posttoday

Q & A with Kru Jeab สกู๊ปพิเศษกับบทสัมภาษณ์ครูเจี๊ยบ

01 กันยายน 2561

เส้นทางโยคะของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน การอุทิศตนให้กับการฝึกฝน

โดย ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com

เส้นทางโยคะของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน การอุทิศตนให้กับการฝึกฝน ความทุ่มเทในสิ่งที่รักจนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ครูเองก็ใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเช่นกันผ่านการเดินทางและเรื่องราวต่างๆ การอยู่อย่างสร้างสรรค์การมองเข้าไปใน “ชีวิต” ผ่านวิถีแห่งโยคะที่รอเราเข้าไปค้นหา จนสู่ความเข้าใจและค้นพบ ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่โยคะสุตราสตูดิโอครบรอบปีที่ 15 แล้วกำลังก้าวไปสู่ปีที่ 16 ครูจึงทำสกู๊ปพิเศษพูดคุยกับคุณครูโยคะกันทุกเดือน และในเดือนนี้ก็ถึงคิวของครูเอง เพื่อที่จะแบ่งปันเรื่องราว ครูจึงเลือกคำถามเด็ดๆ ที่ลูกศิษย์เคยถามครูไว้มาตอบในครั้งนี้ค่ะ

ลูกศิษย์ : คนส่วนใหญ่ในยุคนี้รู้จักโยคะแค่ในส่วนของการเคลื่อนไหว หรือการฝึกอาสนะคลับคล้ายกับการออกกำลังกาย อยากให้ครูอธิบายว่าโยคะแตกต่างจากการออกกำลังกายทั่วไปอย่างไร

ครูเจี๊ยบ : ศาสตร์ของโยคะไม่ได้ถูกพัฒนามาให้เป็นเรื่องของการออกกำลังกายหรือกีฬา แต่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาเพื่อไปให้พ้นจากร่างกาย การมองกลับเข้าไปข้างในเพื่อความเข้าใจในชีวิตที่แท้จริง เพราะ “วิถีแห่งโยคะ” มีเนื้อหา มีความลึกซึ้งไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องผิวเผินอย่างที่บางคนเข้าใจกัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อคนส่วนใหญ่รู้จักโยคะในแง่ของโยคะอาสนะ ครูก็จะขอตอบเฉพาะในส่วนนี้ว่า ขณะฝึกโยคะอาสนะไม่ว่าจะค้างท่า อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวหรือทำท่าอะไรอยู่ก็ตาม หากการฝึกนั้นประกอบไปด้วย Breath Awareness การรับรู้ลมหายใจของตัวเอง และ Mindfulness Movement การมีสติในการเคลื่อนไหว แสดงว่าสิ่งที่ฝึกอยู่คือ “โยคะ” (ดูตัวอย่างจากภาพที่ 1) หรืออธิบายได้อีกแบบนึงคือ เมื่อเราสามารถเชื่อมโยงร่างกายกับลมหายใจได้ เชื่อมโยงจิตใจ จิตสำนึกกับลมหายใจได้อย่างมีสติส่งผลให้เราอยู่ในปัจจุบัน มีสมาธิ อยู่กับความเป็นจริง ไม่มีความคิดฟุ้งซ่านใดๆ ไม่แข่งขัน วิตก พยายาม กังวล มีตัว มีตน นั่นล่ะสิ่งที่เราฝึกอยู่ก็คือ “โยคะ”

Q & A with Kru Jeab สกู๊ปพิเศษกับบทสัมภาษณ์ครูเจี๊ยบ

เช่นกัน หากเมื่อใด เราอยู่ในภาวะ อิจฉา มีการแข่งขัน มีการเอาชนะ มีความโลภ ความต้องการ อยากทำได้เมื่อนั้น สิ่งที่เราฝึกอยู่ไม่อาจเรียกว่า โยคะ แต่อาจจะเป็นกิจกรรมอื่น เช่น ยิมนาสติก กีฬา หรือการออกกำลังกายทั่วๆ ไปนั่นเอง จงแยกให้ออกให้ได้ เมื่อใดที่ใส่ความละเอียดอ่อนเข้าไป ผู้ฝึกจะมองเห็นได้ด้วยตัวเอง

ลูกศิษย์ : การฝึกโยคะอาสนะให้ได้ผลดีที่สุดควรเป็นแบบไหน

ครูเจี๊ยบ : ต้องเป็นแบบสมดุล ย้อนไปสมัยครูเริ่มฝึกโยคะครั้งแรกตอนเป็นวัยรุ่น ก็เริ่มจากความ Imbalance ของตัวเอง คือ มาแบบไม่สมดุล ความยืดหยุ่นมีมากกว่าความแข็งแรง ก็เลยมีช่วงบ้าพลัง ฝึกท่าแข็งแรงให้มากหน่อย เพราะตัวเรามีความยืดหยุ่นเป็นต้นทุนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ลืมที่จะรักษาความยืดหยุ่นไว้ด้วย ซึ่งแต่ละคนก็มีตรงนี้มาแบบไม่เท่ากันทั้งนั้นแหละ เมื่อฝึกอยู่เป็นประจำถึงจุดนึงเราจะหาตรงกลางเจอได้เอง

ยกตัวอย่างเช่น การฝึกโยคะอาสนะให้สมดุลควรประกอบไปด้วยท่าที่สร้างความแข็งแรง ทนทาน อดทน Strength & Endurance เท่าๆ กันกับท่าที่สร้างความยืดหยุ่น Flexibility (ดูตัวอย่างจากภาพที่ 2) จากภาพที่ 2 เป็นภาพตาชั่งที่ทั้งสองฝั่งมีน้ำหนักเท่ากันพอดีไม่มีฝั่งใดมากไป น้อยไปเมื่อเทียบกับอีกฝั่ง

การพัฒนาความแข็งแรง โดยพัฒนาความยืดหยุ่นไปด้วยอย่างสมดุล จะส่งผลให้ผู้ฝึกไม่สามารถไปได้สุดทางทั้งสองฝั่ง คือ จะไม่มีอะไรเด่น ความแข็งแรงก็ไม่เด่น ความยืดหยุ่นก็ไม่สุด คือดูไม่สุดสักอย่างดูเป็นคนที่ธรรมดา ทำท่าอาสนะได้ไม่หวือหวา แต่กลับดูมีพลัง มีชีวิตชีวา มีความมั่นคงเพราะบางครั้งดูอ่อนในแข็ง บางครั้งก็ดูแข็งในอ่อน เมื่อพัฒนาทั้งสองทางได้เท่ากันแล้ว เขาคนนั้นจะไม่มีปัญหาภายในระบบของร่างกายให้ต้องปวดหัวเลย เพราะข้างในมีความสมดุล

Q & A with Kru Jeab สกู๊ปพิเศษกับบทสัมภาษณ์ครูเจี๊ยบ

อย่าลืมว่าความยืดหยุ่นมากเกินไปอาจทำให้ข้อต่อหลวม หรือการฝึกท่าแข็งแรง เช่น พวกตระกูลใช้มือเป็นฐานมากเกินไป ข้อต่ออาจทรุด บาดเจ็บ หรือกระดูกเคลื่อน รวมทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของข้อต่อไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใดแต่เป็นการสะสมและส่งผลในระยะยาว การฝึกโดยรักษาความพอดีเป็นเรื่องง่ายที่ยาก เพราะจิตใจของเราไม่มั่นคงพอ จากอิทธิพลภายนอกที่ครอบงำเรา เพราะในความสมดุลไม่เพียงแต่ทางกาย แต่รวมถึงทางใจด้วย

การฝึกทางกายสะท้อนกลับเข้ามาในจิตใจเสมอ เมื่อเรามีสภาพของจิตใจที่มีความแข็งแรง เข้มแข็งไม่อ่อนแอเท่าๆ กับจิตใจที่มีความยืดหยุ่นกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตที่มีขึ้นได้ก็ลงได้ ยืดได้หดได้ เช่นเดียวกันนอกจากนี้คุณครูโยคะที่มีชื่อเสียงท่านนึงก็เคยตอบคำถามนี้ไว้เช่นกัน ครูจะขอยกตัวอย่างการสนทนาของครูเรย์ ลอง ซึ่งมีชื่อเสียงด้านกายวิภาคศาสตร์ Anatomy ได้ถามคำถามกับท่านไอเยนการ์ว่า ทำอย่างไรถึงจะเข้าใจโยคะได้อย่างถ่องแท้

Ray Long : What’s The Key To Mastering Yoga?

Iyengar : “To Master Yoga, You Must Balance The Energies And Forces Throughout The Body.”

ท่านไอเยนการ์ตอบว่าเพื่อที่จะเข้าใจโยคะได้อย่างถ่องแท้ คุณต้องสร้างสมดุลของพลังงานและพลังชีวิต (ระบบเลือด ของเหลว ธาตุ) ให้ได้ทั่วทั้งร่างกาย

Q & A with Kru Jeab สกู๊ปพิเศษกับบทสัมภาษณ์ครูเจี๊ยบ

คำถามทิ้งทายที่ครูจะถามคุณครูโยคะเป็นประจำคือ “มีสิ่งใดที่อยากบอกกับผู้ฝึกโยคะทุกท่านบ้าง” ครูจึงยกคำถามนี้ขึ้นมาถามตัวเองเหมือนกันค่ะ

ครูเจี๊ยบ : อยากจะฝากบอกผู้ฝึกโยคะทุกๆ ท่านว่า ไม่ว่าท่านจะเคยรู้มาก่อนหรือไม่ก็ตามบางคนก็อาจลืมไปแล้ว บางคนก็ไม่เคยให้ความสำคัญ จงลองกลับไปทบทวนเรื่องของ ยมะ (Yama) และนิยมะ (Niyama) อีกรอบหรือหลายๆ รอบไม่เพียงแค่ฝึกโยคะอาสนะเพียงอย่างเดียว หากคุณเข้าใจ ยมะและนิยมะได้อย่างลึกซึ้งแล้ว ครูมั่นใจว่าการฝึกโยคะอาสนะของคุณจะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนหลังจากนั้นบันไดขั้นอื่นๆ ของโยคะจะปรากฏขึ้นเองอย่างเป็นธรรมชาติ 

CR.ขอขอบคุณภาพเขียนสีน้ำแนวอาร์ตจากคุณเจน Jane Jiit (Watercolor), IG : janewaterblog (ภาพมีลิขสิทธิ์ห้ามนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาต)