posttoday

ทำดีหวังผล เพื่อสังคมที่ดีขึ้น’ เราช่วยกันได้

03 กันยายน 2561

คนไทยส่วนใหญ่พร้อมลงมือแก้ไขปัญหาสังคมแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร

เรื่อง วราภรณ์ ภาพ อีพีเอ, มูลนิธิเพื่อคนไทย

จากผลการสำรวจจากงานวิจัยต่างๆ รวมทั้ง “คนไทยมอนิเตอร์” ระบุว่า คนไทยส่วนใหญ่พร้อมลงมือแก้ไขปัญหาสังคมแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร “Good Society Expo 2018 เทศกาลทำดี หวังผล” จึงเกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นกลไกสร้างพลเมืองที่มีส่วนร่วม ด้วยการเปิดพื้นที่แนะนำช่องทาง การลงมือทำให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาสังคม โดยการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อาสาสมัคร หรือจะสนับสนุนบริการหรือบริจาคเงินผ่านกลไกการให้ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน มุ่งเน้นงานพัฒนาความยั่งยืนทุกภาคส่วน ที่ช่วยกันสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ผู้สนับสนุนหลักๆ ได้แก่ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์

ปีนี้ Good Society Expo 2018 ชวนคนไทย “ทำดีหวังผล” ตามถนัด จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 ก.ย.นี้ ณ เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นความร่วมมือของ 80 องค์กรช่วยกันขับเคลื่อน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การศึกษา คนพิการ ต้านทุจริต สิ่งแวดล้อม สุขภาพ ภายใต้แนวคิด “เทใจ ปันกัน ฟู้ดฟอร์กู๊ด โซเชียลกีฟเวอร์” บนพื้นที่ 11 โซนนำเสนอปัญหาและทางออกให้ทุกคนมีส่วนร่วมตามความสนใจร่วมกว่า 50 กิจกรรมน่าสนใจ

งานเสวนา“ชวนคิด ชวนทำ”

ก่อนจะจัดงานจริงในวันที่ 13-16 ก.ย.นี้ มีการเสาวนาเวทีชวนคิดชวนทำ “กู๊ด โซไซตี้ : ทุกปัญหาสังคม คนไทยทุกคนช่วยได้” เพื่อเรียกน้ำย่อยระหว่างหลายองค์กรอิสระ หนึ่งในนั้นคือ อภิชาติ การุณกรสกุล ประธานกรรมการมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ได้พูดถึงวิธีที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ โดยอภิชาตเน้นไปที่ปัญหาคนพิการว่าขณะนี้เมืองไทยมีคนพิการราว 8 แสนคน แต่ผู้พิการราว 5 แสนคนไม่มีงานทำ ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ

ทำดีหวังผล เพื่อสังคมที่ดีขึ้น’ เราช่วยกันได้ (ที่ 2,3 จากซ้าย) ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพลูสินธนา วิเชียร พงศธร

มูลนิธินวัตกรรมทางสังคมจึงร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ขับเคลื่อนเป็นปีที่ 4 เพื่อเชื่อมโยงให้สถานประกอบการที่กฎหมายกำหนดว่าต้องจ้างคนพิการ แต่ในความเป็นจริงยังมีการจ้างงานคนพิการยังไม่ครบกับที่กฎหมายกำหนด

“ตอนนี้กรอบของเราอยากให้คนพิการได้ทำงานเชิงสังคมในชุมชน ตอนนี้มีบริษัท 400 กว่าแห่งให้ความร่วมมือช่วยสร้างงานให้คนพิการ 4,000 คนได้มีงานทำ เราอยากให้บริษัทต่างๆ เปิดรับคนกลุ่มนี้มากขึ้น”

สำหรับหัวข้อ ช่วยพัฒนาการศึกษาได้อย่างไร พัดชา มหาทุมะรัตน์ รองผู้อำนวยการโครงการร้อยพลังเปลี่ยนประเทศ ยกตัวอย่างปัญหาคุณแม่วัยใส เชื่อหรือไม่ว่า เด็กตั้งแต่เริ่มเรียนประถมถึงมัธยมปลาย เด็กที่ได้เรียนจนจบมัธยมปลาย มีอัตราไม่ถึงครึ่งของนักเรียนที่ได้เริ่มเรียนด้วยหลากเหตุผล เช่น การไปเป็นคุณแม่วัยใส ต้องช่วยงานที่บ้าน ฯลฯ

โครงการร้อยพลังการศึกษาเป็นการร่วมพลังคนทำงานด้านการศึกษาในมุมต่างๆ มาร่วมมือกันทำจากงานวิจัย พบว่าการเข้าถึงมีประเด็นใหญ่ๆ คือ เรื่องที่ 1 การทำอย่างไรให้เด็กเรียนจนจบชั้นมัธยมหกเป็นอย่างน้อย 2.เรียนอย่างไรให้รู้เรื่องให้สนุกแล้วมีประสิทธิภาพ 3.เรียนไปแล้วรู้ไหมว่าเรียนไปเพื่ออะไร อาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน และไปถึงตรงนั้นได้ ทำ 3 เรื่องร่วมกัน

“ในงานนี้เป็นการร่วมและเป็นงานที่ทำงานร่วมกันในสังคมได้ เช่น บริษัทห้างร้านอยากร่วมมือแก้ปัญหาการศึกษาพวกเขาจะร่วมมือได้อย่างไร วิธีง่ายๆ คือ ใช้ของส่วนตัวมาช่วยมาร่วมได้ เช่น เกรย์ฮาวด์ คลับ 21 เลิฟอีส และอื่นๆ อีกหลายบริษัทแสดงความร่วมทำในสิ่งที่ตัวเองถนัด เช่น ทำสินค้าลิมิเต็ด เอดิชั่น หารายได้เพื่อช่วยกันลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา งานนี้เป็นการร่วมมือกันทำงานในระยะยาว”

ทำดีหวังผล เพื่อสังคมที่ดีขึ้น’ เราช่วยกันได้ ดร. มานะ นิมิตรมงคล

คอร์รัปชั่น แก้ด้วยวิธี“อย่านิ่งเฉย”

เราจะช่วยต้านคอร์รัปชั่นได้อย่างไร ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตอบเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นได้สร้างความเดือดร้อน ยุ่งยากให้ชีวิตคนไทยมาก ปัญหาหลายๆ อย่างนำสู่ความแตกแยกทางสังคม การเอารัดเอาเปรียบ ปัญหาจะไม่ลุกลามบานปลายจนถึงทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเรื่องคอร์รัปชั่น

ที่ผ่านมาปัญหาคอร์รัปชั่นยังแก้ไขไม่ได้ เพราะเป็นปัญหาที่แก้ไขยาก คนก็ไปพุ่งเป้าองค์กรคิดว่ายังไม่พอเพราะกฎหมายยังลงโทษไม่รุนแรง ซึ่งกฎหมายพิสูจน์แล้วว่า เราจะแก้ไขที่กฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่อยู่ที่จิตสำนึกของคนไทย ต้องช่วยกันออกความเห็น ช่วยเฝ้าระวัง อะไรเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ต้องช่วยกันมีปากเสียง ถ้าเราเห็นคนทำอะไรที่ขัดกับศีลธรรม และทำแล้วขัดต่อผลประโยชน์ของส่วนรวม เช่น นำรถยนต์หลวงไปใช้ส่วนตัว เอาเวลาในราชการมาทำงานในเรื่องส่วนตัว นำผลประโยชน์ให้กับญาติพี่น้องหรือพวกพ้องของตัวเองให้สันนิษฐานก่อนว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง สุดท้ายแล้วต้องไปดูอีกทีว่าเรื่องที่เกิดขึ้นผิดกฎหมายหรือไม่

หากเราพบการคอร์รัปชั่นสิ่งที่เราควรทำคือ ตั้งคำถามให้คนรอบข้างช่วยกันสังเกต สิ่งเหล่านั้นผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เราควรจะยอมรับหรือไม่ ถ้าเราคิดว่ารับไม่ได้ ควรพูด ไม่นิ่งเฉย หรือหากร้ายแรงควรแจ้งต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น พบเห็นเด็กอนุบาลรับประทานอาหารกลางวันอย่างมีคุณค่าทางโภชนาการไม่เหมาะสมกับค่าอาหารที่ผู้ปกครองเสียไป หรือทำงานราชการแล้วต้องปลอมลายเซ็นเพื่อไปเบิกเงิน หรือการทำบุญในวัดแล้วเห็นพระสงฆ์นำเงินที่ญาติโยมบริจาคไปใช้ในเรื่องส่วนตัว สิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และไม่ควรนิ่งเฉย เพราะจะทำให้การคอร์รัปชั่นนั้นเลวร้ายลงไปอีก แต่หากเราพูดเรามีเสียงอย่างน้อยก็ทำให้คนกระทำผิดรู้ตัวว่า สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ถูกต้อง คุณกำลังถูกจับตาดูอยู่นะ เป็นต้น

“เรื่องคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องยากมาก ที่จะทำให้เสียงคนไทยพูดออกไปในทางเดียวกันอย่างมีพลัง เราต้องร่วมกันช่วยกันแก้ไขปัญหาใหญ่ของประเทศ ในงานเราจะนำส่วนหนึ่งของภาคี 14 องค์กร เพื่อนำเสนอให้สังคมได้รู้ ยังมีคนที่คิดดีทำดีตั้งหลายอย่าง เขาทำอะไรบ้าง

ผู้ร่วมงานจะได้เห็นรูปแบบการทำงานวิธีการต่างๆ แล้วเกิดแรงบันดาลใจ ว่าตัวเขาเองที่ยังไม่ได้ลงมือ เขาเองสามารถทำอะไรบางอย่างได้ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น รูปแบบของงาน 14 โครงการนำเสนอรูปแบบง่ายๆ จัดเป็นเกม มาช่วยกันค้นหาการคอร์รัปชั่น เราจัดการกับมันอย่างไร โดยจะมีเกมออกมา เป็นเกมที่สมมติบนพื้นฐานของความเป็นจริง

ทุกคนที่มาเล่นเกมจะสนุก เข้าใจได้และจะรู้ว่า รูปแบบการโกงต่างๆ ที่ไปสัมผัสและทดสอบด้วยตัวเองถ้าได้เจอจริง จะจัดการแก้ไขปัญหาอย่างไร โดยเรานำมาทั้งหมด 7 คดีโกง เรามาดูกันว่า ผ่านการจัดงานครั้งนี้ไปจะเกิดพลัง ความเข้าใจที่จะลงมือช่วยกันแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร”

ทำดีหวังผล เพื่อสังคมที่ดีขึ้น’ เราช่วยกันได้ อภิชาติ การุณกรสกุล

“แอ็กทีฟ ซิติเซน”เริ่มได้ที่ตัวเอง

โต้โผใหญ่ในการจัดงาน วิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อคนไทย กล่าวว่า จากจุดร่วมต้น ทำมาแล้ว 5 ปี เห็นความก้าวหน้า เห็นผลการพัฒนาสังคมของการแบ่งปัน ตลอด 5 ปี เซ็นทรัลพัฒนาช่วยให้เรื่องสถานที่มาโดยตลอด สิ่งที่คาดหวังจากการจัดกิจกรรมคือ อยากให้เกิดส่วนร่วม สังคมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

“เราอยากเชิญชวนสังคมเราให้ความร่วมลงมือช่วยกันแก้ปัญหาในสิ่งที่ตัวเองถนัด เราเห็นพัฒนาการมีความตื่นตัวทางสังคมมากขึ้น เราอยากให้คนในสังคมมีส่วนร่วม ทำดีแล้วต้องหวังผลให้สังคมดีขึ้น เรามีองค์กรร่วมที่มากขึ้นถึง 80 องค์กร จริงๆ เรามีส่วนร่วมที่หลากหลายได้ เราเริ่มที่ตัวเองก่อน คือทำโครงการเอง หรือมาช่วยสนับสนุนองค์กรต่างๆ ที่เราสนใจได้ เป็นผู้สนับสนุนหรือมีแนวคิดรูปแบบแปลกแตกต่าง

ผมอยากให้เราแข่งกันทำความดี เราอยากให้เกิดแอ็กทีฟ ซิติเซนขึ้นเยอะๆ และสิ่งที่เราทำ 17 หัวข้อจัดเป็นหมวดหมู่แล้วถือเป็นปัญหาระดับโลกทั้งหมด เราอยากมีสังคมที่ดีได้อย่างไร มันจะไม่เกิดขึ้นหากทำด้วยองค์กร ตัวเองและคนอื่น แต่ต้องเกิดขึ้นจากเจ้าของสังคมที่จะต้องช่วยกันทำ เช่น ภาคธุรกิจอย่างเซ็นทรัลพัฒนา เราต้องช่วยกันขับเคลื่อน เอื้อให้คนมามีส่วนร่วมจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ”

ด้าน ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา กล่าวต้องขอขอบคุณคุณวิเชียร ที่ชวนเซ็นทรัลพัฒนาทำโปรเจกต์นี้ เพราะเขาคิดว่าศูนย์การค้าไม่น่าใช่เพียงสถานที่จับจ่ายเงินทอง แต่อยากเป็นส่วนหนึ่งในการทำความดีบ้าง

“5 ปีที่ผ่านมาเราเห็นการพัฒนาของงานคือ มีคนมาร่วมงานเยอะมาก ผมคิดว่าแค่คนมาที่พาวิลเลียนเพื่อคนพิการแล้วกลับไปช่วยเหลือคนพิการ ช่วยกันทำเรื่องอาหาร สิ่งแวดล้อม เพียงแค่นี้ผมคิดว่าเราก็วินแล้ว ไอเดียของผมคิดว่าจัดปีละครั้งยังน้อยไป เราอยากสร้างคอมมูนิตี้ด้วยกัน เช่น เรื่องคอร์รัปชั่นผมก็เป็นคณะกรรมการประปาระดมเรื่องต้อต้านคอร์รัปชั่นโดยตรง เราสามารถไดรฟ์กิจกรรมได้ หน้าที่ของเซ็นทรัลพัฒนาคือเป็นแพลตฟอร์ม คนมาห้างอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการต่อยอด หรือเกิดเน็ตเวิร์ก ผมอยากให้คนรู้ว่า การคอร์รัปชั่นไม่ใช่เรื่องปกติ เราต้องทำให้คนโกงอยู่ไม่ได้ ทำให้คนพิการมีพื้นที่ในการประกอบอาชีพได้”

กู๊ด โซไซตี้ เอ็กซ์โป

งานนี้มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่การริเริ่มงาน “คนไทยขอมือหน่อย” ครั้งแรกเมื่อ 2556 ปัจจุบันผ่านมา 5 ปีแล้ว ก่อนขยายวงสู่ความร่วมมือที่กว้างขึ้น ปีนี้เนื้อหานิทรรศการนำเสนอประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนที่ 1 พื้นที่นำเสนอกิจกรรมเชิงประเด็น ประกอบด้วย 5 ประเด็นหลัก แยกเป็นพาวิลเลียนดังนี้ เช่น พาวิลเลียนการศึกษาพัฒนาเยาวชน ประกอบด้วยภาคีโครงการร้อยพลังการศึกษา มูลนิธิยุวพัฒน์ มูลนิธิทีช ฟอร์ ไทยแลนด์ บริษัทวิสาหกิจเพื่อสังคม “เอ็ดวิงส์ เอ็ดยูเคชั่น” และภาคีเพื่อการศึกษาไทย

รูปแบบนิทรรศการคือ นำเสนอสารเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาของประเทศผ่านปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็กไทย โดยใช้การสะกดคำภาษาไทยแบบผิดๆ ด้วยลายมือจริงของน้องๆ ที่มีอายุเทียบเท่าระดับชั้นมัธยมเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดปัญหานี้สู่สังคม

สำหรับพาวิลเลียน Social Inclusion (คนพิการ) ปิยวรรณ องค์สุวรรณ ผู้จัดการโครงการบริษัท กล่องดินสอ กล่าวว่า กลุ่มทำงานด้านคนพิการ เพื่อการสร้างสรรค์สังคมที่ให้เราสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างเท่าเทียมที่สุด ให้คนปกติกับคนพิการออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน

“บางกิจกรรมคนพิการออกมาทำกิจกรรมไม่ได้ เราจึงออกแบบกิจกรรมเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาคนพิการซึ่งมีโครงการย่อย 9 โครงการ เพื่อทำให้คนพิการสามารถทำกิจกรรมร่วมกับคนปกติได้ เท่าที่ผ่านมาเราทำกิจกรรมรูปแบบนี้มาโดยตลอด เช่น กิจกรรมร่วมกันวิ่งด้วยกัน ไกด์ รันเนอร์ คนปกติวิ่งกับคนพิการ ถือเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมถูกที่สุด ทำง่ายที่สุดเพราะใครๆ ก็สามารถวิ่งได้ เราออกแบบแอพพลิเคชั่นให้คนตาบอดออกไปดูหนังร่วมกับคนตาดีได้ เพราะวันหนึ่งเราก็อาจต้องนั่งวีลแชร์ หรือมีกิจกรรมเข้าครัวด้วยกัน

ในงานกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นคือ เราจัดเวิร์กช็อป เข้าครัวด้วยกัน เราจะให้คนปกติเข้าคลาสทำอาหารแบบคนตาบอดครั้งแรก ที่คุณจะพบว่าไม่ต้องใช้สายตาก็ปรุงอาหารอร่อยได้ และทำอาหารเพื่อคนพิการได้ปลอดภัย เอาคนพิการมาทำเวิร์กช็อป เราสามารถชิมอาหารของคนพิการได้ เพราะมีวิธีทำอาหารที่สะอาดปลอดภัย ใช้หม้อหุงข้าวทำ จึงไม่อันตราย เราลองมาทดลองทำอาหารโดยไม่ใช้ประสาทสัมผัสทางตา เป็นสูตรที่ออกแบบโดยเชฟ มีการชั่งตวงวัด ดังนั้นอาหารจึงออกมาอร่อยแน่นอน”

พาวิลเลียนเพื่อสิ่งแวดล้อม องค์กรตัวกลางคือ มูลนิธิเอ็นไลฟ จัดกิจกรรมร่วมกับมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หัวข้อช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้อย่างไร ดร.ณัฐพันธ์ ศุภกา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาภาคีสัมพันธ์และวิเทศสัมพันธ์ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาโรคภัยยุคนี้ไม่ได้เกิดจากการติดต่อหรือเชื้อโรคเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากพฤติกรรมคนเรา ดังนั้นวิธีการที่จะทำให้คนสุขภาพดี ต้องเริ่มต้นจากการสร้างเสริมสุขภาพ

“ในปีนี้เครือข่ายด้านสุขภาพ 10 หน่วยงานช่วยกันคิดว่า คนเรากลับไปบ้านอยู่ร่วมกับพ่อแม่ลูก เราจึงออกแบบบูธของเราเป็นบูธสุขภาพดีทุกช่วงวัย เพราะทุกช่วงวัยมีปัญหาสุขภาพแตกต่างกัน แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ เราออกแบบบูธเป็นบ้าน เรายกปัญหาอย่างไรสำหรับพ่อแม่มือใหม่ แม่สามารถพัฒนาเด็กได้อย่างไร โดยเรามีแอพพลิเคชั่นช่วย พอเด็กโตเป็นเด็กติดจอ โดยเรามีวิทยาการกิจกรรมช่วยแก้ไขปัญหาวัยรุ่น มีปัจจัยเสี่ยงคุยกันเรื่องเพศกับลูกวัยรุ่นได้ไหม

ปีนี้เรามีการทำแอพพลิเคชั่น เข้าใจวัยรุ่น พอโตหน่อยเข้าสู่วัยทำงาน มีปัญหาชีวิตเรื่องทำมาหากิน เราก็มีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำการแก้ไขปัญหา เรียกว่าเรามีแอพพลิเคชั่นทำอย่างไรสุขภาพดี 8 เรื่อง เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา รวมทั้งเรามีนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุ และการรับมือกับโรคซึมเศร้า คือทุกช่วงวัยสามารถอยู่ร่วมกันได้ อยากให้ทุกคนมาดูบ้านหลังนี้ ครอบครัวที่มาด้วยกันก็สามารถมาดูแล้วแยกบ้านกันดูได้ตามความสนใจครับ”