posttoday

ล้วงลึกถึงสัญชาตญาณวิตถาร

26 สิงหาคม 2561

เขาเกิดที่สงขลาแต่ใช้ชีวิตหลังเกษียณในสุราษฎร์ธานี ย้อนกลับไปช่วงวัยหนุ่มเต็มที่ของ กร ศิริวัฒโณ

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : วิศิษฐ์ แถมเงิน 

เขาเกิดที่สงขลาแต่ใช้ชีวิตหลังเกษียณในสุราษฎร์ธานี ย้อนกลับไปช่วงวัยหนุ่มเต็มที่ของ กร ศิริวัฒโณ เขาใคร่สนใจการเมืองจึงเริ่มอ่านและเขียนจนกลายเป็น “นักอยากเขียน” ตั้งแต่ปี 2527 เริ่มต้นจากบทกวี เรื่องสั้น และนวนิยาย มีผลงานรวมเล่มบทกวี 4 เล่ม รวมเรื่องสั้น 7 เล่ม วรรณกรรมเยาวชน 7 เรื่อง บทละคร 1 เรื่อง และนวนิยาย 5 เรื่อง โดยหนึ่งในนวนิยายที่โดดเด่นคือเรื่อง คนในนิทาน สำนักพิมพ์บ้านกาลก่อง (ตอนนี้กำลังอยู่ในกระบวนการพิมพ์ครั้งที่ 3 และจะวางจำหน่ายอีกครั้ง) ซึ่งได้ผ่านเข้ารอบคัดเลือกเป็น 8 เล่มสุดท้าย (Short-List) รางวัลซีไรต์ ปี 2561

คนในนิทานเป็นนวนิยายเรื่องเดียวที่เขายกเรื่อง “เพศ” มาเป็นแก่น กล่าวถึงเพศวิตถาร ซึ่งเป็นสัญชาตญาณมืดที่อยู่ในใจคน โดยใช้วิธีการเล่าแบบนิทานถึงสังคมการเกษตรที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นกรอบบังคับทำให้ไม่มีอิสระทางเพศ ผ่านตัวละครที่มีชีวิตจิตใจอย่าง กริช ผู้เป็นลูกเขยที่ล่วงรู้ความลับของ เทิ้มทด ผู้เป็นพ่อตาที่ได้เสพสังวาสกับสุนัข และความลับอันน่าอัปยศนี้ได้ทำให้เทิ้มทดสูญสิ้นการต่อรอง

“การมีชู้ถือว่าผิดประเพณี ซึ่งเป็นความไม่เหมาะสมธรรมดา แต่ในเรื่องคนในนิทานมันเป็นความไม่เหมาะสมที่เกิดจากแรงขับดันภายในที่แสดงออกในรูปแบบของเพศวิตถาร คนที่แสดงออกมาไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตามก็ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรงที่คนในสังคมจะรับไม่ได้ และคนที่แสดงพฤติกรรมนั้นจะต้องถูกเหยียดหยาม จะต้องถูกย่ำยีทุกอย่างแม้แต่อำนาจการต่อรอง ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ก็จะหมดไป และขาดความนับถือจากสังคม อย่างเทิ้มทดที่เพลี่ยงพล้ำต่อกริช และเหตุที่เพลี่ยงพล้ำก็เพราะแรงขับทางเพศของตัวเองที่ไม่สามารถควบคุมจิตใจของตัวเองได้จึงทำให้พลั้งเผลอ ซึ่งแสดงออกมานอกกรอบประเพณี มันเป็นการสื่อว่า ในจิตใจของคนทุกคนมีแรงขับเคลื่อนทางเพศ เมื่อไรที่คุณเผลอคุณก็แสดงออกมา และถ้าคนอื่นจับได้คุณก็จะเป็นผู้ถูกกระทำอย่างเจ็บปวดที่สุดจนหาทางออกแทบไม่ได้ ทำให้บางครั้งต้องเสี่ยงบาดเจ็บถึงตายก็มี”

ล้วงลึกถึงสัญชาตญาณวิตถาร

ขณะเดียวกันเขายังได้เล่านิทานเรื่องนางมณโฑซ้อนทับเป็นภาพเปรียบกับตัวละครได้อย่างแยบยล เพื่อให้เห็นว่าพฤติกรรมเพศวิตถารเกิดขึ้นในทุกยุคทุกสมัย และมันเป็นตัวปัญหาต่อทั้งตัวเอง ครอบครัว และสังคม

“ภาพจำลองของเทิ้มทดในเรื่องได้สะท้อนถึงปัญหาของประเทศชาติและโยงไปถึงสถาบันศาสนาที่มีความปั่นป่วน เพราะความต้องการทางเพศที่ผิดขนบ ผิดประเพณี และไม่สามารถบังคับจิตตัวเองได้ เพศวิตถารจะเป็นแรงขับให้สังคมเราวิตถารได้ในหลายๆ รูปแบบ ผมกำลังบอกว่าอำนาจทางเพศมันไม่ได้ด้อยไปกว่าอำนาจทางการปกครอง เมืองทั้งเมืองอาจจะล่มได้เพราะความต้องการทางเพศ”

นักอยากเขียน กล่าวด้วยว่า ความต้องการทางเพศเป็นเหมือนรหัสลับของมนุษย์ที่เราแสดงออกผ่านความรัก ผ่านความสวยงาม เราพยายามทำให้มันเป็นเรื่องของสุนทรียะ เป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ และทำให้เป็นกฎกติกาของสังคม เพื่อที่จะบังคับคนให้อยู่ในกรอบ และเพื่อให้มนุษย์อยู่เหนือกว่าสัตว์

อย่างไรก็ตาม แม้ความคิดสำคัญของเรื่องจะมุ่งเสนอให้เห็นถึงความต้องการทางเพศ แต่เขาไม่เรียกมันว่า อีโรติก เพราะเมื่อคิดให้ดีมันคือ คติชนวิทยา เช่นเดียวกับความคิดเห็นของ ธเนศ เวศร์ภาดา ประธานคณะกรรมการคัดเลือกรางวัลซีไรต์ ที่ระบุว่า ความปรารถนาทางเพศไม่ได้ดำรงอยู่อย่างอิสระ ไม่ใช่สัญชาตญาณที่ใครใคร่สำแดงโดยตัดขาดจากกรอบค่านิยม ศีลธรรม จรรยาของสังคมได้

คนในนิทานจึงไม่ใช่หนังสือที่ขึ้นต้นด้วยกาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว แต่เป็นนวนิยายที่สะท้อนสัญชาตญาณมืด และสะท้อนถึงจิตใจของคนนอกนิทาน ผู้ซึ่งถูกตีกรอบจากสังคมอย่างแน่นหนาเพื่อขังอำนาจการต่อรอง