posttoday

กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ ชีวิตสุขใจที่‘น่านตะวันฟาร์ม’

12 สิงหาคม 2561

น้ำใจ-กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ สาวเก่งวัย 25 ปี คือคนรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจสีเขียวอย่าง “น่านตะวันฟาร์ม”

โดย ภาดนุ 
 
น้ำใจ-กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ สาวเก่งวัย 25 ปี คือคนรุ่นใหม่ที่สร้างธุรกิจสีเขียวอย่าง “น่านตะวันฟาร์ม” ขึ้นมา จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้และสถานที่ท่องเที่ยวที่หลายคนต้องแวะเวียนไป
 
“จุดเริ่มต้นของน่านตะวันฟาร์ม มาจากการที่หนูเรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาชีววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และช่วงที่เรียนใกล้จบนั้นหนูก็มีโอกาสได้กลับมาฝึกงานที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นบ้านเกิด เพื่อทำโปรเจกต์ขอจบ เพราะจุฬาฯ มีสาขาอยู่ที่น่านด้วย
 
การที่เราเรียนสายวิทยาศาสตร์ ทำให้มีโอกาสลงพื้นที่ไปดูสิ่งต่างๆ ก็เลยได้ไปทำงานร่วมกับชาวบ้านในชุมชน โดยไปทำงานวิจัยเกี่ยวกับป่าชุมชนเป็นหลัก ตอนที่ทำวิจัยอยู่นั้น หนูก็ได้พูดคุยกับชาวบ้าน แล้วก็ได้ทราบว่า ลูกๆ ของพวกเขา ไม่มีใครกลับมาช่วยปลูกข้าวโพดหรือทำเกษตรบ้างเลย ซึ่งปีนั้นกระแสการปลูกข้าวโพดมาแรงมาก (ปี 2558) แต่เด็กหลายคนพอเรียนจบแล้วก็มักจะไปทำอาชีพอื่นกันหมด กว่าจะกลับมาช่วยพ่อแม่ได้ เวลาก็ผ่านไปเนิ่นนานแล้ว”
 
น้ำใจ บอกว่า เมื่อคิดได้แบบนั้นเธอจึงนึกย้อนถึงตัวเอง ว่าควรกลับมาประกอบสัมมาอาชีพอยู่ที่ จ.น่าน ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี
 

กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ ชีวิตสุขใจที่‘น่านตะวันฟาร์ม’

 
“หนูก็คุยกับแม่ว่า อยากจะทำฟาร์มปลูกผักขึ้นมาสักหนึ่งแห่งบนที่ดินของเรา ซึ่งเผอิญว่าคุณแม่ก็คิดอยากทำอยู่เหมือนกัน หนูก็เลยไปเสิร์ชหาข้อมูลการปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งการปลูกผักที่ใช้ระบบสมาร์ทฟาร์ม ซึ่งน่าจะเปลี่ยนมุมมองของคนในพื้นที่ได้ หนูจึงเริ่มใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงสักนิดนึง แต่คิดว่ายังไงซะตัวเองก็น่าจะสามารถทำได้
 
อีกอย่างหนูมีนิสัยที่ชอบสอนหรือให้ความรู้กับคนอื่นด้วย ดังนั้นหากเปิดสมาร์ทฟาร์มขึ้นมา ก็จะมีเด็กนักเรียนเข้ามาขอเยี่ยมชมฟาร์ม ซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่หนูจะได้สอนหรือให้ความรู้กับเด็กนักเรียน รวมทั้งคนทั่วไปที่สนใจด้วย”
 
น้ำใจ อธิบายว่า สมาร์ทฟาร์มที่เธอทำ จะเป็นพื้นที่โรงเรือนซึ่งเตรียมไว้สำหรับปลูกผักโดยเฉพาะ โดยจะมี Timer หรือเครื่องตั้งเวลาที่เซตอัพระบบไว้ให้ปล่อยน้ำรดผักที่ปลูกไว้อีกที โดยจะเป็นระบบแบบน้ำหยดที่ตั้งเวลาไว้ให้รดน้ำผัก 5 ครั้ง/วัน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่มีน้ำอยู่ตามราง พอถึงเวลาที่ตั้งไว้ก็จะมีการพ่นละอองน้ำนานหลายนาทีเพื่อให้ผักได้รับความชุ่มชื้น โดยใต้ดินจะมีท่อฝังอยู่ สามารถวัดอุณหภูมิ หรือวัดค่าน้ำได้ จึงถือว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูงทีเดียว
 
“การที่เราอยากทำให้ฟาร์มเป็นศูนย์เรียนรู้ เราก็ต้องหาวิธีให้ฟาร์มมีรายได้จากทางอื่นเข้ามาด้วย ไม่งั้นหนูก็ต้องขอเงินแม่มาลงทุนอยู่ตลอด ฉะนั้นก่อนปลูกผักหนูต้องสำรวจตลาดก่อนว่า ผักชนิดใดกำลังเป็นที่ต้องการของตลาด จากนั้นก็ต้องไปหาตลาดสำหรับนำผักไปขายหรือนำไปส่งขายต่อ แต่ปัญหาก็คือบางครั้งผลผลิตที่ได้อาจจะไม่ต่อเนื่อง
 

กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ ชีวิตสุขใจที่‘น่านตะวันฟาร์ม’

 
หนูจึงแก้ปัญหาด้วยการเปิดร้านอาหาร ‘น่านตะวันฟาร์ม’ ขึ้นมาควบคู่กันด้วย เพื่อที่จะนำผักต่างๆ ที่เราปลูกมาใช้เป็นวัตถุดิบในร้านได้ เพราะผักที่หนูปลูกนั้นจะปลูกไม่เยอะมากนัก ปลูกแค่ 18 โต๊ะปลูก โต๊ะหนึ่งจะมีประมาณ 200 ต้นเท่านั้น จึงสามารถใช้กับร้านอาหารได้พอดี ไม่ค่อยเหลือไปขายข้างนอกเท่าไร แต่คนที่มาดูงานที่ฟาร์มก็สามารถซื้อกลับบ้านได้ค่ะ
 
นอกจากผักไฮโดรโปนิกส์แล้ว ผักที่หนูปลูกยังมีส่วนที่เป็นผักออร์แกนิกซึ่งเป็นพืชผักสวนครัว เช่น พริก ตะไคร้ ถั่วพู อัญชัน และอื่นๆ ดังนั้นจุดเด่นของร้านอาหารเราก็คือ ผักส่วนใหญ่จะเป็นผักสดๆ ที่เราเก็บเองกับมือ มันจึงถือเป็นการตลาดที่ดีด้วยตัวมันเอง เพราะลูกค้าที่มารับประทานอาหารจะรู้ว่าผักที่เราปลูกนั้นกินแล้วปลอดภัย จึงเป็นการโฆษณาอย่างหนึ่งที่ควบคู่ไปกับการทำร้านอาหาร เมนูที่ร้าน เช่น สลัดน่านตะวัน ยำคะน้ากุ้งสด สลัดกุ้งย่างอโวคาโด ซี่โครงหมูบาร์บีคิว และอื่นๆ”
 
น้ำใจ เสริมว่า ปัจจุบันเธอเริ่มทำฟาร์มมาได้ 2 ปี และเริ่มเปิดร้านอาหารมาได้ปีกว่าๆ เรียกว่าช่วงแรกที่เริ่มต้นทำก็ใช้เงินลงทุนเยอะพอสมควร เพราะเธอตั้งใจทำให้ฟาร์มสวยงามและสามารถถ่ายรูปได้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว อุปกรณ์ที่ใช้จึงมีราคาสูงตามไปด้วย
 
“ที่หนูไม่ใช้ท่อพีวีซีในการปลูกผักหรือใช้ในระบบการปล่อยน้ำ เพราะได้ศึกษาแล้วว่าท่อพีวีซีนั้นมีข้อเสียคืออาจจะมีสารพิษตกค้าง หนูจึงเลือกใช้วัสดุปลูกผักไฮโดรโปนิกส์จากบริษัทที่ผลิตวัสดุเพื่อการปลูกผักแบบนี้โดยเฉพาะ จึงมั่นใจได้ว่าไม่มีสารพิษตกค้างแน่นอน ในส่วนของไฮโดรโปนิกส์แม้จะลงทุนเป็นหลักแสนบาท แต่ก็จะสามารถไปลดต้นทุนของวัตถุดิบที่ใช้ในร้านอาหารได้ เพราะใช้ผักที่ปลูกเองนี่แหละ ทำให้การคืนทุนทำได้รวดเร็วกว่า เพราะผักไฮโดรโปนิกส์และผักออร์แกนิกที่เราปลูกนั้นมีมูลค่าสูงกว่าผักที่ปลูกด้วยวิธีทั่วไป
 

กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ ชีวิตสุขใจที่‘น่านตะวันฟาร์ม’

 
อีกส่วนหนึ่งที่หนูตั้งใจก็คือ การเปิดเป็นสถานที่ให้น้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ มาดูงานที่ฟาร์ม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วทางโรงเรียนจะติดต่อมาเอง โดยมีทั้งเด็กจากโรงเรียนใน จ.น่าน และเด็กจากโรงเรียนในจังหวัดใกล้เคียงด้วย ที่ผ่านมาหนูก็เคยได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรสอนเรื่องการทำฟาร์มผักแนวคิดใหม่ให้กับเด็กนักเรียน 1,200 คนมาแล้ว ในฐานะที่หนูเป็นคนรุ่นใหม่ซึ่งริเริ่มธุรกิจสตาร์ทอัพและสามารถทำให้ธุรกิจเล็กๆ นี้ประสบความสำเร็จได้”
 
น้ำใจ เสริมว่า สำหรับการได้รับเชิญไปเป็นวิทยากรงานที่ใหญ่ที่สุดของเธอก็คือ การบรรยายให้นักศึกษาจาก 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏในเขตภาคเหนือได้ฟัง ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดบรรยายที่ จ.น่าน จึงทำให้ง่ายต่อการมาเยี่ยมชมฟาร์มของเธอด้วย
 
“การที่มีนักเรียน นักศึกษา หรือองค์กรใดๆ มาดูงานที่ฟาร์ม ไม่ใช่สิ่งที่ทำเงินให้หนูโดยตรง เพราะเราเปิดให้ชมฟรีเพื่อเป็นการให้ความรู้ซะมากกว่า แต่สิ่งที่ทำเงินให้หนูได้ก็คือร้านอาหารน่านตะวันฟาร์ม ซึ่งกลุ่มคนที่มาดูงานส่วนใหญ่มักจะพักกินมื้อเที่ยงที่นี่ เราจึงได้เงินจากการขายอาหารซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการเปิดฟาร์มไปโดยปริยาย บางคนก็อาจจะแวะมาซื้อผักที่ฟาร์มเราด้วย ตรงนี้แหละที่สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจให้เราสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาเงินจากคุณแม่มากนัก
 
ตั้งแต่เรียนจบมาหนูยังไม่เคยได้ทำงานประจำเลย ก็มาเริ่มต้นทำธุรกิจสมาร์ทฟาร์มซะก่อน อีกส่วนหนึ่งก็คือหนูอยากจะช่วยครอบครัวดูแลธุรกิจโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของครอบครัวเราด้วย ถ้าอธิบายให้เห็นภาพก็คือ น่านตะวันฟาร์มของเราตั้งอยู่บนพื้นที่ 5 ไร่ โดยจะแบ่งเป็นส่วนของฟาร์ม ร้านกาแฟ ร้านอาหาร และมีบ้านในฟาร์มอีก 1 หลังซึ่งเปิดไว้เป็นที่พักแค่หลังเดียว เพื่อให้คนที่มาพักตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองเป็นเจ้าของฟาร์มจริงๆ เลย สำหรับคนที่สนใจจะมาพักก็อาจจะต้องจองล่วงหน้าสักหน่อย ถ้ามาเป็นกรุ๊ปก็จะยิ่งสนุกกว่าเพราะบ้านนี้สามารถรองรับคนได้เยอะ ทั้งชมฟาร์ม กินข้าว หรือร้องคาราโอเกะ ที่นี่ก็ทำได้ ที่สำคัญบรรยากาศดีมาก เพราะด้านหน้าฟาร์มจะเป็นหนองน้ำ ยิ่งในฤดูหนาวนี่จะเห็นเป็นทะเลหมอกสวยงามเลยล่ะ
 

กัลย์ชฎารัตน์ ปัญญาวงค์ ชีวิตสุขใจที่‘น่านตะวันฟาร์ม’

 
การใช้ชีวิตอยู่ที่น่านและได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก และได้ช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว ทำให้หนูไม่อยากไปทำงานในกรุงเทพฯ เลยล่ะ หนูคิดว่าตัวเองทำสำเร็จตามข้อแรกที่ตั้งใจไว้ นั่นก็คือการเปิดฟาร์มให้เป็นสถานที่ศึกษาดูงานของน้องๆ นักเรียน นักศึกษา เพราะแต่ละช่วงจะมีเด็กๆ เข้ามาดูงานที่ฟาร์มตลอด มาทีก็ 60-70 คนก็มีค่ะ บางกลุ่มแม้จะนั่งรถข้ามภูเขามาจากต่างอำเภอ พวกเขาก็มากัน แม้แต่องค์การบริหารส่วนตำบลก็จะมากันอยู่เสมอ”
 
น้ำใจ ทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เธอรู้สึกมีความสุขและพอใจกับสิ่งที่ทำ แม้ตัวเองจะไม่มีโอกาสหรือมีประสบการณ์ในการทำงานที่กรุงเทพฯ เลยก็ตาม แต่อย่างน้อยเธอก็รู้สึกภาคภูมิใจกับการกลับมาทำฟาร์มของเธอ ซึ่งสามารถกลายเป็นแรงบันดาลใจหรือต่อยอดไอเดียให้กับเด็กๆ รุ่นต่อไปในการเริ่มทำธุรกิจเล็กๆ ด้วยตัวเองได้
 
“นอกจากทำงานของตัวเองแล้ว ตอนนี้หนูยังเข้ามาช่วย ‘สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน’ ส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เมืองน่านด้วย ส่วนใหญ่จะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้คนมาเที่ยวหรือมาทำกิจกรรม เช่น ปลูกข้าว และอื่นๆ ด้วย เนื่องจากหนูค่อนข้างถนัดทางด้านโซเชียลมีเดีย ผู้ใหญ่ในสมาคมก็เลยให้หนูช่วยโปรโมทการท่องเที่ยวน่านตามที่หนูสามารถทำได้ เพื่อให้น่านเป็นที่รู้จักของคนในจังหวัดอื่นๆ นักท่องเที่ยวจะได้มาท่องเที่ยวกันเยอะๆ แล้วตอนนี้หนูยังเป็นรองประธานชมรมร้านอาหารจังหวัดน่านอีกด้วย พูดง่ายๆ ว่าสิ่งใดที่หนูสามารถช่วยให้น่านเป็นที่รู้จักของคนในวงกว้างได้ หนูก็จะช่วยอย่างเต็มที่เลยค่ะ”…อัพเดทได้ที่ Fanpage FB : น่านตะวันฟาร์ม NanTawan Farm