posttoday

อาชญากรรมยุคดิจิทัล ร้ายลึกแค่ไหน (ก็) เลี่ยงได้

27 สิงหาคม 2561

ความเจริญรุดหน้า ย่อมส่งผลให้มีความสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิตนั้น มักจะมีปัญหาด้านการก่อและเกิดปัญหาด้านอาชญากรรมและสาธารณภัยต่างๆ ควบคู่กันไป

เรื่อง ชุติมา สุวรรณเพิ่ม

ความเจริญรุดหน้ายุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ส่งผลให้มีความสะดวกสบายต่อการดำเนินชีวิตนั้น มักจะมีปัญหาด้านการก่อและเกิดปัญหาด้านอาชญากรรมและสาธารณภัยต่างๆ ควบคู่กันไป ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินตามไปด้วย พัฒนาการของรูปแบบการเกิดอาชญากรรมมีความซับซ้อน หลากหลาย ที่เราต้องตามให้ทัน

วิธีรักษาความปลอดภัยที่ดีที่สุดคือ “การป้องกัน ก่อนการเข้าระงับเหตุ” ยูบีเอ็ม เอเชีย ประเทศไทย ผู้นำด้านการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เตรียมจัดงาน อิฟเซค เซาท์อีสต์ เอเชีย 2018 และงานโพล์เซค 2018 (IFSEC Southeast Asia 2018 & POLSEC 2018) นิทรรศการแสดงสินค้าด้านความปลอดภัย และระบบอัคคีภัยครั้งแรกในประเทศไทย จึงได้จัดงานเสวนานำร่องเรื่อง “รู้ทัน...ป้องกันมหันตภัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” เพื่อจุดประกายการตระหนักและรับรู้ให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านการรักษาความปลอดภัยหลากหลายสาขามาให้ความรู้และแนะนำวิธีการดูแลรักษาความปลอดภัย เรียกน้ำย่อย เตรียมส่งงานแสดงสินค้าและเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยครบวงจร 25-27 ต.ค.นี้ ที่ฮอลล์ 1 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ความรู้มาเพียบ จากเวทีเสวนา “รู้ทัน...ป้องกันมหันตภัย เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความปลอดภัยระดับแนวหน้าของเมืองไทย ชี้ประเด็นเด็ดๆ เช่น “ท่องโลกไซเบอร์ ต้องฉลาดและรู้เท่าทัน”

อาชญากรรมยุคดิจิทัล ร้ายลึกแค่ไหน (ก็) เลี่ยงได้

ควรรู้เรื่องความ(ไม่)ปลอดภัยในโลกไซเบอร์

วิทยากรผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ในการป้องกันและรักษาความปลอดภัยด้านต่างๆ มาร่วมพูดคุย ได้แก่ วัลลภ กิ่งชาญศิลป์ ประธานสากลสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก และนายกสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (ประเทศไทย) พล.อ.บรรเจิด เทียนทองดี คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ สุรเชษฐ์ สีงาม อุปนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร พ.ต.อ.อัครินทร์ สุขเกษม รองผู้บังคับการกองทะเบียนประวัติอาชญากร สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ปรัชญา เฉลิมวัฒน์ ผู้ชำนาญการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นผู้ดำเนินรายการ

“การรักษาความปลอดภัยต้องเริ่มที่ตัวเราเองก่อน ที่จะต้องรู้จักการป้องกันรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง” วัลลภ กล่าวในฐานะผู้คร่ำหวอดเรื่องงานรักษาความปลอดภัยมากว่า 40 ปีแล้ว

สถานการณ์ความพร้อมของระบบการรักษาความปลอดภัยในไทย มุมมองของประธานสากลสมาคมรักษาความปลอดภัยภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก วัลลภ กล่าวว่า พนักงานรักษาความปลอดภัย หรือที่เราเรียกว่า รปภ. มีบทบาทหน้าที่ที่ไม่ตรงกับชื่อ กลายเป็นว่า รปภ. คือคนโบกรถ รับแลกบัตรบ้าง มีจำนวนน้อยมากที่สามารถรักษาความปลอดภัยได้จริง

อาชญากรรมยุคดิจิทัล ร้ายลึกแค่ไหน (ก็) เลี่ยงได้

“คนไทยยังติดการบริการโดยใช้คนอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบรักษาความปลอดภัยมากขึ้น นั่นหมายถึงว่าผู้ที่อยู่ในสายอาชีพนี้จะมีจำนวนลดลง คาดว่าอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีรักษาความปลอดภัยกำลังจะเข้ามาแทนที่แรงงานคน เจ้าของธุรกิจให้บริการพนักงานรักษาความปลอดภัยจึงต้องมีการปรับตัว เทคโนโลยีจะนำเข้ามาใช้มากถึง 60% และแรงคน 40% ก็จะทำให้ รปภ.เหลือราว 1 แสนคนเท่านั้น งานรักษาความปลอดภัยดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิดภัยขึ้น ซึ่งยุคนี้มีอุปกรณ์เทคโนโลยีหลายๆ อย่างสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าคน”

การเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล พล.อ.บรรเจิด กล่าวถึงโลกไซเบอร์ ทำให้เราได้รับความสะดวกสบายก็จริง แต่ก็มีความไม่ปลอดภัยมากเช่นกัน จึงอย่าให้โลกดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป

การทำงานด้านรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ พล.อ.บรรเจิด แสดงความคิดเห็นในด้านความปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวว่า ในโลกดิจิทัล หรือโลกไซเบอร์ โลกโซเชียลต่างๆ ไม่ได้มีความปลอดภัยเต็มร้อย หลายคนคิดว่าการเข้าใช้งานแอพพลิเคชั่นต่างๆ ฟรีนั้น แท้จริงแล้วเราต้องแลกมันมาด้วยข้อมูลส่วนตัว ซึ่งเราอาจคิดว่ามันไม่มีมูลค่า แต่ข้อมูลส่วนตัวของเรานั่นแหละคือมูลค่ามหาศาล

“ข้อมูลส่วนตัวสามารถนำไปวิเคราะห์พฤติกรรมการบริโภค หรือไลฟ์สไตล์ของเราได้ หากเป็นบุคคลอันตรายนำข้อมูลเราไปใช้ก็ทำให้เกิดความเสียหายได้อย่างมากมาย ดังที่เห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ เช่น ธุรกรรมทางการเงิน การนำชื่อบัญชีทางสังคมออนไลน์ไปหลอกผู้อื่น เพื่อการฉ้อโกงเหล่านี้เป็นต้น สิ่งที่เราต้องตระหนักให้มากคือ การจะเข้าใช้งานเว็บไซต์ แอพพลิเคชั่นใดๆ ก็ควรศึกษาให้ดีก่อน และไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว

ควรเปลี่ยนรหัสผ่านบ่อยๆ ต้องรู้จักการใช้งานโลกไซเบอร์อย่างชาญฉลาดและรู้เท่าทันครับ โลกไซเบอร์ทำให้เราได้รับความสะดวกสบายก็จริง แต่ก็มีความไม่ปลอดภัยมากเช่นกัน ถ้าจะให้ดีเราอย่าให้โลกดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป เอาเพียง 70% ก็พอ อีก 30% เราควรอยู่บนโลกความเป็นจริง คนที่เสี่ยงคือคนที่โพสต์เรื่องราวในชีวิตทุกสเตตัส เด็กๆ สมัยนี้แสดงตัวตนทุกๆ ด้านบนโลกออนไลน์ พ่อแม่ลูกกินข้าวโต๊ะเดียวกัน แต่คุยกันผ่านข้อความไลน์ วิจารณญาณความเป็นมนุษย์ลดลงทุกที เรื่องนี้แก้ไขโดยภาครัฐไม่ได้ครับ เราต้องช่วยกันแก้

การก่ออาชญากรรมไซเบอร์นั้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ง่ายมาก เพราะผู้กระทำผิดสามารถหลบเลี่ยง หลบซ่อนได้ง่าย ในขณะที่การติดตามจับกุมผู้กระทำผิดนั้นยังทำได้ยากและซับซ้อน นอกจากมีสติ ก็ต้องมีความรอบรู้ในการใช้งานโลกไซเบอร์ให้มากด้วยครับ” พล.อ.บรรเจิด กล่าว

ความปลอดภัยบนอาคารสูง ชาวคอนโดควรรู้

“สิ่งจำเป็นที่ทุกคนควรต้องจดจำ คือหมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุอัคคีภัย 199 จะมีกี่คนที่จำได้ หากเทียบกับเบอร์โทรศัพท์สั่งอาหารเดลิเวอรี่” สุรเชษฐ์ อุปนายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร บอกย้ำสิ่งที่คนอยู่ตึกสูงสมัยนี้ ควรจดจำให้ได้

ในแต่ละปีประเทศไทยสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน และมูลค่าทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากอัคคีภัยจำนวนไม่น้อย สุรเชษฐ์ ร่วมวงเสวนาได้เรื่องการป้องกันอัคคีภัยในอาคาร เผยว่า อัคคีภัยเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เพียงแค่เราทุกคนใส่ใจ ในอาคารสูงมีพระราชบัญญัติไว้ชัดเจนเกี่ยวกับการตรวจสอบอาคาร การซ้อมหนีไฟ การติดตั้งและความพร้อมใช้งานของอุปกรณ์ดับเพลิงและทางหนีไฟ แต่มีเจ้าของอาคารกี่แห่งที่ทำ?!!

“คนอยู่คอนโดเคยซ้อมหนีไฟกันไหมครับ? ลูกบ้านหลายๆ คนตอบว่าไม่เคย เพราะการซ้อมหนีไฟของคอนโด เป็นเรื่องของ รปภ. แม่บ้าน และนิติบุคคล ทั้งที่ในต่างประเทศทุกคนต้องรู้เส้นทางหนีไฟที่พักอาศัยตัวเอง ต้องรู้ว่าต้องลงบันไดหนีไฟทางไหน และบันไดในอาคารต้องทนความร้อนได้ถึง 2 ชั่วโมงครึ่งนะครับ แต่หลายๆ อาคารไม่ผ่านการตรวจสอบจากกรุงเทพมหานคร การหนีไฟคือสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ และรู้เป็นเรื่องแรกต้องพาตัวเองอพยพให้ได้ ต้องรู้ก่อนจะเรียนรู้วิธีใช้ถึงดับเพลิงซึ่งเป็นการบรรเทาภัยขั้นที่สองนะครับ” สุรเชษฐ์ กล่าวย้ำ

สำหรับที่พักอาศัยส่วนบุคคล เช่น บ้านเดี่ยว สุรเชษฐ์ กล่าวว่า สิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดคือ การตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้าน สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า ถังแก๊ส ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน ซึ่งสามารถป้องกันเหตุอัคคีภัยได้ แต่เชื่อว่าเจ้าของบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบกฎหมายในข้อนี้เช่นกันครับ”

อาชญากรรมยุคดิจิทัล ร้ายลึกแค่ไหน (ก็) เลี่ยงได้

ขณะที่วลีเด็ด พ.ต.อ.อัครินทร์ กล่าว่า “ยุคนี้ตำรวจตกเป็นจำเลยของสังคมในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะกระบวนการสืบสวนสอบสวน”

การทำงานที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ หนึ่งในหน่วยงานสำคัญที่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน กล่าวว่า ปัจจุบันตำรวจตกเป็นจำเลยของสังคมในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะกระบวนการสืบสวนสอบสวน ซึ่งอยากให้พี่น้องประชาชนเข้าใจว่าจำนวนของเจ้าพนักงาน หรือตำรวจทั่วประเทศในสังกัดสำนักงานตำรวจ เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรนั้น มีกำลังพลน้อยมาก จำนวนตำรวจทั้งสัญญาบัตรและประทวนรวมกันกว่า 1 แสนคน (เท่านั้น) เมื่อแยกเป็นหน่วยงานตำรวจสืบสวนสอบสวน มีตำแหน่งกว่า 1.2 หมื่นนายทั่วประเทศ

“จึงเป็นคำตอบว่าในคดีต่างๆ จึงดำเนินไปได้ช้า ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองก็เข้าใจครับ และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ด้วยการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ การร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ในการแชร์ข้อมูล เช่น ฐานข้อมูลอาชญากรรม ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้ทั่วประเทศก็จะทำให้เกิดความรวดเร็วในการปฏิบัติงานยิ่งขึ้น”

ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 4 คน มีให้ข้อคิดเห็นที่ตรงกันว่า แม้เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการป้องกันและรักษาความปลอดภัยมากเพียงใด แต่ระบบแมนวลที่กระทำโดยมนุษย์ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น ในฐานะเป็นผู้สั่งการ หรือเป็นระบบสำรองที่ต้องพร้อมปฏิบัติงานหากว่าเทคโนโลยีเกิดการขัดข้อง ซึ่งองค์กรส่วนการปกครอง ภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบก็ต้องพัฒนาปรับปรุงระบบการป้องกันและรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพความปลอดภัยของประชาชน ประการสำคัญการป้องกันและรักษาความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ในการเรียนรู้วิธีการป้องกัน ดูแลรักษาชีวิต และทรัพย์สินของตัวเองในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่ละเลยต่อสิ่งที่จะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของตัวเองและสังคม จะช่วยป้องกันการสูญเสีย และทำให้สังคมประเทศชาติเกิดความปลอดภัยในที่สุด

งานอิฟเซค เซาท์อีสต์ เอเชีย 2018 และงานโพล์เซค 2018 เป็นงานนำต้นแบบความสำเร็จของงาน IFSEC International ประเทศอังกฤษ มาจัดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดย ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) พร้อมด้วยภาครัฐและเอกชนหน่วยงานต่างๆ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันจัดขึ้น รวบรวมเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับระบบการป้องกันความปลอดภัยที่ทันสมัยและครบครันครอบคลุมในทุกส่วน เช่น ความปลอดภัยด้านอาคาร สถานที่ ส่วนบุคคล อาชีวอนามัย พื้นที่สาธารณะและสิ่งแวดล้อม ระบบการป้องกันภัยทางไซเบอร์ สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ifsecsea.com