posttoday

โชติกา ปริณายก ตีตั๋วไปปารีสบนดาวดวงอื่นบนดาวดวงนี้

05 สิงหาคม 2561

เหมือนเวลารถติดแล้วคิดสนุกอยากแต่งเรื่องให้คนบนถนน มันเป็นอารมณ์เดียวกับตอนอ่านหนังสือ เรื่อง Paris in Pairs

โดย กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย ภาพ : กิจจา อภิชนรจเรข

เหมือนเวลารถติดแล้วคิดสนุกอยากแต่งเรื่องให้คนบนถนน มันเป็นอารมณ์เดียวกับตอนอ่านหนังสือ เรื่อง Paris in Pairs ปารีสบนดาวดวงอื่น เรื่องสั้นที่คาบเกี่ยวระหว่างความจริงกับจินตนาการของนักเขียนสายครีเอทีฟ โชติกา ปริณายก โดยเธอได้หยิบคนในภาพฟิล์มมาผูกเป็นเรื่องราว 13 บท และมีฉากหลังเป็นกรุงปารีสที่อาจไม่ใช่เมืองแห่งความโรแมนติกที่เคยรู้จักอีกต่อไป

“เราเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบเขียนหนังสือ การมีหนังสือเป็นของตัวเองสักเล่มมันเป็นความฝันอย่างหนึ่งของเรา” โชติกาเคยทำงานเป็นนักครีเอทีฟอยู่ที่สำนักข่าวออนไลน์ เดอะ แมทเทอร์ แต่เพราะการลาพักร้อนไปฝรั่งเศสในคราวนั้น ได้จับพลัดจับผลูให้เธอเขียนหนังสือเล่มแรกในชีวิต

“ไม่อยากเขียนไกด์บุ๊กเพราะเราไม่ได้เชี่ยวชาญถึงขนาดที่จะไปแนะนำใคร แต่อยากเขียนอะไรที่แปลกใหม่และใส่ความเพ้อฝันแบบนักครีเอทีฟลงไป เราเลยหยิบจับภาพฟิล์มที่ถ่ายมา หยิบจับสิ่งที่เราประสบมา มาผสมกับเรื่องที่เราแต่งขึ้น”

โชติกา ปริณายก ตีตั๋วไปปารีสบนดาวดวงอื่นบนดาวดวงนี้

ตัวละครที่เธอสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็นหญิงสาวนักโจรกรรม ชายหนุ่มเจ้าของร้านเคบับ คู่รักแปลกหน้า สาวปริศนาผู้ยืนอยู่หน้าตึกแลนด์มาร์ค หรือชายผู้ออกเดินทางจากดาวดวงนี้เพื่อไปพบปารีสบนดาวดวงอื่น ตัวละครทั้งหลายถูกผูกเข้ากันด้วยจินตนาการสุดพิลึก จนยากที่จะคาดเดาได้ว่าแต่ละบทมีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างไร

“ด้วยความที่เป็นคนไม่ชอบอะไรง่ายๆ เลยอยากเขียนให้ผู้อ่านสามารถอ่านจบได้ในตอนเดียว หรือจะอ่านครบทุกบทแล้วได้อีกความรู้สึกใหม่หรือเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย” เธอกล่าวต่อ

“ถ้าถามว่าแก่นของหนังสือเรื่องนี้คืออะไร คิดว่าไม่มี เพราะเราไม่ได้ตัดสินว่าตัวละครตัวไหนดีหรือเลว หรืออ่านจบแล้วจะได้ข้อคิดสอนใจอะไร แต่เราอยากให้ผู้อ่านอ่านแล้วสนุกไปฟิกชั่นที่แต่งขึ้น ผสมกับได้รับความรู้หรือรู้ความเป็นจริงของสถานที่นั้น โดยจุดจบของเรื่องนี้ไม่มีขีดจำกัด เพราะมันน่าจะดีกว่าถ้าคนอ่านจะได้ตีความและมีบทสรุปเป็นของตัวเอง”

โชติกา ปริณายก ตีตั๋วไปปารีสบนดาวดวงอื่นบนดาวดวงนี้

นักครีเอทีฟสาวกล่าวด้วยว่า สิ่งที่เธอเก่งกว่าการเขียน คือ การคิด อย่างหนังสือเล่มนี้เธอไม่คิดว่ามันโดดเด่นที่สำนวนภาษา แต่เด่นในเรื่องของไอเดียและการเล่าเรื่องที่ทำให้คนอ่านกระตุกคิ้วตลอดเวลา กระนั้นขณะที่เธอผูกเรื่องราว เรื่องราวก็กลับมาผูกรัดตัวเธอจนทำให้เป็น “นักคิดมาก” และเกือบไม่มีปารีสบนดาวดวงอื่นบนดาวดวงนี้

“ตอนแรกวางไว้ว่าจะเขียน 14 บท แต่เพราะเวลาและความกดดันตัวเองที่เกินพิกัดเลยหยุดอยู่ที่ 13” บทที่หายไป คือ “ปารีสบนดาวดวงนี้” โดยเธอคิดจะรวบรวมเรื่องจริงทั้งหมดให้ผู้อ่านหายสงสัยว่า อะไรคือความจริง อะไรคือจินตนาการ

อย่างไรก็ตาม บทที่หายไปก็ไม่ได้ทำให้เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้แหว่งหาย และจากที่เธอกล่าวไว้ว่า หนังสือเรื่องนี้ไม่มีแก่น อาจไม่จริง เพราะในบทสุดท้าย เธอทิ้งให้ผู้อ่านเคว้งคว้างกลางอากาศ ท่ามกลางเมฆสีขาว แต่ตรงปลายขอบฟ้านั้นเหมือนเห็นยอดหอไอเฟลอยู่ไกลๆ ซึ่งไม่อาจแน่ใจว่า เธอได้พาไปพบปารีสบนดาวดวงไหน หรือแท้จริงแล้วไม่ได้ไปไหนเลย