posttoday

ชัยอนันต์ ปันชู สโลว์ไลฟ์อินเจแปน

19 สิงหาคม 2561

ชีวิตอันแช่มช้าและเป็นแรงบันดาลใจของนักข่าวคนเก่ง “ต้นกล้า”

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ : ชัยอนันต์ ปันชู 

ชีวิตอันแช่มช้าและเป็นแรงบันดาลใจของนักข่าวคนเก่ง “ต้นกล้า”ชัยอนันต์ ปันชู นักข่าวขาลุยแห่งสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD มีหลากหลายทั้งไทยและเทศ (ฮา) ต้องกล่าวอย่างนี้ เพราะจากรายการ “กล้าลองกล้าลุย” ที่ต้นกล้าทำ ทำให้ต้นกล้าได้ไปมาทั่ว หนึ่งในนั้นคือชีวิตชาวนาต้นแบบแห่งเมืองชิบะและเมืองมิโกะ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนี้ก็คือเรื่องราวของชาวนาชาวไร่ไทย วิถีชีวิตพื้นบ้านที่ประทับใจต้นกล้าผู้ไป(ทำสกู๊ป)มาแล้วทั่วประเทศ นี่คือเรื่องราวที่อยากแบ่งปัน

ชัยอนันต์หรือต้นกล้าวัย 39 ปี เล่าว่า ชีวิตที่อยากใช้ให้ช้าลง(หน่อย)ของเขา-ฮา มีต้นเหตุมาจากแรงปรารถนาและจากความเข้มข้นในงานหน้าที่ความเป็นคนข่าว ที่ 3 มุมใหญ่ คือ 1.การอ่านข่าว ทำหน้าที่ของผู้รายงานข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 HD 2.การรายงานสถานการณ์สด และ 3.การทำคอลัมน์ข่าว “กล้าลองกล้าลุย” จากรายการสนามข่าว 7 สี นั่นหมายถึงชีวิตประจำวันที่ต้องเกาะติด

“บางทีออกไปทำข่าวหรือลงพื้นที่ ซึ่งผมต้องออกพื้นที่ 5 วัน/สัปดาห์ กลับมาก็ต้องรีบต่อให้ติด อัพเดทข่าว ย้อนอ่านข่าวเยอะมาก การแข่งขันก็สูงมาก อีกยังการเข้าถึงแหล่งข่าว ทำยังไงให้ได้ข่าว เบื้องหลังเบื้องหน้าที่สนุกหลากหลายเทคนิค แต่ก็เหนื่อยมาก เพราะต้องทำงานแข่งกับเวลานั่นเอง”

ชัยอนันต์ ปันชู สโลว์ไลฟ์อินเจแปน

ต้นกล้าเล่าว่า การทำความเข้าใจข่าวที่จะต้องรายงาน บางข่าวอ่านแล้วต้องอ่านอีก เพราะในฐานะคนทำข่าวแล้ว ตัวผู้อ่านหรือผู้รายงานถ้าไม่เข้าใจข่าวแล้วก็คือไม่ได้ นี่คือมาตรฐานความเป็นมืออาชีพที่สื่อมวลชนยึดถือ นั่นหมายถึงความเร่งรีบในแต่ละวัน เพราะต้องเตรียมตัวอย่างมาก ต้องอัพเดทข่าวทุกข่าวแบบ 100% มองภาพการทำงานของตัวเอง บางทีก็นึกว่ากำลังควบม้าแข่งแบบลมหายใจรดต้นคอ ทุกเบรกข่าวคือความคืบหน้าของสถานการณ์ 

“ความรีบไม่อาจเป็นข้อแก้ตัว ในความเร่งรีบ ที่ต้องมี คือความถูกต้อง” 

ต้นกล้าทำหน้าที่รายงานข่าวประจำที่สถานีโทรทัศน์ในทุกวันพุธ วันพฤหัสบดีและวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30-09.50 น. ขณะเดียวกันก็ทำสกู๊ปชื่อกล้าลองกล้าลุย ออกอากาศทุกเช้าวันพุธและเช้าวันพฤหัสบดี เวลา 08.00 น. งานทำให้ต้องคิดตลอดเวลา ใช้ความคิดเพื่อสร้างสรรค์ตัวงาน ขณะเดียวกันก็ทำจิปาถะในงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อมาพิจารณาในตอนนี้ก็ยังแทบจะเหลือเชื่อแม้กับตัวเอง ทีมมี 3 คนข่าว นอกเหนือจากตัวเอง ก็ประกอบด้วยช่างกล้องและผู้ช่วยช่างภาพ ที่ทำงานร่วมกันมานาน มองตาก็รู้ใจ มองตาก็รู้มุม(กล้อง)

ชัยอนันต์ ปันชู สโลว์ไลฟ์อินเจแปน

“นอกเหนือจากงานข่าว ก็ต้องติดต่อประสานงาน ถึงหน้างานก็ต้องเป็นทั้งหมด ทั้งโปรดิวเซอร์ผลิตรายการ รันเรื่อง รันบทยังไง อยู่ที่นี่หมด บางทีก็คิวภาพเอง หรือบางทีก็ต้องหาที่หลับที่นอนให้ทีมงานด้วย(ฮา) คนเดียวทำหลายอย่างมาก แต่ทุกอย่างนั่นแหละที่สอนเรา ถามว่าโหลดมั้ย ตอบว่าไม่โหลดเพราะชินแล้ว”

ความเร่งรีบในชีวิตนั้นแค่ไหน เขาบอกให้เห็นภาพว่า ถึงเวลาหน้างานก็ต้องตัดสินใจเลย เอาไม่เอา หรือบางช่วงเป็น “เรียลิตี้” ก็ต้องเอาเลย เพราะไม่เช่นนั้นอารมณ์ของภาพและเรื่องจะไม่ได้ ต้องด้นสดไปตามจริง 4 ปีที่ทำงานร่วมกันมาต้นกล้าทำความเข้าใจกับทีมงานไว้เลยว่า พลาดคือพลาด ห้ามหยุดกล้อง ห้ามตกใจ ห้ามพอสหรือพักกล้องเด็ดขาด วินาทีชีวิตมากมายในรายทาง เช่น เคยตกสะพานไม้ไผ่ที่สูงลิบลิ่วและลอยละลิ่วร่วงจากสะพานลงพื้นน้ำมาแล้ว รวมทั้งอีกมากมายไม่หมายจะจำ

ชีวิตคือการออกพื้นที่(ต่างจังหวัด) 5 วันต่อหนึ่งสัปดาห์ ตั้งแต่วันศุกร์-วันอังคาร ช่วงเย็นของวันอังคารจะทำงานเขียนจนดึก เช้าวันพุธเข้าประจำหน้าที่ในสถานี ตกบ่ายเขียนงาน จนวันพฤหัสบดีนั่นแหละถึงจะได้พักบ้าง ได้ซักผ้า(ฮา) หรือนอนหลับเท่าที่ใจอยากนอน สมัยก่อนเคยเป็นคนดูหนังฟังเพลง เคยไปดูหนังที่โรงภาพยนตร์ทุกบ่อย แต่ปัจจุบันนี้หรือลืมไปได้เลย วันหยุดอยากทำมากที่สุดคืออยากนอนที่สุด

ก็เพราะชีวิตนักข่าวขาลุยขารีบขนาดนี้ หัวใจจึงอยากสโลว์ไลฟ์ให้ช้าลง(หน่อย-ฮา) แต่สโลว์ไลฟ์ของต้นกล้าก็คือชีวิตที่แทรกอยู่ในวันทำงาน 5 วันที่ต่างจังหวัดนั่นเอง นั่นคือภาคส่วนของชีวิตที่พอจะได้เห็นหลืบมิติความช้าของวิถีชาวบ้าน ชาวบ้านนอนตรงไหน กินตรงไหน ต้นกล้าเก็บเกี่ยวความสุขตรงนั้น พลอยได้ใช้ชีวิตช้าๆ ไปกับชาวบ้านด้วย พลอยได้ดึงเบรกตัวเองบ้าง เป็นอะไรที่คุ้มสุดคุ้ม เพราะความเร่งกับความช้า ได้ถักทอและร้อยลงอยู่ในฟันเฟืองเดียวกัน

ชัยอนันต์ ปันชู สโลว์ไลฟ์อินเจแปน

“ตื่นเช้ามาก็นั่งรถอีแต๋น สโลว์ไลฟ์แบบแต๊กๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ไปกับเขาด้วย ได้ทำได้เห็น ได้มองผ่านมุมมองของชาวบ้าน ชีวิตที่ไม่รีบเร่งมันสุขที่ใจ สุขกว่าหลายๆ คน ที่ทำหลายๆ อย่างพร้อมๆ กันในชีวิต แต่เราแค่วินาทีนี้ ที่กำลังนั่งรถอีแต๋นมองรวงข้าวชอุ่มในนา”

ลัดฟ้าบินไปญี่ปุ่น แหล่งกำเนิดคัมเปียวที่คนไทยหลายคนไม่รู้จัก คัมเปียวเป็นฟักญี่ปุ่น มีลักษณะทรงกลม ชาวญี่ปุ่นชอบแปรรูปเป็นไส้ซูชิที่ได้รับความนิยมมาก คนไทยไม่รู้ว่าคือผลของคัมเปียว ล่าสุดเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา บริษัท ไทยเลยฟาร์ม ผู้รับซื้อคัมเปียวในไทย ผลิตและจำหน่ายแปรรูปเป็นไส้ซูชิทั้งในไทยและในจีน ก็ได้พานักข่าวไปเยี่ยมคัมเปียวถึงแหล่งต้นกำเนิดเมืองชิบะ รวมทั้งเลยไปดูต้นกำเนิดแหล่งปลูกวาซาบิที่เมืองมิโกะ ทางตอนใต้ของญี่ปุ่นด้วย

ที่ประเทศญี่ปุ่นนี้เอง ที่ส่งพลังและแรงบันดาลใจแบบบวกๆ เขาบอกเล่าถึงความประทับใจ ที่โน่นชาวนาส่วนใหญ่เป็นชาวนารุ่นใหญ่ พูดให้ชัดคือสูงวัย แต่เป็นสูงวัยที่แข็งแรง อายุประเมินด้วยสายตาไม่ต่ำกว่า 80-90 ปี หากยังนั่งสไลซ์์คัมเปียวกันแบบชิลๆ ในความคิดของเขาแล้ว การที่ทุกอย่างในชนบทญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเนิบช้า ทว่าเปี่ยมด้วยความสุขความสดและพลัง สาเหตุมาจากวิถีเกษตรกรที่นี่เป็นวิถีที่ปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี แตกต่างชนิดฟ้าดินกับบ้านเรา ที่ชาวนาชาวไร่นิยมใช้สารเคมีแบบจัดหนัก ไม่มีความรู้ เป็นอันตรายทั้งต่อตัวเองและสิ่งแวดล้อม

ชัยอนันต์ ปันชู สโลว์ไลฟ์อินเจแปน

“ผมตกใจเลย น้ำในแหล่งปลูกคัมเปียว อยู่ดีๆ เขาก็วักขึ้นมากินหน้าตาเฉย วักน้ำกินได้ เพราะน้ำสะอาด อยากกินตรงไหนก็กิน เขาอยู่กันแบบไม่มีการใช้สารเคมี บ้านเราต่างกับเขา สุขภาพดินเขาดี สุขภาพร่างกายเขาดี ช้าและดี”

สโลว์ไลฟ์อินเจแปนหนนี้ นับว่าสร้างพลังแก่ต้นกล้าอย่างมาก กลับเมืองไทยก็คิดเลยว่า ชีวิตช้าๆ และปลอดภัยทำได้ที่น่านบ้านเกิดต้นกล้าเป็นคนน่าน เกิดและเติบโตที่ อ.ท่าวังผา เขาอยากเปิดร้านกาแฟที่นี่ ที่ริมถนนน่าน-ทุ่งช้างแห่งนี้ เพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ลึกๆ ชอบศิลปะ ชอบวาดภาพ ชอบภาพถ่าย ชอบหินสวยๆ ตลอด 9 ปีที่ทำงานข่าวมา ได้สะสมภาพถ่ายในสถานที่ต่างๆ ไม่ถึงขนาดร้อนวิชา แต่ก็อยากมีที่ทาง “ปล่อยของ” (ฮา) โชว์รูปถ่ายเท่ๆ ที่ถ่ายเก็บไว้ แน่นอนรูปถ่ายที่ชิบะและมิโกะ ประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีให้ชมแน่นอน

“ช้าและดีงามอยู่บนโลก มีเวลาให้กับตัวเอง มีเวลาทำงานให้สิ่งแวดล้อม มีเวลาทำงานให้บ้านเกิด นี่คือชีวิตที่ผมอยากแบ่งปัน”