posttoday

Bye Bye ไขมันทรานส์

25 กรกฎาคม 2561

หลังจากที่หลายประเทศในยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว 

หลังจากที่หลายประเทศในยุโรปรวมถึงสหรัฐอเมริกา ได้ออกกฎหมายให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) หรือที่เรียกว่าไขมันทรานส์ (Trans Fatty) รวมถึงอาหารที่ใช้น้ำมันทรานส์เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว และขีดเส้นตายให้อุตสาหกรรมอาหารของตนต้องไม่มีไขมันทรานส์ในระบบการผลิตอาหารภายใน 3 ปี โดยเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ก็ได้ครบกำหนดที่ไขมันทรานส์ได้หายไปจากสหรัฐ

จากอวสานของไขมันทรานส์ในสหรัฐ คราวนี้ก็มาถึงสัญญาณอวสานไขมันทรานส์ในประเทศไทยบ้าง เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายอาหารที่มีไขมันทรานส์ในประเทศไทย ในประกาศระบุว่าโดยปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่ากรดไขมันทรานส์ (Trans Fatty Acids) จากน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน (Partially Hydrogenated Oils) ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

ประกาศดังกล่าวลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีผลใช้บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เท่ากับว่าประมาณเดือน ม.ค. 2562 ไขมันทรานส์ก็จะหายไปจากระบบการผลิตอาหารประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง  

ระหว่างนี้จึงเป็นช่วงที่ประชาชนและผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ใช้ไขมันทรานส์ จะต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย

ทันทีที่ข่าวไขมันทรานส์ถูกตีแผ่ออกไปตามหน้าสื่อต่างๆ ประชาชนและสังคมหันมาสนใจเรื่องนี้อย่างแพร่หลาย จำนวนไม่น้อยก็เกิดความสงสัยและตื่นตระหนกกับเรื่องนี้ บางคนถึงขนาดเข้าใจผิดว่าน้ำมันพืช น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ทุกสิ่งมีส่วนของไขมันทรานส์ไปแล้ว

Bye Bye ไขมันทรานส์

รูปแบบของทรานส์แฟต

สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ อธิบายเกี่ยวกับไขมันทรานส์ว่าไขมันทรานส์ คือ การเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืชเป็นบางส่วน ภาษาอังกฤษเรียกว่า Partially Hydrogenation เป็นไขมันที่มนุษย์สร้างขึ้นมาใช้ในอุตสาหกรรมเพราะมีราคาถูก เก็บไว้ได้นาน ไม่เหม็นหืน อีกทั้งพอผสมลงไปในอาหาร ก็ทำให้รสชาติหอมอร่อยเหมือนไขมันสัตว์ที่เกิดจากธรรมชาติ

“พอเติมไฮโดรเจนเข้าไปในน้ำมันพืช ก็จะกลายเป็นไขมันทรานส์ที่อยู่ในรูปของมาร์การีน (Margarine) หรือเนยเทียม เนยขาว (Shortening) ครีมเทียม และวิปครีม ทั้ง 4 ชนิดนี้มีไขมันทรานส์อยู่ และพอเอาทั้งสี่อย่างหรืออย่างใดอย่างหนึ่งไปใส่หรือเป็นส่วนประกอบอาหารหรือขนมอะไรก็ตาม อาหารหรือขนมชนิดนั้นก็จะมีทรานส์แฟตหรือไขมันทรานส์ผสมอยู่และไม่ควรกิน”

อย่าตระหนกเกินไป

นักโภชนาการชื่อดังย้ำว่าไขมันทรานส์อันตรายแน่นอน ถ้ากินอาหารที่มีไขมันทรานส์ประจำ ย่อมเป็นสาเหตุให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ ตามมา แต่สิ่งที่อยากจะบอกให้ทุกคนได้รู้คือ ตอนนี้ความสับสนได้เกิดขึ้นในสังคม ประชาชนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าน้ำมันพืชที่เราใช้ประกอบอาหารทุกวันนี้นั้นเป็นไขมันทรานส์ ซึ่งไม่ใช่เลย อยากให้สื่อได้สื่อสารกับประชาชนได้เข้าใจถูกต้อง ไม่อยากให้ประชาชนสับสนในเรื่องนี้

“ขอบอกว่าน้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก เป็นต้น ที่บรรจุอยู่ในขวดวางขายตามร้านค้า ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตนั้น ไม่มีส่วนผสมไขมันทรานส์ สามารถใช้ต่อไปได้ แต่ต้องใช้ให้เป็น ใช้ให้ถูก คือ อย่าใช้มากจนเกินไปและอย่ากินบ่อย มิเช่นนั้นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ มีสิทธิถามหาได้เช่นกัน อย่าคิดว่าการจะเป็นโรคพวกนี้ได้ต้องกินแต่ไขมันทรานส์เท่านั้นไม่ใช่ต้องเข้าใจให้ถูก”

Bye Bye ไขมันทรานส์

บอกตรงๆ ไม่อยากให้ผู้บริโภคสะพรึงกลัว หรือตื่นตระหนกเรื่องไขมันทรานส์มากจนเกินไป เพราะก่อนที่จะมีประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาฉบับนี้ เขาได้มีการเชิญผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ผลิตไขมันทรานส์ เนยเทียม เนยขาว ครีมเทียม วิปครีม ตลอดจนบริษัทที่ผลิตอาหารหรือขนม เช่น เบเกอรี่  โดนัท เค้ก คุกกี้  บิสกิต เฟรนช์ฟรายส์ รายใหญ่มาตกลงและเตรียมตัวกันมาก่อนเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่บริษัทเหล่านั้นมีการปรับตัวและมีการเปลี่ยนแปลงกันไปแล้ว

จะเห็นว่าสำนักโภชนาการ กรมอนามัยได้ออกไปสำรวจล่าสุด ก็พบว่าไขมันทรานส์ที่ปนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหารเหล่านี้ลดลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ 5 ปีที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นอย่าไปกังวลมากกับไขมันทรานส์ แต่สิ่งที่จะต้องปฏิบัติคือเราต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการกินของตัวเอง ถ้าชอบกินอาหารมัน อาหารเค็ม ของหวานต้องลด แล้วเพิ่มผักผลไม้มากขึ้น แล้วออกกำลังกายสม่ำเสมอ เดินทางสายกลางสายนี้ดีที่สุด ไม่ต้องกลัวโรค และไม่ต้องไปเสียเงินรักษาโรค” สง่า กล่าว

กินให้ห่างไกลไขมันทรานส์

ในช่วง 6 เดือนที่กฎหมายฉบับนี้ยังไม่บังคับใช้ แน่นอนว่าคนไทยเราอาจจะต้องเจอ และรับประทานอาหารที่มีไขมันทรานส์ เนื่องจากอาหาพวกนี้ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของหลายๆ คน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ปัฐมาพร หงส์สุวรรณ ผู้จัดการแผนกโภชนาการและน้ำดื่ม โรงพยาบาลพญาไท 2 แนะนำว่า ความจริงก็ไม่อยากให้ทุกคนตื่นกลัวไขมันทรานส์จนเกินเหตุ เพราะอาหารที่มีไขมันทรานส์ หรือมีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบนั้นมักใช้ในอาหารบางกลุ่ม เช่น พวกเบเกอรี่ คุกกี้ เค้ก เฟรนช์ฟรายส์ โดนัท เป็นต้น แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะบางผลิตภัณฑ์เจ้าของได้ประกาศออกมาแล้วว่าไม่ได้ใช้ส่วนประกอบของไขมันทรานส์

“สิ่งที่ควรปฏิบัติก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าที่เราไม่รู้ว่าสินค้านั้นมีไขมันทรานส์หรือไม่ ก็คือต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนเสมอ ถ้าในฉลากโภชนาการระบุไว้ว่ามีส่วนประกอบของครีมเทียม เนยเทียม หรือมาร์การีนอยู่ในสัดส่วนเท่าใดก็แล้วแต่ ถือว่าผลิตภัณฑ์ชนิดนั้นมีไขมันทรานส์อยู่ควรหลีกเลียง ถ้าผลิตภัณฑ์ใดไม่มีฉลากก็ยิ่งควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน”

Bye Bye ไขมันทรานส์

สง่า ดามาพงษ์ ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการอ่านฉลากโภชนาการเป็นสิ่งที่ทุกคนควรต้องใส่ใจ ถ้าเดินไปร้านสะดวกซื้อ สมมติจะซื้อขนมกรุบกรอบ ขนมถุงที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหรือในรูปแบบกล่อง ขอให้ผู้บริโภคหยิบกล่องหรือถุงบรรจุภัณฑ์นั้นขึ้นมาอ่านก่อน

“ถ้าระบุว่ามีเนยเทียม ครีมเทียม มีเนยขาว หรือวิปครีมอยู่เท่านั้นเท่านี้เปอร์เซ็นต์ แสดงว่ามีไขมันทรานส์อยู่ ซึ่งถ้ามีและมีไม่เกิน 0.5 ต่อหนึ่งหน่วยบริโภคถือว่าปลอดภัย ถ้าเกิน 0.5 ต่อหน่วยบริโภคเมื่อไรไม่ปลอดภัย หนึ่งหน่วยบริโภคจะระบุไว้ในฉลาก ซึ่งเป็นสิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) บังคับ ให้อาหารที่บรรจุในบรรจุภัณฑ์ระบุว่า 1 ซอง 1 กล่องต้องกินกี่ครั้ง ถ้ากินครั้งเดียวหมดแสดงว่ากิน 1 หน่วยบริโภค ถ้ากิน 2 ครั้ง 2 ซอง เรียกว่ากิน 2 หน่วยบริโภค แต่ถ้าเป็นซองใหญ่ๆ 2 หน่วยบริโภค กิน 1 ซองก็ถือว่าคุณเกินแล้ว”

สง่าย้ำว่า ในอาหารที่ไม่ได้อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตถูกต้องชัดเจนตามที่ อย.รับรอง เช่น โดนัท เค้ก ขนมปัง คุกกี้ เฟรนช์ฟรายส์ มันฝรั่งทอด ที่วางแบขายอยู่ เราไม่สามารถที่จะรู้ได้เลยว่าเป็นไขมันทรานส์หรือไม่ ดมกลิ่นก็ไม่รู้ ดูด้วยตาเปล่าก็ไม่ได้ สีก็บอกไม่ได้ ต้องเอาไปเข้าห้องแล็บอย่างเดียวจึงจะรู้

“เมื่อเป็นเช่นนี้เราสามารถเลือกรับประทานอาหารอย่างอื่นได้ เช่น พวกผัก ผลไม้ หรืออาหารจำนวนไขมันที่ดี เช่น ไขมันจากสัตว์ ไขมันจากกะทิ ไขมันจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว เป็นต้น แต่ต้องกินพอดีและจำกัดความถี่ จึงจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย ถ้ากินมากให้โทษเหมือนกัน ไม่ว่าอาหารนั้นจะมีไขมันทรานส์หรือไม่มีก็ตาม ถ้าคุณกินอาหารที่มีการทอดหรือผัดบ่อยๆ ร่างกายก็มีสิทธิอ้วนและมีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดได้แน่นอน

เพราะฉะนั้น ทางที่ดีควรลดอาหารรสเค็ม ลดหวาน และลดมัน แล้วกินผักผลไม้เยอะๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แค่นี้ก็สุขภาพดีแล้ว ไม่ต้องกลัวเป็นโรค ไม่ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องเสียค่ารักษาพยาบาล แต่สิ่งที่ห่วงคือหลังจากบังคับใช้กฎหมายแล้ว ไขมันทรานส์หายไปประเทศไทยแล้ว ผมกลัวคนไทยจะคิดแต่ว่าพอไม่มีไขมันทรานส์จะกินอะไรแบบไหนก็ได้ ขอแค่ไม่มีไขมันทรานส์เป็นใช้ได้ ถ้าคิดอย่างนี้อันตรายต่อสุขภาพ”

Bye Bye ไขมันทรานส์