posttoday

‘อาชีพที่ใช่!’ คนยุคมิลเลนเนียล

02 กรกฎาคม 2561

จัดไปเลย 1 วันเต็ม ให้เป็นวันของคนหางานที่เพิ่งจบปริญญาตรี หรือ Job Seeker กับโครงการเพื่อสังคม Adecco Career Club

เรื่อง ชุติมา สุวรรณเพิ่ม ภาพ วีรวงศ์ วงศ์ปรีดี

จัดไปเลย 1 วันเต็ม ให้เป็นวันของคนหางานที่เพิ่งจบปริญญาตรี หรือ Job Seeker กับโครงการเพื่อสังคม Adecco Career Club โดยกลุ่มบริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย นับเป็นกูรูเรื่องจัดหางานให้กับองค์กรต่างๆ ทั่วโลก โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อมุ่งช่วยให้ผู้สมัครงาน และนักศึกษาจบใหม่บรรลุเป้าหมายด้านอาชีพ ก็ต้องถือว่าโครงการตอกย้ำภาพชัดในความเป็นผู้นำของอเด็คโก้ กับการสรรหาทรัพยากรบุคคลระดับโลก

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค-ไทยและเวียดนาม กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวเปิดโครงการว่า ปัจจุบันตลาดแรงงานมีความต้องการพนักงานตำแหน่งงานประจำจำนวนมาก ขณะที่ตัวเลขจำนวนคนว่างงานกลับพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เผยว่า ไตรมาสแรก ปี 2561 มีจำนวนผู้ว่างงาน 4.4 แสนคน มากกว่าปี 2557 เกือบ 1 แสนคน กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงเป็นที่มาของการเปิดสำนักงานใหม่ในย่านอารีย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการให้บริการด้านการสรรหาพนักงานตำแหน่งงานประจำ 

“แม้ว่าตัวเลขจำนวนคนว่างงานจะพุ่งสูงขึ้นทุกปี แต่ตลาดแรงงานยังมีความต้องการพนักงานตำแหน่งงานประจำค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในสาขาอาชีพงานขาย (Sales) พนักงานไอที พนักงานธุรการ วิศวกร และการเงิน รวมถึงงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญด้านภาษาญี่ปุ่น การก่อตั้ง Adecco Talent Recruitment Center ก็เพื่อที่จะแก้ปัญหาตรงนี้เลยค่ะ โดยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อระหว่างองค์กรกับผู้สมัคร” 

ธิดารัตน์ กล่าวนำร่องโครงการนี้ที่ฉายภาพชัดเจนให้ได้รู้กันว่างานอะไร? ที่คนยุคเจเนอเรชั่นวาย (Generation Y) หรือคนยุค Millennials ซึ่งเกิดอยู่ในช่วงปี 2523-2540 สนใจกระหายใคร่อยากร่วมงาน

‘อาชีพที่ใช่!’ คนยุคมิลเลนเนียล ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์

คนเจนวายเลือกอาชีพอะไร(ดี?!!)

การนำความเชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคล ให้คำปรึกษา และพัฒนาศักยภาพผู้สมัครงาน ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่างๆ ภายใต้โครงการ Adecco Career Club ในชื่อกิจกรรม One-On-One Career Coaching ครั้งนี้ให้คำปรึกษาฟรี โดยพนักงานมืออาชีพของอเด็คโก้ ที่มีจิตอาสาให้คำปรึกษาด้านอาชีพ ช่วยให้ผู้สมัครงานค้นพบศักยภาพตัวเอง เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพ

ธิดารัตน์ กล่าวว่า ก่อนหน้านั้นมีการสอนเขียนเรซูเมและแนะนำเทคนิคการสัมภาษณ์งานให้กับนักศึกษาที่กำลังจะเข้าสู่วัยทำงาน ซึ่งจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องในมหาวิทยาลัยต่างๆ และมีแผนต่อยอดโครงการดังกล่าวด้วยการจัดการสัมมนา และจัดเวิร์กช็อปในการพัฒนาศักยภาพคนทำงานในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงานในระยะยาว และมอบมุมมองดีๆ ให้กับผู้สมัครงาน

“โครงการนี้ส่งนโยบาย Adecco Way to Work มาจากสำนักงานใหญ่ของกลุ่มบริษัทอเด็คโก้ตั้งอยู่ที่เมืองซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่มาก็คือคนทั่วโลกตกงานกันมากเลยนะคะ เช่น ประเทศสเปน ประสบปัญหานี้คนตกงานกว่า 40% คนจบใหม่ว่างงานกันแบบค้างเจเนเรชั่นเลยทีเดียวค่ะ จึงเกิดนโยบายการจ้างงานในวัยเยาวชน สร้างโอกาสให้มากขึ้นสำหรับคนไม่เคยเข้าสู่การทำงาน

กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย ก้าวสู่ 29 ปีแล้วนะคะ มีสาขากระจายทั่วประเทศ ก็เป็นที่รู้จักกันดีว่าเราเป็นตัวกลางให้คนหางาน และบริษัทต่างๆ กิจกรรมนี้เราเปลี่ยนหมวกสวมบทบาททำเพื่อสังคม โดยประกาศผ่านเฟซบุ๊กองค์กร ให้เด็กๆ จบใหม่ที่สนใจมาร่วมกิจกรรม One-On-One Career Coaching และขอจิตอาสาพนักงานบริษัทมาร่วมด้วย ซึ่งได้โค้ช 12 คน แนะนำเด็กจบปริญญาที่เป็น Job Seeker 50 คน ใช้เวลาคนละ 1 ชั่วโมงกว่าค่ะ”

จำนวนนี้คัดจากคนสนใจร่วมกิจกรรมนับร้อยๆ คน ธิดารัตน์ กล่าวว่า สาเหตุที่มีคนสนใจมาก จากประสบการณ์คร่ำหวอดในวงการหางาน เด็กจบใหม่แน่นอนว่าไม่ชัดเจนว่าเขาต้องการทำงานอะไร หรือต่อให้ผ่านการทำงานมาแล้ว 2-3 ปี หลายๆ คนก็ยังหลงวนเวียนไม่รู้ว่าสิ่งที่รักจริงๆ อยากทำจริงๆ งานนั้นคืออะไรแน่?!!

“เคยเจอคนทำงานมาแล้ว 5 ปี ตั้งคำถามค่ะว่านี่ใช่งานที่เราอยากทำจริงหรือเปล่า โค้ชก็จะช่วยปลดล็อกดึงศักยภาพนั้นออกมา ว่างานอะไรคือความสุขของชีวิต

วันนี้เราจัดให้เป็น 1 วันของเด็กจบใหม่ ให้พี่ๆ นำทาง และมีแบบทดสอบ Expert Test ที่อเด็คโก้ ออกแบบขึ้นมา จาก 3 คำค่ะที่จะบอกโปรไฟล์งานได้ชัดขึ้น คือ “Can do-ความสามารถ” “Will do-ทัศนคติ” “Will fit-งานที่ใช่”  

กุญแจสำคัญถ้าคุณต้องการงาน ธิดารัตน์ กล่าวว่า อันดับแรกแน่ๆ ต้องมีเป้าหมาย และอีกข้อคือคนทำงานต้องมีสิ่งที่เรียกว่า Soft Skills ซึ่งถือว่าหัวใจหลักอีกข้อในการทำงาน

“สิ่งที่ทำให้คนแตกต่างคือ Soft Skills เช่น การสื่อสาร (Communication) การทำงานเป็นทีม (Teamwork) ตรงต่อเวลา (Always Punctual) การคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เรื่องแรกยกตัวอย่างการสื่อสาร ต้องพูดจารู้เรื่อง จับประเด็นได้ คุณฝันอยากเป็นพนักงานขายใจจะขาด แต่ขาดข้อนี้ก็ไม่มีวันได้งานที่ใฝ่ฝันแน่ๆ ค่ะ แล้วรวมไปถึงทักษะทางภาษาต่างประเทศอีกด้วยค่ะ

เป็นเรื่องปกตินะคะ ไม่แปลกที่เด็กจบใหม่จะไม่รู้จักตัวเองว่า เราอยากทำงานอะไรกันแน่ ไม่โทษเด็กเลยค่ะ ต้องโทษระบบการศึกษาบ้านเราที่ออกแบบหลักสูตรไม่มีปลายทางให้เห็น การเลือกเรียนล้วนมาจากพ่อแม่เลือกให้ เลือกตามเพื่อนไหลตามๆ กันไป ไม่มีเป้าหมาย Career ของตัวเอง ซึ่งวันนี้โลกคนทำงานเปลี่ยนแปลงไป จากที่มี 5 บริษัทท็อปไฟว์ในดวงใจ ก็กลายเป็นว่าบริษัทข้ามชาติสวยใหญ่โตแค่ไหนไม่สำคัญแล้วค่ะ สิ่งที่เด็กเจนวายสนใจเหมือนๆ กัน คือกลุ่มงานดิจิทัลหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ล้ำๆ และสิ่งที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้ตาโตได้คือ สตาร์ทอัพ บางแห่งไม่มีออฟฟิศด้วยซ้ำไปนะคะ เป็นแค่โค-เวิร์กกิ้งสเปซเล็กๆ แต่นี่คืองานในฝันของคนรุ่นนี้เลยค่ะ

วัยนี้หลายๆ คนกำลังค้นหาตัวตน บางคน Mismatch-หาไม่เจอ โครงการนี้ของอเด็คโก้ก็อาจเป็นกลไกหนึ่งในมหาสมุทร ที่อาจแนะนำให้เห็นหนทางได้ชัเจนขึ้นค่ะ” ธิดารัตน์ กล่าวทิ้งท้ายสำหรับโครงการเพื่อเยาวชนคนหางานยุคนี้

‘อาชีพที่ใช่!’ คนยุคมิลเลนเนียล พนิตา พุ่มวิวัฒนศิริกุล

คำถามแรกของเด็กจบใหม่ ?!!

โครงการติดปีกเพิ่มศักยภาพ ให้คนเตรียมตัวเป็นเฟิสต์จ็อบเบอร์ ฐานะรุ่นพี่ที่ได้งานอย่างใจฝันก็ขออาสาร่วมกิจกรรม One-On-One Career Coaching พนักงานของอเด็คโก้ พนิตา พุ่มวิวัฒนศิริกุล กับการก้าวสู่ตำแหน่ง Business Manager พี่มีของดีแนะนำน้องๆ เพียบ

“นิสัยเด็กเจนวาย มีความกระตือรือร้นสูงค่ะ พอเรียกน้องเข้าห้องโค้ชชิ่ง ยังไม่ทันนั่งเก้าอี้เลย มีคำถามรัวๆ เลย พี่ตอบไม่ทันนะคะ (หัวเราะ) คำถามแรก สมัครงานหลายแห่ง ทำไมไม่ถูกเรียกสัมภาษณ์ทั้งที่จบคณะวิศวกรรม สถาบันชั้นนำด้วยคะแนนเกียรตินิยม? ทำไมเพื่อนเกรดน้อยกว่าแต่ถูกเรียกสัมภาษณ์?!!

พี่ก็ต้องบอกน้องว่าให้วิเคราะห์ตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เรามั่นใจภูมิใจจริงหรือไม่กับการเรียนจบวิศวะ คนเรียนจบคณะนี้หลากหลายนะคะ บางคนจบเกรดสวยงามแต่ไม่อยากทำงานโรงงาน อยากไปทำในสายธุรกิจมากกว่า

ปัจจัยได้งานมีหลายๆ ข้อค่ะ ตั้งแต่โลเกชั่นบ้านของเรากับที่ทำงาน ก็อาจเป็นสิ่งที่บริษัทพิจารณาคัดเลือกพนักงานเช่นกัน บ้านน้องอยู่ปทุมธานี แต่งานอยู่อีกฝั่งของกรุงเทพฯ หรือน้องอาจใจร้อนเกินไป ดูระยะเวลาการเขียนใบสมัครของเรากับเพื่อน ซึ่งเขาก็บอกว่าเพื่อนไปสมัครก่อน ก็ต้องถูกเรียกสัมภาษณ์ก่อนอยู่แล้วนะคะ สามารถยกโทรศัพท์ไปถามได้ว่าบริษัทได้รับเรซูเมของเราหรือยัง แล้วถ้าเลยเวลาไปแล้ว อยากได้งานที่นี่มากจริงๆ มีเปิดรับสมัครอีกครั้งเมื่อไรคือแสดงความสนใจให้ชัดเจนได้เลยค่ะ

เป็นการคลายล็อกทีละข้อ ให้เขาคลายกังวล และยังมีความมั่นใจในตัวเองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก

แบบทดสอบ Expert Test ที่อเด็คโก้พัฒนาขึ้นมาในเรื่องความชัดเจนเรื่องงาน ก็ช่วยได้มากค่ะ ดิฉันก็โค้ชน้องว่าให้ดูภาพภูเขาน้ำแข็ง ยอดเหนือพื้นน้ำที่เรามองเห็น คือ Can do-ความสามารถ บริษัทก็จะวัดวิเคราะห์เราจากความรู้ ทักษะ มองเห็นได้ชัดโดยดูได้ที่วุฒิการศึกษา หรือคอร์สที่น้องไปเรียนกันมา และต่อด้วยการทำแบบทดสอบ Will do-ทัศนคติ Will fit-งานที่ใช่ ก็ให้น้องๆ ทำแบบทดสอบมีคะแนนให้เลเวล 1-5 ที่จะเห็นได้ชัดเจนถึงนิสัยการทำงานชัดเจน เมื่อไปสมัครก็จะไปถูกทางได้ง่ายขึ้นค่ะ

บางคนทำแบบทดสอบแล้วคำตอบออกมาว่า ถนัดสำหรับการทำงานคนเดียว ซึ่งถ้าน้องจบสายบริหารธุรกิจก็ควรเลือกอาชีพงานขาย คอลเซ็นเตอร์ หรือคัสตอมเมอร์ เซอร์วิสต์ ที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยตัวเอง โดยไม่เพียงแค่ประสานงานกับทีมใหญ่ๆ เท่านั้นนะคะ งานขายก็เพียงดูแลลูกค้าให้ดีที่สุดค่ะ คนทำงานควรกล้าคิด กล้าทำ กล้าขอ(งาน) คือ นิสัยคนรุ่นใหม่ยุคนี้ ถ้าใครมีอุปนิสัยเหล่านี้ พี่รับรองน้องได้งานทุกคนค่ะ” พนิตา แนะนำ

บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หทัยชนก ศรีสงวนสกุล จบคณะมนุษยศาสตร์ เอกสารสนเทศศึกษา สมัครเข้าร่วม One-On-One Career Coaching อีกคนที่กำลังเป็น Job Seeker ในอายุ 22 ปี ดีกรีของสาวหน้าใสคือจบคะแนนเกียรตินิยม สื่อสารได้ดีเลิศทั้งอังกฤษ จีน และต้องนับเป็นคนเจนวายแท้จริงอะไรจริง ที่คนยุคนี้ต้องมีงานทำได้ถึง 3 อาชีพ

“งานในฝันคือคอนเทนต์ไรเตอร์ทางออนไลน์ แอร์โฮสเตส แล้วที่ได้ทำไปบ้างแล้วคือโมเดลลิ่ง ได้ไปแคสต์ถ่ายภาพนิ่งหลายๆ ชิ้นแล้วค่ะ พี่โค้ชชิ่งวันนี้แนะนำ ให้เรามุ่งไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น เช่น การเขียนเรซูเมให้น่าสนใจ พี่ก็บอกว่าดีไซน์สวยแล้วกระชับใน 1 หน้ากระดาษ แต่ก็ควรเพิ่มเติมในเรื่องกิจกรรมที่เราทำ เช่น การฝึกงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นประสบการณ์การทำงานที่ดีมาก ก็ควรเน้นชัดเจนในเรซูเมของเรา หรือการเรียกเงินเดือนของคนจบใหม่

อีกเรื่องคือ Soft Skills เช่น การสื่อสาร ก็ต้องเขียนไปว่าเราไปเรียนคอร์สภาษามากี่แห่ง ใส่ไปให้ชัดๆ เน้นๆ เลยค่ะ ส่วนความฝันอาชีพแอร์โฮสเตส พี่แนะนำดีมากค่ะ บอกว่าไม่ควรเน้นแสดงแต่สิ่งที่เราอยากได้ อยากเป็น แต่ควรบอกในสิ่งที่เราเคยทำ ซึ่งสามารถบอกความเป็นเราได้ หัวใจอาชีพแอร์คือการบริการ ถ้ามีแต่ฝันว่าอยากได้เงินเดือนดีๆ เที่ยวรอบโลก แต่ขาดใจบริการทำไปก็ไม่มีความสุข ทำไปก็เหนื่อยๆ นะคะ

กิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ เป็นผู้ช่วยมัคคุเทศก์ที่พิพิธภัณฑ์ที่เราเคยทำ สิ่งเหล่านี้แสดงตัวตนเราได้ชัดเจนเลยค่ะ” หทัยชนก บอกพลางยิ้มสดใสกับการเตรียมประวัติพร้อมรับงานใหม่