posttoday

ป้องกันไว้ก่อน ไข้เลือดออกระบาดอีกแล้ว

28 กรกฎาคม 2561

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 มิ.ย. 2561

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 มิ.ย. 2561 ประเทศไทยมีผู้ป่วยแล้ว 17,302 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตที่ยืนยันแล้ว 21 ราย ผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับแจ้งและอยู่ระหว่างตรวจสอบ 9 คน

จากข้อมูลการป่วยและเสียชีวิตตามกลุ่มอายุ พบว่าอัตราป่วยยังคงสูงสุดในเด็กวัยเรียนอายุ 10-14 ปี รองลงมาอายุ 5-9 ปี แต่เมื่อพิจารณาการเสียชีวิตพบว่าในปี 2561 นี้ ผู้ป่วยที่เสียชีวิตมากกลับเป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 14 ราย

เมื่อกลางเดือน มิ.ย. 2561 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาชี้แจงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกระบาดว่า ในช่วงนี้เป็นฤดูฝนซึ่งเป็นฤดูระบาดของโรคไข้เลือดออก จึงต้องดำเนินการและติดตามสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้พัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อรองรับสังคมโซเชียลในยุคดิจิทัล เปิดกลุ่มไลน์แอด “@AtiYung” ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ และสอบถามทุกข้อสงสัยที่เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกจากทีมเฉพาะกิจพิชิตยุง

พร้อมแนะนำให้ประชาชนสังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีอาการไข้สูงมากโดยฉับพลัน ปวดเมื่อย หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนังตามแขนขา ข้อพับ ถ้ามีไข้สูง 2-3 วันไม่หายหรือไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลโดยเร็ว เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ ไม่ควรไปฉีดยาลดไข้หรือซื้อยากินเอง และขอให้ดูแลเป็นพิเศษในผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัวและผู้สูงอายุ เพราะหากป่วยแล้วมีโอกาสรุนแรงกว่าปกติได้

นอกจากนี้ ยังให้ยึดหลัก “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ 1.เก็บบ้านให้สะอาด ไม่ให้มีมุมอับทึบเป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ ภาชนะใส่น้ำต้องปิดฝาให้มิดชิดป้องกันไม่ให้ยุงลายวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรคในคราวเดียวกัน คือ 1.โรคไข้เลือดออก 2.โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และ 3.ไข้ปวดข้อยุงลาย

ข้อมูลเกี่ยวกับไข้เลือดออกจาก พญ.ฉัฐฐิมา เสาวภาคย์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ หอบหืด ภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ไข้เลือดออกเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ในปี 2561 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ป้องกันไว้ก่อน ไข้เลือดออกระบาดอีกแล้ว

ส่วนอาการป่วยขึ้นอยู่กับว่าเคยติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ซึ่งหากพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อครั้งแรกอาการมักไม่รุนแรง โดยอาการของผู้ป่วยหลังได้รับเชื้อไข้เลือดออก จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา แต่อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อติดเชื้อครั้งที่สองด้วยสายพันธุ์ที่ต่างไป ซึ่งจะทำให้มีภาวะเลือดออกและช็อกได้

ทั้งนี้ พญ.ฉัฐฐิมา แนะนำว่าควรเน้นตั้งแต่ต้นเหตุ คือการดำเนินการไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในฐานพื้นที่ 6 ร. คือ โรงเรือน โรงเรียน โรงแรม โรงงาน โรงธรรม และโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลเองนับว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ต้องทำให้เป็นโรงพยาบาลสะอาดปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย (Green and Clean Hospital) เพื่อปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และปลอดลูกน้ำยุงลาย เพราะโรงพยาบาลเป็นสถานที่ทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นสถานที่สาธารณะที่ประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก

พญ.ฉัฐฐิมา ย้ำว่าสำหรับการระบาดของไข้เลือดออก การป้องกันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด โดยการปฏิบัติตามหลัก 5 ป. และ 1 ข. ได้แก่ ป.ปิด คือ ปิดภาชนะน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ ป.เปลี่ยน เปลี่ยนน้ำในแจกันทุกๆ 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง ป.ปล่อย ปล่อยปลาหางนกยูงให้กินลูกน้ำในภาชนะ ป.ปรับ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่งสะอาดลมพัดผ่าน ไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย ป.ปฏิบัติ ปฏิบัติจนเป็นนิสัย

ส่วน 1 ข. ขจัดไข่ยุงลาย รวมถึงการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก ไวรัสเดงกี 4 สายพันธุ์ ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะสามารถป้องกันและห่างไกลจากภัยเงียบไข้เลือดออกได้ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพที่ดีในกลุ่มผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนที่จะพิจารณารับวัคซีนทุกครั้ง

เพราะฉะนั้นในช่วงฤดูฝนแบบนี้ การเพาะพันธุ์ของยุงลายสามารถเกิดได้ง่าย เมื่อจำนวนพาหะมีมากขึ้นโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้เลือดออกก็มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะหากเกิดกับช่วงวัยเด็กหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่มีภาวะโรคอ้วน เบาหวาน ความดัน ก็มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตในที่สุด โดยโรคไข้เลือดออกสามารถป้องกันและลดจำนวนลงได้ ถ้าทุกคนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้หมดไป