posttoday

โรคหลงตัวเอง ในโซเชียลมีเดีย (จบ)

11 สิงหาคม 2561

โรคหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder (NPD) ที่ไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองสวยหล่อ ดูดี มีคนรักคนหลง

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected] ภาพ : กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย
 
โรคหลงตัวเอง หรือ Narcissistic Personality Disorder (NPD) ที่ไม่ใช่แค่คิดว่าตัวเองสวยหล่อ ดูดี มีคนรักคนหลง แต่เป็นอาการผิดปกติที่อาจจะเกิดจากสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่ทำให้เข้าใจว่าตัวเองนั้นถูกทุกอย่างหรือเก่งทุกทาง
 
ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะแฝงตัวอยู่ในสังคม เพราะมักจะมีลักษณะที่ชอบเข้าสังคมเป็นอย่างมาก ออกจะเป็นคนเจ้าชู้ ยิ้มหวาน ช่างพูด ช่างนินทา และชอบที่จะพูดถึงแต่เรื่องของตัวเอง ไม่ยอมให้คนอื่นเด่นกว่า ซึ่งจะมีผลเสียทางสังคมที่เป็นที่น่ารำคาญของเพื่อนฝูง และอาจจะถึงขั้นเป็นที่รังเกียจไปโดยไม่รู้ตัวเลยก็ได้
 
ปัจจุบันได้แพร่หลายและแสดงตัวตนผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งผู้เป็นโรคหลงตัวเองได้แสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์นี้อย่างรุนแรง
 
โรคหลงตัวเองนับเป็นปัญหาสุขภาพจิตที่พบได้ไม่บ่อยนัก ส่วนใหญ่แล้วเด็กเล็กและวัยรุ่นอาจแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับโรคนี้ แต่ไม่ได้พัฒนากลายเป็นโรคหลงตัวเองเสมอไป เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการแสดงออกตามวัย ทั้งนี้ ผู้ชายมักป่วยเป็นโรคหลงตัวเองมากกว่าผู้หญิง และจะเริ่มเป็นเมื่อเข้าช่วงวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ตอนต้น
 
ผู้ที่ป่วยจึงไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคหลงตัวเอง จึงทำให้ยากต่อการรักษา และโรคนี้ก็ไม่มีทางรักษาให้หายขาด ดังนั้นถ้าพอที่จะรู้สึกว่ามีอาการที่กล่าวมาข้างต้นแล้วก็ให้รีบไปพบจิตแพทย์ทันทีก่อนที่จะลุกลามไปเป็นโรคซึมเศร้า และอาจจะฆ่าตัวตายได้ในที่สุด ซึ่งโรคนี้พบเพียงแค่ 1% ของประชากรโดยรวม และ 16% ของผู้ป่วยโรคจิตเภท
 
เว็บไซต์ honestdocs.co ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ นำเสนอถึงสัญญาณของโรคหลงตัวเองในโซเชียลมีเดีย มีอาการหลักๆ ดังนี้ คิดว่าตัวเองเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลก โดยมักจะคิดเสมอว่าไม่มีใครเก่งเกินตัวเอง ไม่สามารถที่จะยอมรับในความสามารถของคนอื่นได้เลย เพราะคิดแต่ว่าตัวเองเก่งที่สุดแล้ว มักจะคิดอะไรเข้าข้างตัวเองอยู่ตลอดเวลา
 
เมื่อมีคนแสดงอาการหรือไม่เข้าใจในสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นก็มักจะคิดว่าคนรอบข้างอิจฉา หรือไม่ก็ด้อยกว่าตัวเอง เวลามีใครมองก็จะทึกทักเอาเองว่าตัวเองเด่นจนคนต้องมองเหลียวหลัง ทำอะไรแบบไร้จิตสำนึก ไม่เคยกลัวใคร และไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วได้ คิดว่าตัวเองสมบูรณ์แบบ ใครทำอะไรให้ก็ไม่ถูกใจ
 
 เช่นกันในเว็บไซต์ความรู้และข้อมูลทางด้านการแพทย์และสุขภาพ pobpad.com ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคหลงตัวเองจะปรากฏสัญญาณหรือพฤติกรรมของโรค 5 ลักษณะ หรือมากกว่านั้น ดังนี้ มักยึดตัวเองเป็นคนสำคัญมากเกินไป เช่น หวังว่าผู้อื่นจะเห็นว่าตัวเองพิเศษหรือเหนือกว่าในด้านต่างๆ มักหมกมุ่นกับการคิดถึงความสำเร็จ อำนาจ ความร่ำรวย ความงาม หรือความรักในอุดมคติของตัวเอง เชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และบุคคลที่มีความพิเศษหรือสถานะทางสังคมที่สูงเทียบเท่ากันเท่านั้นถึงจะเข้าใจตน
 
 ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น คิดว่าสมควรได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ อย่างไม่มีเหตุผล แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ขาดความเห็นใจและนึกถึงผู้อื่น มักริษยาผู้อื่น หรือเชื่อว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง

โรคหลงตัวเอง ในโซเชียลมีเดีย (จบ)

 
โรคหลงตัวเอง เป็นหนึ่งในความผิดปกติของบุคลิกภาพ (Personality Disorders) มีลักษณะชอบจองหอง โอ้อวด หรือเสแสร้ง ชอบที่จะได้รับสิ่งดีที่สุด และหากไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดีที่พิเศษก็จะโกรธ โมโห ในขณะเดียวกันจะรับไม่ค่อยได้กับคำวิจารณ์ และอาจมีความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัย ละอาย (Humiliation) และอ่อนแอ (Vulnerability)
 
ดังนั้น เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีจึงพยายามเหยียดผู้อื่นเพื่อให้ตัวเองดูดี หรืออาจจะรู้สึกหงุดหงิดซึมเศร้าเพราะไม่ได้เลอเลิศสมบูรณ์แบบ (Short of perfection) นอกจากนี้ยังไม่ยอมรับว่าตัวเองมีปัญหา ดังนั้นจึงไม่ค่อยยอมรับการรักษา
 
เว็บไซต์ haamor.com ได้ให้ข้อมูลของการป้องกันโรคหลงตัวเองว่ายังไม่ปรากฏแน่ชัด เนื่องจากไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคนี้ได้อย่างชัดเจน
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหรือผู้ที่มีบุคคลรอบข้างป่วยเป็นโรคหลงตัวเองสามารถบำบัดให้หายได้ โดยพาผู้ป่วยไปพบแพทย์และรับการบำบัดในกรณีที่ผู้ป่วยอายุยังน้อย ส่วนพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลผู้ป่วยควรเข้ารับการบำบัดเพื่อเรียนรู้วิธีสื่อสารและรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วย รวมทั้งรับคำปรึกษาจากนักบำบัด
เพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็น
 
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่คิดว่าไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา อาจลองเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมที่มีต่อการรักษา โดยปฏิบัติดังนี้
 
 เปิดใจและมุ่งมั่นไปที่รางวัลอันเป็นเป้าหมายของการรักษา
 
 ควรเข้ารับการบำบัดตามกำหนดและรับประทานยาตามแพทย์สั่งจ่ายอย่างเคร่งครัด
 
 หาข้อมูลเกี่ยวกับโรคหลงตัวเอง เพื่อจะได้เข้าใจอาการ ปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษาโรคดังกล่าวมากขึ้น
 
 ควรเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพจิตและพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพซึ่งเกิดขึ้นร่วมด้วย เช่น การใช้สารเสพติด โรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวล และความเครียด เนื่องจากอาจนำไปสู่สภาวะอารมณ์และสุขภาพที่ไม่ดีได้
 
 พยายามผ่อนคลายเพื่อรับมือกับความเครียด เช่น นั่งสมาธิ หรือเล่นโยคะ เป็นต้น
 
 ควรตั้งเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตหลังเข้ารับการรักษา เนื่องจากช่วงพักฟื้นต้องใช้เวลานานจนกว่าจะหายเป็นปกติ การตั้งเป้าหมายจะช่วยให้ผู้ป่วยมีแรงกระตุ้น เพื่อตั้งใจทำตามเป้าหมายดังกล่าว