posttoday

นักกีฬาอี-สปอร์ต จากเด็กเล่นเกมสู่ทีมชาติ

04 กรกฎาคม 2561

หากเราเห็นเด็กเล่นเกมวันละ 6 ชั่วโมง คุณคงมองว่าเขาเป็นเด็กติดเกม แต่หากบอกว่าระหว่างที่เล่นเกมวันละ 6 ชั่วโมง

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี ภาพ รอยเตอร์ส, เอเอฟพี

หากเราเห็นเด็กเล่นเกมวันละ 6 ชั่วโมง คุณคงมองว่าเขาเป็นเด็กติดเกม แต่หากบอกว่าระหว่างที่เล่นเกมวันละ 6 ชั่วโมง เด็กคนนั้นมีรายได้หมื่นกว่าบาทจากการเล่น บางคนได้เกือบ 5 หมื่นบาท เราจะยังบอกว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กติดเกมเหมือนเดิมอีกไหม โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปมากมาย เกมที่เคยเล่นกันสนุกๆ ระหว่างเพื่อนกลายเป็นเกมกีฬาที่มีผู้เล่นหลักร้อยล้านคนทั่วโลก พัฒนาจนเกิดการแข่งขันทัวร์นาเมนต์ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก เรียกขานกันว่าเป็นกีฬาอี-สปอร์ต

วันนี้กีฬาอี-สปอร์ตได้กลายเป็นกีฬาสาธิตแข่งขันในเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 18 ประเทศอินโดนีเซียวันที่ 18 ส.ค.-2 ก.ย. มีทั้งหมด 6 เกมที่จะได้เข้าร่วมชิงชัย ก็คือเกมลีก ออฟ เลเจนด์ (League of Legends เกมแนวต่อสู้กึ่งวางแผนประเภททีม) สตาร์คราฟต์ 2 (Starcraft II เกมวางแผนการรบประเภทเดี่ยว) ฮาร์ทสโตน (Hearthstone การ์ดเกมแข่งประเภทเดี่ยว) โปร อีโวลูชั่น ซอคเกอร์ (Pro Evolution Soccer เกมกีฬาฟุตบอล) แคลช โรยัล (Clash Royale เกมวางแผนการรบ) และอารีน่า ออฟ เวเลอร์  Arena of Valor (AOV สำหรับประเทศไทยใช้ชื่อ ROV เป็นเกมต่อสู้กึ่งวางแผนประเภททีม)

นั่นหมายความว่าสังคมโลกยุคใหม่กำลังให้การยอมรับว่า เกมสามารถพัฒนาให้เป็นกีฬาที่มีการแข่งขันในระดับสากล แต่กว่าจะได้ชื่อว่าเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะได้มา

นักกีฬาอี-สปอร์ต จากเด็กเล่นเกมสู่ทีมชาติ ฮิวโก้-พงศ์ปณต เรืองอารีรัตน์ อายุ 22 ปี นักกีฬาอี-สปอร์ต สังกัดทีมไดมอนด์คอบบร้า และนักกีฬาอี-สปอร์ตทีมชาติไทย

กว่าจะเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต

ฮิวโก้-พงศ์ปณต เรืองอารีรัตน์ อายุ 22 ปี นักกีฬาอี-สปอร์ต สังกัดทีมไดมอนด์คอบบร้า และนักกีฬาอี-สปอร์ตทีมชาติไทย ที่จะลงแข่งขันในเกมเอโอวี เล่าถึงเส้นทางการเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต...

“ผมก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่ชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็ก ที่บ้านจะมีเครื่องเกมคอนโซลเพลย์สเตชั่น ก็เริ่มเล่นตั้งแต่เกมแผ่น เล่นเกมโดต้า (DotA) มาจนกระทั่งมีเกมที่สามารถเล่นได้ใน โทรศัพท์มือถือเป็นเกมแบบเอโอวี ก็เริ่มเล่นแนวนี้มาตลอด เพราะหลังๆ เริ่มมีความชอบเกมแนวกลยุทธ์ที่ต้องใช้ความคิดวางแผนการเล่น

แรกๆ ผมก็เล่นทั่วไปแล้วเริ่มจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มอยากจะเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ต เลยจับกลุ่มกับเพื่อนๆ ในเกมบ้างหรือเพื่อนๆ ที่เคยเล่นเกมด้วยกันมาก่อนบ้าง แล้วก็ลงแข่งทัวร์นาเมนต์ต่างๆ บางรายการก็ประสบความสำเร็จ บางรายการก็ไม่ จนรายการแข่งล่าสุดได้ตำแหน่งอาร์โอวี คิงส์ ออฟ เกมเมอร์ จึงได้มีโอกาสเป็นนักกีฬาทีมชาติในปีนี้เองครับ ที่ผมประสบความสำเร็จหลังจากเล่นเกมมา 5 ปี

กว่าจะเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตได้ ก็เหมือนกับเราเล่นกีฬาประเภทหนึ่ง ต้องมีการฝึกซ้อม ต้องมีการฝึกทักษะของตัวเราเอง แล้วก็ฝึกกับเพื่อนร่วมทีมและใช้เวลาร่วมกัน หมั่นฝึกซ้อมพัฒนาหาความรู้ใหม่ๆ หาเทคนิคการเล่นใหม่ๆ ปรับปรุงและฝึกซ้อมตลอดเวลา

การฝึกซ้อมของนักกีฬาอี-สปอร์ต หลักๆ ก็จะมีการนั่งดูการแข่งในทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ที่มีนักกีฬาระดับโลกมาแข่งขันกัน ดูว่าเขามีเทคนิคอะไรเข้ามาใช้ในการแข่งขันบ้าง แล้ววิเคราะห์ว่าเราเล่นเป็นอย่างไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไรแล้วนำไปปรับปรุง

นักกีฬาอี-สปอร์ต จากเด็กเล่นเกมสู่ทีมชาติ

จากนั้นก็จะติดต่อนัดทีมที่มีความสามารถพอๆ กับเรามาอุ่นเครื่องแข่งขันอาจจะนัดมา 4 ทีม ซ้อมทีมละ 1 ชั่วโมงเฉลี่ยซ้อมวันละ 4 ชั่วโมง แล้วก็กลับมานั่งดูภาพรวมการแข่งของวัน เพื่อเอามาปรับปรุงการซ้อมในวันต่อๆ ไป ซึ่งเราก็จะต้องดูตารางเรียนของเราเอง แล้วหาเวลาว่างฝึกซ้อมอาจจะเป็นการฝึกซ้อมส่วนตัวหรือว่าจะนัดกับเพื่อนๆ ที่มีเวลาตรงกันเข้ามาซ้อมร่วมกัน

วิเคราะห์รูปแบบการเล่นของทุกคนแล้วดูว่าใครมีจุดอ่อนอะไรตรงไหน ก็ต้องฝึกส่วนตัวปรับปรุงในช่วงเช้า และช่วงบ่ายก็ลงแข่งอุ่นเครื่องแล้วดูว่าที่ซ้อมมานั้นได้ผลอย่างไร ความสามารถสูงสุดของตัวละครนั้นออกมาได้ก็จะทําให้การเล่นเป็นทีมนั้นมีศักยภาพที่ดีมากขึ้น

ในเรื่องการเรียนของผมตอนนี้กำลังจะจบการศึกษาสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ สำหรับตัวผมการที่ได้มาเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตได้ผมคิดว่า โชคดีที่ทางครอบครัวเข้าใจถึงความต้องการ มีข้อแลกเปลี่ยนเดียวก็คือเรื่องของผลการเรียน เล่นได้แต่จะต้องไม่กระทบในเรื่องของเวลาเรียน ผมจะต้องรักษาระดับการเรียนให้ดี ในแต่ละวันนั้นผมจะใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่ประมาณ 3-5 ชั่วโมง และต้องแบ่งเวลาเนื้อเรื่องของการอ่านหนังสือ แล้วก็เวลาในการพักผ่อนด้วยเช่นกัน

บางเวลาที่งานเรียนเยอะมากผมก็อาจจะต้องเสียสละเวลานอนของตัวเองเพื่อที่จะรักษาเรื่องการเล่นและการเรียนให้ออกมาดีทั้งคู่ ความต่างของเด็กติดเกมกับคนที่เล่นแบบนักกีฬาอยู่ที่ความรับผิดชอบในการแบ่งเวลามากกว่า หากแบ่งเวลาและรับผิดชอบให้ดีก็สามารถประสบความสำเร็จได้ทั้งการเรียนและการเล่นเกมที่เรารักทั้งคู่

ในเรื่องการซ้อมเตรียมแข่งเอเชียนเกมส์ก็มีการเข้าแคมป์เก็บตัวฝึกซ้อมกับเพื่อนๆ ร่วมทีมเพื่อจะปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ผมเชื่อว่าในเกมการแข่งขันนี้คนที่ผิดพลาดน้อยที่สุดจะเป็นผู้ชนะ”

นักกีฬาอี-สปอร์ต จากเด็กเล่นเกมสู่ทีมชาติ นักกีฬาอี-สปอร์ตทีมชาติไทย วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์ หรือ ได อายุ 18 ปี แห่งทีม เดอะ จังเกิ้ล (The Jungle) ที่จะเข้าแข่งขันในเกมฮาร์ทสโตน

แข่งเกมสร้างรายได้หลักหมื่น

นักกีฬาอี-สปอร์ตทีมชาติไทย วีฤทธิ์ โพธิ์พันธุ์ หรือ ได อายุ 18 ปี แห่งทีม เดอะ จังเกิ้ล (The Jungle) ที่จะเข้าแข่งขันในเกมฮาร์ทสโตน บอกกับเราว่าเล่นเกมทุกแนว แต่เกมฮาร์ทสโตนเป็นเกมการ์ดที่เขาทำผลงานได้ดีที่สุดตั้งแต่การลงแข่งครั้งแรกๆ

“จุดเด่นของการเล่นเกมนี้คือเป็นเกมที่เล่นคนเดียว ถ้าเราอยากเก่งเราก็แค่ซ้อมกับตัวเอง และแข่งกับคนอื่น โดยไม่ต้องพึ่งเพื่อนร่วมทีม และทำให้เราบริหารจัดการเวลาเล่นและเวลาเรียนได้ดีกว่า

แม้จะเล่นเกมมานาน แต่ผมก็เพิ่งจะได้เป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตในช่วง 2 ปีมานี้เอง ผมจะซ้อมวันละประมาณ 6 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น แนวทางการซ้อมของเราก็คือต้องลงแข่งกับคนอื่นๆ แล้วดูการแข่งของโปรเกมเมอร์ในระดับต้นๆ เพื่อดูว่าตอนนี้เทรนด์การแข่งขั้นนั้นไปถึงไหนแล้ว มีเทคนิคอะไรใหม่ๆ บ้าง

สำหรับเกมฮาร์ทสโตน เราต้องจัดการ์ดทั้งหมด 30 ใบ ซึ่งผู้เล่นแต่ละคนจะจัดการ์ดไม่เหมือนกัน บางคนจัดการ์ดแบบเน้นโจมตีเร็ว บ้างคนเน้นตั้งรับ และบางทีก็มีเทรนด์ในการจัดการ์ดสำหรับลงแข่งซึ่งภาษาเกมเมอร์จะเรียกว่าเมต้า เราก็ต้องดูว่าเราจะจัดการ์ดตามเมต้าปัจจุบันหรือสวนกระแสไปตามทางของเราเอง

อย่างการแข่งขันเอเชียนเกมครั้งนี้ผู้จัดจะให้เราส่งชื่อการ์ดทั้ง 30 ใบที่เราจะใช้แข่งไปให้ทางผู้จัดการแข่งขัน แต่ผมจะรอให้ใกล้วันปิดการส่งเพื่อดูว่าเมต้า หรือเทรนด์ในช่วงนั้นเขานิยมเล่นการ์ดอะไร จัดแบบไหนเพื่อวางแผนการเล่นต่อไป

ผมมีรายได้จากการสังกัดทีมและรายได้จากการลงแข่งทัวร์นาเมนต์ ซึ่งนักกีฬาอี-สปอร์ตจะต้องมีสังกัด เพื่อที่จะหาสปอนเซอร์สนับสนุนทีม ซึ่งสปอนเซอร์ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสปอนเซอร์ที่เกี่ยวกับสินค้าไอทีและคอมพิวเตอร์

ถ้าเราประสบความสำเร็จในการแข่งชื่อของสปอนเซอร์เหล่านี้ก็จะได้รับชื่อเสียงและการยอมรับไปด้วย เหมือนๆ กับกีฬาชนิดอื่นๆ ไม่แตกต่างกันเลย รายได้ของนักกีฬาอี-สปอร์ตก็จะก็อยู่หลักหมื่นบาทขึ้นไป ถ้าได้เป็นนักกีฬาทีมชาติก็จะมีเรื่องเบี้ยเลี้ยงเพิ่มเติมเข้ามาด้วย

สำหรับอนาคตผมยังไม่ได้มองไปไกลมากตอนนี้ผมเรียนอยู่ ปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมยานยนต์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรียนจบไปก็คงมองในเรื่องของการทำงานประจำที่มีรายได้มั่นคง ควบคู่ไปกับการเล่นเกมที่ผมชอบ เพราะอย่างไรผมก็สามารถแบ่งเวลาว่างจากงานมาฝึกซ้อมเกมได้เหมือนเดิม”

นักกีฬาอี-สปอร์ต จากเด็กเล่นเกมสู่ทีมชาติ นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์

มองเกมต้องมองทั้งอุตสาหกรรม

นิธิพัทธ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอเซอร์ คอมพิวเตอร์ เล่าถึงวงการเกมในฐานะที่เอเซอร์ พรีเดเตอร์เป็นสปอนเซอร์ที่สนับสนุนการแข่งขันอี-สปอร์ต

“ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเราจะสังเกตเห็นได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการเกมมากมายที่มีคนเคยเล่นเกมเพียงแค่เป็นเพื่อความผ่อนคลายเล่นกับสนุกไปเล่นเพียงเพื่อฆ่าเวลาก็กลายมาเป็นการเล่นแข่งขันเป็นรูปแบบของเกมกีฬากันมากขึ้น

โปรแกรมเกมต่างๆ เริ่มมีมาตรฐานในการผลิตเกม มีระบบความปลอดภัยป้องกันการโกงแล้วก็มีเรื่องของการปรับความสมดุลภายในเกมช่วยให้การเล่นนั้นมีความยุติธรรมแล้วก็เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ทำให้ผู้เล่นนั้นสามารถเกิดการแข่งขันและพัฒนาฝีมือขึ้นมาได้ เกิดการเล่นกันอย่างแพร่หลายและสามารถเล่นกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

บวกกับเรื่องของฮาร์ดแวร์ที่มันสนับสนุนการเล่น ก็จะทำให้กีฬาอี-สปอร์ตเป็นกีฬาที่โตเร็วอย่างมากจนน่าตกใจ เด็กรุ่นใหม่สามารถที่จะทำเป็นอาชีพได้ หรือมีอาชีพข้างเคียง เช่น อาชีพของนักพากย์เกม หรืออาชีพของคนทำแอนิเมชั่นในเกม โปรแกรมเมอร์นักออกแบบเกม หรือสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการเกมในส่วนอี-สปอร์ตนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดด เราเองก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ในการเล่นกีฬาอี-สปอร์ต ก็ทำให้เราเข้าไปเกี่ยวเนื่องโดยที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบอุตสาหกรรมนี้ไปโดยปริยาย ถ้าเปรียบเทียบกับกีฬาชนิดอื่นๆ เราก็คือผู้ผลิตอุปกรณ์การเล่นไม่ต่างจาก ไม้กอล์ฟ รองเท้า หรืออุปกรณ์ในการเล่นของกีฬาชนิดนั้นๆ

นักกีฬาอี-สปอร์ต จากเด็กเล่นเกมสู่ทีมชาติ

นักกีฬาอี-สปอร์ตจากเดิมที่เคยมีคนมองว่าเป็นเด็กติดเกม ผมกลับมองว่ามันอาจจะเป็นภาพเดียวกันกับการเล่นกีฬาชนิดอื่นซึ่งทุกคนก็สามารถเล่นได้ แต่ไม่ได้ทุกคนที่จะเป็นนักกีฬา ความต่างของผู้เล่นทั่วไปคนที่ออกกำลังกายคือเรื่อง การบริหารจัดการอย่างถูกต้อง

อยากจะเป็นนักกีฬาอาชีพก็ต้องมีการฝึกซ้อมของตัวเอง มีเวลาฝึกซ้อมกับทีม เข้าร่วมแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ มีตารางฝึกซ้อมชัดเจนแบบนักกีฬาอาชีพ ดังนั้นถ้าคุณเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตคุณจะต้องมีวินัย มีความรับผิดชอบ ถ้าเกิดคุณเป็นเด็กติดเกมนั่นคือคนไม่มีวินัยและแบ่งเวลาไม่ถูกจนทำให้เรื่องงานและเรื่องเรียนเสียไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็นนักกีฬาอี-สปอร์ตที่เป็นตัวแทนประเทศไทย ทางการกีฬาแห่งประเทศไทยกำหนดเลยว่าจะต้องมีเรื่องของการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย มีการฝึกวิ่งบนสายพานจะต้องมีการเทรนนิ่งเรื่องอื่นในเรื่องของสมรรถภาพร่างกาย ซึ่งเป็นกฎของการกีฬาแห่งประเทศไทย เพียงแต่สมรรถภาพร่างกายอาจจะไม่ได้เข้มข้นหรือแข็งแรงเท่านักกีฬาที่ต้องใช้แรงเหมือนนักวิ่งทีมชาติ หรือนักฟุตบอลทีมชาติ คงไม่ถึงขนาดนั้น

หลายคนยังมองว่าคุณนั่งเล่นเกมอยู่บนโต๊ะมันเป็นกีฬาได้อย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองแต่ถ้าไปดูนิยามของคำว่ากีฬาจริงๆ คือสิ่งที่ต้องพัฒนาทั้งเรื่องของร่างกายแล้วก็สมองด้วยฉะนั้นเกมก็เป็นสิ่งหนึ่งที่พัฒนาประสาทสัมผัสด้านสมองได้ความคิด รู้จักวางแผนกลยุทธ์

ผมเชื่อว่ามันเป็นกีฬาอยู่แล้วล่ะ แต่สิ่งที่จะทำ ให้ดีขึ้นกว่าเดิมคือเรื่องขององค์ความรู้ในด้านการบริหารการจัดการแบบมืออาชีพ ให้คนที่มีความรู้ในเรื่องเกมมาช่วยวางแผนการเล่นการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบมากกว่านี้ เราอยากให้มองว่าอี-สปอร์ตสามารถสร้างโอกาสที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมให้เติบโตสร้างมูลค่าได้อีกมหาศาล ทุกวันนี้เด็กไทยเล่นเกมติดอันดับต้นๆ ของโลกหลายคน เป็นอีกโอกาสหนึ่งของเด็กไทยที่จะไปคว้าเหรียญทองสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศกลับมาได้”