posttoday

สุภารัตน์ คำมุงคุณ โจทย์ชีวิตและความสุขที่ต้องเลือก

26 สิงหาคม 2561

ข้าราชการเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันอยากเป็น บางครอบครัวเป็นข้าราชการทั้งบ้าน

โดย วรธาร ทัดแก้ว  

ข้าราชการเป็นอาชีพที่หลายคนใฝ่ฝันอยากเป็น บางครอบครัวเป็นข้าราชการทั้งบ้าน หลายครอบครัวพ่อแม่อยากให้ลูกหลานรับราชการเพื่อความมั่นคงของชีวิตในอนาคตและเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล แต่หลายคนไม่อยากเป็นก็เลือกทำงานในบริษัทเอกชน บางคนทำธุรกิจเป็นเจ้าของกิจการ บางคนรับราชการไประยะหนึ่งแล้วรู้สึกว่ารูปแบบการทำงานไม่ใช่ หรือไม่ตรงกับไลฟ์สไตล์หรือความต้องการของชีวิตในช่วงนั้นทำให้ต้องลาออก

ตุ๊กตา-สุภารัตน์ คำมุงคุณ พยาบาลสาววัย 29 ปี ชาวบ้านอุ่มเหม้า ต.อุ่มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นคนหนึ่งที่ลาออกจากข้าราชการทั้งที่เพิ่งได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการได้เพียง 11 เดือน เพื่อหันมาประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปลูกผัก ผลไม้ และเพาะเห็ดขาย โดยเฉพาะการเพาะเห็ดถือเป็นรายได้หลัก

สุภารัตน์เรียนจบพยาบาลจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท จ.สระบุรี ในปี 2555 จากนั้นทำงานเป็นลูกจ้างที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นเวลา 4 ปีกว่า ต่อมาได้บรรจุข้าราชการและย้ายไปประจำอยู่ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่บ้านเกิดเป็นเวลา 11 เดือน ก่อนลาออกมาทำเกษตรที่ใฝ่ฝันอยากทำมาก แต่บทบาทในฐานะพยาบาลก็ยังทำหน้าที่อยู่ในสถานพยาบาลเล็กๆ ของพี่สาว

พยาบาลสาว เผยว่า อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่มีคุณค่าและเธอเองก็ชอบจึงเลือกเรียน ขณะเดียวกันพี่สาวอีกสองคนก็เป็นพยาบาลเหมือนกัน ทุกครั้งที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลรักษาคนไข้หายป่วยจนเขากลับบ้านได้ก็จะมีความสุขและความอิ่มใจ แต่ที่ต้องตัดสินใจลาออกเพราะตอนนั้นความต้องการที่จะทำเกษตรมีพลังมากกว่าเป็นพยาบาล ถ้าเปรียบกับกล้วยก็สุกงอมเต็มที่ได้เวลากิน ถ้าไม่กินต่อไปกล้วยก็จะเน่าเสียกินไม่ได้

สุภารัตน์ คำมุงคุณ โจทย์ชีวิตและความสุขที่ต้องเลือก

“ตอนเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม พอรู้ว่าจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ในใจก็อยากสละสิทธิ ตุ๊กตามองว่ารูปแบบงานที่ทำยังไม่ตอบโจทย์หรือความต้องการลึกๆ ของตัวเองที่อยากทำเกษตรมากกว่า ประกอบกับงานพยาบาลก็ค่อนข้างหนักจะหาเวลาพักผ่อนก็ยาก แต่พ่อแม่อยากให้ทำงานไปก่อนไม่ให้สละสิทธิ ตุ๊กตาจึงทำราชการต่ออีก 11 เดือน โดยย้ายมาประจำอยู่ที่สถานีอนามัยที่บ้าน”

สุภารัตน์ย้อนอดีตช่วงเวลาทำงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนมให้ฟังว่า เธอได้ทำการเพาะเห็ดฟางไว้ที่บ้านแล้วประสบผลสำเร็จ จากนั้นเวลาไปทำงานก็จะนำผลผลิตที่ได้ติดไม้ติดมือมาขายให้กับเพื่อนพยาบาล แม้รายได้จะเล็กน้อยแต่ถ้าพูดถึงความสุขและความภูมิใจต้องบอกว่ามีมาก

“วันศุกร์พอเลิกงานตุ๊กตาก็จะนั่งรถกลับบ้าน วันเสาร์เพาะเห็ดฟาง วันอาทิตย์กลับไปทำงาน นี่คือกิจกรรมที่ทำ การเพาะเห็ดฟางตุ๊กตาไม่ได้ทำเยอะ แค่อยากลองดูว่าตัวเองจะทำได้หรือเปล่า ศึกษาข้อมูลการทำจากกูเกิลยูทูบ พอทำได้ดีใจมาก เวลากลับไปทำงานก็เลยติดไม้ติดมือไปขายที่โรงพยาบาล ขายหมดทุกครั้ง (หัวเราะ) รู้สึกเลยว่านี่แหละความสุขของชีวิตที่อยากทำมานาน

ครั้นพอย้ายมาอยู่สถานีอนามัย เวลามีมากขึ้น หลังจากเลิกงานและในวันหยุดก็จะเพาะเห็ดเป็นงานอดิเรกและให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เพื่อที่เขาเหล่านั้นสามารถนำความรู้ไปทำอาชีพเสริมหรือทำไว้กินในครอบครัว ส่วนผลผลิตที่ได้ก็แบ่งปัน อสม.นิดๆ หน่อยๆ เพราะเราไม่ได้ทำเยอะแค่อยากสาธิตให้พวกเขาได้ดู

สุภารัตน์ คำมุงคุณ โจทย์ชีวิตและความสุขที่ต้องเลือก

“ต่อมาพี่ชายเห็นว่าเพาะเห็ดได้ ก็ถามว่าทำไมไม่เพาะเห็ดขายรายได้น่าจะดี ตุ๊กตาได้โอกาสจึงปรึกษาพ่อแม่พี่ชาย ทุกคนเห็นตรงกันเพาะเห็ดขาย ตอนนั้นมุ่งมั่นมากเหมือนรอวันนี้มานาน จึงขอพ่อแม่ลาออกจากราชการเพื่อที่จะมาเพาะเห็ดและทำเกษตรจริงจัง พ่อไม่ว่าอะไร ส่วนแม่ในใจยังไม่อยากให้ลาออก แต่เราตัดสินใจแล้ว วันต่อมาก็เริ่มทำเลย ลงทุนไปหลายหมื่น

พ่อกับพี่ชายช่วยกันทำโรงเรือนและโรงบ่ม ตุ๊กตารับหน้าที่ซื้อเชื้อเห็ดและหาวัสดุอุปกรณ์ในการทำทั้งหมดและเป็นคนผสมสูตรเอง ส่วนเวลาทำก็ช่วยกันทั้งครอบครัว ตอนนั้นเพาะเห็ดนางฟ้าซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน เคยแต่เห็ดฟางได้ผล ก็คิดเองเออเองว่าถ้าเพาะเห็ดฟางได้เห็ดนางฟ้าก็น่าจะได้ผล จึงลงทุนทำมากถึง 4,000 ก้อน สูตรและส่วนประกอบต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ในการทำหาจากอินเทอร์เน็ต ส่วนวิธีการขั้นตอนดูจากตัวอย่างในยูทูบ”

สุภารัตน์ คำมุงคุณ โจทย์ชีวิตและความสุขที่ต้องเลือก

พยาบาลสาว กล่าวต่อว่า พอทำเสร็จแล้วก็คิดว่าน่าจะได้ผลเหมือนตอนที่เพาะเห็ดฟาง แต่ผลตรงกันข้าม 4,000 ก้อนที่ลงทุนไปต้องสูญเปล่า เห็ดส่วนใหญ่ไม่ออก บางก้อนออกก็ออกนิดๆ หน่อยๆ ถือว่าพลาดอย่างแรงที่ลงทุนไปจำนวนมากทั้งที่ตัวเองยังไม่เคยทำและไม่เคยไปอบรมการเพาะเห็ดจากผู้รู้ที่ไหน แต่ประสบการณ์ครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่เธอจะไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามต้องรอบคอบเสมอ

“ตอนนั้นถ้าตุ๊กตาเริ่มทำจากน้อยเหมือนตอนเพาะเห็ดฟางก็คงจะไม่สูญเงินไปมาก แต่พอทำมากความเสียหายก็ต้องมากตามเมื่อเกิดความเสียหาย ความผิดพลาดครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหา แม้ว่าตอนหลังจะได้คนที่ขายเชื้อเห็ดให้มาช่วยแนะนำแต่ก็เป็นความรู้พื้นฐาน ส่วนเทคนิคต่างๆ รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหารู้เชิงลึก เช่น การควบคุมอุณหภูมิโรงบ่มเชื้อ ความชื้นของโรงเพาะ การหมั่นตรวจดูโรค แมลง มด มอด แมลงสาบ ปลวก เป็นต้น ตุ๊กตาศึกษาและค่อยๆ แก้ไขด้วยตัวเองในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ ปลื้มมากที่ตัวเองทำได้ค่ะ”

ทุกวันนี้เห็ดนางฟ้าที่ผลิตออกมาไม่เพียงพอต่อความต้องการของพ่อค้าแม่ค้าและร้านอาหาร ยังไม่รวมชาวบ้าน (บ้านที่อยู่เป็นหมู่บ้านตำบล มี 9 หมู่บ้าน) ที่ต้องการซื้อไปปรุงอาหารในชีวิตประจำวัน หรือเวลาจัดงานต่างๆ เช่น งานแต่งงาน และงานบุญต่างๆ เจ้าของงานก็จะมาซื้อไปเป็นวัตถุดิบประกอบอาหาร นอกจากเพาะเห็ดนางฟ้ายังเพาะเห็ดกระด้าง (เห็ดบด) และปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ต่างๆ ไว้กินเอง ถ้าเหลือก็นำไปขาย

“ถ้าถามรายได้ต่อเดือนไม่แน่นอนค่ะ แต่รายได้นั้นก็ทำให้ครอบครัวเราอยู่ได้ไม่เดือดร้อนและมีเงินเก็บทุกเดือนค่ะ จริงๆ แล้วที่บ้านตุ๊กตาก่อนจะเพาะเห็ดขายพ่อรับซื้อน้ำยางพาราซึ่งบ้านเราก็มีสวนยางด้วย ทุกวันนี้พ่อก็ยังทำอยู่ พี่ชายก็รับซื้อน้ำยางเหมือนกัน ตอนนี้ชีวิตตุ๊กตามีความสุขมาก ครอบครัว
พ่อแม่ก็มีความสุข ต่างจากตอนลาออกจากราชการใหม่ๆ มีความกดดันมากมายถาโถมเข้าใส่ เช่น บางคนพูดกับแม่ว่าพาลูกไปหาหมอบ้างหรือยัง (กรณีลาออกจากราชการ) ทำให้รู้สึกท้อบ้างในบางครั้ง แต่เราไม่เคยหมดกำลังใจเพราะเลือกแล้ว ทุกวันนี้ถึงไม่ได้เป็นข้าราชการก็มีความสุข ถึงไม่ได้เป็นข้าราชการก็มีรายได้แถมได้อยู่กับครอบครัวตลอด”

สุภารัตน์ คำมุงคุณ โจทย์ชีวิตและความสุขที่ต้องเลือก

ขณะเป้าหมายในอนาคต สุภารัตน์อยากมีร้านของฝากของตัวเอง โดยของฝากนั้นจะแปรรูปจากวัตถุดิบที่เธอปลูกเอง เช่น ผักผลไม้ เห็ด ถ้าเป็นเห็ดก็จะแปรรูปเป็นแหนมเห็ด เป็นต้น ส่วนใครอยากสั่งซื้อเห็ดหรือติดตามการทำเกษตรของเธอสามารถเข้าไปกดไลค์ได้ที่เฟซบุ๊ก “NongTookta Nakhonpanom”