น

ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบถูกแก้ไขได้มากที่สุด ก็คือการตั้งองค์กรขึ้นมาองค์กรหนึ่งในชุมชนในการปล่อยกู้ช่วยเหลือในระยะสั้นให้กับคนในชุมชน ไม่ต้องกู้หนี้ยืมสินนอกระบบจนเกิดดอกเบี้ยรายวันแบบนั้นอีก ก็จะทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบนั้นลดลงไปอย่างรวดเร็ว”

ธรรมศักดิ์ เล่าเสริมด้วยท่าทียิ้มแย้มต่อว่า หลังจากได้รับการอบรมจนรู้แนวทางแล้ว สหกรณ์ชุมชนเราก็เริ่มมีการตั้งกองทุนขึ้นมาอีกกองทุนหนึ่งเป็นกองทุนฉุกเฉิน

กองทุนนี้จะเป็นกองทุนให้ทุกคนในหมู่บ้านที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ มีสิทธิที่จะกู้เงินโดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยในเดือนแรก เพราะบางคนมีความจำเป็นต้องใช้เงินฉุกเฉินในระยะสั้นๆ แต่ไม่มีจะใช้ก็ต้องกู้เงิน ถ้าปล่อยไปกู้นอกระบบก็จะเป็นหนี้สินรุงรัง แต่ถ้ามากู้กับสหกรณ์ยืมแล้วคืนในเดือนแรกไม่คิดดอกเบี้ย หากเกินกว่านั้นคิด ดอกเบี้ย 3% หรือสมาชิกมีหนี้นอกระบบมาคุยกับสหกรณ์มากู้เงินไปปิดหนี้นอกระบบแล้วมาผ่อนชำระกับสหกรณ์แทน พอเราคิดทำระบบนี้ขึ้นมาปัญหาหนี้นอกระบบก็ลดลงจนแทบไม่มีเหลืออีกเลย นอกจากเปิดแหล่งเงินกู้แล้วก็มีการสร้างอาชีพ ทำเห็ด ทำน้ำพริกขาย สร้างรายได้ให้คนในชุมชนเพิ่มเติมอีก

ความรู้ช่วยได้ทุกสิ่ง

วันวิสาข์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สิ่งที่มุ่งเน้นในการช่วยเหลือคนในชุมชนไม่ใช่เรื่องของการให้เงินทุน แต่เป็นเรื่องของการให้ความรู้ โดยเน้นให้คนชุมชนเข้ามาทำเวิร์กช็อป อบรมเรื่องของการออม

“ในการสอนเราไม่สามารถบอกเขาได้ว่า จะต้องออมแบบนั้นแบบนี้ เพราะแต่ละคนมีความต้องการไม่เหมือนกัน การสอนต้องให้เขามีเป้าหมายในชีวิตแล้วมาดูว่าเป้าหมายของเขานั้น จะต้องทำอะไรบ้างโดยแบ่งเป็น เป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว และเกษียณ มีภาระจะต้องส่งลูกเรียนหรือว่าจะผ่อนรถ ผ่อนมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องให้เขาวางเป้าหมายว่าเขาจะต้องเก็บเงินและใช้เงินเท่าไร

พอวางเป้าหมายกันเสร็จแล้ว เราก็มาดูกันว่าแล้วตอนนี้มีค่าใช้จ่าย รายวัน รายเดือนของเขามีลักษณะอย่างไร ซึ่งทางซิตี้แบงก์เองก็เป็นสถาบันทางการเงิน เราพนักงานที่มีความรู้ทางด้านการเงินเข้ามาร่วมเป็นวิทยากรในการทำเวิร์กช็อปร่วมกัน ที่ผ่านมาในการทำเวิร์กช็อปให้แต่ละชุมชน เราก็จะรู้ได้ว่ามีค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่างที่บางทีเราก็คิดไม่ถึง แล้วพบว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงต่อเดือนสำหรับพวกเขาอย่างเช่นค่าหวย

แต่เราก็เข้าใจว่าวิถีชีวิตของเขาเป็นแบบนั้น เราไม่สามารถเข้าไปกำหนดเข้าไปเปลี่ยนแปลงแนวคิด แต่สิ่งที่เราทำได้ก็คือเราให้แนวทางในการคิดในการบริหารเงินให้กับพวกเขา แล้วทำให้พวกเขาตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตัวเองว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้พวกเขามีสถานะการเงินที่ดีขึ้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมีหนี้สินครัวเรือนที่ลดลง

จากโครงการที่ทำมา 2 ปี 40 ชุมชน กับคนที่จะไปเป็นผู้นำชุมชน 960 คน พบว่าสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ถึง 78% สามารถวางแผนชำระหนี้สินของตัวเองได้ตรงเวลาถึง 84% สูงกว่าตอนเริ่มต้นทำโครงการถึง 25% ถือว่าประสบความสำเร็จดีมาก ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่ดีที่สุดก็คือการให้ความรู้และแนวทางกับชาวบ้านให้พวกเขาได้ตระหนัก และเห็นภาพของปัญหาที่ชัดเจนด้วยตัวเอง และจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืนมากที่สุด”