posttoday

ต่อพงศ์ เสลานนท์ ชีวิตต้องไปต่อ ยากแค่ไหนก็ไม่ยอมจำนน

19 สิงหาคม 2561

ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เขาเป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุด ในวัย 36 ปี

โดย อณุสรา ทองอุไร ภาพ : อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์
 
ต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เขาเป็นนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยที่อายุน้อยที่สุด ในวัย 36 ปี ดำรงตำแหน่งมาแล้วเป็นสมัยที่ 2 ก่อนหน้านี้เขาทำงานช่วยสมาคมมานานหลายปี เพราะหวังช่วยให้การใช้ชีวิตของคนตาบอดในประเทศไทยดีวันดีคืน
 
หลังจากที่เขารับตำแหน่งแล้วก็พยายามจะผลักดันงานต่างๆ เพื่อสร้างอาชีพให้แก่ผู้พิการตาบอดให้ช่วยเหลือเลี้ยงตัวเองให้ดีขึ้นได้ ด้วยการตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือการส่งเสริมเกษตรแปรรูปต่างๆ แล้วช่วยหาตลาดรองรับหรือช่วยหาวัตถุดิบให้ เช่น การทำฟาร์มเห็ด ปลูกพืชผักสวนครัว เขายืนยันว่าแม้จะหมดตำแหน่งในสมัยที่ 2 นี้แล้วก็จะยังทำงานช่วยสมาคมต่อไป เพราะเขารู้ว่าผู้พิการตาบอดในประเทศไทยมีความยากลำบากในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้พิการหรือตาบอดมาแต่กำเนิดเช่นเขานั้นต้องมีการปรับตัวเป็นอย่างมาก
 
เขาเล่าถึงเหตุที่ทำให้เขาตาบอดว่าเป็นเพราะอุบัติเหตุรถชนเมื่อตอนอยู่ชั้น ม.4 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ขณะอายุ 16 ปี เกิดตอน 23.00 น. เขาจะขับรถไปดูการเข้าค่ายลูกเสือของน้องๆ ที่โรงเรียน ใน จ.ปทุมธานี  เพราะมีน้อง ม.3 ท้องเสีย จะไปเป็นจิตอาสาช่วยน้องๆ เขาขับรถจากบ้านย่านจรัญสนิทวงศ์ 57 แต่เกิดหลับในไปไม่ถึง ไปเจออุบัติเหตุแถวแยกสะพานนวลฉวี ย่านพระราม 6 ใกล้ๆสนามบินน้ำ ไปชนรถที่จอดติดไฟแดง เขาพุ่งชนแบบไม่มีเบรกเลย แล้วโดนกระจกบาดตา ตอนที่เกิดอุบัติเหตุนั้นเขาสลบไม่รู้ตัวเลย มาฟื้นตอนอยู่ที่โรงพยาบาลแล้ว
 
“ผมเลือดไหลเต็มตัวเลยแล้วสลบ เขาคิดว่าผมตายแล้วจะพาไปแต่งศพ รถคู่กรณีเขาพาไปส่งโรงพยาบาลนนทเวช เขารู้ตัว เขาบอกให้ไปส่งนนทเวช  ตัวผมสลบ เขาพามาโรงพยาบาลชลประทาน ตอนฟื้นมาผมไม่รู้ตัวว่าเกิดอะไรขึ้น เหมือนฝันว่าไปมอเตอร์ไซค์ล้มจมโคลน เอามือลูบหัวเลือดมันแห้งเกรอะกรังเหมือนใส่เจลที่หัว เย็บหน้า เย็บหัว กระดูกเบ้าตาก็แหว่งไปมิลหนึ่ง เย็บทั้งหน้าทั้งหัว แก้ม รอบตา กว่า 100 เข็ม พวงมาลัยหัก สมัยก่อนยังไม่มีกระจกนิรภัย พอฟื้นขึ้นมาบุรุษพยาบาลมาขอเบอร์โทรศัพท์ บอกเราตรงๆ ว่าเกิดอุบัติเหตุแล้วตาบอด เขาไม่มีจิตวิทยาเลย ผมงี้อึ้งไปเลย เขาจะไปแจ้งที่บ้าน ซึ่งวันนั้นพ่อแม่ผมไม่อยู่บ้าน” เขาเล่าแบบปลงๆ
 

ต่อพงศ์ เสลานนท์ ชีวิตต้องไปต่อ ยากแค่ไหนก็ไม่ยอมจำนน

 
ตอนที่บุรุษพยาบาลบอกว่าตาบอดนั้น เขาอึ้งไปเลย มีอาการช็อก แต่ไม่รู้ว่าตอนนั้นคิดอะไร เพราะคิดไม่ออกว่าหลังจากนั้นชีวิตจะต้องเจออะไรต่อไป คือพื้นฐานเป็นคนใจเย็นเลยยังไม่ทันคิด ตอนนั้นพ่อเขาเป็นนายอำเภออยู่ต่างจังหวัด ยังมาไม่ถึง ที่บ้านมีแต่ป้าๆ น้าๆ มาถึงโรงพยาบาลทุกคนก็เอาแต่ร้องไห้  วันถัดไปพ่อกับแม่มาถึงก็พาย้ายโรงพยาบาลจะไปรักษาตัวที่อื่น
 
เขามารู้ทีหลังว่า ถ้าเขาได้รักษาทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ โอกาสมองเห็นหรือเห็นเลือนรางจะมีมากกว่านี้ เพราะการรักษาช้าไป 3 วันแล้ว ตอนนั้นอาการเขาก็หนักอยู่แล้ว การรักษายังล่าช้า มันก็เลยสายไป แต่ที่บ้านก็ยังไม่หมดหวัง โดยพาเขาไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ซึ่งตอนนั้นหมอใหญ่ที่นั่นก็บอกว่าหมดหวังแล้ว แต่หมอเจ้าของไข้อยากทดลองดู ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย 
 
เขาเล่าว่า ตอนที่เจออุบัติเหตุกระจกตัดแก้วตาเป็นปากฉลาม แล้วเลือดมาเกาะติดที่ตาจนแห้ง ถ้ามาเร็วก็เอาเลือดออกจากกระจกตาได้ทัน แต่หมอที่จักษุรัตนินต้องการรักษาดวงตาเอาไว้ เพื่อรักษากล้ามเนื้อตาเอาไว้ เผื่อในอนาคตได้รับบริจาคลูกตา ซึ่งก็มารู้ทีหลังว่าเรตินาในดวงตาเขาเสีย แม้จะได้รับบริจาคดวงตาก็ไม่มีประโยชน์แล้ว เพราะแก้วตาและเรตินาของเขาไม่มีแล้ว
 
ดังนั้นเขาจึงเรียนไม่จบ ม.4 เพราะต้องหยุดรักษาตัวไปอีก 2-3 ปี ซึ่งเป็นการรักษาที่มาราธอนมากๆ เขาเกิดอุบัติเหตุ ม.ค. 2535 กลับไปเรียนอีกครั้งในปี 2538 โดยเขาผ่าตัดใหญ่ๆ 2 ครั้ง ผ่าครั้งแรกเพื่อเอาเศษกระจกออกจากตาทั้งสองข้าง เพื่อไม่ให้ตาเน่าและเพื่อรอตาปลอม ส่วนการผ่าครั้งที่ 2 เพื่อเอาพังผืดตาออก เพราะมันพับย่นจากแรงกระแทก เสียค่าใช้จ่ายไปหลายแสน เมื่อ 30 กว่าปีก่อนถือว่าแพงมาก และไม่สามารถมองเห็นได้อีก แต่โรงพยาบาลก็ใจดีลดให้เพราะรักษาไม่หาย  นอนโรงพยาบาลครั้งละเป็นเดือน
 

ต่อพงศ์ เสลานนท์ ชีวิตต้องไปต่อ ยากแค่ไหนก็ไม่ยอมจำนน

 
ตอนนั้นเหมือนเขาได้สัมผัสชีวิตใหม่ อยู่โรงพยาบาลก็นอนฟังเพลงทั้งวัน โชคดีที่ได้ความรักความอบอุ่นจากครอบครัวอย่างดี ทำให้กำลังใจเขาดีมาก ทำให้เขาไม่จิตตกจนเกินไป มีเพื่อนๆ มาเยี่ยมที่โรงพยาบาลตลอดเวลา เขารับรู้ได้ถึงความรัก ความใส่ใจ ได้อย่างชัดเจน ทำให้เขาเข้มแข็งมีสติและมีพลังที่จะสู้ต่อไป มีความหวังในการรักษาให้ดีขึ้น
 
ตอนนั้นแม่พาเดินสายรักษาทั้งหมอปัจจุบันและหมอพระ ใครแนะนำว่าดีก็ไปหมดเลย อะไรที่ทำให้มีความหวังแม่ทำหมดทุกทาง จนกระทั่งหมอเจ้าของไข้บอกตามตรงว่าไม่มีทางรักษาให้หายได้แล้ว พอออกจากโรงพยาบาล เขาก็บอกกับแม่ตรงๆ ว่าต้องยอมรับความจริงกันเสียทีว่าไม่มีความหวังแล้ว เพราะตลอด 3 ปีที่รักษามาเขาและแม่ถูกหล่อเลี้ยงด้วยความหวังว่าจะรักษาให้ดีขึ้นได้ ทั้งที่จริงๆ ก็พอรู้อยู่แล้ว แต่ไม่ยอมรับกันตรงๆ เท่านั้น พยายามหลอกตัวเองกันไป
 
“ตอนนั้นผมเบื่อที่จะหลอกตัวเองอีกต่อไปแล้ว เพราะชีวิตมันเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ทำตัวเป็นคนป่วยที่เร่หาหมอ ผมก็เลยบอกแม่ว่าผมขอเป็นคนตาบอดอย่างจริงจังไปเลย เพื่อที่จะเดินหน้าต่อ ไม่อยากอยู่กับความหวังจอมปลอมอีกต่อไป ผมเป็นคนตาบอดที่เคยตาดีมาก่อนและต้องยอมรับความจริง อย่าพยายามเป็นคนตาดีที่ไม่ยอมรับความจริง แล้วก็รักษากันไม่จบไม่สิ้น พอแล้ว เหนื่อย เสียเงินด้วย และผมก็บอกแม่ว่าจะไม่รักษาแล้ว จะดำเนินชีวิตต่อไปให้ได้ ผมให้อภัยตัวเองในความผิดพลาดและเดินหน้าต่อไป ไม่งั้นจะจมอยู่กับความทุกข์แล้วไปต่อไม่ได้ ผมต้องปรับตัวเองตลอดเวลา เพราะสิ่งแวดล้อมมันเปลี่ยนตลอด หลายอย่างกำหนดไม่ได้” เขาเล่าอย่างมุ่งมั่น
 
ต่อพงศ์ เล่าต่อไปว่า ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุเขาสอบเทียบค้างไว้ 7 วิชา เหลือเพียงอีก 1 วิชา เขาก็ไปสอบต่อโดยมีคนอ่านข้อสอบให้ฟัง เพราะเขายังใช้อักษรเบรลไม่คล่อง ในที่สุดเขาก็สอบเทียบจนครบและจบ ม.6 พร้อมเพื่อนๆ (เพราะไปรักษาตัวอยู่ 3 ปี กับ 5 เดือน)
 
หลังจากที่มาเป็นคนตาบอดอย่างเป็นทางการ เขาก็ไปเรียนภาษาเบรล ไปเรียนการใช้ไม้เท้าให้ถูกต้อง ไม่เปะปะไปโดนคนอื่น แล้วเดินให้ดูสง่างามอีกด้วย (หัวเราะ) เพื่อให้ใช้ชีวิตแบบคนตาบอดได้จนเป็นปกติ ไปไหนมาไหนได้เอง จนไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตอนแรกจะเรียนบริหาร แต่คณบดีบอกว่าให้ไปเรียนคณะครุศาสตร์ เพราะรุ่นนี้มีคนตาบอดไปเรียน 7 คน หูหนวกอีก 2 คน เขามีภาวะผู้นำจะได้ช่วยเพื่อนๆ ด้วย และเขาก็เป็นผู้นำทำกิจกรรมให้กับคณะหลายอย่าง โดยตอนเรียนปี 1-2 มีญาติๆ ไปเรียนและไป-กลับด้วยกัน
 
เขาเล่าว่า ตอนเขาเด็กๆ เวลาเห็นคนตาบอดเขาจะหลบ เพราะกลัวว่าเขาจะเข้ามาขอความช่วยเหลือแล้วเราช่วยเขาไม่ถูก ช่วยเขาไม่ได้ จะเดินเงียบๆไม่ให้คนตาบอดรู้ว่ามีเราเดินอยู่แถวนั้น ดังนั้นเวลาที่เขามาตาบอดเสียเอง ต่อพงศ์จึงมีความเข้าใจคนตาดีว่าคงจะกลัวแบบที่เขาเคยกลัว มีช่องว่างทางความคิด
 

ต่อพงศ์ เสลานนท์ ชีวิตต้องไปต่อ ยากแค่ไหนก็ไม่ยอมจำนน

 
ทำให้คนตาบอดหลายคนต้องทนต่อสายตาคนรอบข้าง คนตาบอดหลายคนจึงไม่อยากเดินไปไหนมาไหนเอง เพราะอาย เขาก็เป็นเช่นนั้น บางทีเดินชนถังขยะบ้างแล้วก็ขอโทษครับ นึกว่าเป็นคน ที่แท้คือถังขยะใบใหญ่ บางทีก็เจอคนแซวบ้างอะไรบ้าง เรื่องพวกนี้จึงเป็นของแสลงสำหรับคนพิการ ทำให้ไม่อยากออกจากบ้าน แต่ระยะหลังๆ ก็เริ่มชินมากขึ้น
 
แรกๆ แม่เขาก็ไม่ยอมให้เขาออกจากบ้านคนเดียว ต้องมีคนไปเป็นเพื่อนทุกครั้ง “ผมต้องยืนกรานกับแม่ว่า แม่คือคนที่รักผมที่สุดยังไม่ไว้ใจว่าผมทำได้ แล้วใครจะไว้ใจผมล่ะ แม่ก็กลัวลูกจะไปตกระกำลำบาก กลัวใครจะว่าปล่อยลูกไปคนเดียวได้ยังไง ผมเองก็ต้องพยายามอย่างหนักเวลาไปไหนให้กลับบ้านอย่างปลอดภัยเพื่อให้แม่วางใจและสบายใจ แรกๆ เขาก็มีเดินตกท่อบ้าง ชนฝาท่อบ้าง เดินชนใต้สะพานลอยบ้าง เดินชนถังขยะล้ม แต่ไม่ไปเล่าให้ที่บ้านฟัง กลัวเขาไม่สบายใจกัน ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติของคนตาบอดทั่วไป”
 
เขาฝากบอกว่าหากมีญาติพิการตาบอด ต้องฝึกให้เขาช่วยตัวเองให้ได้มากที่สุด และใช้ชีวิตให้ได้เหมือนคนปกติที่สุด และปฏิบัติต่อเขาเหล่านั้นเช่นคนปกติ อย่าปกป้องจนเกินไป ขณะที่คนตาบอดเองก็ต้องมีสติในการใช้ชีวิตมากยิ่งขึ้น ตาไม่เห็นหูต้องไว จมูกต้องดี เพื่อใช้แทนตา ฟังเสียง ดมกลิ่น ใช้สิ่งเหล่านี้ช่วยแทนสายตา เพราะหากไม่มีสติจะเกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย เช่น กลิ่นแบบนี้ใกล้ย่านนี้ เสียงแบบนี้ใกล้ย่านนั้น ช่วยแยกแยะรายละเอียด เสียงแบบนี้รถแอร์ เสียงแบบนี้รถร้อน เพื่อเป็นตัวช่วยในการดำเนินชีวิต
 
ตอนนี้เขาอยู่มา 26 ปีแล้วในโลกมืดจนชิน ใช้ชีวิตได้ปกติสุขมากยิ่งขึ้น แรกๆ ก็ยาก แต่ไม่ยอมแพ้ ใช้หู ใช้จมูกแทนตา เมื่อเจอปัญหาก็จะเตือนตัวเองว่าเราคือต้นไม้ใหญ่ที่จะต้องโดนแดดโดนฝนเป็นธรรมดา ค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้น ตอนเรียนจบปริญญาตรีก็มีคนชวนไปทำงานเป็นโอเปอเรเตอร์เงินเดือน 5,000-6,000 บาท เขาก็ถามตัวเองว่าชีวิตมีทางเลือกแค่นี้หรือ เขาจึงไม่ไปทำ แต่มาช่วยงานที่สมาคมคนตาบอดฯแทน แล้วก็มีคอนเนกชั่นต่อยอดงานกันไปเรื่อยๆ จนมาถึงจุดนี้
 

ต่อพงศ์ เสลานนท์ ชีวิตต้องไปต่อ ยากแค่ไหนก็ไม่ยอมจำนน

 
ตอนไปช่วยสมาคมใหม่ๆ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาก็ตั้งชมรมเยาวชนตาบอดไทย เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในกลุ่มเยาวชน มีสมาชิกแรกๆ 40 กว่าคน และปีแรกเขาได้เป็นประธานรุ่น เขาเป็นนักกิจกรรมมาตั้งแต่เด็ก ความรู้ก็สำคัญ กิจกรรม เพื่อนฝูง ก็สำคัญเช่นกัน
 
จากบทเรียนชีวิตที่เขาพบเจอมา ให้ข้อคิดกับเขาว่าอย่ายอมแพ้ต่อโชคชะตา มีอะไรก็สู้ ไม่หนี ต้องเผชิญหน้า ยอมรับและเดินต่อไป ไม่ยอมจำนนกับอะไรง่ายๆ “เราต้องเดินต่อไป กำหนดชีวิตของตัวเองให้ได้ แม้จะตาบอดแต่เราก็ต้องเอาอิสรภาพของชีวิตเราคืนมาให้ได้ ผมไม่อยากสูญเสียอิสรภาพเพียงเพราะผมตาบอด และตั้งแต่ตาบอดมาแม้จะเสียใจเพียงใดก็ไม่เคยคิดสั้นเลย พยายามช่วยเหลือตัวเองให้ได้เพื่อจะได้ใช้ชีวิตต่อให้ได้อย่างปกติสุข ไม่อยากให้คนมองอย่างสงสารเกินไป”
 
ดังนั้น เขาจึงคิดทำโครงการจากถนนสู่ดวงดาว จากสตรีททูสตาร์  คือโครงการปั้นคนตาบอดที่มีศักยภาพในการร้องเพลงมาเล่นดนตรีให้ดี ให้เป็นที่เป็นทาง ไม่ใช่แค่ไปเล่นดนตรีขอเงินแต่เพียงอย่างเดียว ฝึกทักษะให้เขาร้องเล่นอย่างมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น จนไปร้องออกงานออกการได้ หาสถานที่ในการเล่นให้ดีให้เหมาะสมมากขึ้น ไม่อยากให้คนตาบอดแล้วต้องมีอาชีพเร่ขอทาน เร่เล่นดนตรีริมถนนอย่างเดียว อยากหาทางเลือกอื่นๆ เพิ่มให้เขามากขึ้น ตอนนี้เขาเป็นนายกสมาคมคนตาบอดฯมา 6 ปี เหลือเวลาอีก 2 ปี ก็พยายามให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นให้มากที่สุด ไม่อยากให้คนตาบอดเป็นภาระของครอบครัว ให้เขามีอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ตอนนี้มีคนตาบอดในประเทศไทยที่มาลงทะเบียนทั่วประเทศ 2 แสนคน และมีเพิ่มขึ้นทุกปีจากอุบัติเหตุและผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยต่างๆ เขาอยากช่วยเหลือและสร้างงานต่างๆ ให้มากเท่าที่จะทำได้