posttoday

กวี สุพัง หมุนล้อไปเก็บภาพ ชีวิตต้องเดินต่อไป

02 กันยายน 2561

ชีวิตคนเราบางทีก็ยิ่งกว่าละคร มีหลายบทหลายตอน ทั้งสุข เศร้า สมหวัง คละเคล้ากันไป

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน 

ชีวิตคนเราบางทีก็ยิ่งกว่าละคร มีหลายบทหลายตอน ทั้งสุข เศร้า สมหวัง คละเคล้ากันไป คุณพระคุณเจ้าท่านจึงสอนสั่งไว้ว่า เวลาดีใจก็อย่าให้ออกนอกหน้ามากเกินไป แล้วเวลาเสียใจก็อย่าให้ฟูมฟายจนเกินไป จนชีวิตไปต่อไม่ได้ พยายามวางใจให้เป็นกลางเข้าไว้ เวลาที่เจออะไรแรงจะได้มีกำลังใจสู้ต่อไป เพราะสุขทุกข์ในชีวิตนั้นเป็นของคู่กัน ทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าคนจะรวยหรือจน จะมียศถาบรรดาศักดิ์อย่างไรก็ไม่มีข้อยกเว้นให้ใครหน้าไหนทั้งนั้น

วันนี้เรามีตัวอย่างของคนที่มีกำลังใจที่ดีแม้ชีวิตจะเจอเรื่องสาหัสหนักหนาอย่างไร เขาก็ไม่ยอมแพ้ มีแค่ไหนใช้แค่นั้น เป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับและเดินหน้าต่อไป จากเด็กหนุ่มที่รูปร่างปกติแขนขาดี รูปร่างสูงใหญ่ ผิวเข้มหน้าคม มีรอยยิ้มเปื้อนหน้าอยู่เสมอ แต่โชคร้ายในวัยเกือบ 20 ปี เขาได้รับอุบัติเหตุไฟฟ้าชอร์ตอย่างรุนแรงจนต้องตัดแขนขาไปในวัยหนุ่ม แม้จะเศร้าเสียใจเพียงใด เขาก็ลุกขึ้นสู้ต่อ ยิ่งขาดก็ยิ่งต้องแกร่ง ต้องช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

กวี สุพัง ในวัย 30 ปลายๆ ปัจจุบันนี้เขาทำงานที่สำนักงานแห่งหนึ่ง แต่ทุกวันหยุดเขาจะไปช่วยทำงานจิตอาสาอยู่เป็นครั้งคราว หรือไม่ก็มีกิจกรรมไปต่างจังหวัดเพื่อถ่ายรูปเรื่องราวชีวิตผู้คนต่างๆ เพื่อมาลงเพจของเขาที่ชื่อว่า ”หมุนล้อไปเก็บภาพ”

กวี เล่าย้อนอดีตของเขาให้ฟังว่า เขาเป็นหนุ่มอีสานจาก จ.ศรีสะเกษ เขาเข้ามาใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ หลังจากจบมัธยมต้น และมาเรียนต่อสายช่างโดยเรียนไปทำงานไป และมาประสบอุบัติเหตุที่กรุงเทพฯ นี่เอง

กวี สุพัง หมุนล้อไปเก็บภาพ ชีวิตต้องเดินต่อไป

ตอนนั้นเขามาทำงานให้กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว ทำงานอยู่แล้วโดนไฟฟ้าชอร์ตสลบไปเลย มีคนพาไปส่งโรงพยาบาล รักษาตัวอยู่ 2 ปี เข้าๆ ออกๆ โรงพยาบาลเพื่อไปรักษาบาดแผลและกายภาพบำบัด รวมทั้งหัดใช้อุปกรณ์ฝึกเดิน เพื่อให้ใช้ชีวิตได้ตามปกติช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด

“ตอนนั้นเรายังเด็กวัยรุ่นอายุ 18-19 เอง ไม่เต็ม 20 ปีดี ก็ยังไม่ได้คิดอะไรเยอะแบบว่ายังไม่ทันคิดว่าอนาคตเราจะเป็นอย่างไร เด็กต่างจังหวัดคงไม่ได้ทะเยอทะยานมากนักเลยยังไม่กังวลอะไรเท่าไรกำลังใจดี จิตไม่ตก ไม่ทุรนทุราย ไม่ฟูมฟาย มหาวิทยาลัยที่เราทำงานเขาก็ช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลดี”

จนกระทั่งกลับไปอยู่บ้านที่ศรีสะเกษ มีเวลาว่างมาก มีเวลาได้อยู่คนเดียว จึงเริ่มมีเวลาคิด เพื่อนๆ มาเยี่ยมก็เอาซีดีเพลงมาฝาก เริ่มเศร้าลงเล็กน้อย ฟังเพลงไปคิดตาม หันมาอ่านหนังสือ หัดเขียนหนังสือ เพราะมือเราถูกตัดไปแล้ว ต้องใช้แขนเทียม ต้องมาหัดกันใหม่หมด เขาต้องมาหัดใหม่หมด ต้องเซ็นเองให้ได้เพื่อไปรับเงินเบิกต่างๆ ถึงตอนนั้นจึงได้คิดว่าชีวิตที่เหลือต่อไปนี้จะเป็นอย่างไร

ด้วยความที่เขาเป็นลูกชายคนเล็กของครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ก็ช่วยเหลือให้กำลังใจเป็นอย่างดี ถึงตอนนั้นเขาเริ่มคิดถึงอนาคตว่าต่อไปจะทำอย่างไร ใช้ชีวิตแบบไหน เพราะทุกอย่างมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าคนเราเกิดมาเพื่ออะไร เกิดมาแล้วได้ทำประโยชน์ให้ประเทศชาติ ให้สังคมได้บ้างหรือยัง

กวี สุพัง หมุนล้อไปเก็บภาพ ชีวิตต้องเดินต่อไป

“ที่ถามกับตัวเองแบบนั้นไม่ได้พราะคิดสั้น หรืออยากจะทำร้ายตัวเองนะครับ แต่เพราะช่วงที่อยู่บ้านว่างๆก็ได้ดูหนังเกี่ยวกับสงคราม อ่านหนังสือแนวชีวิตจิตใจ ก็เริ่มมีความคิดว่าแม้มีร่างกายไม่ครบเท่าเดิม แต่เราก็ยังพอทำอย่างอื่นได้ ทำประโยชน์เพื่อสังคมได้บ้าง ที่สำคัญผมต้องพยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ใช้ชีวิตให้อยู่คนเดียวให้ได้ เพื่อพ่อแม่จะได้ไม่เป็นห่วง พ่อแม่แก่ตัวลงทุกวัน ไม่อยากให้ท่านทุกข์ใจ ถ้าเราเข้มแข็งอยู่รอดได้ท่านก็จะสบายใจ ไม่เป็นภาระของพี่ๆ ผมจึงต้องออกจากบ้านที่ศรีสะเกษเพื่อเข้ากรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อแสดงว่าผมดูแลตัวเองได้ ไปต่อได้แม้มีไม่เท่าเดิม ซึ่งพ่อแม่ท่านไม่อยากให้ผมเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ อีกแล้ว เพราะตอนมาครั้งแรกอายุ 18 ก็มาเจออุบัติเหตุ กลับไปรักษาตัวตอน 20 กว่า ท่านก็เจ็บปวดเสียใจไปกับเรา ทีนี้เข้ามาอีกครั้งตอนนั้นอายุ 22 พอดี” เขาเล่าอย่างมุ่งมั่น

หลังจากเก็บตัวรักษาอยู่ที่บ้าน 2 ปี พอช่วยเหลือตัวเองได้พอสมควรแล้ว เขาก็ได้ไปเข้าศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการจากอุบัติเหตุจากการทำงาน ที่ศูนย์ฝึกอาชีพ จ.ระยอง พร้อมๆ กับไปเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทางด้านอิเล็กทรอนิกส์อยู่ 2 ปี ก็ย้ายจาก จ.ระยอง มาอยู่ที่พัทยา มาเรียนทางด้านคอมพิวเตอร์เพิ่มที่ศูนย์ฝึกคนพิการของวัดมหาไถ่ พัทยา ซึ่งเขาก็ได้มาเป็นพื้นฐานอาชีพกับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้

นอกจากนี้ เขายังร่วมเป็นอาสาสมัครโครงการใช้ทางเท้าที่พัทยา เพื่อช่วยรณรงค์การใช้ทางเท้าเพื่อผู้พิการ และมีโครงการต่อเนื่องมาที่กรุงเทพฯ ด้วย จนได้มารู้จักกับองค์การคนพิการสากล ต้องการคนทำงานด้านคอมพิวเตอร์ เขาจึงได้ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ถึงตอนนี้ก็ 6 ปีแล้วที่เขาทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา

ถ้าถามกันจริงๆ ว่า จากอุบัติเหตุครั้งนั้นเขาทำใจได้จริงๆ โดยไม่กระทบกระเทือนจิตใจใดๆ เลยหรือ เขาครุ่นคิดก่อนตอบว่า มันก็มีบ้างหลังจากออกจากโรงพยาบาลแล้วมีจิตเศร้าหมองบ้าง แต่ก็ไม่ได้ฟูมฟายอะไรมากมาย เนื่องจากไม่อยากให้ที่บ้านโดยเฉพาะพ่อแม่ท่านไม่สบายใจ ยิ่งเขามีทีท่าทุกข์ร้อนไม่พร้อมจะเริ่มต้นใหม่ คนที่จะรู้สึกแย่มากไปยิ่งกว่าเขาก็คือพ่อแม่นั่นเอง

กวี สุพัง หมุนล้อไปเก็บภาพ ชีวิตต้องเดินต่อไป

เขาจึงต้องพยายามตั้งหลักให้ได้เร็วที่สุด ทำร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็งให้ได้เร็วที่สุด ช่วยเหลือตัวเองให้ได้มากที่สุด เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ และเขาต้องยืนให้ได้ด้วยตัวเอง ทำมาหาเลี้ยงตัวเองให้ได้

กวี บอกว่า สิ่งที่เขาต้องมีก็คือการมองโลกในแง่ดี และการให้กำลังใจตัวเองสำคัญที่สุด แม้จะมีคนอื่นให้กำลังใจเขามากมายแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่มากพอ ไม่ดีพอเท่ากับการที่เขาให้กำลังใจตัวเอง เขาต้องใส่พลังใจมองโลกในแง่บวกมากๆ เพื่อที่จะผ่านวันผ่านคืนอันเลวร้ายมาได้ ต้องแยกแยะให้ได้ ต้องมองโลกด้วยความเป็นจริง อย่ามโน อย่าฝันหวาน ความจริงก็คือเขาต้องสตรองให้มากที่สุด ถ้าไม่เข้มแข็งก็อยู่ไม่รอด ลำพังแค่เบี้ยคนพิการเพียงเดือนละไม่กี่ร้อยบาท ไม่มีทางพอในการดำรงชีพในยุคนี้อย่างแน่นอน

ทุกวันนี้ถือว่าเขาเลี้ยงตัวเองได้ไม่ถึงกับลำบาก มีงานประจำทำ และพยายามทำงานเก็บเงินหารายได้พิเศษเก็บออมไว้ใช้ยามหลังเกษียณ โดยมองหางานเสริมเพื่อทำงานวันหยุด เริ่มจากการหางานที่เริ่มจากพื้นฐานความชอบเป็นสำคัญ เพื่อจะทำงานอย่างมีความสุข ไม่เครียด ไม่น่าเบื่อ เพราะเขาก็มีงานประจำทำอยู่แล้ว

“ผมสนใจเรื่องการถ่ายรูปมานานแล้ว สะสมเก็บเงินซื้อกล้องตัวเล็กไว้ถ่ายภาพที่ชอบ พอมีเงินก้อนใหญ่ขึ้นก็ซื้อกล้องที่ดีมากขึ้น ถ่ายวิวทิวทัศน์ ถ่ายชีวิตผู้คนไปเรื่อย เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดก็เอากล้องของเราไปถ่ายเอง เริ่มมีความชำนาญก็ถ่ายดีขึ้น เพื่อนฝูงคนรู้จักเห็นว่าฝีมือพอใช้ได้ เวลามีงานมีการต่างๆ เขาก็จ้างเราไปถ่ายบ้างอะไรบ้างพอได้ค่าขนม ได้เงินเก็บไปซื้ออุปกรณ์เสริมใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แม้งานจะไม่ได้มากมายนัก แต่เขาก็อยากจะทำมันเรื่อยๆ” เขาเล่าอย่างมีความสุข

เขาเล่าว่าเมื่อก่อนมีม็อบประท้วงแถวสยาม แถวอโศก เขาจะเอากล้องมาทำงานทุกวัน พอเลิกงานก็ไปหัดฝึกถ่ายรูปในม็อบอยู่หลายครั้ง จนตอนหลังเขาก็สร้างเพจของเขาเองชื่อ ”หมุนล้อไปเก็บภาพ” เป็นเพจที่เกี่ยวกับการถ่ายภาพของเขาเอง เหมือนเป็นไดอารี่ของเขาที่เก็บไว้คอยดูผลงานของตัวเองว่ามีพัฒนาการมากขึ้นมากน้อยเพียงใด และเป็นความสุขใจที่ได้ย้อนดูเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตแต่ละช่วงที่ผ่านมาของเขา

กวี สุพัง หมุนล้อไปเก็บภาพ ชีวิตต้องเดินต่อไป

“เรื่องถ่ายรูปนี่ถ้าเป็นงานที่ผมสนใจ งานฟรีก็ไปถือว่าไปช่วยกัน เราเองก็ได้ฝึกปรือฝีมือไปด้วย ถ้าวันหยุดติดกันหลายๆ วันไม่มีงาน ไม่มีเรื่องจิตอาสาให้ไปทำ เขาก็จะเดินทางออกไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อนๆ ไปอ่างทองนี่จะไปบ่อย ชอบไปถ่ายวัด ไปถ่ายทุ่งนา ชีวิตของคนในชนบทที่มีเสน่ห์ มีความสงบสุขเรียบง่าย น่าสบายใจ ผมชอบถ่ายภาพพอร์เทรตที่ดูเป็นธรรมชาติ” เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม

หลังจากที่เกิดอุบัติเหตุมาเกือบ 20 ปี จนเขาสามารถใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ขาดหายไปได้อย่างเป็นปกติสุข เขาบอกว่าคนเราต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ให้ได้ มีแค่ไหนก็ใช้เท่าที่มี และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านมาถึงวันนี้เขาก็มีความเข้าใจในจังหวะชีวิตมากขึ้น ตอนแรกๆ เขาจะเก็บตัวไม่อยากออกไปไหน กลัวไปเป็นภาระให้คนอื่น

แต่ตอนนี้ความคิดเขาเปลี่ยน เขาออกไปไหนมากขึ้น ไม่อยากถูกจองจำเพราะความไม่กล้า พยายามออกไปใช้ชีวิตตามปกติ เพื่อให้คนเห็นว่ายังมีคนพิการอยู่ในสังคมนี้ ควรมีสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นคนทั่วไป พยายามลดข้อจำกัดต่างๆ ในตัวเอง หรือแม้แต่ความยากลำบากต่างๆ ในชีวิต เรื่องการเดินทางต่างๆ ก็พยายามมองข้ามมันไปและปรับตัวให้อยู่กับทุกอย่างให้ได้

“ทุกคนมีปัญหาชีวิตทั้งนั้น อยู่ที่ว่าจะทำใจได้มากน้อยเพียงใด อะไรไม่ดีก็อย่าไปจดจำ เลือกจำแต่สิ่งที่ดีๆ พยายามปรานีกับชีวิตของเราให้มาก ปรารถนาดีกับตัวเองให้มากๆ เอาหนังสือ เอาเพลง เอาหนังเป็นเพื่อน อย่าไปยึดติดกับใครหรืออะไรให้มากเกินไป อยู่กับตัวเองให้ได้ อยู่กับตัวเองให้มีความสุข ไม่ต้องไปขอแรงใครมาทำให้เรามีความสุข ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” เขากล่าวอย่างมีสติ

ตอนนี้ก็ทำงานประจำให้ดี ฝึกถ่ายรูปให้เก่ง มีเวลาก็ไปทำงานจิตอาสาช่วยเหลือคนอื่นบ้าง สังคมควรมีการแบ่งปัน อะไรช่วยกันได้เขาก็พยายามจะช่วยเท่าที่จะทำได้ อยากมีชีวิตให้เป็นประโยชน์กับคนอื่น พยายามใช้ชีวิตให้มีรอยยิ้มให้มากที่สุด สำหรับแผนการในอนาคตนั้น เขาคงจะทำงานที่กรุงเทพฯ จนถึงเกษียณ หลังจากนั้นก็กลับไปอยู่บ้านที่ต่างจังหวัด