posttoday

อันตรายหน้าฝน ระวังแมลงก้นกระดก และเชื้อโรคปะปนความชื้น

21 กรกฎาคม 2561

การเฝ้าระวังโรคผิวหนังและแมลงสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝน เป็นเรื่องสำคัญและต้องใส่ใจอย่างยิ่งยวด

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

การเฝ้าระวังโรคผิวหนังและแมลงสัตว์มีพิษในช่วงฤดูฝน เป็นเรื่องสำคัญและต้องใส่ใจอย่างยิ่งยวด บางทีเรื่องที่มองข้ามและสามารถหาทางป้องกันง่ายๆ กลับมองผ่านหรือข้ามไป เมื่อเกิดเหตุเกิดโรคจนเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ต้องเสียสุขภาพ เสียเวลารักษา และเสียเงินทองโดยมิจำเป็น

ศ.ดร.นพ.ประวิตร อัศวานนท์ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย บอกว่า ปีนี้หน้าฝนมาเร็ว ความชื้นมาเร็ว ทำให้หลายๆ พื้นที่มีน้ำท่วมขังหรือน้ำรอการระบาย โดยที่เราไม่คาดการณ์ล่วงหน้า โรคหลายๆ โรคมักจะมากับความชื้น

“อย่างที่เจอบ่อยๆ คือ เชื้อราที่เท้า ซึ่งบางคนเรียกว่าน้ำกัดเท้า เชื้อราในที่อับๆ ทั้งหลายอย่างขาหนีบก็พบบ่อยในช่วงนี้ จริงๆ อย่างบ้านเราความชื้นมีทั้งปี บางช่วงก็ร้อนชื้น บางช่วงก็เย็นชื้น ซึ่งเป็นอากาศที่เชื้อราชอบ”

ในฤดูฝน ศ.ดร.นพ.ประวิตร ชี้ว่าพอน้ำท่วมหลายๆ คนก็ต้องใส่รองเท้าลุยน้ำเข้าบ้าน พอใส่รองเท้าแล้วรองเท้าชื้นแล้วก็ใส่คู่เดิม โดยเฉพาะอาชีพตำรวจหรือทหารที่มีรองเท้าเพียงคู่เดียว

“ยิ่งเป็นแบบรองเท้าบู๊ตก็มีโอกาสจะเป็นได้สูง เชื้อราอยู่ในรองเท้าและอยู่บนผิวหนังเรา พอเราใส่รองเท้าคู่เดิมไปทุกๆ วัน เชื้อราทั้งหลายชอบความชื้น ถ้าเราทำให้ผิวหนังเราแห้งได้พอสมควร เชื้อราจะไม่ค่อยเกิดขึ้น การใส่รองเท้าถ้าหากเป็นคู่ที่เปียกๆ ควรพักรองเท้าบ้าง

ถ้าให้ดีให้สลับแล้วพักให้แห้งบ้าง หรือทางที่ดีให้สลับรองเท้าอยู่เรื่อยๆ อย่าพยายามใส่คู่เดียว ถึงแม้เป็นคู่ที่เรารักเราอยากใส่ทุกวันก็ตาม ส่วนถุงเท้าต้องเปลี่ยนทุกวัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการหมักหมมของเหงื่อที่เท้า หรือแถวๆ ขาหนีบ แถวซอกรักแร้ ก็ต้องทำความสะอาดร่างกายให้ดี อย่าให้มันชื้นหรืออับมากเกินไป”

สำหรับในกรณีมีแผลที่เท้าอยู่แล้ว ศ.ดร.นพ.ประวิตร แนะนำว่าต้องดูแลเป็นพิเศษและรักษาแผลให้หาย ดูว่าแผลเกิดจากอะไร

“ผื่นจากเชื้อราที่อักเสบหน่อย อาจได้เชื้อมาจากสัตว์บางชนิด ซึ่งอาจจะมีตุ่มน้ำตุ่มหนองขึ้นมาได้ อีกที่หนึ่งที่เป็นบ่อยและลองสังเกตดูจะเป็นตามซอกของนิ้วนางกับนิ้วก้อยเท้า ซึ่งโดยธรรมชาติจะปิดที่สุดจะอับที่สุด มันจะไม่เหมือนหัวแม่โป้งเท้าที่จะใหญ่หน่อย”

สำหรับโรคเท้าเหม็นเกิดจากเท้ามีเหงื่อออกเยอะ ศ.ดร.นพ.ประวิตร ขยายความว่าแล้วมีเชื้อแบคทีเรียบางตัวที่ชอบความชื้นจึงมักอยู่บริเวณนี้ บางคนที่ฝ่าเท้าหนาหน่อยหรือเหงื่อออกง่ายหน่อย ก็จะเชื้อเชิญทั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียมาอยู่ด้วยกันเลย

“วิธีสังเกตง่ายๆ บางทีเพื่อนๆ ก็จะบอก เพราะบางทีตัวเองชินกับกลิ่นตัวเอง หรือที่เท้าอาจจะเห็นเป็นหลุมๆ เกิดจากแบคทีเรียพวกนั้นเติบโตขึ้นแล้ว ไปย่อยผิวหนังให้เป็นหลุมๆ จะต้องทำการรักษา แล้วเรื่องกลิ่นเท้าจะดีขึ้น ซึ่งจะมียาทาเฉพาะที่ หรือกลุ่มยารักษาสิวบางชนิดที่ฆ่าเชื้อราและแบคทีเรียได้ ส่วนแอลกอฮอล์สามารถช่วยได้เป็นครั้งคราว ซึ่งการรักษาต้องฆ่าเชื้อเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควรถึงจะหาย”

อันตรายอีกอย่างที่มักพบในช่วงฤดูฝนคือแมลงกัดต่อย ศ.ดร.นพ.ประวิตร มองว่าจริงๆ แล้ว แมลงในเมืองไทยเยอะมาก เพราะภูมิประเทศบ้านเราเป็นเขตร้อนชื้น

“ยุงก็เยอะ คนที่แพ้ก็จะเป็นตุ่มผื่นขึ้นได้ แต่ที่มักเป็นข่าวบ่อยๆ จะมีแมลงอยู่ชนิดหนึ่ง ช่วงปลายๆ ฤดูฝนจะพบได้ก็คือด้วงก้นกระดก หรือแมลงก้นกระดก เคยมีข่าวว่าโดนแล้วตาย จริงๆ แล้วพิษของแมลงชนิดนี้มันอยู่ในตัวของมันเอง โดยจะมีสารที่หลั่งออกมา แมลงก้นกระดกมักจะอยู่ทั้งในบ้านและนอกบ้าน

ที่น่าสนใจคือ แมลงชนิดนี้เป็นแมลงเล่นไฟชนิดหนึ่ง คนส่วนมากมักจะโดนพิษของแมลงชนิดนี้ในเวลากลางคืน เนื่องจากปิดไฟแล้วแมลงจะตกตามที่นอน ซึ่งเมื่อเราตื่นขึ้นมาก็มักจะรู้สึกแสบๆ อยู่ตามตัว และจะเจอแผลไหม้ๆ แดงๆ สังเกตอาจจะเป็นแผลไหม้ๆ ยาวๆ แต่จะไม่ถึงกับเสียชีวิต ด้วงหรือแมลงก้นกระดกนั้นบินได้ ตัวที่เห็นจะเป็นสีส้ม-ดำ ถ้าเจออย่าบี้หรือขยี้ พิษของมันหากใครโดนก็เหมือนที่ผิวจะเกิดอาการแสบไหม้”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ seedoctornow.com เผยแพร่ถึงรายละเอียดของแมลงก้นกระดกว่า มีขนาดตัวประมาณ 7-10 มิลลิเมตร ลำตัวมีสีดำสลับกับส้ม พบมากทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ โดยเฉพาะบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น แมลงก้นกระดกจะชอบออกมาเล่นไฟนีออนที่มีแสงสีขาว และด้วยขนาดตัวที่เล็กทำให้สามารถเล็ดลอดช่องประตูเข้ามาได้

แมลงก้นกระดกจะไม่ทำอันตรายโดยการกัดหรือต่อย แต่ในลำตัวของแมลงก้นกระดกจะมีสารที่ชื่อว่า Paederin ซึ่งเป็นสารพิษที่มีฤทธิ์เป็นกรด ก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อผิวหนัง สามารถทำลายผิวหนังและเซลล์เนื้อเยื่อได้ ซึ่งหากไม่ไปบี้หรือเผลอปัดที่ลำตัวของแมลง สารชนิดนี้ก็จะไม่สามารถกระจายออกมาภายนอกได้

พิษจะทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดงหรือรอยไหม้เป็นทางยาว มีอาการปวดแสบร้อน และเกิดตุ่มพุพอง ซึ่งหากโดนในบริเวณผิวเนื้ออ่อน เช่น บริเวณรอบดวงตา จะมีความรุนแรงมากกว่าที่อื่น โดยเมื่อโดนพิษของแมลงแล้วห้ามขยี้หรือเกา เพราะจะทำให้พิษขยายวงกว้าง ให้ทำความสะอาดบริเวณที่โดนพิษด้วยการเปิดน้ำให้ไหลผ่านแผล เพื่อชะล้างสารพิษออกไปให้มากที่สุด แล้วใช้สบู่ที่มีฤทธิ์เป็นด่างถูบริเวณแผลเพื่อช่วยกำจัดสารพิษ จากนั้นควรไปพบแพทย์ซึ่งจะสามารถสั่งยาทาช่วยให้อาการไม่ลุกลามไปมากขึ้น

หากพบแมลงก้นกระดกในบริเวณบ้าน ให้ใช้ผ้าหรือกระดาษเขี่ยทิ้งในถุงพลาสติก และมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้ง ถ้าโดนแมลงก้นกระดกมาเกาะห้ามตบหรือบี้โดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้ท้องของแมลงแตกและสารพิษกระจายออกมาโดนผิว ให้ใช้สกอตเทปแปะ เป่า หรือใช้กระดาษเขี่ยออกจากผิวหนัง