posttoday

รศ.วรณพ วิยกาญจน์ + รศ.สุชนา ชวนิชย์ 2 นักวิทย์ไทยสำรวจใต้ทะเลขั้วโลกเหนือ

28 กรกฎาคม 2561

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อมกำลังทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุที่ก่อตัวทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

โดย นิติพันธุ์ สุขอรุณ

การเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อมกำลังทำให้เกิดภัยพิบัติขึ้นทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นพายุที่ก่อตัวทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี นำไปสู่เหตุการณ์น้ำท่วม แผ่นดินไหว โลกร้อน หรือแม้กระทั่งปัญหาสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์อาจต้องเผชิญหน้ากับความสูญสิ้น ทั้งหมดเกิดจากน้ำมือมนุษย์ได้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการปล่อยมลพิษทางอากาศและทิ้งขยะจำนวนมหาศาล

สิ่งปฏิกูลเหล่านี้ไม่ได้สลายสูญหายไปไหน แต่กลับล่องลอยไปตามกระแสลม-กระแสน้ำขึ้นไปสะสมในเขตขั้วโลกเหนือ ดินแดนธรรมชาติแห่งความหนาวเย็นและน้ำแข็งยักษ์ให้ละลายลงทุกวินาที จึงเป็นที่มาของการตั้งทีมนักวิทยาศาสตร์เดินทางไปสำรวจวิจัยขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการปฏิบัติการดำน้ำสำรวจใต้ทะเล เก็บตัวอย่างตะกอนดิน สิ่งมีชีวิต และขยะขนาดเล็กเพื่อนำมาศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลกในอีก 20 ปีข้างหน้า

ทีมนักวิทยาศาสตร์ใต้ทะเลขั้วโลกเหนือชุดนี้มีหัวหอกนำทีม 2 คน คือ รศ.วรณพ วิยกาญจน์ และ รศ.สุชนา ชวนิชย์ หัวหน้าภาคและอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อยอดการวิจัยหลังจากได้ไปสำรวจที่ทะเลแอนตาร์กติกดินแดนขั้วโลกใต้ เรื่องผลกระทบต่อทางสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และประเทศนอร์เวย์ ให้การสนับสนุนเงินทุนไปสำรวจขั้วโลกเหนือครั้งแรกของประเทศไทย

เริ่มที่ประสบการณ์ทำงานของ รศ.วรณพ จบการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ด้านอาหารสัตว์น้ำ และได้เข้ามาทำงานที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2537 มุ่งเน้นทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นต้นมา ขณะที่ รศ.สุชนา จบด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเล จากนั้นไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาปริญญาโทและเอก ด้านการอนุรักษ์ทางทะเล ก่อนเข้ามาทำงานในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2544 ทั้งคู่จึงได้ตั้งทีมวิจัยเรื่องการเพาะพันธุ์ปะการัง ศึกษาระบบนิเวศทางทะเล ทำงานร่วมกับกองทัพเรือที่เกาะแสมสาร อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี สามารถขยายพันธุ์ปะการังในพื้นที่เสื่อมโทรมได้เป็นผลสำเร็จ

รศ.วรณพ วิยกาญจน์ + รศ.สุชนา ชวนิชย์ 2 นักวิทย์ไทยสำรวจใต้ทะเลขั้วโลกเหนือ

เป็นที่มาของการศึกษาต่อยอดวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ กระทั่งได้มีโอกาสไปขั้วโลกใต้จึงจับเอางานวิจัยสิ่งแวดล้อมนี้มาขยายถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งใบ อันเกิดจากปัญหาขยะพลาสติก ส่งผลกระทบต่อสัตว์หลายชนิดในทะเล ซึ่งปะการังคือสัตว์ที่บอกถึงสภาพการเปลี่ยนเป็นทางธรรมชาติได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจุดมุ่งหมายสูงสุดคือการต่อยอดงานวิจัยไม่สิ้นสุด เริ่มต้นจากปะการังในไทยไปจนถึงสัตว์น้ำใต้ทะเลขั้วโลกเหนือนับจากนี้

วรณพ เล่าว่า การไปขั้วโลกเหนือจะเดินทางด้วยเรือสลับกับเครื่องบิน เข้าสู่พื้นที่เมือง “สวาลบาร์ด” เป็นหมู่เกาะในมหาสมุทรอาร์กติก ตั้งอยู่ที่ละติจูด 79-90 องศาเหนือ เรียกได้ว่าเป็นจุดบนสุดของโลก เป็นส่วนหนึ่งของประเทศนอร์เวย์ กำหนดการเดินทางจะเริ่มในวันที่ 24 ก.ค.-12 ส.ค.นี้ และเมื่อถึงเมืองสวาลบาร์ดแล้ว ยังต้องเดินทางขึ้นเหนือต่อไปที่ศูนย์วิจัยนานาประเทศ มีเป้าหมายไปเก็บตัวอย่างตะกอนดิน สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กและขยะพลาสติกขนาดจิ๋ว เพื่อหาการปนเปื้อนทั้งในน้ำทะเล น้ำแข็ง สัตว์น้ำ สัตว์บก มากน้อยเพียงใด เพราะทั้งหมดสามารถบอกถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

ปัจจัยที่เป็นความกังวลอันดับแรก คือ สัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น แมวน้ำ ตัววอลรัส รวมถึงหมีขาว แม้ว่าเขาจะไม่ได้มาทำร้ายแต่หากพุ่งชนเข้ากับอุปกรณ์ถังอากาศก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นการสำรวจจะเน้นที่บริเวณชายฝั่งประมาณ 20 เมตรที่ไม่ลึกมากและปลอดภัย

สุชนา ขยายความเสริมว่า จากสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของขั้วโลกเหนือ มีสิ่งน่าสนใจอยู่ที่ขนาดของน้ำแข็งหดตัวลงอย่างต่อเนื่องหรือแตกตัวออก สวนทางกับสิ่งที่ควรเป็นในฤดูหนาวที่น้ำแข็งต้องขยายตัวแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น สร้างความตื่นกลัวให้กับทั่วโลก จึงนิยามว่า “ขั้วโลกเหนือเป็นภาชนะรองรับของเสียจากทั้งโลก” เนื่องจากทุกกิจกรรมของมนุษย์ ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากทุกประเทศ ซึ่งก๊าซเหล่านี้ไม่ได้สะสมอยู่แค่ในประเทศของตัวเองเท่านั้น หากแต่ได้ลอยตามกระแสลมและการหมุนของโลกพัดผ่านไปสะสมอยู่ที่ขั้วโลกเหนือ เมื่อนักวิทยาศาสตร์วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์จึงพบว่าค่าคาร์บอนไดออกไซด์มีระดับที่สูงมาก ทั้งที่บริเวณนั้นแทบไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลย

รศ.วรณพ วิยกาญจน์ + รศ.สุชนา ชวนิชย์ 2 นักวิทย์ไทยสำรวจใต้ทะเลขั้วโลกเหนือ

“สิ่งที่คาดว่าจะเจอนอกจากขยะขนาดไมโครบีดส์ คือพฤติกรรมของสัตว์ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย เพราะเคยมีนักวิจัยจากประเทศจีน พบเห็นลูกหมีกำลังกัดกินขยะพลาสติกที่อยู่บนน้ำแข็ง แสดงว่าอาหารไม่มีอะไรจะกินแล้ว พฤติกรรมเหล่านี้เริ่มพบเห็นบ่อยขึ้น ซึ่งมีผลต่อไปยังเรื่องการสืบพันธุ์ สุดท้ายแล้วนำไปสู่การสูญพันธุ์ ทั้งหมดเกิดจากน้ำมือมนุษย์ทั้งสิ้น” สุชนา กล่าว

สำหรับผลงานวิจัยศึกษาสภาพสิ่งแวดล้อมขั้วโลกเหนือ จะถูกนำมาวิเคราะห์รับมือผลกระทบทางธรรมชาติในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาที่กำลังคืบคลานเข้ามา สุชนา กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับกระบวนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อยมาก จึงต้องศึกษาตั้งรับกับปัญหาที่กำลังจะเกิด เช่น พายุใหญ่ฝนตกหนักน้ำท่วม น้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมากขึ้น รวมถึงเหตุการณ์สึนามิ เพราะนิสัยคนเราต้องเผชิญกับเรื่องร้ายก่อนจึงจะตื่นตัว ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงต้องลงพื้นที่ไปเห็นจุดเริ่มต้นของปัญหาก่อนอย่ารอให้สายเกินไป แม้ว่าในอดีตได้เกิดผลกระทบทางธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่อง ทว่ามนุษย์ยิ่งไปเร่งให้ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นอีก

ด้าน วรณพ เสริมว่า ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่องานวิจัยมากขึ้นกว่านี้ อย่ามองแต่มุมเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว แล้วมาเมินคุณค่าของสิ่งแวดล้อม สังคม ทุกวันนี้ประเทศไทยนี้มุ่งเน้นด้านการท่องเที่ยว แต่ไม่เคยลงไปดูว่าการท่องเที่ยวจริงๆ มีการป้องกันรักษาธรรมชาติให้คงอยู่ได้อย่างไร ซึ่งมนุษย์เราเก่งเรื่องการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือมนุษย์ไม่สามารถทำให้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ ผลสุดท้ายมนุษย์ก็จะได้รับผลกระทบจากสิ่งที่ทำลงไปนั่นเอง

สุชนา เล่าว่า มีคนเคยถามว่าต่างชาติไปศึกษามาแล้ว ทำไมประเทศไทยจึงต้องไปศึกษาอีกในเรื่องเดียวกัน นั่นเป็นเพราะต่างชาติเขาไม่ได้บอกเราทั้งหมด เช่น กรณีที่สหประชาชาติบอกว่าโลกใบนี้ไม่ควรให้อุณหภูมิสูงเกิน 5 องศา แต่ล่าสุดได้มีการแจ้งอีกครั้งว่าอุณหภูมิโลกได้เกิน 5 องศาไปนานแล้ว นี่คือการไม่ส่งข้อมูลระหว่างกัน ฉะนั้นประเทศไทยจึงควรเข้าเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกให้ต่างประเทศเห็นว่าเราก็ใส่ใจสิ่งแวดล้อมโลกเช่นกัน

รศ.วรณพ วิยกาญจน์ + รศ.สุชนา ชวนิชย์ 2 นักวิทย์ไทยสำรวจใต้ทะเลขั้วโลกเหนือ

วรณพ อธิบายว่า เมื่อสากลประเทศเห็นว่าไทยใส่ใจปัญหานี้ แน่นอนว่าเขาย่อมให้ความสำคัญกับประเทศไทยมากขึ้นด้วย แม้ว่าผลงานวิจัยจะเป็นเพียงจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กก็ตาม แต่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาสำคัญระดับโลก เสมือนเหตุการณ์ช่วยทีมนักฟุตบอลเยาวชนหมูป่า ที่หลายประเทศส่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเข้ามากู้ภัย นั่นคือการแสดงออกถึงความรับผิดชอบอย่างสมัครใจร่วมกัน

สำหรับการเตรียมความพร้อมทางร่างกายที่ต้องลงดำน้ำท่ามกลางอุณหภูมิศูนย์ถึงลบหนึ่งองศา วรณพ กล่าวว่า ด้วยอายุที่มากขึ้นจึงต้องออกกำลังกายให้แข็งแรง ฝึกว่ายน้ำเป็นหลัก ฝึกใส่ชุดดำน้ำพิเศษ ซึ่งเป็นการดำน้ำแห้งที่ตัวจะไม่เปียกและในการดำน้ำครั้งนี้จะดำได้ไม่เกินระยะเวลา 30 นาที ไม่เช่นนั้นร่างกายจะสูญเสียความร้อน อาจทำให้มีอาการช็อกได้ จึงต้องฝึกจิตใจให้หนักแน่นด้วย เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้เสมอ

“สัญญาณของของร่างกายที่ต้องสังเกตให้ดีเมื่ออยู่ใต้ทะเลน้ำเย็นจัด เริ่มจับสัญญาณความเย็นที่มือเป็นอันดับแรก เมื่อเริ่มมีอาการชามือแล้ว ในช่วงระยะเวลาหนึ่งความเย็นจะเริ่มถ่ายทอดลงมาที่เท้า จากนั้นจะเริ่มมีอาการชาวิ่งเข้าสู่หัวใจอย่างรวดเร็ว ควรรีบขึ้นจากน้ำทันที สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ระยะเวลาการทำงานใต้น้ำไม่ควรเกิน 30 นาทีถือว่าสุดขีดของร่างกายแล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือเรายังไม่รู้ว่าทัศนวิสัยการมองจะเห็นสิ่งต่างๆ หรือไม่ เห็นได้ไกลเท่าไหร่ รวมถึงทีมนักดำน้ำสนับสนุนเขาจะทนต่อสภาพความเย็นได้แค่ไหนอีกด้วย”

สุชนา กล่าวว่า จากประสบการณ์จากขั้วโลกใต้ ทำให้รู้ว่าเมื่อเข้าสู่เขตน้ำแข็ง เป็นกังวลเรื่องของคลื่นมากที่สุด เพราะคลื่นจะสร้างความลำบากต่อภารกิจดำน้ำมาก อีกส่วนหนึ่งคืออุปสรรคด้านความหนาวเย็น จึงต้องออกกำลังกายเตรียมพร้อมกับภารกิจนี้อย่างหนัก เนื่องด้วยร่างกายเป็นผู้หญิงไม่เหมือนผู้ชายที่แข็งแกร่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังต้องแบกถังอากาศน้ำหนักมากจึงต้องอดทนให้ได้ หากทำงานนี้ได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ แม้จะต้องเหนื่อยยากอันตรายแค่ไหนก็คุ้มค่ากับประสบการณ์ชีวิตและเป็นย่างก้าวสำคัญของประเทศไทยในเวทีโลก