posttoday

ธนวรรธน์ พลวิชัย นักเศรษฐศาสตร์สายประยุกต์

21 กรกฎาคม 2561

ในวงการนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ชื่อของ ธนวรรธน์ พลวิชัย รองคณบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการและวิจัย

โดยชลธิชา ภัทรสิริวรกุล ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์

ในวงการนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ชื่อของ ธนวรรธน์ พลวิชัย รองคณบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการและวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย น่าจะถูกคิดถึงเป็นอันดับแรกๆ เพราะเป็นคนที่มีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจแบบรอบด้าน และด้วยลักษณะการนำเสนอที่ตรงประเด็น เข้าใจง่าย จึงไม่แปลกใจที่ธนวรรธน์จะถูกเรียกใช้บริการ และครองพื้นที่สื่ออยู่บ่อยๆ

ชะตาลิขิต ฟ้ากำหนดให้เป็นนักเศรษฐศาสตร์

ธนวรรธน์ พลวิชัย นักเศรษฐศาสตร์สายประยุกต์

ธนวรรธน์ หรืออาจารย์กอล์ฟของลูกศิษย์ เล่าให้ฟังว่า จริงๆ แล้วไม่เคยคิดที่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์เลย อยากเป็นวิศวกรมากกว่า ทำให้ได้เรียนฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ และเริ่มตั้งใจเรียนเพื่อสอบเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย แต่ปรากฏว่าสอบไม่ติด จึงต้องมองว่าที่ไหนเปิด และมีสาขาไหนบ้างที่พอจะสอบเทียบโอนกันได้ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา พบว่าตอนนั้นมีเพียงคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เปิด จึงไปเรียน และเรียนแบบงงๆ แต่กลับจบภายใน 3 ปีด้วยเกียรตินิยมอันดับ 2

“พอจบก็เลยไปเรียนต่อที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพราะด้วยความที่เรียนจบเร็ว ทำให้ต้องหาที่เรียนต่อที่เปิดรับช่วงกลางเทอม ซึ่งก็มีเพียงคณะเศรษฐศาสตร์ (เชิงปริมาณ) ของนิด้าที่เปิดสอน ทั้งๆ ที่ใจจริงแล้ว อยากเรียนต่อหลักสูตรด้านการบริหารธุรกิจ (เอ็มบีเอ) มันจึงเหมือนไฟลต์บังคับ พอจบปริญญาโทแล้วก็มีโอกาสไปทำงานที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 5 ปี ก่อนจะได้รับทุนให้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา”

และตอนนั้นเขาก็เลือกไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยในรัฐที่มีญาติอยู่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ แล้วก็บังเอิญอีกที่มหาวิทยาลัยในรัฐนั้นมีคณะเศรษฐศาสตร์ด้านสถิติที่เปิดสอนอยู่ และได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับแบบจำลองทางเศรษฐกิจ

“ตอนที่ทำงานอยู่ กฟผ.ก็มีโอกาสได้ใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ในการทำงาน และยิ่งเมื่อจบเอกมาทำให้รู้และเข้าใจทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ สถิติและเศรษฐศาสตร์ จึงทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้มาผสมผสานกัน และมองอะไรเป็นระบบมากขึ้น ทำให้รู้ว่าตัดสินใจถูกแล้วที่เลือกเรียนทางนี้”

เส้นทางการทำงานที่หล่อหลอมสู่แวดวงวิชาการ

ธนวรรธน์ พลวิชัย นักเศรษฐศาสตร์สายประยุกต์

เมื่อเรียนจบปริญญาเอกกลับมา แรกๆ ธนวรรธน์ก็ยังไม่รู้จะทำอะไรดี รู้แค่ว่าตัวเองอยากทำงานกับเอกชนและภาคธุรกิจ และก็ไม่รู้อะไรดลใจให้โทรหาเพื่อนคนหนึ่งที่ไม่เจอกันมานานมาก

“เลยเปิดสมุดหน้าเรียนเพื่อหาเบอร์โทรมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยที่เพื่อนสอนอยู่ และจำได้ว่า ตอนนั้นปลายสายเป็นผู้หญิงรับ และเผอิญเพื่อนเราอยู่ตรงนั้นพอดี ก็เลยได้คุยถามสารทุกข์สุกดิบกัน ก็ตอบไปว่า นี่เพิ่งเรียนจบเอกกลับมา เพื่อนเลยชวนว่าสนใจมาสมัครเป็นอาจารย์ที่หอการค้าไทยมั้ย จึงตอบตกลงไป”

เขาเริ่มชีวิตการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในปี 2538 ทำได้ปีกว่าๆ ก็มีคนชวนไปทำงานฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจบริษัทหลักทรัพย์ แต่โชคร้ายที่ปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

“สถาบันการเงินหลายแห่งปิดตัวลง รวมทั้งบริษัทที่ทำอยู่ด้วย จึงทำให้ตอนนั้นตกอยู่ในภาวะคนว่างงาน และทางมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทราบข่าวก็เลยชวนให้กลับมาทำงานด้วยอีกรอบ และอยู่ยาวมาถึงปัจจุบัน จากประสบการณ์ตอนนั้น ทำให้เข้าใจในมุมมองของทั้ง
ภาครัฐ เศรษฐกิจ และภาคธุรกิจ ได้เข้าใจเรื่องการวิเคราะห์หุ้น รวมทั้งได้เรียนรู้ภาวะการหนีตายและภาวะการรอดตาย และเข้าใจสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ มันจึงกลายเป็นทักษะในการทำงานที่ติดตัว”

เศรษฐศาสตร์ในฉบับ“ธนวรรธน์”

การดึง 5 เสือ ตั้งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ถือว่าเป็นการเปิดประตูใหม่ของชีวิตธนวรรธน์ หลังจากที่มหาวิทยาลัยทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการของหอการค้าไทย จึงทำให้มีแนวคิดที่จะเปิดศูนย์ที่ใช้ในการติดตามและพยากรณ์ทางด้านเศรษฐกิจในเวลานั้น จึงได้ดึงอาจารย์ที่จบ ป.เอก 5 คนมาตั้งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเมื่อเดือน มิ.ย. 2541 และโพลดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจึงเปิดตัวออกมาครั้งแรกเมื่อ พ.ย. 2541 พอแถลงข่าวเปิดตัวปุ๊บก็ได้รับความสนใจจากสื่อ และเป็นที่ยอมรับ เพราะออกมาได้ถูกที่ ถูกเวลา และครองพื้นที่สื่อมาถึงทุกวันนี้

หากจะให้นิยามตัวเองนั้น ธนวรรธน์ บอกว่า คงตอบไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นคำถามง่ายๆ เพราะสไตล์ของแต่ละคนก็ต่างกัน

“ผมโชคดีที่มีประสบการณ์ทางด้านสื่อสารมวลชนจากการจัดรายการวิทยุและทีวี ทำให้มีทักษะในการอ่านสรุปข่าว และจับประเด็นได้ดีและเร็ว และจากประสบการณ์เรารู้เลยว่า ถ้าคุยกับนักธุรกิจ มีเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง นักธุรกิจจะเอาประเด็นอะไร ต้องพูดให้ตรงประเด็น ไม่อ้อมค้อม และให้เขารู้ว่า เขาจะได้คำตอบที่กำลังมองหา มันฝึกให้เราทำงานรวดเร็วใช้คำพูดสั้นๆ มุ่งตอบคำถาม ทำให้สไตล์ของเราหลุดจากโลกวิชาการ

กับฉายาที่ว่าเป็น ‘อับดุล’ นั้น ความจริงผมเป็นคนไม่มีสคริปต์ แต่โชคดีที่การทำงานมีโอกาสได้คุยกับคนในทุกระดับ ตั้งแต่นักธุรกิจพันล้าน ภาครัฐ ไปจนถึงชาวนา ทำให้มีข้อมูลอยู่รอบตัว แล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลแล้ววิเคราะห์ออกมา มันจึงทำให้เรารู้และสามารถตอบได้ทุกเรื่อง”

บทบาทในหมวกของบอร์ดและโฆษกสำนักงานสลากฯ

ธนวรรธน์ พลวิชัย นักเศรษฐศาสตร์สายประยุกต์

ธนวรรธน์ ยอมรับว่า เขามีภารกิจเยอะมาก ต้องทำงาน 7 วันมาหลายเดือนแล้ว ทั้งตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย บอร์ดในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และงานวิจัยที่ทำร่วมกับหลายๆ หน่วยงาน แต่ก็มองว่า นั่นเป็นการที่เขาให้โอกาสเราได้แสดงความสามารถ และทุกครั้งที่มีโอกาสก็จะใช้ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เข้าไปเปลี่ยน

“เพราะหลักของวิชาเศรษฐศาสตร์คือ การจัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเลือกทางที่ดีที่สุด เช่นเดียวกับการเข้ามาเป็นบอร์ดและโฆษกกองสลากฯ ที่ต้องแก้ปัญหาราคาสลากแพง ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะเรื่องนี้มีคนเกี่ยวข้อง 4 กลุ่ม คือ ผู้ซื้อ ผู้ขาย สังคม และรัฐบาล ซึ่งเราต้องตอบโจทย์คนทั้ง 4 กลุ่มให้ได้พอดี เพราะถ้าขายปล่อยให้ขายแพงก็ไม่ตอบโจทย์คนซื้อ ถ้าพิมพ์เพิ่มก็ไม่ตอบโจทย์สังคม เพราะถือเป็นการมัวเมาสังคม

ถ้าสำนักงานจะทำขายเองก็ไม่ตอบผู้ขาย ทางแก้คือ การออกลอตโต้ แต่คำถามคือ พร้อมไหม ตอบเลยว่ายัง ทำให้ระหว่างนี้ต้องใช้ค่อยๆ ทยอยแก้ด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดการช็อกจากการเปลี่ยนแปลงทันที รวมทั้งมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นมากขึ้น เพื่อสร้างการรับรู้ จึงทำให้ภาพของบอร์ดกองสลากฯ ชุดนี้ต่างจากที่ผ่านมา เรียกว่าเป็นมิติใหม่ของกองสลากฯ”

เมื่อผลงานเยอะขนาดนี้ ธนวรรธน์ยอมรับว่า ก็มีคนชวนให้เข้าสู่วงการการเมืองอยู่เหมือนกัน และมีการชักชวนมานานแล้ว แต่ต้องตอบว่า เขายังไม่ได้คิดเรื่องนั้น

“เพราะสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้ก็ถือว่าเป็นการช่วยเหลือสังคมแล้ว (ยิ้มหล่อเลย) แต่เอาจริงๆ ถ้าถึงเวลาที่มันจำเป็นก็คงไป แต่ไม่ได้ไปเพราะอยากไป ซึ่งมันอยู่ที่จังหวะเวลา สุดท้ายผมอาจจะเกษียณอายุที่อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมดาๆ หรืออาจจะมีตำแหน่งทางการเมืองก็ได้ ใครจะรู้ (หัวเราะ)”