posttoday

โรโบติกส์ผสานเอไอ แรงงานใหม่ของมนุษย์

17 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบันนี้การพัฒนาด้านหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์ พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี ภาพ รอยเตอร์ส

ปัจจุบันนี้การพัฒนาด้านหุ่นยนต์หรือโรโบติกส์ พัฒนาอย่างก้าวกระโดดเป็นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากแขนกลที่เราคุ้นตาในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมรถยนต์ กลายเป็นของตกยุคในทันทีเมื่อแขนกลรุ่นใหม่ไม่ได้มีความสามารถแค่ทำงานหยิบจับตามโปรแกรมที่ตั้งไว้ แต่เป็นแขนกลฝังระบบเอไอ (AI - Artificial Intelligence) ที่สามารถคิดหาช่องทางในการทำงานและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง ไม่ต่างกับการทำงานของมนุษย์ เมื่อหุ่นยนต์สามารถทำได้ขนาดนี้แล้วอนาคตแรงงานของมนุษย์จะเป็นอย่างไร

อนาคตเกินครึ่งคือ แรงงานโรโบติกส์

สุธิดา กาญจนกันติกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เล่าถึงข้อมูลตลาดแรงงานในประเทศไทยและต่างประเทศ ถึงการเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ด้วยโรโบติกส์ ว่า “โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคโรโบติกส์และระบบอัตโนมัติที่จะเข้ามามีบทบาทในการทำงานแทนมนุษย์

โดยเฉพาะในส่วนของภาคอุตสาหกรรมทางโรงงานก็มีการนำเอาเครื่องจักร ไม่ว่าจะเป็นแขนกลหนัก เข้ามาทำงานแทนที่ตำแหน่งงานต่างๆ ในโรงงานที่ต้องใช้ความแม่นยำ รวดเร็ว และเพิ่มกำลังการผลิต ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้มีการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

เพราะสภาวการณ์เศรษฐกิจ การพัฒนาของเทคโนโลยี สภาพสังคมและการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต้องแข่งขันกันมากขึ้น เจ้าของธุรกิจจึงต้องหาวิธีลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานด้วยการนำเอานวัตกรรมโรโบติกส์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น ไม่เพียงแค่การทำงานในโรงงานผลิต แต่ภายในองค์กรบริษัทก็มีการนำมาใช้ด้วยเช่นกัน

หากถามในเรื่องของการลดจำนวนการจ้างงานต้องบอกว่ายังไม่เห็นเด่นชัด เพราะประเทศไทยของเรากำลังปรับตัวไปสู่ทิศทางของการเป็นประเทศที่มีการใช้เทคโนโลยีโรโบติกส์กันมากขึ้น แต่จะให้บอกว่าเป็นไทยแลนด์ 4.0 แล้วนั้นอาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปาก เรายังอยู่ในระหว่างทางไปสู่จุดนั้น

ปัจจุบันธุรกิจของเราส่วนใหญ่ยังใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ แบบอุตสาหกรรมดั้งเดิม ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการนำโรโบติกส์มาใช้จะมีอยู่ประมาณ 15% ของระบบอุตสาหกรรมทั้งหมด และใน 15% กลุ่มที่มีการใช้มากที่สุดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่

โรโบติกส์ผสานเอไอ แรงงานใหม่ของมนุษย์

ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กยังคงใช้แรงงานเป็นหลัก อาจมีการปรับใช้เทคโนโลยีให้ทันสมัยมากขึ้นแต่ยังไม่ถึงระดับของการแทนที่แรงงานมนุษย์

มีความเป็นไปได้ว่าในระยะเวลาอีก 3-5 ปี จะมีการใช้โรโบติกส์มากขึ้น แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปหลังจากผ่านช่วง 5 ปีนี้ไป การเปลี่ยนแปลงจะเป็นแบบก้าวกระโดด ธุรกิจต่างๆ จะเริ่มปรับตัวเห็นความสำคัญกันมากขึ้น มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ และมีเม็ดเงินการลงทุนจากต่างชาติเข้ามาช่วยหนุน

ทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กก็จะเริ่มมีการใช้โรโบติกส์กันมากขึ้น ตัวเลขที่คาดการณ์กันไว้น่าอยู่ที่ 50% ของแรงงานทั้งหมด”

สุธิดา เสริมต่อว่า “ในฐานะที่เราเป็นคนกลางระหว่างภาคอุตสาหกรรมและระบบใหม่ ไม่ได้อยากให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องการแทนที่ของโรโบติกส์ เพราะในปัจจุบันโรโบติกส์ก็มีหลากหลาย ตามลักษณะความสามารถและรูปแบบการใช้งาน

ภาพในอดีตหุ่นยนต์ทำงานภายใต้ความควบคุมของมนุษย์ มีทั้งที่เป็นแบบการตั้งโปรแกรมไว้ให้ทำไปตามแผน แม้ทุกวันนี้โรโบติกส์สามารถเก็บข้อมูลและประมวลผลด้วยตัวเองได้หมดแล้ว แต่การที่จะเข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์จะยังค่อยเป็นค่อยไป และลงท้ายที่การทำงานร่วมกันมากกว่าที่จะทำงานแทนที่ไปเสียทุกอย่าง”

โรโบติกส์ผสานเอไอ แรงงานใหม่ของมนุษย์

โรโบติกส์อยู่รอบตัวเรา

ดร.อนันตพัฒน์ อนันตชัย รองคณบดีและอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง อธิบายว่า “โรโบติกส์ หรือโรบอต นั้นในความหมายของผมมีความคล้ายคลึงกัน แต่โรโบติกส์จะมีการทำงานที่เป็นระบบอัตโนมัติมากกว่ามีความสามารถในการคิดและตัดสินใจได้มากกว่า

เราอย่าเพิ่งไปจินตนาการว่าโรโบติกส์จะต้องมีรูปร่างเป็นแขนกล เป็นหุ่นยนต์มีรูปร่างหน้าตาเหมือนในภาพยนตร์ เพราะบางครั้งก็มาในรูปแบบของกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่กับที่ เป็นเซ็นเซอร์ฝังตัวตามจุดต่างๆ เพื่อเก็บข้อมูลเอาไปประมวลผลที่ศูนย์กลางเพื่อตัดสินใจต่อไป

เครื่องดูดฝุ่นทุกวันนี้ก็จัดเป็นโรโบติกส์ได้เช่นกัน เพราะมีการเคลื่อนไหวทำงานไปตามการออกแบบที่วางไว้ และยังสามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะมีการใส่ปัญญาประดิษฐ์ที่จะสามารถจำลองความคิดแนวทางการแก้ปัญหาของมนุษย์มาช่วยในการตัดสินใจด้วยตัวเอง

ไม่เฉพาะแต่การตัดสินใจตามกลไกของสมองมนุษย์ เอไอยังสามารถจำลองการทำงานและการตัดสินใจของสัตว์ชนิดอื่นได้ด้วย เช่น การตัดสินใจหาเส้นทางหาอาหารของมด ว่ามดสามารถหาเส้นทางที่สั้นที่สุดเพื่อให้ถึงอาหารได้อย่างไร เราก็สามารถเอาตัวแปรเหล่านี้มาทำเป็นอัลกอริทึม เพื่อให้หุ่นยนต์ทำงานหาเส้นทางตามที่ต้องการได้

ดังนั้น แนวทางการปรับตัวของนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเข้าไปสู่ตลาดแรงงานในอนาคต จะต้องมีองค์ความรู้เรื่องโรโบติกส์ การเขียนโปรแกรมเอไอเหล่านี้ให้มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการแรงงานในตลาด

โรโบติกส์ผสานเอไอ แรงงานใหม่ของมนุษย์

ส่วนตัวผมได้มีโอกาสเข้าไปดูตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร ก็พบว่ามีความต้องการแรงงานที่มีความสามารถในการเขียนโปรแกรมเหล่านี้สูงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรผมคิดว่าไม่ใช่ปัญหาว่าโรโบติกส์จะเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์ เพียงแต่เราต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงไปทำงานเพื่อรองรับตลาดตรงนี้จะดีกว่า

ซึ่งคนที่เรียนจบทางด้านซอฟต์แวร์จะได้เปรียบกว่าในเรื่องของระบบเอไอ สถาบันการศึกษาเองก็ต้องปรับการสอนเพื่อให้ตอบโจทย์ในด้านโรโบติกส์ปรับเนื้อหาวิชาให้เกี่ยวข้องกับเอไอและฮาร์ดแวร์

การพัฒนาและประยุกต์ด้าน IoT (Internet of Things) ให้มากขึ้น ซึ่งอนาคตอุปกรณ์ใช้งานแทบทุกชนิดจะมีการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตและมีระบบเอไอเข้ามาช่วยดูแล

หากเราจะผลิตบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมารองรับกับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีได้เทียบเท่ากับต่างประเทศนั้น เราจะต้องมีความร่วมมือและพัฒนาทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา โดยภาครัฐเป็นส่วนสนับสนุนแล้วส่งต่อให้ภาคการศึกษาคิดต่อยอดและให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปปรับใช้ นับเป็นความร่วมมือแบบบูรณาการที่นำไปสู่ความสำเร็จในเชิงเศรษฐกิจและตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในอนาคต”

ปรับตัวอย่างไรในยุคโรโบติกส์ผสานเอไอ

สุธิดา ให้คำแนะนำว่า “สำหรับแรงงานในสายไอทีนั้นได้ควรมีการปรับตัวให้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ สามารถสร้างและใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเราพบว่ามีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์ด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะรายได้ในการเปลี่ยนงานแต่ละครั้งของผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรงตามคุณสมบัติในสายงานด้านนี้ จะมีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 20-25% 

อีกส่วนคือ แรงงานที่มีแนวโน้มจะถูกแทนที่หรือต้องทำงานร่วมกับโรโบติกส์ ได้แก่งานที่ต้องทำซ้ำๆเหมือนเดิม งานที่มีความเสี่ยงต่อชีวิต เช่น งานสำรวจ งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีอันตราย แรงงานเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะให้โรโบติกส์เข้ามาแทนที่เพื่อความปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น

ด้วยตัวแปรอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้มีการใช้โรโบติกส์เพิ่มสูงขึ้นคือต้นทุนค่าแรง และการขาดแคลนแรงงานในตำแหน่งต่างๆ แรงงานต่างด้าวอยากกลับไปทำงานที่ประเทศตัวเอง คนรุ่นใหม่เลือกงานมากขึ้น สังคมไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้ตำแหน่งงานบางตำแหน่งขาดแคลน จึงจำเป็นต้องใช้โรโบติกส์เข้ามาทำงานแทน

โรโบติกส์ผสานเอไอ แรงงานใหม่ของมนุษย์

ส่วนงานที่โรโบติกส์ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ก็คือ งานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ งานด้านการบริการให้คำปรึกษา งานที่ต้องใช้วิจารณญาณ งานที่ต้องใช้ทักษะความสัมพันธ์ของมนุษย์ และงานที่ต้องใช้วิจารณญาณของมนุษย์ในการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

ดังนั้น แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มความต้องการด้านโรโบติกส์และมีความเสี่ยง ในช่วง 5 ปีนี้อาจจะต้องปรับตัว ไปทำงานภาคการบริการกันมากขึ้น หรือหางานในสายอื่นที่ต้องทำงานร่วมกับโรโบติกส์ หรือโรโบติกส์ เข้ามาแทนที่ได้ยาก

ในขณะเดียวกัน แรงงานที่ได้ทำงานทางด้านโรโบติกส์เองแม้จะมีความมั่นคงในอนาคตจะยังต้องมีเรียนรู้อัพเดทเทคโนโลยีใหม่ๆ เพราะอนาคตจะมีระบบใหม่ เครื่องจักรอันทันสมัยเกิดขึ้นตลอดเวลา

จึงต้องเรียนรู้สั่งสมประสบการณ์ บูรณาการองค์ความรู้เพื่อให้เป็นที่ต้องการของบริษัท ที่ต้องการบุคลากรซึ่งมีความสามารถในการสร้างและแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และทักษะที่จำเป็นมากที่สุดในยุคโรโบติกส์ นอกจากความรู้และประสบการณ์ก็คือทักษะทางอารมณ์

สุดท้าย จากการสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้าง เราพบว่าทักษะทางอารมณ์ติดหนึ่งในทักษะที่นายจ้างต้องการมากที่สุด ไม่ใช่เฉพาะงานในสายบริการ แต่มีความต้องการในทุกสายอาชีพ เพราะอนาคตบริษัทต้องการบุคลากรที่รู้จักการควบคุมอารมณ์ในการทำงาน ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ รู้จักการติดต่อสื่อสารการทำงานที่ดี ซึ่งเป็นอีกหนทางที่จะทำให้ตัวเราเป็นบุคคลที่ทุกบริษัทต้องการตัวในอนาคต”