posttoday

KMUTT Chorus ประสานเสียงสู่ความเป็นหนึ่ง

30 กรกฎาคม 2561

ดําดิ่งสู่บรรยากาศ และดื่มด่ำกับสัมผัสแห่งความผ่อนคลาย ที่ได้จากการรับฟังเสียงประสานจากวงคอรัสไทยที่เพิ่งคว้ารางวัล เหรียญเงิน Silver Grade I

โดย วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ วิศิษฐ์ แถมเงิน, มจธ.

ดําดิ่งสู่บรรยากาศ และดื่มด่ำกับสัมผัสแห่งความผ่อนคลาย ที่ได้จากการรับฟังเสียงประสานจากวงคอรัสไทยที่เพิ่งคว้ารางวัล เหรียญเงิน Silver Grade Iจากการแข่งขันระดับนานาชาติ 11th Orientale Concentus International Choral Festival Singapore 2018 ณ ประเทศสิงคโปร์ นั่นคือคณะประสานเสียงแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี-มจธ. (KMUTT Chorus)

โต๊ด-นนท์วริศ รุ่งอริยธนาพงษ์ จากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ วัย 25 ปี คอนดัคเตอร์หรือวาทยกร วันนี้นำทีมน้องๆ อีก 2 คนซึ่งเป็นตัวแทนของวงประสานเสียงนักศึกษา ได้แก่ อ้ำ-คณิน สังวร วัย 18 ปี จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กับตอง-จิตราภรณ์ อยู่สุข วัย 19 ปี จากคณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี ภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา น้องๆ ยิ้มสดใสขณะเล่าถึงสิ่งที่ทำ

โต๊ดเล่าว่า มจธ.เด่นด้านการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หากการเป็นวาทยกรนำทีมวงประสานเสียงของที่นี่ ก็พิสูจน์ให้เขาได้เห็นว่า สมองซีกซ้ายและซีกขวาสามารถทำงานร่วมกัน สนับสนุนซึ่งกันและกันได้ เป็นเรื่องดีและสร้างประสบการณ์ที่แตกต่าง

ความสามารถในการใช้ทักษะหลายอย่างพร้อมกัน สำหรับโต๊ดแล้วเป็นทักษะที่จำเป็นของคนรุ่นใหม่ เพราะขณะที่สมองซีกซ้ายทำหน้าที่ในการใช้ตรรกะเหตุผล สมองซีกขวาทำหน้าที่ในเรื่องของความเข้าใจ ความรู้สึกดื่มด่ำต่อศิลปะ ความมีสุนทรียะด้านดนตรี และการมีจินตนาการในการดำเนินชีวิต

“สิ่งสำคัญสำหรับคนรุ่นใหม่ยุคใหม่ ก็คือ เราทำในสิ่งที่เราสนใจ และสิ่งนั้นสนับสนุนในความเป็นตัวเรา สนับสนุนในมิติอื่นๆ ของตัวเรา” โต๊ดเล่า

ด้าน อ้ำ เล่าว่า มีความชอบดนตรีมาก่อน เมื่อได้โอกาสศึกษาต่อที่ มจธ.จึงเข้าร่วมในชมรมวงประสานเสียงของมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นรุ่นที่ 6 สนุกกับการฝึกซ้อม ได้ฝึกทักษะใหม่ๆ และได้พบเพื่อนๆ ต่างคณะ เพื่อนหลายคนมาค้นพบตัวเองที่ชมรมฯ ได้เรียนดนตรีควบคู่ไปด้วย

“สมาชิกวงประสานเสียงฯ มีจำนวนทั้งหมดประมาณ 30-40 คน ที่ชมรมฯ พวกเราจะร้องเพลงประสานเสียงกัน ถึงเวลานั้นพวกเราจะลืมหมดทุกอย่าง ยกเว้นอย่างเดียวคือตัวโน้ต รุ่นพี่ทุกคนในวงประสานเสียงมหาวิทยาลัยฯ เป็นไอดอลหรือต้นแบบที่ผมมองอยู่ อยากร้องเก่งให้ได้อย่างรุ่นพี่ แต่ไม่ใช่เทียบชั้นรุ่นพี่นะคร้าบบบ”

สำหรับตอง มองถึงความต้องการทำในสิ่งที่รัก ความมีสีสัน ความแปลกใหม่ และความมีชีวิตชีวา การร้องประสานเสียงให้ทุกสิ่งที่เธอต้องการ ปัจจุบันตองใช้เวลากับชมรมประสานเสียงมหาวิทยาลัยสัปดาห์ละ 3 วันช่วงเย็น เธอซ้อมและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เด็กสาวมีวินัยมาก โดยเฉพาะในช่วงท้ายก่อนการเข้าประกวดแข่งขันบนเวทีระดับชาติที่สิงคโปร์

“มจธ.คว้ารางวัล 1 เหรียญเงิน Silver Grade I ในการแข่งขันประเภทแชมเบอร์ ด้วยระดับคะแนน 78.7” ตองเล่า

สำหรับการแข่งขัน Orientale Concentus International Choral มีการแข่งขันทั้งหมด 14 ประเภท โดยมีคณะนักร้องประสานเสียงเข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 55 คณะ จาก 16 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย มาเลเซีย เมียนมา นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ โปแลนด์ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ สหรัฐ เวเนซุเอลา และไทย

KMUTT Chorus ประสานเสียงสู่ความเป็นหนึ่ง

สุทธิพงษ์ เรืองจันทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาคณะประสานเสียง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า ได้มีการพัฒนานักศึกษาให้มีศักยภาพด้านการขับร้องประสานเสียงกระทั่งเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศได้สำเร็จ ซึ่งการเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ KMUTT Chorus เป็นคณะนักร้องประสานเสียงคณะเดียวของไทยที่เข้าร่วมในรายการนี้

ก่อนหน้านี้ KMUTT Chorus ได้รับชัยชนะมาแล้วถึง 3 เหรียญทองจากเวทีอินเตอร์แนชันแนลหลายเวที แต่ครั้งนี้เป็นครั้งที่แตกต่างออกไป สำหรับ 3 เพลงที่ใช้ในการประกวดครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.Jadlied / Felix Mendelssohn (1843) 2.Sai Fon/Atichai Tragoondet (2017) และ 3.Fajar dan senja / Ken steven(2014) การแข่งขันกดดันไม่น้อย ด้วยเกณฑ์การให้คะแนนที่ต้องบอกว่าหินมาก

“เป็นเหรียญที่พวกเราทั้งหมดภูมิใจมาก ทั้ง 3 เพลงถือว่าเราทำได้เต็มที่กับวงประสานเสียง 24 คนและนักเปียโน 1 คน”

โต๊ดเล่าต่อไปว่า จุดอ่อนของคณะประสานเสียง มจธ.คือ การทำความรู้จักกับดนตรีที่ช้ากว่านักประสานเสียงวงอื่นๆ นักศึกษาหลายคนไม่มีพื้นฐานทางดนตรีมาก่อนเลย นั่นหมายถึงการมีระยะเวลาที่จำกัดมากในการพัฒนาน้องๆ ในวง ขณะเดียวกันก็คือความท้าทายที่จุดประกายให้สู้

สำหรับการทำหน้าที่คอนดัคเตอร์ประจำวงประสานเสียง โต๊ดบอกว่า เขาจริงจังกับการทำหน้าที่ของตัวเอง รู้ดีถึงพันธกิจในการนำวงและการสอดร้อยเสียงประสานที่เป็นหนึ่ง นั่นหมายถึงการฝึกซ้อมอย่างหนักและการสร้างความไว้วางใจในตัววาทยากร

“มองตาก็รู้ใจ นักร้องประสานเสียงกับผู้นำวงต้องเป็นอย่างนั้น รวมทั้งครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกของผมที่พาน้องๆ ไปสู่เวทีสากล เหมือนพวกเราได้ปลดล็อกศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ หากที่สุดของที่สุดคือความภูมิใจและตื้นตันใจที่เราฝ่าฟันมาด้วยกัน นี่เป็นก้าวที่สำคัญของพวกเรา”

ก้าวที่สำคัญของคณะประสานเสียงแห่ง มจธ. กับจุดประกายที่จะไปต่อบนเส้นทางของการขับร้องประสานเสียงระดับโลก นั่นคือ การเข้าแข่งขันในรายการเวิลด์ไควร์เกมส์ การแข่งขันวงคอรัสหรือการขับร้องประสานเสียงที่นักประสานเสียงทุกคนต้องไป กำหนดระยะเวลาในอีก 2 ปีข้างหน้าที่ประเทศเบลเยียม

“2 ปีจากนี้ เราคงต้องเตรียมตัวกันอีกเยอะ และฝึกซ้อมกันอย่างหนัก” โต๊ดเล่า ปัจจุบันเขายังเป็นสมาชิกของคณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูที่โด่งดัง

ส่งท้ายด้วยตองที่เล่าว่า การร้องเพลงประสานเสียงในวงมหาวิทยาลัย ช่วยให้พบอีกด้านหนึ่งของตัวเอง รวมทั้งช่วยให้พบด้านดีงามของเพื่อนๆ พี่น้องทุกคนในวง ทั้งหมดคือพลังที่ได้จากการเปล่งเสียงประสาน พลังจากเสียงที่กึกก้องและเป็นหนึ่งเดียวนี้ เหมือนช่วยให้หนักแน่นในจุดที่ยืน ไม่เครียดและผ่อนคลายเสมอ

ปลดปล่อยตัวของตัวด้วยเสียงประสาน พลังที่ได้รับ...ยิ่งใหญ่