posttoday

Pay attention to our feet (1) ว่าด้วยการลงน้ำหนักของฝ่าเท้า

04 สิงหาคม 2561

เพราะว่าเท้ามีหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย รวมทั้งการเคลื่อนไหว

โดย ภัชภิชา แก้วสุวรรณสุข (ครูเจี๊ยบ) ผู้ก่อตั้ง Japayatri Yoga Style โยคะสุตรา สตูดิโอ www.YogaSutraThai.com

เพราะว่าเท้ามีหน้าที่รับน้ำหนักของร่างกาย รวมทั้งการเคลื่อนไหว การจัดวางขาส่งผลถึงสะโพก การจัดการนิ้วเท้าส่งผลถึงเข่า บางทีเรื่องนี้อาจต้องเขียนกันยาวๆ มีหลายภาคต่อเลยทีเดียว เอาแบบค่อยเป็นค่อยไปละกันค่ะ มีหลายเรื่องให้เขียนเกี่ยวกับเท้านะ จะวางยังไง กว้างดี หรือแคบดี น้ำหนักอยู่ตรงไหน ข้อเท้าจัดวางยังไง นิ้วเท้าตั้งตรงหรือเหยียด น้ำหนักฝ่าเท้าลงที่ไหนดี และแต่ละแบบแตกต่างกันยังไง

ไม่เพียงแค่เฉพาะเวลาที่เราฝึกโยคะอาสนะ บางทีในชีวิตประจำวันของเราเอง คนส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่ใส่ใจฝ่าเท้ากันเลยจนกระทั่งเกิดปัญหาของฝ่าเท้ามารบกวนการใช้ชีวิต หรือบางทีการที่เราละเลยการใส่ใจเท้าอาจสร้างปัญหาโดยอ้อมให้ร่างกายส่วนอื่นๆ ก็เป็นได้ สำหรับการฝึกท่าโยคะการจัดการเท้าที่ถูกต้องจะส่งผลกับท่าที่เราฝึกอย่างมหาศาล ซึ่งวันนี้ครูจะคุยเกี่ยวกับเรื่องการลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้า นั่นหมายความว่า อาสนะที่ส่งผลโดยตรงคือ กลุ่มอาสนะท่ายืน ทั้งยืน 2 ขาและยืนทรงตัวขาเดียว (Standing, Balancing Asanas) เพราะกลุ่มอาสนะท่ายืนมีฝ่าเท้าเป็นฐานนั่นเอง ความมั่นคงและการจัดระเบียบร่างกายเริ่มต้นมาจากฐาน ซึ่งก็คือฝ่าเท้าของเรา

เริ่มต้นเมื่อวางฝ่าเท้าลงสู่พื้นโลก การติดต่อสัมผัสพื้นด้วยความรู้สึกของพลังงานที่ถ่ายเทลงสู่พื้นเราจะสามารถรับรู้ด้วยความรู้สึกว่ามีส่วนใดของฝ่าเท้าบ้างที่ตอนนี้สัมผัสกับพื้นดินอยู่ ลองหลับตาสักครู่แล้วเริ่มสำรวจดูด้วยตัวเองว่า อะไรสัมผัสบ้าง มีน้ำหนักลงมากแค่ไหน นิ้วเท้า โคนนิ้วเท้า จมูกเท้าฝั่งด้านใน จมูกเท้าฝั่งด้านนอก อุ้งฝ่าเท้า ใจกลางฝ่าเท้า กระดูกส้นเท้า ลองรู้สึกถึงการติดต่อแบบโดยรวมทั่วทั้งฝ่าเท้า จากนั้นลองติดต่อแบบแยกส่วนแบบเฉพาะเจาะจงดู แล้วน้ำหนักมันลงตรงไหนมากสุด น้อยสุดของฝ่าเท้าโดยไม่ต้องวิเคราะห์ใดๆ แล้วลองจดโน้ตไว้ในใจดู นั่นคือการเริ่มต้นจากราก (Root)

อ้างจากสารานุกรมฝ่าเท้าของมนุษย์แข็งแรงและมีโครงสร้างที่ซับซ้อนประกอบไปด้วยกระดูก 26 ชิ้น 33 ข้อต่อ และมีกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นอีกมากกว่าร้อย ทีนี้ครูจะพูดถึงเฉพาะในมุมมองของการฝึกโยคะอาสนะตามโครงสร้างของกระดูกฝ่าเท้าส่วนที่คอยสนับสนุนการยืน คือส่วนที่มั่นคงที่สุดและแข็งแรงขณะยืนจะมีทั้งหมด 3 จุดด้วยกันโครงสร้างพื้นฐานมีลักษณะเหมือน 3 ขา Tripod ไม่ว่าพื้นผิวที่เราสัมผัสจะเป็นยังไง อ่อนนุ่มเหมือนทราย แข็งกระด้างเหมือนก้อนหิน ผิวขรุขระ ยังไงก็ตาม น้ำหนักที่เราปล่อยลง 3 จุดนี้ จะทำให้เรายืนได้โดยไม่ล้ม ยืนได้นานๆ ลดอาการเมื่อยล้าลง นั่นคือ 3 จุดหลักที่ควบคุมการยืนของเราให้มั่นคง แข็งแกร่ง 

Pay attention to our feet (1) ว่าด้วยการลงน้ำหนักของฝ่าเท้า

เมื่อลากเส้นทั้งสามเข้าหากันจะมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ลองนึกถึงขาตั้งกล้องที่กางออกมาแล้วมี 3 ขา วางกล้องและเสนส์ที่บางครั้งหนักหลายกิโลกรัมได้อย่างมั่นคง ดังนั้นให้เราเน้นกระจายน้ำหนักของฝ่าเท้าออก แต่น้ำหนักจะลงมากสุดที่ 3 จุดดังรูปภาพที่ 1 เพื่อสร้างความมั่นคงคือ บริเวณจมูกเท้าฝั่งโป้ง (ฝั่งด้านใน) จมูกเท้าฝั่งก้อย (ฝั่งด้านนอก) และกระดูกส้นเท้า ส่วนบริเวณอื่นๆ ของฝ่าเท้าให้ลงน้ำหนักเช่นกัน แต่ในปริมาณที่น้อย ลองดูตัวอย่างการฝึกอาสนะ

ตัวอย่างการลงน้ำหนักฝ่าเท้าจากท่าต้นไม้ 

Pay attention to our feet (1) ว่าด้วยการลงน้ำหนักของฝ่าเท้า

ในท่าต้นไม้ ให้นักเรียนลองจับความรู้สึกที่ฝ่าเท้าข้างที่เรายืนดูเมื่อลงน้ำหนักมากสุดตรง 3 จุดตามที่ครูบอกแล้วให้ลองยกนิ้วเท้าทั้ง 5 นิ้วลอยขึ้นมาเล็กน้อยจากพื้นดูก็จะยังไม่ล้ม ยังอยู่ในท่าได้อย่างมั่นคง จากนั้นก็วางนิ้วเท้าลงเบาๆ สัมผัสพื้นเฉยๆ ไม่ต้องจิกนิ้วเท้าจะรู้สึกสบายและมั่นคง ขณะฝึกสามารถค้างท่าได้นานขึ้น

ตัวอย่างการลงน้ำหนักในท่าสุนัข

Pay attention to our feet (1) ว่าด้วยการลงน้ำหนักของฝ่าเท้า

เช่นกันในท่านี้ ลองยกนิ้วเท้าทั้ง 10 นิ้วขึ้นมาเบาๆ แล้วค้างไว้สัก 5 วินาทีเพื่อสำรวจดู จะเห็นว่าเราก็ยังอยู่ในอาสนะได้โดยไม่ล้มเช่นกัน เมื่อเราได้ลงน้ำหนักตามจุด Tripod แล้วจะรู้สึกได้ว่าฝ่าเท้ามั่นคง นิ้วเท้าผ่อนคลาย จากนั้นก็ลองวางนิ้วเท้าลงเบาๆ ในฉบับหน้ามาคุยเรื่องฝ่าเท้ากันต่อค่ะ (ภาพมีลิขสิทธิ์ ห้ามนำไปใช้โดยมิได้รับอนุญาต)

CR.ขอขอบคุณภาพเขียนสีน้ำแนวอาร์ตจากคุณเจน Jane Jiit (Watercolor), IG : janewaterblog