posttoday

น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์ อดีตซีล ฮีโร่คนสุดท้ายปิดถ้ำหลวง

29 กรกฎาคม 2561

เขาคือคนสุดท้ายที่ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในภารกิจวันสุดท้ายช่วยหมูป่าออกมา

โดย....มัลลิกา นามสง่า / ภาพ...วิศิษฐ์ แถมเงิน

เขาคือคนสุดท้ายที่ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ในภารกิจวันสุดท้ายช่วยหมูป่าออกมา และในช่วงเกือบสิ้นสุดภารกิจก็เกิดวิกฤตเครื่องปั๊มน้ำหยุดทำงานทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น จนมิดถ้ำในวินาทีสุดท้ายที่เขาออกมาพอดี และเขาคืออดีตหน่วยซีลที่อายุมากที่สุดในทีม

เขาชื่อ “น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์” วัย 60 ปี อดีตหน่วยซีล หรือหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (รุ่นที่ 11 ปี 2522)

นับเป็นปฏิบัติการเขย่าโลก เมื่อนักฟุตบอลกับโค้ชทีมหมูป่า ทีนทอล์ค อะคาเดมี่ 13 คน ติดในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2561 จัดเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ (Mission Impossible) เพราะอุปสรรคหลายทางทำให้ความช่วยเหลือเป็นไปได้ยากยิ่ง หากแต่ภารกิจที่เป็นไปไม่ได้ สามารถสำเร็จได้ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหลายชาติทั่วโลก จนสามารถช่วยเหลือออกมาได้ครบในวันที่ 10 ก.ค. 2561

เลือดซีลเข้มข้น

น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์ อดีตซีล ฮีโร่คนสุดท้ายปิดถ้ำหลวง

ตำแหน่งก่อนเออร์ลี่รีไทร์ปี 2559 คือ ประจําแผนกส่งกําลังและซ่อมบํารุง กอง สน.นสร.กร. หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ

ช่วงที่ออกจากราชการในช่วงแรกยังเป็นอาจารย์พิเศษสอนเกี่ยวกับการบริหารที่มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง (เขาจบการศึกษาปริญญาโท Internet & E-Commerce Technology มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปี 2547) แต่ด้วยสิ่งแวดล้อมและการจราจรที่เป็นอัมพาตทุกช่วงเวลาของเมืองหลวง เขาจึงเลือกมุ่งหน้าไปยังป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทำไร่

น.ท.ไชยนันต์ ได้น้อมนำพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต

“ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก” นอกจากนั้นยังทดลองปลูกทุเรียน น้อยหน่า มะนาว ขุดบ่อเลี้ยงปลา พืชผักที่ไร่ไร้สารเคมี

“ทุกวันผมตื่นมาฟ้ายังมืดอยู่ ใจก็คิดเมื่อไรจะเช้า อยากให้เช้าเร็วๆ อยากลงไปดูสวน ไปพรวนดิน ตัดใบไม้ วันๆ หนึ่งทำทุกอย่าง พักกินข้าวแล้วก็ลงไปทำต่อ ได้ออกกำลังกายตลอดเวลาเพราะทำเองหมด”

23 มิ.ย. 2561 ข่าวเด็กติดถ้ำเป็นที่สนใจของผู้คน เขาติดตามข่าวตามช่องทางต่างๆ เหมือนประชาชนทั่วไป จนเมื่อภารกิจนี้มีหน่วยซีลเข้าไปร่วม อดีตซีลยังได้รับรู้ข่าวอีกทางจากเพื่อนฝูงและรุ่นน้องที่อยู่ในพื้นที่

ชีวิตยังดำเนินไปเหมือนเช่นทุกวัน ตื่นมาดูแลไร่สวน หิวอยากกินเมนูปลาก็หาปลาในบ่อที่เลี้ยงไว้ เด็ดผักมาล้างกินได้อย่างสบายใจ พร้อมติดตามสถานการณ์หมูป่าเป็นระยะ

จนเมื่อเสียงปลายสายจากถ้ำหลวง เล่าสถานการณ์และขอให้ไปช่วย ในร่างที่มีเลือดซีลสูบฉีดอยู่ ไม่รั้งรอใดๆ เก็บกระเป๋าบินด่วนลงในบ่ายของวันที่ 29 มิ.ย. ทันที และเขาไม่ได้บอกคนในครอบครัวเลยแม้แต่ผู้เดียว

“เรามีกลุ่มซีลที่คุยกัน น้องรุ่น 16 17 โทรมา ครูครับครูอยู่ไหน มาช่วยหน่อย มาเป็นกำลังใจก็ยังดี ผมก็ออกจากไร่เลย ถ้างานไม่หนักหนาเขาคงไม่ถามเรา ไม่ชวนเราด้วย เราติดตามรู้ข่าวเหมือนประชาชนว่ายังไม่เจอ แต่อุปสรรคไม่รู้ ก็คิดว่าคงไม่ธรรมดาเพราะธรรมดาจบไปนานแล้ว ไม่สาหัสเขาก็ไม่โทรหาเรา

ไม่ได้บอกลูกเมีย เขารู้ว่าเราอยู่ไร่ ไม่จำเป็นต้องรู้ ถ้าบอกก็ต้องมานั่งอธิบาย ไม่มีเวลา ช่วงที่อยู่ไม่ได้ติดต่อครอบครัว เพื่อนฝูงไม่ได้ติดต่อใครเลย ที่เคยส่งกู๊ดมอร์นิ่งกันทุกเช้าก็ไม่ได้ส่ง

ไปถึงเข้าที่พัก เช้ามาดูสถานที่ ไปถึงปุ๊บพวกมนุษย์กบก็ดีใจ ช่วงนั้นต่างชาติเริ่มมา เราก็ดูแนวทางปฏิบัติว่าเขาทำอะไรกันไปแล้ว คุยกับ ผบ.หน่วยซีล (พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว) ตอนนั้นวางไลน์เชือกไปอีก 500 เมตร ก็จะถึงเนินนมสาวที่คาดว่าเด็กอยู่

วันที่เจอเด็กเราก็วางแผน ผมตัดสินใจอยู่ในทีมช่วยค้นหา ดำน้ำด้วย จับคู่บัดดี้มีทั้งต่างชาติและซีล ผมอยู่ในทีมฝรั่งเขาต้องการคนแปล เราก็ช่วยเหลือให้ทำงานราบรื่น มันยากที่ว่า ระยะทางไกล ดำน้ำทวนกระแสน้ำ ไปค้นหาไม่ได้ง่าย เอาเชือกไปด้วย เชือกของไทยเส้นใหญ่แบกใส่กระสอบ ของต่างชาติแค่ 4 มิลลิเมตร น้ำหนักเบาเอาเข้าไปได้ขนาดยาวกว่า ไลน์เชือกหมดต้องผูกกับอะไรไว้แล้วย้อนกลับมา คู่ต่อไปก็ไปผูกอีก”

คู่ของ น.ท.ไชยนันต์ จะต้องดำน้ำไปวางไลน์เชือกต่อจากคู่ของชาวอังกฤษ คือ ริชาร์ด สแตนตัน และ จอห์น โวลันเธน ที่เป็นคนพบเด็ก

“หลังจากเจอเด็กแล้วท่านผู้ว่าฯ (ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย) แถลงการณ์ห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง ผมกลับมาถึงที่พักราวเที่ยงคืนก็โทรหาลูกสาว (นุ่น-ณัชชานันท์ พีระณรงค์ ดีเจคลื่น 88.5 EDS) ส่งรูปถ้ำไปให้ดู บอกพ่อเพิ่งออกมาจากในถ้ำ เขาก็ดีใจที่เจอเด็กๆ เขาก็จะถามอะไรต่อ แต่ผมบอกพ่อหนาวเหลือเกิน เพราะดำน้ำไม่กี่ชั่วโมงก็จริงแต่พอขึ้นบกเราอยู่ในชุดที่เปียกตลอด”

น.ท.ไชยนันต์ ให้เหตุผลที่ไม่บอกทางครอบครัวว่า “ในสถานการณ์นั้นเราเครียด ความรู้สึกไม่ต่างจากคนไทย ทุกสายตาความคิดจดจ้องมาที่เรา เราทำอะไรทุกวินาทีมีความหมาย มาเล่นๆ ไม่ได้ ตอนนั้นเจอเป็นเจอตายก็ได้ แต่ต้องเจอ ไม่เจอไม่กลับบ้าน ไม่อยากคุยกับใคร”

วันรุ่งขึ้นก่อนเดินทางกลับกรุงเทพฯ เขาร่วมประชุมกับทีมค้นหา เพื่อวางแผนช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำ จนได้ข้อสรุปวิธีให้เด็กสวมหน้ากากแบบเต็มใบ

ชีวิตซีล ทุกภารกิจมีคนรอ

น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์ อดีตซีล ฮีโร่คนสุดท้ายปิดถ้ำหลวง

หลังจากสำเร็จนักเรียนจ่าทหารเรือ ไปเป็นเจ้าหน้าที่พลาธิการ ประจำเรือหลวง ท่าจีน พอกลับจากราชการเรือก็เป็นนักประดาน้ำชั้นต้น แล้วเข้าไปฝึกหน่วยซีล เมื่อปี 2522 รุ่นที่ 11

“เมื่อก่อนทหารใหม่เห็นรุ่นพี่เป็นหน่วยรบพิเศษก็อยากเป็นอย่างเขา ตอนนั้นอายุ 21 ปี ยังไม่แต่งงาน ไม่มีภาระอะไร

คัดเลือกจากร้อยกว่าคนเหลือ 60 คน มีเสียชีวิตไป 2 คน รุ่นผมจบเหลือ 21 คน ก่อนเข้าไปเรียนก็พอรู้ว่าโหด เสี่ยงชีวิต มีคนตายด้วย แต่เขาไม่ได้บังคับ คนเข้าไปเรียนถือว่าอาสานะ ตาย บาดเจ็บ ไม่มีสิทธิเรียกร้อง เราเข้าใจตรงนี้ดี ไม่ได้กลัวอะไร เมื่อรุ่นพี่ทำได้เราก็น่าจะทำได้

ฝึก 6 เดือน เป็นเบสิกเท่านั้นเอง ด้านร่างกาย จิตใจ ให้รู้ว่าสมรรถภาพร่างกายพร้อมตามที่เขากำหนด ฝึกพื้นฐานของการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในการทำภารกิจ การใช้อาวุธ การลาดตระเวน เป็นพื้นฐานของการจะเป็นหน่วยรบพิเศษในอนาคต

การทดสอบมีหลายอย่าง วิ่ง ว่ายน้ำ มัดมือมัดเท้าโยนลงทะเล ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนที่คุ้นเคย ความรู้สึกผมตอนนั้นไม่ได้มีอะไรโหดสุด เพราะเราฝึกแก้ปัญหาตามโจทย์ที่มีมาตลอด 6 เดือน ไม่ว่าจะการวิ่งที่ไกลขึ้นเรื่อยๆ เราไม่ไหวแล้วแต่หยุดไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เขาทำให้เราที่คิดว่าจะทำไม่ได้แต่ต้องทำให้ได้

ว่ายน้ำไกลออกไปเรื่อยๆ ให้ร่างกายเราพัฒนา อดอาหารก็เป็นเรื่องการดำรงชีพให้หากินเอง มีน้ำกระติกเดียวปล่อยทิ้งไว้ทั้งในป่าในทะเล พอจบแล้วได้บรรจุเป็นนักทำลายใต้น้ำจู่โจม พอหลังๆ มาเรียกว่าหน่วยซีล เพราะมาตรฐานเดียวกันกับซีลอเมริกัน”

หลังจากนั้นได้รับการฝึกอีกหลายหน่วย ไม่ว่าจะเป็น ส่งกําลังทางอากาศนาวิกโยธิน รุ่นที่ 3 (Airborne) การรบพิเศษนาวิกโยธิน รุ่นที่ 16 รบพิเศษสะเทินน้ำสะเทินบก (Recon) นักทําลายใต้น้ำจู่โจมชั้นสูง (Seal) หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ, Parachute wings of The United State of America, จู่โจม สม. ทบ.(Ranger), Foreign Advance Clearance Diving & EOD. At Diving School RAN. Australia และการบรรเทาสาธารณภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย เป็นต้น

ได้รับเหรียญพระราชทาน เหรียญพิทักษ์เสรีชน ตน. เจ้าหน้าที่พิเศษ กอ.รมน./จ.อ. เหรียญจักรมาลา ตน. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้างเผือก ชั้นที่ 4 ชื่อ จัตุรถาภรณ์ และเหรียญตรา UN เจ้าหน้าที่ UNGCI ประเทศอิรัก

“ถามว่าเชี่ยวชาญทุกอย่างไหม ซีลทุกคนมีพื้นฐานเหมือนกัน แต่เรามีความสามารถพิเศษที่แตกต่างกัน ผมเชี่ยวชาญด้านการดำน้ำ แต่ในถ้ำในชีวิตนี้เพิ่งเคยเจอ”

ยังเป็นครูฝึกซีลอีก 10 รุ่น นับตั้งแต่ปี 2524 แต่ซีลรุ่น 13 ไม่มีผู้ผ่านการฝึกสักคน ดังนั้นซีลจึงมีไล่มาตั้งแต่ 1-12, 14 ไล่ไปจนถึงปัจจุบันคือรุ่นที่ 45

“ระหว่างเป็นหน่วยซีลในการทำงานก็เป็นด้านยุทธวิธีสงครามนอกแบบ ทำงานในพื้นที่เสี่ยงภัย ต่อต้านการก่อการร้าย รักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญทั้งทางลับ ลาดตระเวนไปชายแดน ที่ไปก็มีภารกิจสำคัญเยอะ เป็นภารกิจทางทหารก็ไม่ได้ออกข่าวว่าทำอะไร”

ชีวิตวัยหนุ่มทำงานรับใช้ประเทศชาติเต็มที่ จนปี 2526 แต่งงาน และปี 2533 มีลูกสาว สิ่งที่ครอบครัวรู้เสมอมาคือ สามีไปราชการ พ่อไปโดดร่ม พ่อไปดำน้ำ แต่ในรายละเอียดของงานนั้นมิอาจล่วงรู้ได้

“ที่ผ่านมามีเพื่อนฝูงเสียชีวิตบ่อยๆ เขาก็เข้าใจว่าเราทำงานเสี่ยง อยู่กันด้วยความเข้าใจ พอมีลูกเราก็ห่วงแต่เราเลือกไม่ได้ เพราะเป็นคนเดินเข้าไปหน่วยนี้เอง แต่ในความรู้สึกของเราคิดว่าจะทำยังไงสอนลูกให้ช่วยเหลือ
ตัวเองได้ให้เร็วที่สุด

เคยคุยกับแฟน ถ้าวันหนึ่งผมเกิดโชคร้าย ลูกยังเล็กเราก็ห่วง แต่ถ้าเราสอนเขาให้เข้าใจในปัญหาต่างๆ เรียนรู้วิธีแก้ไข อยู่ในสังคมได้ ถ้าเราเป็นอะไรไปเขาก็อยู่ได้ เราก็ไปทำงานได้อย่างมีความสุข เขาก็รู้แค่ว่าพ่อไปราชการ เขาไม่มีอารมณ์เด็กติดพ่อ ที่สำคัญทางญาติคุณแม่ช่วยดูแล ทำให้เรารู้สึกมั่นใจ ครอบครัวมีพี่น้องคอยดูแล เราไปทำงานโดยไม่ต้องห่วงข้างหลัง”

ระหว่างรับราชการมีย้ายสังกัดบ้าง แต่เมื่อกลับมาที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ ทุกๆ 6 เดือนจะมีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายเสมอ

หากช่วง 2 ปีที่หยุดทำงานราชการ ออกมาเป็นชาวไร่ชาวสวน เขาก็ยังมั่นใจว่าร่างกายแข็งแรงพร้อมสู้ภารกิจหนักๆ ได้เช่นเคย เพราะการถือจอบ ถือมีดดายหญ้า การงานในไร่นั้นก็ฝึกฝนร่างกายได้

การไปช่วยหน่วยซีลร่วมค้นหาหมูป่าที่ถ้ำหลวง เขาเป็นบุคคลที่อายุมากที่สุดในอดีตซีล แต่อย่าถามความฟิต เพราะข่มรุ่นน้อง ลูกศิษย์ได้สบายๆ

“เรื่องห่างจากการดำน้ำไม่ได้เป็นอุปสรรคกับผม เรามีความคุ้นเคยการทำงานใต้น้ำมาตลอด แต่ไม่ได้ประมาท เรื่องสุขภาพรู้สึกว่าฟิตมากกว่าตอนอยู่ที่หน่วย เพราะตอนนั้นเราแค่ฟิตตามสกอร์ แต่ปัจจุบันเราทำไร่ เราทำเองทุกอย่าง เหมือนได้ออกกำลังกายทุกวัน รู้สึกเฟรชตลอด มั่นใจในสุขภาพ”

ถูกฝึกให้รับความเสี่ยง

น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์ อดีตซีล ฮีโร่คนสุดท้ายปิดถ้ำหลวง

“ครู ผมว่าไม่ง่ายแล้ว ยากกว่าตอนค้นหาอีก” ต้นเสียงมาจากถ้ำหลวง หลังจากเขากลับมานอนบ้านได้เพียงคืนเดียว แน่นอนว่าเขาไม่หยุดคิดใดๆ แต่คราวนี้ได้บอกคนในครอบครัวก่อนเดินทาง

“ถ้ำหลวงเป็นวิกฤตที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เครื่องบินตกในทะล เรือจม กู้ชีวิต กู้ศพอะไรเราก็ทำได้หมด แต่วิกฤตถ้ำหลวง เราไม่เคยมีความรู้เรื่องการดำน้ำในถ้ำ อุปกรณ์ก็ไม่มี

จากประสบการณ์ที่เคยอยู่ชายแดน ดำน้ำในแม่น้ำโขงก็ขุ่นมาก น้ำเป็นสีชาสีกาแฟก็มี แต่ในถ้ำน้ำขุ่นและมืด คาดการณ์ไม่ได้ว่าจะดำไปโผล่ตรงไหน ชนอะไร ดำน้ำต้องมือคลำตลอด บางจุดไฟฉายแทบใช้ประโยชน์ไม่ได้ คือเส้นทางอันตรายกับนักดำน้ำ

ผมได้คุยกับทีมฝรั่ง กับทางหน่วยซีล หลังจากพบเด็ก ผมเสนอไปให้ใช้ฟูลเฟสแมสเด็กไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะจากปากถ้ำถึงโถง 3 ก็ยากมาก โถง 2 มาโถง 3 มีจุดแคบ บางช่วงไม่มีน้ำ แต่การเดินแทบไม่ได้ ต้องปีนหินขึ้นไป เหมือนเหวประมาณ 100 เมตร ต้องทำลวดสลิงเอาอุปกรณ์ไปทางเชือก สรุปทุกคนในกลุ่มก็เห็นด้วยกับวิธีนี้ การตัดสินใจไม่ใช่เรา ผบ.หน่วยซีลต้องนำไปรายงานอีกที เพราะการนำออกมาเหมือนชี้เป็นชี้ตาย”

การกลับไปช่วยนำหมูป่าออกจากถ้ำหลวง เขาเป็นหัวหน้าชุดรับผิดชอบพื้นที่ระหว่างโถง 3 กับโถง 2 ซึ่งมีพื้นที่เป็นตัวยู (U)

“เราฐานะเคยเป็นหน่วยซีลมั่นใจเอาออกมาทางน้ำ แต่ทางอื่นเราไม่เชี่ยวชาญ พอแซมเสียชีวิต (จ.อ.สมาน กุนัน-ยศขณะปฏิบัติภารกิจ) ก็ปรับมาเอาแผนนี้อย่างเร่งด่วน เพราะออกซิเจนในถ้ำลดลง พยากรณ์อากาศฝนจะมา น้ำจะขึ้น

ก็วางแผนจัดกำลังทุกคนมีหน้าที่เข้าไปทำยังไง ทดลองกันทั้งข้างนอก-ในถ้ำ ทดลองทุกส่วน 100 เมตรนี้มีอุปสรรคอะไร ผมอยู่ระหว่างโถง 3 มา 2 สูบน้ำออกเพื่อให้เพดานสูงมีช่องให้หายใจ แต่ต้องคลานออกไปไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย

วันแรกทุกคนค่อนข้างเครียด แต่มั่นใจถ้าทำตามแผนที่วางไว้ตามที่ได้รับมอบหมายในเซ็กชั่นของเรา มีความยากง่าย บางเซ็กชั่นต้องใช้แขวนเชือกร่วงลงมาก็ตายเหมือนกัน

ก่อนถึงปากถ้ำก็ลอยน้ำ 2 เมตรก่อน ทำยังไงให้ลอยอยู่ในแพ ของผมอยู่ในจุดชักรอก นักดำน้ำต้องถอดอุปกรณ์ เอานักดำขึ้นมา แล้วเอาเด็กใส่รอกขึ้นมา วันที่ 2 ทุกคนมีความมั่นใจ ทุกคนรู้หน้าที่กลับไปทำเหมือนเดิม”

วันที่ 3 หลังจากทีมหมูป่าออกจากถ้ำครบ ระหว่างที่หมอภาคย์ (พ.ท.ภาคย์ โลหารชุน) และหน่วยซีลอีก 3 นายกำลังออกมาถึงโถง 3 ได้เกิดเหตุปั๊มสูบน้ำระหว่างโถง 3 กับ 2 ขัดข้อง ส่งผลให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูง 50 เซนติเมตร ใน 20 นาที ในพื้นที่นั้นมีเจ้าหน้าที่ทั้งคนไทยและต่างชาติอยู่ราว 30 คน

“พอปั๊มน้ำดับเราให้คนทยอยออก ต้องคลานออกไป เพราะยังมีเวลาที่ออกไปตัวเปล่าได้ ถ้าน้ำมาเต็มก็ออกได้แต่เสียเวลาต้องใส่อุปกรณ์ดำออกไป ตอนนั้นทีมแพทย์ นักดำน้ำต่างชาติเขาก็ไม่ทิ้งเรา เขารอจนหน่วยซีลออกมาครบ

ผมเป็นหัวหน้าชุดอยู่โถง 3 กับ 2 ก็ตะโกนให้ถอนตัว เอาไฟฉายส่องดูแล้วตะโกน เพราะทางในถ้ำซับซ้อน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีใครหลงเหลือ ทีมหมอภาคย์ออกไปแล้ว เหลือผมกับทีมชาวจีน 6 คน เขาขอเวลาเก็บอุปกรณ์รอกในถ้ำ เราเป็นเจ้าภาพก็อยู่ด้วย

ตอนผมออกมาน้ำในช่องเต็มแล้ว มีสำลักน้ำนิดหน่อย บริเวณนั้นลักษณะเหมือนตัวยู เวลาจะไปโถง 3 ต้องสไลด์ตัว คลานออกมา นักดำน้ำถอดอุปกรณ์แล้วต้องให้คนดึงขึ้น นาทีนั้นน้ำก็มิดเราแล้ว ยังปีนขึ้นไปทัน ถ้าช้าอีกหน่อยไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ภารกิจอาจเสร็จสว่าง”

หลังจากช่วยทีมหมูป่าออกมาได้ครบ หลังเที่ยงคืนถึงได้โทรกลับไปหาครอบครัว ซึ่งแน่นอนว่าทุกๆ ครั้งที่เขาเงียบไปหลายวันเวลาที่ส่งเสียงไป หรือกลับบ้านให้เห็นหน้า คือของขวัญของครอบครัว และคือความภาคภูมิใจที่มีต่อผู้ชายคนนี้ ไม่ว่าสิ่งที่เขาไปทำมาจะคืออะไรก็ตาม คนข้างหลังรับรู้ได้ว่าเพื่อประเทศชาติ

บ้านเล็กในป่าใหญ่

น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์ อดีตซีล ฮีโร่คนสุดท้ายปิดถ้ำหลวง

ในวันที่หมดภารกิจเพื่อชาติ เขาได้ปักหลักชีวิตในบ้านเล็กที่โอบล้อมด้วยต้นไม้เขียวขจี ที่ความสุขอยู่ทั่วทุกผืนดินที่เท้าย่ำกราย

“ผมไปทำไร่ที่ป่าละอู พี่ชายทำไร่อยู่ก่อนแล้ว และมีคุณแม่อายุ 90 เราก็ได้กลับไปดูแลคุณแม่ด้วย ผมนึกถึงในหลวง รัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อยากลองทำ ก็ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก ปีกว่าที่ทำมีความสุข ได้อยู่กับธรรมชาติ

ความสุขเราหาได้ตลอดเวลา อยู่ที่เราจะเข้าใจ ทำงานในหน่วยซีลก็เป็นความสุข แบบนี้ก็เป็นความสุข เราผ่านเราเจอมาเยอะแล้ว วันนี้เราให้กับตัวเอง ความสุขแบบง่ายๆ”

นอกจากอยู่ในไร่ บางครั้งก็ไปบวช หรือไปทัวร์แสวงบุญนานหลายสัปดาห์ หากแต่เมื่อไรที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตและต้องการความช่วยเหลือที่อดีตซีลจะทำได้ เขาพร้อมเสมอ

“ความรู้สึกเราถูกสร้างมาให้ทำงานกับความเสี่ยง มีเหตุการณ์ที่คิดว่าเราทำได้เราก็ต้องทำ ถึงแม้จะต้องตายเราก็ยินดี ถ้าเราทำแล้วมันประสบความสำเร็จ สูญเสียก็ไม่ได้เสียดาย เราถูกฝึกมาแบบนี้ เราทำงานภายใต้สภาวะเสี่ยง เหตุการณ์ที่ทำให้ซีลเสียชีวิตเราเจอกันจนชิน เราไม่ได้ประมาท ยิ่งมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่การสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดา เราทำดีที่สุดแล้ว ทุกคนต้องตาย ก็ไม่ได้กลัว แต่ถ้าไม่มีอะไรก็อยู่กับสวน”

ในวันวัยที่รับราชการผ่านดงระเบิดฝ่าห่ากระสุนมาก็เยอะแล้ว ถึงวันวัย 60 ปี น.ท.ไชยนันต์ พีระณรงค์ เลือกใช้ชีวิตอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า และมีในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นแรงบันดาลใจ ที่จะดำเนินรอยตามพระบาท ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และอุทิศตนทำความดีเพื่อแผ่นดินตราบเท่าที่แรงกายและความสามารถมี