posttoday

พลัง ของความเครียด!

13 สิงหาคม 2561

ขึ้นชื่อว่าความเครียดหรือความวิตกกังวล หลายคนแค่ได้ยินก็อาจจะเบ้หน้าแล้ว

โดย บีเซลบับ ภาพ เอพี 

ขึ้นชื่อว่าความเครียดหรือความวิตกกังวล หลายคนแค่ได้ยินก็อาจจะเบ้หน้าแล้ว แต่อย่าเพิ่งมองข้ามหรือหลีกเลี่ยงไปเสียทีเดียว เพราะรู้ไหมว่าความเครียดอีกความวิตกกังวล ในบางครั้งก็สร้างพลังได้ ในที่นี้จะกล่าวถึงความเครียดและความวิตกกังวลในระดับที่มีประสิทธิผลต่อการทำงาน รับรองว่าเมื่ออ่านจบแล้วจะไม่ยอม “พลาด” ความเครียดกันล่ะทีนี้!  

มีงานวิจัยที่ระบุว่า ความเครียดและความวิตกกังวลในระดับที่เหมาะสม มีความสามารถส่งต่อพลังในการทำงาน และส่งผลดีต่อชีวิต จะเป็นอย่างนั้นจริงหรือ คงต้องเจาะลึกให้ถึงแก่นของความเครียด อันว่าธรรมชาติของความเครียดนั้น จะพุ่งสูงในยามที่เราต้องรับมือกับอันตราย ความวิตกกังวลจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเอาตัวรอดของมนุษย์

ความเครียดในที่ทำงาน

1.ในระยะเริ่มต้น เมื่อความกระวนกระวายหรือความวิตกกังวลเพิ่มขึ้น สมรรถภาพในการทำงานของร่างกายก็จะสูงขึ้นด้วย แต่เมื่อถึงระดับหนึ่ง ความกระวนกระวายจะพอกพูนจนเกินพิกัด และเริ่มทำให้ประสิทธิภาพการทำงานชะงักงัน เป้าหมายของคนทำงานทุกคน จึงอยู่ที่การค้นหาระดับของความกระวนกระวายที่จะสร้างประสิทธิผลโดยตรงของคุณ

2.เมื่อความวิตกกังวลเปลี่ยนความหวาดกลัวในใจเป็นการคาดการณ์อันแม่นยำ พลังของความวิตกกังวลนั้น จะช่วยให้คุณปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็วและสร้างสรรค์ รวมทั้งในหลายตัวอย่างของงานวิจัยยังพบว่า หลายคนได้ค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือกับปัญหาหรือความท้าทายที่เผชิญอยู่ด้วย

3.ความวิตกกังวล “บางอย่าง” ที่มีระดับรุนแรง สำหรับบางคนจะช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นและหลั่งอะดรีนาลินที่จำเป็นต่อการรวบรวมสมาธิ เกิดเป็นความมุ่งมั่นในการทำงานปฏิบัติงานในระดับที่สูงขึ้นไป หลายคนทำงานเสร็จทันเส้นตายในช่วงวิกฤต รับมือกับสถานการณ์ร้ายแรงได้อย่างดีมาก บางคนนำเสนองานด้วยความตื่นเต้นเร้าใจและสร้างความประทับใจสูงสุด

4.ความวิตกกังวลและความเครียดอย่างเหมาะสม ได้มาด้วยการสังเกตและประเมินตนเองว่า มีปริมาณความเครียดในระดับที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ กลุ่มคนวิตกจริตจะหวาดกลัวมากกว่าที่ควรจะเป็น ใช้เวลากับความกังวลและความคิดที่ไม่สร้างสรรค์นานเกินไป ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง ปฏิบัติงานได้ผลล่าช้า

5.ประเมินตนเองอย่างตรงไปตรงมา ข้อวินิจฉัยเรื่องความเครียดและระดับที่เหมาะสม อาจประเมินจากการรับมือกับปัญหา โดยสังเกตจากการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ปัญหาดังกล่าว เราอาจประเมินด้วยตัวเองหรือให้ทีมงาน หรือแม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาร่วมประเมินก็ได้

6.ปัจจัยหลักที่กระตุ้นความเครียดในที่ทำงาน อันดับแรกคือการเปลี่ยนสถานที่ทำงาน ในหลายคนมันกลายเป็นบ่อเกิดของวงจรความเครียดในแง่ลบ อันดับสองคือสภาพแวดล้อมในการทำงาน อันดับสามคือการตอบสนองของแต่ละบุคคล ขอให้สังเกตปฏิกิริยาต่อสภาพการณ์ที่สร้างความเครียด

งานวิจัยระบุถึงความเครียดในแง่ลบ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงความวิตกกังวลที่เป็นพิษ (ต่อการทำงานโดยรวม) เช่น สภาวะสูญสิ้นเรี่ยวแรงในการทำงาน ความขัดแย้งกับเพื่อนร่วมงาน การยอมรับนับถือตนเองในระดับต่ำ ความหวาดกลัวต่อความล้มเหลว การขาดสัมพันธ์กับทีมหรือหมู่คณะ การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่สามารถยอมรับนับถือผู้อื่นได้

7.อย่าลืมเช็กลิสต์สุขภาพของตัวเองในภาวะเครียดด้วย โดยความเครียดและความกดดันนั้น ยังส่งผลต่อปัญหาสุขภาพ หลายคนมีอาการหลงลืม จิตใจว้าวุ่น (ในรายงานยังหมายเหตุไว้ด้วยคำว่า “ว่างเปล่าไร้สีสัน”) การกัดฟันกัดเล็บหรือพฤติกรรมร้อนรนอื่นๆ ในบางคนมีอาการฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย เหงื่อออกตามร่างกาย ปวดศีรษะ ความดันโลหิตสูง หวาดกลัว ซึมเศร้า ใจสั่นและกระสับกระส่าย เป็นต้น

8.ระดับของความเครียดมีตั้งแต่การตอบสนองต่อสถานการณ์คับขันอย่างถูกต้อง ไปจนถึงความวิตกกังวลกับทุกเรื่องในชีวิตแบบเกินขนาด ลองพิจารณาตัวเองว่า ระดับความเครียดในที่ทำงานได้ช่วยกระตุ้นให้คุณเกิดความกระตือรือร้นและความตื่นเต้นที่ดีหรือไม่ หรือกระตุ้นให้คุณเกิดความเครียดที่บั่นทอนสมรรถภาพการทำงาน (กันแน่)

จากนั้นจึงสร้างดุลยภาพในการปฏิบัติงาน(อันเคร่งเครียด) ที่เหมาะสม ถ้าทำไม่ได้หรือยอมรับกับความรุนแรงของปัญหาไม่ได้ ทางแก้มีตั้งแต่การพูดคุย การปรับทัศนคติ หรือการแสวงหาความช่วยเหลือจากมืออาชีพ