posttoday

บ้านพิงพัก Open House

30 สิงหาคม 2561

บ้านพิงพัก โครงการเยียวยาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

มีผู้แจ้งข่าวว่า บ้านพิงพัก (Pink Park Village) โครงการเยียวยาเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ จะเปิดให้บริการในเดือน ต.ค.นี้แล้ว ผู้รับแจ้งข่าวได้รับแจ้งด้วยความยินดี ด้วยโครงการบ้านพิงพักนี้ มีโอกาสได้รู้ได้ยินมาตั้งแต่การแถลงข่าวครั้งแรก เมื่อโครงการระยะที่ 1 ก่อสร้างสำเร็จเสร็จสิ้น จึงอนุโมทนาสาธุการ หากแต่...

“ผมหวังว่าทุกคนที่ได้เห็นบ้านพิงพัก จะเห็นด้วยกับโครงการนี้ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วย” นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ เปิดประเด็น

บ้านพิงพักกำลังจะรับคนไข้คนแรกในอีก 6 สัปดาห์ข้างหน้า แต่ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับการเปิดศูนย์บำบัดและดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมอย่างครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทยและแห่งแรกของโลกครั้งนี้ นพ.กฤษณ์ กล่าวว่า บ้านพิงพักเกิดขึ้นจากความปรารถนาให้ผู้ป่วยยากไร้ในระยะสุดท้าย ได้มีโอกาส “อยู่” อย่างสุขสบายอย่างน้อยสักครั้งหนึ่งในชีวิต ได้รับการรักษาเยียวยาในฐานะ “มนุษย์” สักครั้งหนึ่งในชีวิต

บ้านพิงพัก Open House นพ.กฤษณ์ จาฏามระ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ

“เรานำมาตรฐานที่สูงมากมาใช้กับคนที่จนมาก นั่นคือสาเหตุที่ทำให้มีผู้ไม่เห็นด้วยส่วนหนึ่ง”

บ้านพิงพัก เป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมและศูนย์วินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมครบวงจร ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากลและดีที่สุดในภูมิภาค โดยวางพื้นฐานหลักการตามข้อมูลปัจจุบันและแนวโน้มของมะเร็งเต้านมในอนาคตอันใกล้ การวินิจฉัยและการจัดการโรคไม่เพียงขึ้นอยู่กับเทคนิคการแพทย์เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับผลวิจัยทางห้องปฏิบัติการและผลวิเคราะห์โมเลกุล

“วิธีการที่ล้ำสมัยเหล่านี้ มีราคาสูงและซับซ้อนเป็นอย่างมาก ซึ่งเกินกว่าที่สถาบันใดสถาบันหนึ่งจะสามารถทำได้ ศูนย์นี้จะทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านการวินิจฉัยที่ล้ำสมัย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานสำหรับทั้งภูมิภาค”

บ้านพิงพัก Open House

นพ.กฤษณ์ เล่าว่า บ้านพิงพักดำเนินงานโดยทีมชั้นเยี่ยม ประกอบด้วย แพทย์พยาบาล จิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร นักโภชนาการและอาสาสมัคร ตั้งอยู่ที่มีนบุรีบนพื้นที่ 121 ไร่ เน้นสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่สวยงาม บรรยากาศเป็นดั่งรีสอร์ทที่ร่มรื่นด้วยแมกไม้และสระน้ำใหญ่ ความรู้สึกเหมือนได้พักพิงอยู่ที่บ้านไม่ใช่สถานพยาบาล

โครงการระยะแรก 80 ไร่ ประกอบด้วย หอดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice) 2 อาคาร แต่ละอาคารมีห้องเดี่ยว 8 ยูนิต รวม 16 ยูนิต ญาติมาเยี่ยมดูแลได้ (ถ้ามี) และหอพักฟื้นผู้ป่วยที่กำลังรับการรักษา (Convalescence) อีก 1 อาคาร 8 ยูนิต พักได้ 16 คน เท่ากับรองรับผู้ป่วยได้คราวละ 32 คน ทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ขอให้อยู่อย่างมีความสุขตราบจนลมหายใจสุดท้าย

บ้านพิงพัก Open House

“จะมาอยู่ที่นี่ได้ มี 2 เงื่อนไข คือ เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้าย ที่แพทย์ลงความเห็นว่าอยู่ได้อีกไม่เกิน 6 เดือน และยากจน ไร้คนดูแล”

นั่นหมายความว่าหอผู้ป่วยและหอพักฟื้นที่ดูราวรีสอร์ทหรูแห่งนี้ สิทธิแห่งการเยี่ยมอยู่ได้สงวนไว้เฉพาะผู้ป่วยใกล้ความตายอีกมีความยากจนข้นแค้นเป็นทุน ซึ่งจะมีคณะกรรมการร่วมที่จัดตั้งขึ้นจากตัวแทนของสภากาชาดไทย ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเพื่อโรคมะเร็งเต้านม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ ทำหน้าที่ในการคัดกรองสิทธิ

“ผมกำลังทำโครงการที่ดีที่สุดในโลก คือ การนำคนไข้ยากจนมารักษา โดยเดอะเบสต์เท่านั้นที่เราจะให้ ทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การทำเคมีบำบัดหรือการฉายแสง ถ้าเห็นว่าเหมาะสมกับคนไข้ก็เต็มที่ จะช่วยทั้งทีขอทำให้ดีที่สุด”

การใช้มาตรฐานการรักษาสูงสุดกับผู้มีเศรษฐานะยากไร้ที่สุด ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตถึงกลไกที่ผกผันกันนี้ว่า ทำไปทำไม เพราะการรักษาพยาบาลหากเป็นไปในลักษณะของการอนุเคราะห์แล้ว ควรมุ่งให้ถึงจำนวน ทำนองว่ายิ่งมากยิ่งดี ยิ่งสงเคราะห์มากก็ยิ่งกระจายความช่วยเหลือมาก ห้องรวมเตียงรวมก็ทำเนา ทำไมจึงต้องทำให้ดีให้เยี่ยมให้กับคนที่พูดตามจริงคือไม่มีจ่าย ได้แค่ไหนก็น่าจะพอใจ

บ้านพิงพัก Open House

นพ.กฤษณ์ให้คำตอบว่า โครงการมิได้มุ่งแสวงหากำไร หากมุ่งสร้างมาตรฐานการเยียวยาผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ยากจน มุ่งคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วย คนจนไม่ใช่ต้องนอนรอความตาย หากเป็นคนจนที่ควรได้รับโอกาสอันเป็นสุดท้ายนี้มากที่สุด นั่นคือโอกาสที่จะมีคุณภาพชีวิตก่อนความตาย มีความสุข มีศักดิ์ศรี หรือได้คืนศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ก่อนที่ความตายจะมาถึง

“ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คำนี้สำคัญ มีคุณยายคนหนึ่งมารักษาที่ศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คุณยายหยุดที่หน้าห้องรักษาแล้วร้องไห้ไม่ยอมเดินเข้าไป ถามคุณยายว่าร้องไห้ทำไม แกตะกุกตะกักตอบว่ามันโก้เกินไป คุณยายท่านนั้นสอนผมมาก แกพูดว่ายายไม่คิด ไม่คิดว่าคนอื่นจะคิดถึงคนอย่างยาย”

บ้านพิงพัก Open House

จึงเป็นที่มาของคำว่า “ดีที่สุด” และตอบคำถามว่าทำไมที่นี่ไม่ทำเตียงรวมที่ทุ่นค่าใช้จ่าย ก็เพราะเตียงรวมนั้นใครตายคนหนึ่งก็เห็นกันหมด สั่นสะเทือนและทำลายขวัญไปทั้งหมด ที่นี่ “ห้องเดี่ยว” ของผู้ป่วยเชื่อมกับทางออกที่ทุกคนจะได้ใช้ มีศัพท์เรียกกันภายในว่า “ทางสำหรับผู้โดยสารขาออก” นั่นคือทางเดินสุดท้ายเมื่อเสียชีวิต การเข็นลำเลียงศพทำได้โดยเอกเทศ ไม่มีผู้รู้เห็นได้ เพราะออกแบบทางเดินให้มีต้นไม้บดบัง

ประสบการณ์จากผู้ป่วยรอดชีวิต ประกอบด้วย ปราณี ดอกพิกุล, ณภาดา พู่ไหมทอง และวิมล ดวงแก้ว ล้วนพูดเป็นเสียงเดียวว่า ได้ชีวิตใหม่ จากการเข้ารับการรักษาในโครงการ “84 พรรษาพระผู้ให้” สภากาชาดไทย และศูนย์สิริกิติ์ บรมราชินีนาถฯในโครงการรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

บ้านพิงพัก Open House ปราณี ดอกพิกุล, ณภาดา พู่ไหมทอง และวิมล ดวงแก้ว

“ตอนแรกทำใจว่าคงต้องเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีเงินรักษาตัว แต่เมื่อได้รับโอกาสเข้าโครงการฯ ก็ได้รับคำแนะนำและการรักษาอย่างดี ปัจจุบันหายขาดแล้ว มีความหวัง มีความสุข กับการเฝ้ามองอนาคตการศึกษาของลูกๆ” ปราณี กล่าว

“มะเร็งเต้านม” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย ในผู้หญิงไทยทุก 10 คน จะมี 1 คนที่ต้องเผชิญกับมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งขาดการรักษาที่ถูกต้อง เฉลี่ยต่อปีมีผู้หญิงไทยกว่า 3,000 คน ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านม!

ท่านผู้อ่านที่รักเล่า อ่านบทความนี้ตั้งแต่ต้นจนจบลงแล้ว รู้หรือยังล่ะว่า เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับประเด็นของ นพ.กฤษณ์ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการบ้านพิงพัก

บ้านพิงพัก Open House

เดินหน้าบ้านพิงพักระยะที่ 2

บ้านพิงพักระยะที่ 2 ใช้เงินลงทุน 200 ล้านบาท เดินหน้าก่อสร้างอาคารผู้ป่วยระยะสุดท้ายและอาคารพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการรักษาอีก 3 อาคาร รวม 32 ยูนิต โครงการฯ ยังมีอาคารสนับสนุน เช่น อาคารกิจกรรมเพื่อการสันทนาการ รวมทั้งอาคารศาสนาสำหรับการดูแลทางจิตวิญญาณสำหรับผู้ป่วยในแต่ละศาสนาความเชื่อ (www.qscbcfoundation.org และ www.pinkpark.org)

ศุภนารี สุมลมาตร์ ผู้จัดการ มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ กล่าวเชิญร่วมสนับสนุนโครงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายจากกิจกรรมต่างๆ ที่จะจัดขึ้นในช่วงนี้ 1 ต.ค. มี Eat Drink Pink จัดโดยโรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ นำเสนออาหารหลากหลายจาก 35 ร้านดัง สัมผัสความอร่อยและความสามารถอันโดดเด่นของเชฟ บัตรราคา 3,000 บาท รายได้ทั้งหมดไม่หักค่าใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างบ้านพิงพัก โทร. 02-020-2888 หรือ [email protected]

16 ก.ย. ยังมีกิจกรรม “บ้านพิงพัก ให้รักช่วยรัน” ซึ่ง ปตท. เป็นผู้สนับสนุนหลักมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ บริษัท ปตท. จัดกิจกรรมเดิน-วิ่งการกุศล “บ้านพิงพัก ให้รักช่วยรัน” ที่สปอร์ต คอมมูนิตี้ สเตเดียม วัน (Stadium One) รายได้ไม่หักค่าใช้จ่ายมอบให้บ้านพิงพักทั้งหมด ใครอยากจะกิน ใครอยากจะวิ่ง เชิญเลือก (ช่วย) ตามอัธยาศัย!

บ้านพิงพัก Open House

บ้านพิงพัก Open House