posttoday

สมุนไพรแห่งชาติ (ไทย) มองไปอีก 100 ปีข้างหน้า!

17 กรกฎาคม 2561

“อย่าตีตัวไปก่อนไข้” อ่านบทความนี้จบแล้ว ต้องไม่ป่วยก่อนป่วย หมายถึง ต้องไม่ตีตัวตีตนว่าป่วยเสียก่อนเจ็บก่อนป่วยแบบจริงๆ จังๆ

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ อมรเทพ โชติเฉลิมพงศ์

“อย่าตีตัวไปก่อนไข้” อ่านบทความนี้จบแล้ว ต้องไม่ป่วยก่อนป่วย หมายถึง ต้องไม่ตีตัวตีตนว่าป่วยเสียก่อนเจ็บก่อนป่วยแบบจริงๆ จังๆ แต่ให้ดูแลตัวเองได้ พึ่งพาตัวเองเป็น เพราะจะชวนไปเที่ยวด้วยกันที่งานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 15

นับเป็นมหกรรมใหญ่ที่สายแข็งสมุนไพรเฝ้ารอคอยมาทุกปี สำหรับปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 15 แล้ว งานกำหนดจัดอย่างยิ่งใหญ่ เนื่องจากประจวบเหมาะกับวาระ 100 ปี การสาธารณสุขไทย (พ.ศ. 2461-2561) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-21 ก.ค.นี้ ที่อิมแพ็ค 
เมืองทองธานี

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับภาคีเครือข่ายแถลงการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 15 ที่จะร่วมจัดในงาน 100 ปีการสาธารณสุขไทย กระทรวงสาธารณสุขว่า ปีนี้เตรียมจัดยิ่งใหญ่เป็นพิเศษ ภายใต้แนวคิดหลัก โลกมั่นใจ สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย

“มหกรรมสมุนไพรแห่งชาติเข้าร่วมเฉลิมฉลองวาระ 100 ปีการสาธารณสุขไทย ตั้งเป้าต่อยอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพร ให้ประชาชนรู้จัก รักและใช้สมุนไพรไทยมากขึ้น พร้อมๆ กับบุกเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางสมุนไพรในอาเซียน ก่อนจะยกเป็นฮับหรือศูนย์กลางสมุนไพรโลกภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”

นพ.เกียรติภูมิ เล่าว่า ในปี 2560 มูลค่าตลาดรวมสมุนไพรไทยสูงถึง 2.53 แสนล้านบาท สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้จำนวน 2.3 แสนล้านบาท ก้าวกระโดดจากปีก่อนหน้า 1.8 แสนล้านบาท สะท้อนให้เห็นอัตราการขยายตัวของตลาดสมุนไพรที่สดใส อย่างไรก็ตาม อุปสรรคคือภาพลักษณ์ที่คนยังไม่เชื่อมั่น

“ประชาชนหันมาสนใจสมุนไพรมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เชื่อมั่นเต็มร้อย หน้าที่ของกรมการแพทย์แผนไทยฯ คือการสื่อสาร ขณะเดียวกันก็อุดช่องโหว่ด้วยการพัฒนาคุณภาพงานวิจัย ยกระดับมาตรฐานสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์ให้นำสมัยน่าใช้ ขยายฐานกลุ่มผู้บริโภค”

สมุนไพรแห่งชาติ (ไทย) มองไปอีก 100 ปีข้างหน้า!

นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าว่า อภัยภูเบศรฯ ยืนหยัดในการนำองค์ความรู้ภูมิปัญญารุ่นปู่ย่าตาทวดกลับมารับใช้สังคม โดยเป็นเวลากว่า 35 ปีมาแล้วที่ได้มุ่งมั่นพัฒนางานด้านสมุนไพรจนเป็นที่ยอมรับ ความคาดหวังคือประชาชนที่พึ่งตนเองด้านสุขภาพในเบื้องต้นได้

สำหรับการเข้าร่วมงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติปีนี้ อภัยภูเบศรได้จัดกิจกรรมพิเศษ หยิบยกการดูแลสุขภาพของคน 3 วัย “สมดุลแห่งตรีโทษ กุญแจสู่สุขภาพ” ทั้งนี้ เป็นไปตามทฤษฎีการแพทย์แผนไทยที่แบ่งคนในแต่ละวัยตามโอกาสของการเกิดโรคในระบบที่แตกต่างกัน ทำให้การดูแลสุขภาพในแต่ละวัยแตกต่างกันไปด้วย

วัยเด็ก มีเสมหะเป็นเจ้าเรือน มักป่วยด้วยอาการหวัด ไอ ท้องอืด ปอดบวม หอบหืด เสมหะในลำคอมาก ระบบปิตตะ (ธาตุไฟ) ในร่างกายหย่อน ควรใช้สมุนไพรที่มีรสอุ่น เช่น กะเพรา ขิง หัวหอมแดง หรือดีปลี ตำรับยาที่เข้าการบูร และมะขามป้อมที่มีรสเปรี้ยวฝาด ช่วยบรรเทาอาการไอ บำรุงปอด

สำหรับวัยทำงาน มีปิตตะเป็นเจ้าเรือน เป็นธาตุที่ทำหน้าที่ในการเผาผลาญ การย่อย ให้ความอบอุ่น เป็นช่วงวัยที่มีความร้อนสูง มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และมีความเครียด มักป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับความร้อน ควรใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็นช่วยผ่อนคลาย เช่น เถาวัลย์เปรียง สมุนไพรกระดูกไก่ดำ เปราะหอม เทียนกิ่ง บานเย็น มะขามป้อม

สมุนไพรแห่งชาติ (ไทย) มองไปอีก 100 ปีข้างหน้า!

ด้านวัยสูงอายุ มีวาตะเป็นเจ้าเรือน ธาตุมีลักษณะเบา มีการเคลื่อนไหว แห้ง เย็น เป็นวัยของการถดถอยการทำงานของธาตุต่างๆ ในร่างกาย มีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้ง่าย เนื่องจากมีธาตุลมเป็นส่วนประกอบ มักพบปัญหานอนไม่หลับ ฟุ้งซ่าน มีความเสื่อมของมวลกระดูก ปัญหาโรคปริทันต์ และอาการหลังหมดประจำเดือนในผู้หญิง สมุนไพรที่เหมาะ เช่น น้ำมันรำข้าว บัวหลวงมะลิ ช่วยปรับสมดุลการนอน เพชรสังฆาตเพิ่มมวลกระดูก กระชายช่วยรักษาปริทันต์ ดับกลิ่นปาก และช่วยลดปัญหาอาการสตรีวัยทอง

“ปีนี้อภัยภูเบศรจะนำเสนอการพัฒนายาจากสมุนไพร เพื่อทดแทนยาแผนปัจจุบัน วิจัยและพัฒนาสร้างนวัตกรรมด้านสมุนไพร เช่น การวิจัยทางคลินิกมะระขี้นก ที่พบว่าสามารถชะลอการเพิ่มน้ำตาลสะสมในผู้ป่วยเบาหวานได้” นพ.นำพล กล่าว

ด้าน ดร.ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เภสัชกรเชี่ยวชาญหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เล่าถึงความคาดหวังของอภัยภูเบศรกับงานด้านสมุนไพรว่า กลยุทธ์ที่จะทำให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองด้านสุขภาพได้ คือการเสริมสร้างพลังอำนาจทางสุขภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถและพัฒนาศักยภาพของบุคคล ครอบครัวชุมชน ในการควบคุมปัจจัยต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ

“ประชาชนสามารถเลือกใช้ทรัพยากรที่มีและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสุขภาพที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ นั่นคือความสำคัญ” ดร.ภญ.สุภาภรณ์ เล่า

การเสริมสร้างพลังอำนาจทางสุขภาพ คือ การกระตุ้นให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น มีส่วนร่วมมีความรับผิดชอบในการดูแลตนเอง มีความตระหนักในการดูแลตนเอง รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า สามารถดูสุขภาพตนเองและจัดการกับอาการไม่สบายต่างๆ ได้ เพื่อให้มีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น สมุนไพรคือเครื่องมือในการดูแลสุขภาพที่ประชาชนสามารถเข้าใจเข้าถึง ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและครัวเรือนในระยะยาว

สมุนไพรแห่งชาติ (ไทย) มองไปอีก 100 ปีข้างหน้า!

 “ถือโอกาส 100 ปีการสาธารณสุขไทย เราเองก็ต้องกลับมาทบทวนในสิ่งที่เราทำ ทบทวนถึงบทบาทหน้าที่ในงานด้านสมุนไพร เรายังขาดอะไร เรายังไม่ได้ทำอะไร หรือถึงแม้ประชาชนเองก็ต้องทำหน้าที่ในการดูแลสุขภาพของตัวเองนะ ทุกวันนี้มองไปส่วนใหญ่ยังคงพึ่งกันแต่ยาแผนปัจจุบัน แม้กระทั่งโรคเล็กๆ น้อยๆ จนคนไข้โอพีดีล้นทุกวัน”

มองไปอีก 100 ปีข้างหน้า ดร.ภญ.สุภาภรณ์ มองว่า ประชาชนจะสามารถพึ่งตัวเองด้านสมุนไพรได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคพื้นฐาน โดยส่วนตัวมองว่าสมุนไพรคือเครื่องมือหนึ่งของประชาชนในการดูแลสุขภาพตนเอง ขณะเดียวกันก็ประชาชนนั้นเอง ที่คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนวงการสมุนไพรให้เดินต่อไปข้างหน้า

100 ปีแห่งการพัฒนา เชิญชวนประชาชนไปเที่ยวงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ งานแบ่งเป็น 3 โซนหลัก คือ 1.โซนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (Wisdom Zone) จัดแสดงภูมิปัญญาพื้นบ้าน 4 ภาค 2.โซนบริการ (Service Zone) ให้บริการตรวจรักษาโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ยาไทย และศาสตร์การแพทย์แผนจีน 3.โซนผลิตภัณฑ์ (Product Zone)

ในงานมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมมากมาย เช่น องค์การเภสัชกรรมที่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ส่วนอภัยภูเบศรจัดสวนสมุนไพรเพื่อคน 3 วัย  สาธิตการนำสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งเปิดตัวครั้งแรกกับตำรับยาหมอพรจากสมัย รศ.131 ห้ามพลาดคือไฮไลต์แจกหนังสือคุณภาพ ปีนี้อภัยภูเบศรแจก “ดอกสร้อยร้อยบุปผา ร้อยคุณค่าสมุนไพรไทย” ดอกไม้ 100 ชนิดที่สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพเบื้องต้น รับแจกฟรีวันละ 200 เล่ม

นอกจากนี้ยังมีการให้บริการตรวจปรึกษาสุขภาพฟรี โดยเฉพาะการตรวจผิวหน้าแบบ 3 มิติด้วยเครื่อง Antera 3D ชวนชิมชาสมุนไพร การประชุมวิชาการและกิจกรรมเวิร์กช็อปที่น่าสนใจมากมาย เช่น กิจกรรมเด่นของกลุ่มนักเรียนแข่งขันประกวดวาดภาพ “ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรจากสีสมุนไพร (Herb of Art)  มิติใหม่ของการนำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์

รายละเอียดของงาน www.moph.go.th