posttoday

จักรพันธุ์ โปษยกฤต อยู่คู่ฟ้าและดาวเดือน

22 สิงหาคม 2561

จักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2543 ผู้ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เรื่อง: วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ: มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต/วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

“...ชื่นใจ...” จักรพันธุ์ โปษยกฤต ในวัย 75 ปี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปี 2543 ผู้ได้รับการยกย่องเป็น 1 ใน 52 นายช่างเอกในรอบ 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวเพียงสั้นๆ ต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและสื่อมวลชนที่มากันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ในงานเปิดนิทรรศการเดี่ยวที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เอกมัย เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา

ถือฤกษ์คล้ายวันเกิดศิลปินแห่งชาติ 16 ส.ค. ซึ่งเวียนมาบรรจบ ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่อาจารย์ “แข็งแรง” ขึ้น จึงจัดงานแถลงข่าวกับจัดงานวันเกิดไปพร้อมกันแบบยิ่งใหญ่ ประกาศโครงการ “จักรพันธุ์ โปษยกฤตนิทรรศการ” นิทรรศการหมุนเวียนที่จะรวบรวมผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าฝีมือ โดยปรับพื้นที่ซ้อมหุ่นกระบอก ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อจัดแสดงผลงานศิลปกรรมให้ประชาชนทั่วไปได้ชม

วัลลภิศร์ สดประเสริฐ ศิษย์เอก เล่าให้ฟังว่า นิทรรศการครั้งนี้เป็นนิทรรศการเดี่ยวที่จัดขึ้นในรอบ 15 ปี โดยจะนำแสดงผลงานชิ้นเอกหรือมาสเตอร์พีซฝีมืออาจารย์จักรพันธุ์ เช่น ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันพระแม่คงคา (ปี 2553) หุ่นกระบอกชุดสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ (ปี 2532) และผลงานหุ่นกระบอกล่าสุดชุดตะเลงพ่าย รวมถึงประติมากรรมต้นแบบทศกัณฐ์จากเรื่องรามเกียรติ์ งานประณีตศิลป์และผลงานต้นแบบหรือแบบร่างอื่นๆ ที่หาชมได้ยาก ไม่เคยจัดแสดงที่ใดมาก่อน

“ผลงานของอาจารย์จักรพันธุ์จะจัดแสดงหมุนเวียนสับเปลี่ยนไปทุกๆ 4 เดือน โดยจะจัดแสดงเรื่อยไปไม่มีกำหนด ณ มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่ถนนเอกมัย เพื่อธำรงเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและสืบทอดความรู้ให้แก่เยาวชนและ
ผู้สนใจ ที่จะได้รับประโยชน์จากการศึกษาผลงานบรมครู ศิลปินแห่งชาติ”

การจัดแสดงนิทรรศการฯ เป็นไปตามเจตนารมณ์ของอาจารย์จักรพันธุ์เองที่ต้องการจัดแสดงผลงาน มิใช่จัดแสดงความเก่ง โดยมุ่งให้เห็นแนวดำเนินของครูบาอาจารย์ช่างเขียนว่า ทำงานอย่างไร เริ่มอย่างไร หรือมีแนวทางในการผลิตสร้างงานอย่างไร จักรพันธุ์ โปษยกฤต จบคณะจิตรกรรมและประติมากรรมในปี 2510 จากนั้นเข้าทำงานเป็นครูพิเศษสอนวิชาวิจัยศิลปะไทย คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนสอบเป็นช่างเขียนซ่อมจิตรกรรมฝาผนังรอบระเบียงวัดพระแก้ว ตลอดชีวิตอุทิศตัวให้กับการทำงานศิลปะและศาสนา

จักรพันธุ์ โปษยกฤต อยู่คู่ฟ้าและดาวเดือน

เรื่องเก่าเล่าย้อนให้ฟัง วัลลภิศร์ ผู้เป็นศิษย์ของอาจารย์จักรพันธุ์มาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร หรือเมื่อ 45 ปีก่อน บอกว่า อาจารย์สอนวิชาวิจัยศิลปะไทย ท่านเป็นอาจารย์ที่ตรงต่อเวลาและรักในการสอนอย่างมาก ในชีวิตการสอนของท่าน ไม่เคยพลาดหรือขาดการสอนเลยแม้แต่ครั้งเดียว อาจารย์ยังขึ้นชื่อในเรื่องความละเอียดของงาน ใครที่เป็นลูกศิษย์เข็ดเขี้ยวรู้ดี อีกที่ขึ้นชื่อและลือเลื่องไม่แพ้กันคือความปากร้ายใจดี

“ใครโดนเข้าไปก็ถึงหน้าม่อยล่ะ แต่ไม่มีใครไม่รักอาจารย์ สมัยนั้นค่าสอนหนังสือชั่วโมงละ 25 บาท วันหนึ่งมาสอน 3 ชั่วโมง ได้เงินค่าตอบแทน 75 บาท ส่วนหนึ่งใช้เป็นค่าแท็กซี่ และอีกส่วนหนึ่งใช้เป็นค่าเลี้ยงข้าวนักศึกษา”

สำหรับศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) จักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นผู้สร้างสรรค์สืบสานมรดกศิลปวัฒนธรรมไทยแห่งแผ่นดินกรุงรัตนโกสินทร์ ด้วยอัตลักษณ์ความเป็นเอกในการถ่ายทอดผลงานทั้งด้านจิตรกรรมร่วมสมัย จิตรกรรมไทยประเพณี ประติมากรรม และผลงานหุ่นกระบอกที่ผสานด้วยงานประณีตศิลป์ นาฏดุริยางคศิลป์ และผลงานวรรณกรรม ที่เปี่ยมล้นด้วยคุณค่าทางสุนทรียภาพ

ความรักความลึกซึ้งในงานศิลปะถ่ายทอดผ่านลายเส้น สีและฝีแปรงที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ดังผลงานภาพเหมือนหรือพอร์เทรต และผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวรรณคดีไทย ที่ถ่ายทอดความงามอย่างอุดมคติ ความงดงามของสตรีไทย นางในวรรณคดีที่ละเอียดอ่อน อาจารย์และคณะยังได้สร้างสรรค์พุทธศิลป์ ได้แก่ จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถวัดตรีทศเทพวรวิหาร และที่วัดเขาสุกิม จันทบุรี

เหมือนเย็นย่ำที่พระอาทิตย์คงยังส่องแสงฉาย เชื่อว่าหลายคนจะได้รู้มาบ้างแล้วถึงข่าวการไม่สบายจากภาวะอาการเส้นเลือดในสมองตีบ (ตั้งแต่ พ.ย. 2559) ปัจจุบันอาจารย์พูดไม่สะดวก เดินเองไม่ได้ และไม่รับประทานอาหารเอง แต่จะให้อาหารทางสายเป็นหลัก ยกเว้นอาหารโปรดที่ชอบ และขอรับประทานเองมีบ๊ะจ่าง ขนมจีนน้ำพริก ขนมจีนซาวน้ำ และผลไม้มะม่วงสุก ทุเรียน

“มีนัดพบแพทย์ 2-3 เดือนครั้งหนึ่ง ดูแลและประคับประคองอาการเจ็บป่วยที่ปัจจุบันได้ทุเลาลงมากแล้ว อาจารย์ใช้คำว่าแค่นั้น ไม่ห่วงอะไร แรกๆ ป่วยมีห่วงบ้าง แต่อาจารย์ก็ทำใจได้เร็วจนเหลือเชื่อ”

สำหรับลูกศิษย์ลูกหาและผู้เคารพนับถือ รวมทั้ง “แฟนคลับจักรพันธุ์ โปษยกฤต” ศิษย์เอกระบุว่าคงอัพเดทให้ได้ว่า ปัจจุบันอาจารย์มีชีวิตแบบส่วนหนึ่งที่มีกำลังใจที่ดี สุขภาพจิตดีเต็มร้อย เพียงสุขภาพร่างกายยังเดินไม่ได้ เคลื่อนไหวไม่ถนัด ถ้าจะเดินต้องมีคนพยุงเดิน อาจารย์ป่วยเพียงร่างกาย ทุกวันนี้ใช้มือซ้ายวาดภาพ

จักรพันธุ์ โปษยกฤต อยู่คู่ฟ้าและดาวเดือน

อาจารย์จักรพันธุ์ในวารวันที่ดำรง คือ การเดินหน้าก่อสร้างพิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต เพื่อการเรียนรู้ทางศิลปะ ณ ถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม กำหนดแล้วเสร็จปีหน้านี้แล้ว 2562 นับเป็นพิพิธภัณฑ์ถาวรที่รวบรวมศิลปวัตถุสำคัญของชาติไว้ และมีโรงมหรสพจัดแสดงหุ่นกระบอกระบบเวทีแสงสีเสียงเต็มรูปแบบที่สมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย

“อาจารย์มีนิสัยประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง จะเรียกว่าเป็นพรสวรรค์ประจำตัวก็ว่าได้ นั่นคือ ความหวังที่ไม่ใช่ความหวัง เพราะท่านไม่คาดหวัง ไม่เคยคาดหวังอะไรเลย แต่ทำเต็มที่ ทำปัจจุบัน คาดหวังกับปัจจุบัน”

สำหรับมูลค่างานเขียนของอาจารย์จักรพันธุ์ที่หลายคนอยากรู้ วัลลภิศร์เล่าว่า คงบอกได้แต่เพียงว่า ในสายตาของอาจารย์แล้ว ราคาเป็นสิ่งสมมติ อาจารย์มองงานศิลปะว่าเป็นศิลปะ แลกด้วยเงินไม่ได้ โดยงานเขียนรุ่นหลังในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อาจารย์ไม่ขายงานเลย จากความตั้งใจที่จะเก็บผลงานไว้ในพิพิธภัณฑ์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ที่จะนำไปสู่การศึกษาสืบทอดความรู้ เผยแพร่ความงดงามของศิลปวัฒนธรรมไทยให้กว้างขวางสืบไป

บทความนี้ขอจบด้วยข้อเขียนของอาจารย์เอง ในงานเขียนเรื่อง “ศิลปากร” ถอดความจากงานปาฐกถาศิลป์ พีระศรี ครั้งที่ 3 (15 ก.ย. 2541) ความว่า “ความนึกฝันสร้างสรรค์ปรุงแต่งต่างๆ ในมนุษยชาติมีอยู่ทุกถ้วนทั่วในตัวสัตว์ แต่ที่จะทำให้ประจักษ์แจ้งประณีตดีเลว ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือ ถ้าผู้ใดทำได้สูงส่ง อุดมทั้งความคิดและฝีมือผู้นั้นจึงเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยวิชาและจารณะในศาสตร์แขนงนั้น

ฝีมือมิใช่สิ่งที่น่าอับอายสำหรับศิลปิน แต่ฝีมือเป็นสิ่งที่ศิลปินต้องมี ถ้าช่างปราศจากฝีมือเสียแล้ว จะเป็นช่างไปได้อย่างไร เป็นได้อย่างเดียว คือ ช่างหัวมัน ช่างแม่มัน หรือช่างมันเถอะ ข้าพเจ้าเป็นช่างฝีมือ ศรัทธาเลื่อมใสในผู้มีฝีมือ และอยากให้บ้านเมืองเราอุดมด้วยผู้ที่มีฝีมือไว้ประดับแผ่นดิน ให้วิจิตรงดงามดังที่ผ่านมา”

จักรพันธุ์ โปษยกฤต อยู่คู่ฟ้าและดาวเดือน