posttoday

พิวัฒน์ ศุภวิทยา กรวยอัจฉริยะแก้ระบบรับส่งนักเรียน

17 กรกฎาคม 2561

การจราจรในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่คนกรุงเดินทางไปทำงาน เด็กๆ เดินทางไปโรงเรียนในตอนเช้า (เวลา 07.00-09.00 น.)

เรื่อง วรธาร ทัดแก้ว ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงษ์

การจราจรในกรุงเทพฯ ในช่วงเวลาที่คนกรุงเดินทางไปทำงาน เด็กๆ เดินทางไปโรงเรียนในตอนเช้า (เวลา 07.00-09.00 น.) และช่วงเลิกเรียนไปจนถึงเวลาเลิกงาน รถยนต์บนท้องถนนหนาแน่น ทำให้การจราจรติดขัดในหลายๆ จุด

จุดหนึ่งที่มักเจอปัญหา ถ้าไม่มีการบริหารจัดการหรือจัดระบบการจราจรที่ดี คือบริเวณถนนด้านหน้าโรงเรียนและรอบโรงเรียน ที่เกิดจากการจอดรถแช่นานหรือขับรถแทรกเลน โดยเฉพาะโรงเรียนใหญ่นักเรียนมาก และอยู่ในละแวกที่การจราจรคับคั่งในเวลาเร่งด่วน

โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่และมีนักเรียนประมาณ 6,000 คน มักประสบปัญหาเวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองขับรถมารับมาส่งลูกหลานที่หน้าประตูโรงเรียน ในซอยประมวญ ถนนสาทร

จากสภาพปัญหานี้ทำให้ ปุ๊น-พิวัฒน์ ศุภวิทยา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย พร้อมกับเพื่อนอีกหนึ่งคือ ปัง-ศุภสิทธิ์ สิทธิพันธ์ คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาการรับส่งนักเรียนให้เป็นระบบ เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับเด็กๆ และแก้ปัญหาจราจรติดขัดและลดการเกิดอุบัติเหตุด้วย

“ปัญหาพวกนี้ผมเจอมาตั้งแต่เด็กแล้ว พ่อแม่ผู้ปกครองโดยมากอยากให้ลูกมาขึ้นรถ หรือส่งลูกลงตรงด้านหน้าประตูโรงเรียน ไม่อยากจอดรถไกลๆ แล้วให้ลูกเดินไปโรงเรียนหรือเดินมาขึ้นรถ เพราะห่วงความปลอดภัยลูก ถ้าจอดหน้าประตูโรงเรียนพ่อแม่ก็สบายใจ แต่ปัญหาคือบางคนลูกยังไม่มาก็จอดแช่ พอการจราจรติดขัดบางคันก็แทรกเลนเข้ามาทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก บางทีเกิดอุบัติเหตุ

ผมกับเพื่อนจึงประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาแก้ปัญหา ชื่อว่า BCC E-TM (Bangkok Christian College Electronic Traffic Management) รถถูกคัน รับถูกคน เพื่อความปลอดภัยของรถกับรถ และรถกับเด็ก”  พิวัฒน์ เล่าถึงที่มาของการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน

พิวัฒน์ ศุภวิทยา กรวยอัจฉริยะแก้ระบบรับส่งนักเรียน

BCC E-TM ระบบกรวยอัจฉริยะ

พิวัฒน์ เล่าว่า สิ่งประดิษฐ์ BCC E-TM ดังกล่าว มีแนวคิดมาจากการปรับปรุงกรวยจราจรที่เราพบเห็นตามท้องถนนทั่วไป โดยเขากับเพื่อนได้นำมาปรับให้กลายเป็นระบบกรวยที่มีความอัจฉริยะ โดยเพิ่มองค์ประกอบของระบบ 4 อย่างต่อไปนี้เข้าไป

ประกอบด้วย 1.แอพพลิเคชั่นของผู้ปกครองซึ่งจะสามารถส่งข้อมูลเพื่อเรียกนักเรียนอัตโนมัติผ่านอินเทอร์เน็ต 2.เครื่องสแกนบัตรนักเรียน เพื่อตรวจสอบว่านักเรียนได้เข้ามารอที่จุดรับนักเรียน และเมื่อได้เข้ายังรถผู้ปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

3.กรวยกล้องแอลพีอาร์ (LPR) ซึ่งประกอบด้วย (1) กล้องแอลพีอาร์ซึ่งจะสามารถตรวจจับป้ายทะเบียนรถและส่งข้อมูลไปให้เซิร์ฟเวอร์การประมวลผล (2) ทาวเวอร์แลมป์ (Tower lamp) และไซเรน (Siren) ซึ่งจะแสดงไฟสีต่างๆ ในกรณีการรับส่งนักเรียน (3) อัลตราโซนิกเซ็นเซอร์ (Ultrasonic Sensor) ซึ่งจะตรวจจับวัตถุที่เคลื่อนที่เข้ามาในช่องทาง (4) โหนด เอ็มซียู (NodeMCU) ซึ่งจะรับข้อมูลจากการประมวลผลและส่งสัญญาณเพื่อเปิดสัญญาณไฟ ทำให้เราสามารถตรวจสอบรถที่เข้ามารับนักเรียนและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและความปลอดภัยในการรับส่งนักเรียน

อันสุดท้ายคือ 4.กรวยกำหนดเวลา (เท่ากับมี 2 กรวย) ประกอบด้วย กรวยกล้องแอลพีอาร์ระบบเซ็นเซอร์อัลตราโซนิก โหนดเอ็มซียู และเพิ่มเติมในส่วนของไฟและเสียงแจ้งเตือน ซึ่งจะทำงานเมื่อรถผู้ปกครองใช้เวลาในการรับนักเรียนมากเกินเวลาที่กำหนดไว้และเร่งให้รถออกจากช่องทางการรับนักเรียน

สำหรับกลไกการทำงานของระบบ BCC E-TM พิวัฒน์อธิบายว่า ผู้ปกครองจะทำการเปิดแอพพลิเคชั่นและกดปุ่มเริ่มทำการรับนักเรียน ข้อมูลจะถูกส่งไปยังแท็บเลตและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนที่จะมีเครื่องสแกนบัตรนักเรียน

แล้วนักเรียนจะนำบัตรของตนมาสแกน และลงทะเบียนเพื่อแจ้งเตือนไปยังผู้ปกครองทางแอพพลิเคชั่นว่า บุตรหลานของตนพร้อมที่จะให้มารับ เมื่อเข้าช่องทางการรับนักเรียน กล้องแอลพีอาร์จะตรวจจับป้ายทะเบียนรถและส่งข้อมูลทางเน็ตเวิร์กไปให้เซิร์ฟเวอร์ประมวลผล

พิวัฒน์ ศุภวิทยา กรวยอัจฉริยะแก้ระบบรับส่งนักเรียน

“กรณีที่รถของผู้ปกครองเป็นรถที่อยู่ในฐานข้อมูลและนักเรียน ได้มารอที่จุดรอเรียบร้อยแล้ว ระบบจะเกิดไฟสีเขียวให้รถเข้าช่องทางได้ ในกรณีที่รถของผู้ปกครองเป็นรถที่อยู่ในฐานข้อมูล โดยนักเรียนคนแรกได้มารอที่จุดรอแล้วแต่นักเรียนอีกคนยังไม่มารอ กรณีนี้จะเกิดไฟสีแดงและไซเรนเพื่อให้รถออกไปวนเข้าช่องทางใหม่

และในกรณีที่รถคันดังกล่าวไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูล (ไม่ใช่รถผู้ปกครองนักเรียน) จะเกิดไฟสีแดงและไซเรนเพื่อให้รถออกจากช่องทาง จากนั้นระบบเซ็นเซอร์อัลตราโซนิกและโหนดเอ็มซียูจะทำงานร่วมกัน เพื่อส่งสัญญาณถึงเซิร์ฟเวอร์และรับข้อมูลจากการประมวลผล”

เมกเกอร์วัยทีนเจ้าของผลงานอธิบายต่อว่า เมื่อโหมดเอ็มซียู ((Node MCU) ได้รับข้อมูลจากการประมวลผลแล้ว จะส่งสัญญาณให้ไฟในทาวเวอร์แลมป์ (Tower Lamp) ทำงาน อีกทั้งเซิร์ฟเวอร์ประมวลผลจะส่งข้อมูลของรถที่อยู่ในระบบไปให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของโรงเรียนเพื่อประกาศชื่อนักเรียนล่วงหน้า

“เมื่อรถผ่านเข้าช่องทางการรับนักเรียนแล้ว จะมีช่องสำหรับรถแต่ละคันให้จอดรับนักเรียน อัลตราโซนิกเซ็นเซอร์จะตรวจจับรถส่งให้โหนดเริ่มจับเวลาในกรณีที่รถออกก่อนเวลาหมด ระบบจะกลับไปที่ค่าตั้งต้นอัตโนมัติ แต่ในกรณีที่เวลาหมดและรถยังไม่ออกจะมีไฟและเสียงแจ้งเตือน”

ผลงานดังกล่าวได้นำไปทดลองใช้จริงและมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วและลดปัญหาการจราจรได้จริง แต่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับทางผู้ปกครองนักเรียน ตำรวจ และโรงเรียนเพื่อนำมาใช้จริง นอกจากนี้ พิวัฒน์กับเพื่อนยังมีแผนพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นให้ผู้ปกครองส่งข้อมูลทะเบียนรถยนต์ของตนง่ายยิ่งขึ้นด้วย

พิวัฒน์ ศุภวิทยา กรวยอัจฉริยะแก้ระบบรับส่งนักเรียน

ชนะเลิศผลงานเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน

ผลงานชิ้นนี้ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะได้รับรางวัลชนะเลิศ ระดับนักเรียนสายสามัญ การประกวดโครงการ Enjoy Science : Young Makers Contest ปี 2 ซึ่งเป็นโครงการที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้นในหัวข้อ ”สิ่งประดิษฐ์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในชุมชน” โดยได้รับทุนการศึกษา 5 แสนบาท พร้อมกับได้เดินทางไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area ที่สหรัฐอเมริกา ต้นตำรับของงานเมกเกอร์แฟร์ทั่วโลกเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาด้วย

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งประดิษฐ์ BCC E-TM รถถูกคัน รับถูกคน ลดอุบัติเหตุ รถกับรถและรถกับเด็กนี้ นอกจากจะเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มความปลอดภัย ลดปัญหาจราจรและปัญหาอุบัติเหตุในชุมชนเล็กๆ รอบตัวผมแล้ว ยังจะสามารถต่อยอดไปสู่ความปลอดภัยในรูปแบบอื่นๆ เช่น การเรียกรถบริเวณจุดจอดรถสาธารณะ และอีกมากมายครับ” พิวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย