posttoday

เตรียมตัว-ใจ รับวัยเกษียณ ปัทมา เปรมปรี

21 กรกฎาคม 2561

นับว่าเป็นผู้หญิงแกร่งและเก่งที่ในแวดวงสื่อสารมวลชนและบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์รู้จักเป็นอย่างดี “ปัทมา เปรมปรี”

โดย อรวรรณ จันทร์ธิวัตรกุล

นับว่าเป็นผู้หญิงแกร่งและเก่งที่ในแวดวงสื่อสารมวลชนและบริษัทที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์รู้จักเป็นอย่างดี “ปัทมา เปรมปรี” กรรมการผู้จัดการ บริษัท มิกซ์ แอนด์ แมทซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ทั้งนี้ด้วยประสบการณ์ทำให้เห็นถึงมุมมองด้านต่างๆ รวมทั้งการ
เตรียมตัวและเตรียมใจเมื่อต้องถึงวัยต้องเกษียณแม้ปัจจุบันจะมีอายุ 50 ปีก็ตาม

คุณปัทมา กล่าวว่า ร่างกายของเราเหมือนรถที่ใช้งานหนักมากว่า 50 ปี อะไหล่เริ่มเสื่อม สมรรถภาพลดน้อยถอยลง จำเป็นต้องค่อยๆ ซ่อมแซมกันไป วัยนี้จึงต้องเคร่งครัดเรื่องอาหารการกินที่พอเหมาะพอควรกับวัย กินให้ครบ 5 หมู่ บางหมู่ก็ต้องเพลาๆ ลงบ้างจำพวก แป้ง น้ำตาล และไขมัน ตรวจสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอเพื่อให้สามารถควบคุม ดูแล และเฝ้าระวังโรคภัยที่เสี่ยง หรือโรคที่เกิดจากกรรมพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง หรือเบาหวาน ความดัน หัวใจ

ทั้งนี้ แน่นอนว่าส่วนใหญ่เราก็จะรู้อยู่แล้วว่าอาหารประเภทไหนที่บริโภคแล้วเลี่ยงต่อการเกิดโรคอะไร ก็ให้หลีกเลี่ยง แต่สำหรับเราแล้วเรื่องการบริโภคเป็นสิ่งที่คนทุกวัยต้องให้ความสำคัญ ไม่ต้องรอให้อายุเยอะแล้วค่อยมาคิด ความเห็นส่วนตัวคือ เดินสายกลางดีที่สุด จะกินก็กินแบบกระจาย ไม่กินกระจุกแต่ของซ้ำๆ เดิมๆ ออกกำลังกายก็ควรเน้นแบบพอดีๆ ให้เหมาะสมกับวัย ไม่หักโหม

สำหรับวัย 50 ในด้านการทำงานถือว่าเดินทางมาเกือบจะถึงปลายทางของการทำงานแล้ว ดังนั้นเราจึงควรค่อยๆ ถอยออกมายืนด้านหลังบ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ๆ ได้ใช้ประสบการณ์และความรู้ในการทำงานให้มากขึ้น โดยเรายังสามารถชี้แนะและให้คำแนะนำ

เตรียมตัว-ใจ รับวัยเกษียณ ปัทมา เปรมปรี

ขณะที่คิดว่าสิ่งที่ยังคงสำคัญที่สุดคือ ถึงแม้วัยจะล่วงเลยไปแค่ไหน จะใกล้เกษียณหรือเกษียณแล้วก็ไม่ควรทำตัวเป็น Dead Wood ควรจะต้องคิดและหาอะไรใหม่ๆ โดยต่อยอดจากประสบการณ์และความรู้ที่เรามีอยู่ คิดว่าหลักการและตรรกะที่ใช้ในการทำงานคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงก็คือ เทคนิค และวิธีการใหม่ๆ ที่จะมีในเรื่องของเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งจะวัยไหนก็ต้องมีการอัพเดทอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในวิชาชีพพีอาร์ ที่เครื่องมือหรือวิธีการเดิมๆ ก็อาจจะใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบันหรืออนาคตแล้ว
ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ว่าจะวัยไหน แต่ในด้านการทำงานแล้ว “เราควรทำตัวเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้วอยู่เสมอ”

นอกจากนี้ เรื่องของการเก็บออมและการวางแผนเป็นการเตรียมตัวที่ดี ด้านการเงินเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรจะวางแผนตั้งแต่วัย 30 กว่าๆ ที่หน้าที่การงานเริ่มมีความมั่นคงแล้ว เพราะการแพทย์ที่ดี จะทำให้เราอายุยืนยาวขึ้น หรือเปล่าไม่รู้นะ อายุยืนขึ้นก็ต้องใช้เงินมากขึ้น ต้องมีเงินเก็บเพื่อก้าวสู่วัยเกษียณ โดยไม่ต้องเดือดร้อนลูกหลาน ซึ่งในยุคปัจจุบันก็มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากมายไว้รองรับคนในวัยเกษียณ ทำให้เราสามารถก้าวสู่วัยเกษียณได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

คุณปัทมา กล่าวถึงการเตรียมใจ ว่าการเตรียมใจเนี่ยยากสุดละ หนึ่ง เพราะเราเป็นผู้หญิง ต้องยอมรับว่าฮอร์โมนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อก้าวสู่วัยคุณภาพ (วัยทอง) บางครั้งก็ควบคุมลำบาก แต่ละคนจะมีวิธีการควบคุมไม่เหมือนกัน สำหรับพี่ถ้ารู้ว่าเริ่มหงุดหงิด จะต้องออกไปหาอะไรที่เราทำแล้วรู้สึกผ่อนคลาย อย่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิมๆ

สำหรับตัวเองไม่น่าเชื่อว่าจากคนที่ไม่ค่อยจะธรรมะธัมโม ก็หันมาอ่านหนังสือธรรมะ และนั่งสมาธิมากขึ้น อันนี้อยากจะแนะนำหลายๆ คน ซึ่งตรรกะจริงๆ แล้วก็คือทำให้เราอยู่และเรียนรู้ทุกอย่างบนโลกอย่างมีสติมากขึ้น เพราะวัยนี้ต้องยอมรับว่าเราเดินทางมาถึงจุดที่ต้องสูญเสีย หรือพลัดพรากจากคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ต้องเข้าใจในสัจธรรมของชีวิตไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ แก่ เจ็บ และตาย ซึ่งบางครั้งก็มาถึงแบบไม่ทันตั้งตัว ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุด คือ การวางแผนชีวิตที่ดี เพื่อที่เราจะมั่นใจได้ว่า คนที่อยู่ข้างหลังเราจะไม่เดือดร้อน

เตรียมตัว-ใจ รับวัยเกษียณ ปัทมา เปรมปรี

การปล่อยวาง อันนี้สำคัญที่สุด เพราะหนึ่งในด้านการทำงาน แน่นอนว่าบทบาทและความสำคัญของเราจะต้องลดลง ที่บางครั้งเมื่อเราไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหรือบทบาทนั้นๆ แล้ว อาจจะไม่ได้มีความสำคัญเหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อถึงวันหนึ่งที่เราต้องถอดหัวโขนออก เราก็ต้องอยู่ให้ได้อย่างสง่างาม ได้รับเกียรติ และความนับถือจากคนรุ่นหลังๆ จากการกระทำดีๆ ที่เราสั่งสมมาตลอดระยะเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคมที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่อย่าง Give และ Take ไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช้ Take อย่างเดียวจากอำนาจและบารมีที่เรามี สอง ในด้านครอบครัว ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสมาชิกในครอบครัว ที่เราต้องปล่อยให้บุตรหลานได้เดินไปตามเส้นทางและสร้างครอบครัวของตัวเอง ซึ่งถึงแม้เขาจะไม่ได้พึ่งพาเราเหมือนตอนเล็กๆ แต่เชื่อเถอะว่า เรายังคงเป็นไอดอลในใจเขาอยู่เสมอ

นอกจากนี้ ต้องไม่หยุดสวย การเป็นผู้หญิงเราต้องไม่หยุดสวย หรือหยุดที่จะดูแลตัวเอง ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งต้องดูแลตัวเองในเรื่องของการแต่งตัวและการบำรุงตัวเองให้มากขึ้น ซึ่งสำหรับพี่มีผลในแง่ของจิตใจนะ เพราะถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสีสันของชีวิตทำให้เราไม่อับเฉาไปตามวัย

หลังจากที่เราเตรียมตัวและเตรียมใจพร้อมที่จะก้าวสู่วัยเกษียณแล้ว ต่อไปนี้เราก็ “จงใช้ชีวิตทุกๆ วัน ให้เหมือนเป็นวันสุดท้ายของชีวิต” อะไรที่ดีต่อใจก็ทำซะ สำหรับตนเองแค่หันกลับไปเจอเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เคยได้ผ่านเข้ามาในแต่ละช่วงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นวัยเด็ก วัยเรียน วัยทำงาน แค่นี้ก็มีความสุข และทำให้คิดว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาเรามีกัลยาณมิตรที่ดีมากมายที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางคนเป็นเพื่อนสมัยเรียน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมอาชีพ ร่วมสังคม พัฒนาจากลูกค้ามาเป็นเพื่อนคู่คิดที่ให้คำแนะนำดีๆ ได้เสมอเมื่อมีปัญหา หรือมีความทุกข์

ส่วนที่เหลือก็คือเพิ่มความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวเปิดโลกทัศน์ให้มากขึ้น เป้าหมายการท่องเที่ยวของพี่มักเป็นแหล่งธรรมชาติ ต้นไม้ ภูเขา จะในประเทศหรือต่างประเทศก็ได้ ส่วนใหญ่จะเน้นแหล่งชนบทไกลๆ มากกว่า ล่าสุดไป Backpack ซาปา-ฮานอย เวียดนาม กับลูกๆ สนุกมาก แค่ได้ตื่นสายๆ ใช้ชีวิตช้าๆ ไม่ต้องเร่งรีบ สูดหายใจแบบเต็มๆ ปอด ก็โอเคแล้ว เพราะทุกๆ วันเราใช้ชีวิตกับการเดินทางมากกว่า 4 ชั่วโมง ทำงานอีกมากกว่า 8 ชั่วโมง ก็แทบไม่เหลือให้ทำอย่างอื่นแล้วละ หลังจากท่องเที่ยวทุกครั้ง เรามักจะกลับมาพร้อมกับ Passion และได้ชาร์จพลังงานดีๆ ที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขเสมอ

“ต้องบอกว่าที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นสิ่งที่พยายามทำอย่างยิ่ง บางข้อได้ บางข้อต้องใช้เวลาในการปรับทัศนคติและพฤติกรรมของตัวเองอยู่เหมือนกัน ซึ่งเชื่อว่าถ้าสามารถทำได้ทั้งหมดนี้ ชีวิตเราก็จะไม่มีคำว่า ‘เกษียณ’ แน่นอน” คุณปัทมา กล่าว