posttoday

ลดเนื้อเพื่อโลก...ที่ดีกว่า

02 สิงหาคม 2561

โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง และอาหารก็เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้น

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ คลังภาพโพสต์ทูเดย์

โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลง และอาหารก็เป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนั้น นั่นเพราะระบบอาหาร รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อทำปศุสัตว์และการเกษตรผลิตอาหารสัตว์ เป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นตัวการของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมด นั่นทำให้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผลกระทบจากสิ่งที่เรากินคุกคามการอยู่รอดของมนุษย์และการอยู่รอดของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ 

กรีนพีซ องค์กรรณรงค์เกี่ยวกับการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลก ล่าสุดแสดงวิสัยทัศน์เรื่องระบบเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมถึงปี 2593 อ้างอิงจากรายงานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และสุขภาพจากการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์รวมทั้งผลิตภัณฑ์นมจากการปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม เขียนโดย Tirado,R., Thompson, K.F., Miller, K.A.&Johnston,P.(2561) “ลดเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม เพิ่มสุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก”

ศ.พีท สมิธ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินและการเปลี่ยนแปลงของโลก สถาบันวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและชีววิทยา มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน ระบุในรายงานว่า ในระบบอาหารการทำปศุสัตว์เพื่อการบริโภคของมนุษย์สร้างผลกระทบมากที่สุด นอกเหนือจากการทำปศุสัตว์ที่ใช้พื้นที่มหาศาลแล้ว มากกว่า 30% ของพืชผลทางการเกษตรทั่วโลกยังถูกผลิตเพื่อเป็นอาหารปศุสัตว์ ซึ่งก็เพียง 10-15%ของผลผลิตเท่านั้น ที่นำมาใช้บริโภคได้

ลดเนื้อเพื่อโลก...ที่ดีกว่า

“ข้อสรุปที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เราต้องลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากปศุสัตว์ลงอย่างมหาศาล การลดการบริโภคเนื้อและนมลงอย่างมากเท่านั้น จึงจะทำให้เราสามารถส่งต่อระบบอาหารที่เหมาะสมต่อโลกอนาคตข้อสรุปนี้ไม่ได้มาจากอุดมการณ์ด้านมังสวิรัติหรือวีแกน แต่มาจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ล้วนๆ”

ความจริงที่กำลังเกิดขึ้นกับโลกของเราคือ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 60% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอาหารทั้งหมด เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเป็นส่วนประกอบในอาหารที่ส่งผลกระทบเลวร้ายต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และ 80% ของการทำลายป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในโลก เกิดจากระบบผลิตอาหาร

กรีนพีซเรียกร้องให้ทั่วโลกลดการผลิตและบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลง 50% จากปัจจุบัน ภายในปี 2593 หรือภายใน 32 ปีข้างหน้า มนุษย์จะต้องเริ่มกินอาหารที่ทำจากพืชให้มากขึ้น และกินเนื้อให้น้อยลง งานวิจัยเสนอว่า การกินผลไม้ ผัก ถั่วฝักอ่อน ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเปลือกแข็งนั้นส่งผลดีต่อสุขภาพ หากต้องการกินเนื้อสัตว์ในบางมื้อ ทางเลือกที่ดีที่สุดคือเลือกซื้อจากเกษตรกรท้องถิ่นที่ทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศขนาดเล็ก

ลดเนื้อเพื่อโลก...ที่ดีกว่า

ในที่นี้จะกล่าวถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมที่เกิดจากปศุสัตว์เชิงอุตสาหกรรม อันดับแรกคือการเปลี่ยนแปลงระบบที่ดิน การทำปศุสัตว์เป็นตัวผลักดันที่อันตรายที่สุดที่ทำให้เกิดการขยายทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์และพื้นที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ นั่นทำให้ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกถึง 65% การถางทำลายป่าธรรมชาติ ทุ่งหญ้าสะวันนาและทุ่งหญ้าอื่นๆ เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศทั้งหมดอย่างชนิดที่เรียกกลับคืนมาไม่ได้

“ปัจจุบันมีที่ดินทั้งหมดที่ถูกใช้เพื่อทำปศุสัตว์ 26% ของพื้นผิวดินบนโลก”

อันดับต่อมาคือความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินเกษตรกรรมอย่างเข้มข้นสัมพันธ์กับการสูญเสียชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอย่างมาก ในบรรดาชนิดพันธุ์ของนกบกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่บนบก ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์นั้น 80% เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่กับภาคเกษตรกรรม

ลดเนื้อเพื่อโลก...ที่ดีกว่า

การเลี้ยงปศุสัตว์ในทุ่งยังทำให้ประชากรของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์หนาแน่นน้อยลง เนื่องจากการเลี้ยงปศุสัตว์ขัดขวางการหมุนเวียนธาตุอาหาร เปลี่ยนแปลงระบบน้ำจืดและเปลี่ยนการจัดการชุมชนเชิงนิเวศ ยิ่งไปกว่านั้นยังมีส่วนทำให้โลกสูญเสียสัตว์กินเนื้อขนาดใหญ่ เช่น หมาป่า หมี เสือ ฮิปโปโปเตมัส สมเสร็จ และช้าง ซึ่งทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลไปทั่ว

รายงานยังระบุถึงมลพิษในแหล่งน้ำจากไนโตรเจนและฟอสฟอรัส ซึ่งเป็นธาตุอาหารที่ใช้ในการเกษตรที่ไร้ประสิทธิภาพ เมื่อถูกใช้อย่างไม่จำกัด ระดับของธาตุทั้งสองจะสูงมาก สาหร่ายจำนวนมากเติบโตไม่ได้และตายลง เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าเขตมรณะ (Dead Zone) ในมหาสมุทร ส่วนการใช้น้ำจืดก็มีปัญหา ระหว่างปี 2539-2548 มีการใช้น้ำเพื่อการปศุสัตว์ถึง 2,442 ล้านคิวบิกเมตร/ปี

ในระดับโลก การผลิตสัตว์สร้างรอยเท้าน้ำหรือ Water Footprint กว่า 29% ของรอยเท้าน้ำจากการผลิตทางการเกษตร ไม่นับรวมถึงความเสี่ยงภัยของการคงอยู่ของโรคบางชนิดที่ติดต่อกันระหว่างปศุสัตว์ สัตว์ป่าและมนุษย์ การดื้อยาปฏิชีวนะในคนและการสะสมของยีนบางชนิด ภัยในประชากรจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรครักษายาก

ลดเนื้อเพื่อโลก...ที่ดีกว่า

การลดการบริโภคเนื้อลง 50% จากปัจจุบัน กรีนพีซคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2593 การบริโภคเนื้อสัตว์ทั่วโลกจะอยู่ที่ 16 กิโลกรัม/คน/ปี หรือประมาณ 300 กรัม/คน/สัปดาห์ นับรวมผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทุกประเภท (คิดจากน้ำหนักซาก หรือวัดน้ำหนักจากเนื้อดิบที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ณ จุดขายปลีก)

สำหรับผลิตภัณฑ์นมก็เช่นเดียวกัน การลดลง 50% ทำให้การบริโภคผลิตภัณฑ์นมทั่วโลกในปี 2593 จะอยู่ที่ 33 กิโลกรัม/คน/ปีหรือเท่ากับ 630 กรัม/คน/สัปดาห์ โดยนับหนึ่งแก้วเท่ากับ 200 กรัม ในรายงานยังระบุว่า การลดเนื้อปศุสัตว์ควรค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2573 การบริโภคเนื้อควรจะอยู่ที่ 24 กิโลกรัม/คน/ปี สำหรับผลิตภัณฑ์นม เป้าหมายปี 2573 คือ 57 กิโลกรัม/คน/ปี

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าว่า สำหรับประเทศไทยและภาพรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การลดบริโภคเนื้อสัตว์มีโอกาสที่ดีกว่าภูมิภาคอื่นๆ เนื่องจากค่าเฉลี่ยรายปีในปัจจุบันของการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมต่อคนของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ

ลดเนื้อเพื่อโลก...ที่ดีกว่า

“ไทยไม่ได้กินเนื้อเยอะ เพราะโดยลักษณะทางวัฒนธรรมของเราไม่ได้บริโภคเนื้อมากอยู่แล้ว เรากินไก่ ปลาและหมู ขณะที่สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา บราซิล และยุโรปตะวันตก กินเนื้อและผลิตภัณฑ์นมในปริมาณสูง รวมทั้งจีนที่จี้ตามมาติดๆ” รัตนศิริ กล่าว

ทางออกคือการทำเกษตรเชิงนิเวศ การสนับสนุนการเกษตรพื้นบ้านที่ไม่ได้ผลิตในเชิงอุตสาหกรรม การเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี การเกษตรที่ไม่ตัดไม้ทำลายป่าเพื่อถางที่ราบเพื่อการปศุสัตว์หรือการเกษตรเชิงเดี่ยว โอกาสและความเป็นไปได้คือ การช่วยกันทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือการร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่

การเปลี่ยนแปลงระบบอาหารเพื่อความยั่งยืน ต้องเป็นไปแบบบูรณาการ ตั้งแต่ที่ฟาร์มจนถึงที่บ้าน รัตนศิริให้ความเห็นว่าผู้บริโภคคือกลยุทธ์สำคัญ ถ้าเลือกที่จะลดเลือกที่จะไม่กินเนื้อปศุสัตว์ ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัว ที่สุดก็ต้องลดการผลิต ขณะเดียวกันในฐานะปัจเจกเราจะทำอะไรได้บ้าง ก็ต้องถามและตอบตัวเอง เพราะจริงๆ แล้วทำได้เยอะเลย บางคนลดเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 1 มื้อ บางคนตั้งปณิธานลดกินเนื้อสัตว์สัปดาห์ละ 1 วัน แค่นี้ก็ดีมากแล้ว

ไม่ใช่แค่โลกสวยหรือแค่คำที่สวยหรู สุดท้ายรัตนศิริตั้งคำถามว่า ใช่หรือไม่ที่เราทุกคนต่างก็ตั้งคำถามกับตัวเองวันละ 3 ครั้งว่า “จะกินอะไรดี” จากนี้ไปในทุกๆ วันและทุกๆ มื้อ ที่เราอาจจะต้องคิดให้ดีก่อนให้คำตอบกับตัวเอง ถ้าเราเริ่มเลือกในสิ่งที่แตกต่าง ผลลัพธ์ที่ได้อาจมีความหมายมากกว่าอะไรทั้งสิ้น

“คำตอบของเราทำนายอนาคตโลก จะกินอะไร ทุกคำตอบบอกถึงทิศทางของโลก โลกของเราในวันหน้าจะเป็นอย่างไร เราให้คำตอบได้ด้วยตัวเอง ตั้งแต่วันนี้ ตั้งแต่มื้อนี้”

สนใจรายงาน“ลด” เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเชิงอุตสาหกรรม “เพิ่ม” สุขภาวะที่ดีของมนุษย์และโลก ดูข้อมูลฉบับเต็มได้ที่ http://www.greenpeace.org/seasia/th/press/reports/Less-Is-More/

ขอบคุณข้อมูล : กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้