posttoday

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ เส้นทางสตาร์ทอัพไทยสู่‘ยูนิคอร์น’

11 สิงหาคม 2561

แม้สตาร์ทอัพในไทยที่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2555 ผ่านพ้นไป 6 ปีแล้ว สตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยต้องล้มหายตายจากไป เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้

โดย รัชนีย์ ศรีวัฒนชัย
 
แม้สตาร์ทอัพในไทยที่เริ่มเกิดขึ้นเมื่อราวปี 2555 ผ่านพ้นไป 6 ปีแล้ว สตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยต้องล้มหายตายจากไป เนื่องจากเป็นช่วงเวลาของการเรียนรู้
 
แต่จากมุมมองของ อรนุช เลิศสุวรรณกิจประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย เชื่อว่า แนวโน้มใน 3-5 ปีจากนี้ แวดวงสตาร์ทอัพไทยยังเติบโตต่อเนื่อง
 
อรนุช กล่าวว่า สตาร์ทอัพประเทศไทยเริ่มตื่นตัวและมีสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่ทำโมบายแอพพลิเคชั่นแล้วเข้าไปแก้ปัญหาได้ ซึ่งในช่วง 2-3 ปี มีสตาร์ทอัพดังกล่าวเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมอหรือในธุรกิจต่างๆ จึงมองว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทย
 
เมื่อถามว่าสตาร์ทอัพในไทยอยู่ในระดับไหน เพราะตลาดไทยยังเล็กนักลงทุนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก เมื่อเทียบกับตลาดสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ซึ่งมีสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์น หรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าบริษัทมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อรนุช ขยายภาพกว้างให้เห็นว่า
 
“สตาร์ทอัพไทยก็สามารถเป็นยูนิคอร์นได้ มองว่ากุญแจของความสำเร็จของการเป็นสตาร์ทอัพได้อย่างยั่งยืนคือ การดำเนินธุรกิจที่นำเทคโนโลยีไปแก้ปัญหาของการดำเนินชีวิตในสังคม ทั้งนี้หลายรายที่เป็นสตาร์ทอัพดาวรุ่ง ยกตัวอย่าง เช่น บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป เป็นสตาร์ทอัพไทยที่ดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2552 เริ่มเปิดให้บริการ BUILK.COM ซอฟต์แวร์สำหรับบริหารธุรกิจก่อสร้างฟรีรายแรกในเอเชีย ภายใต้แนวคิดที่ต้องการพลิกโฉมวงการก่อสร้างให้ก้าวสู่โลกดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ
 
ปัจจุบันมีธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเอสเอ็มอีที่บริหารงานอยู่บนระบบของ BUILK.COM กว่า 2.5 หมื่นบริษัท 5 ประเทศในอาเซียน อาทิ ไทย อินโดนีเซีย ลาว”
 
อรนุช กล่าวอีกว่า สตาร์ทอัพที่มีโอกาสจะก้าวเป็นยูนิคอร์นและมองว่ามีโมเดลทางธุรกิจที่ดี อย่างบริษัท เอ-คอมเมิร์ซ เป็นผู้ประกอบการที่ทำโซลูชั่นที่ตอบโจทย์อี-คอมเมิร์ซในอาเซียน ขณะนี้มีบริการในไทยและกำลังขยายไปสู่ตลาดอินโดนีเซียมองว่าเป็นธุรกิจมีแวลูเอชั่น การสร้างอีโคซิสเต็มให้กับ
ผู้ประกอบการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ
 
“คีย์หลักของการเป็นสตาร์ทอัพ คือ 1.ต้องเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา แม้ว่าจะมีคนเก่งแค่ไหนแต่ถ้าไม่เข้าใจ 2.ทีมงานเคมีเข้ากันไหม แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญอย่างไร 3.การจัดการบริหารการเงินต้องรู้จักการใช้งานอย่างชาญฉลาด สำหรับปัจจัยที่ทำให้
ก้าวช้ากว่าอินโดนีเซีย เพราะไทยตลาดเล็กกว่า นักลงทุนวิ่งไปที่อินโดนีเซียหมด”

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ เส้นทางสตาร์ทอัพไทยสู่‘ยูนิคอร์น’

 
นอกจากนี้ อรนุช ชี้ว่าสตาร์ทอัพไทยต้องเรียนรู้การนำ เอไอ แมชีนเลิร์นนิ่งมาใช้มากขึ้น เพราะเป็นเครื่องมือที่สำคัญเข้าไปแก้ปัญหาสังคม
 
“เครื่องมือพวกนี้ใช้เอไอเพื่อวิเคราะห์และต่อยอด ดังนั้น คนไทยจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะเพื่อต่อยอดไปสู่การเทกสตาร์ทอัพหรือไปสู่ดิจิทัลอีโคโนมี ขณะนี้ตลาดในไทยนักลงทุนเริ่มหันมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เพราะเหตุผลที่ตลาดสตาร์ทอัพเริ่มเนื้อหอม เพราะพฤติกรรมคนไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต การใช้โมบายโฟนเยอะ
 
สำหรับ เทคซอร์ส มีเดีย เราไม่ได้เป็นธุรกิจสื่อแต่เราเป็นคอมมูนิตี้ บิวเดอร์หรือตัวกลาง หรือฟันเฟืองในการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐและเอกชน และสตาร์ทอัพเพื่อสร้างให้โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจร่วมกัน สำหรับแผนการขยายธุรกิจการปักธงสู่ตลาดต่างประเทศ เบื้องต้นได้ขยายไปในเชิงของการสร้างการรับรู้และจัดโรดโชว์ 20 เมือง เพื่อสร้างคอนเนกชั่นเชื่อมโยงกัน”
 
อรนุช กล่าวว่า การจัดงาน “TechsauceGlobal Summit 2018” ซึ่งพบว่างานดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว จาก 5,000 ราย เป็น 1 หมื่นราย โดยมี 40 ประเทศที่เข้าร่วม
 
“เริ่มเห็นถึงสัญญาณที่ดีสำหรับตลาดสตาร์ทอัพไทย เพราะยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย บินมาดูงานเพิ่มขึ้น นอกจากนี้สตาร์ทอัพที่มาส่วนใหญ่เป็นธุรกิจเซอร์วิสและโซลูชั่นอสังหาริมทร้พย์ และหวังว่าเทคซอร์ส เป็นหนึ่งในผู้จุดประกายการสร้างระบบนิเวศด้านสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) ในไทย”
 
การก้าวสู่ยูนิคอร์นของสตาร์ทอัพไม่ใช่เรื่องยาก อรนุช บอกเหตุผลว่าเพราะนักลงทุนก็มีความพร้อม เหลือแต่ว่าการพัฒนาแพลตฟอร์มธุรกิจ
 
“หากนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาชีวิตของคนไทยอย่างแท้จริงได้อย่างไร นั่นคือโจทย์ของสตาร์ทอัพไทยที่ต้องขบคิด”