posttoday

สุวิชชา สุดใจ ผู้หลงเสน่ห์งานธนาคาร

16 มิถุนายน 2561

หนุ่มแบงก์สาวแบงก์ หรือพนักงานที่ทำงานธนาคาร ในสมัยก่อนช่างดูโก้เก๋ เท่ และใครๆ ก็อยากเข้าไปทำ

โดย  ลีลี่ โจว 

หนุ่มแบงก์สาวแบงก์ หรือพนักงานที่ทำงานธนาคาร ในสมัยก่อนช่างดูโก้เก๋ เท่ และใครๆ ก็อยากเข้าไปทำ ครั้นพอเวลาล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน ข่าวคราวธนาคารทยอยปิดสาขามีออกมาต่อเนื่อง สอดคล้องกับยุคดิจิทัลที่คนหันไปใช้บริการทำธุรกรรมผ่านมือถือมากขึ้น มาสาขาเองน้อยลง ก็ทำให้เสน่ห์ของสายงานธนาคารในสายตาของคนจำนวนมากดูจะจืดจางลงไป

อย่างไรก็ตาม จริงๆ แล้วหากมองอย่างถ้วนถี่ งานในสายงานธนาคารก็ยังมีเสน่ห์ที่น่าค้นหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องรับผิดชอบงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยี เพราะเวลานี้ธนาคารต่างๆ ก็มุ่งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านตัวเองในยุคดิจิทัล ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้

สุวิชชา สุดใจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บิซิเนส อินโนเวชั่น ธนาคารกรุงไทย เป็นหนึ่งในผู้ที่หลงใหลเสน่ห์ของงานธนาคาร ดังนั้นจึงเป็นคนที่จะมาให้คำตอบได้ดีว่า งานในสายงานนี้มีเสน่ห์แค่ไหน เพราะเขาทำงานอยู่ในสายงานนี้มาร่วม 7 ปี เริ่มจากธนาคารอื่นก่อนจะย้ายมาที่ธนาคารกรุงไทยเมื่อไม่นานมานี้

สุวิชชา เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะมาทำงานในสายงานธนาคาร ก็เคยอยู่ในสายงานด้านที่ปรึกษามาก่อน แต่แล้วก็ตัดสินใจก้าวขาเข้ามาสู่สายงานธนาคาร เพราะมองว่าเป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ

ทั้งนี้ เพราะการเงินเป็นเรื่องสำคัญของคน และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเงินก็น่าสนใจ แต่ในอุตสาหกรรมธนาคารที่เป็นอยู่อาจจะมีระบบที่เป็นแบบเดิมๆ อยู่ค่อนข้างมาก หากสามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนตรงนี้ได้ ก็จะเพิ่มผลิตภาพให้กับอุตสาหกรรมนี้ได้ดีขึ้น

เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมองว่า งานที่ทำก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อธนาคาร และหลังจากได้วนเวียนอยู่ในงานธนาคารมานาน 7 ปี ก็ทำให้สุวิชชารู้สึกว่า งานในสายงานธนาคารสนุก

สุวิชชา สุดใจ ผู้หลงเสน่ห์งานธนาคาร

“เสน่ห์ของงานธนาคารคือ ความหลากหลายและความท้าทาย การเข้ามาทำงานธนาคารจะได้เรียนรู้อะไรมาก ยิ่งธนาคารในอนาคตใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีเป็นตัวนำ เสน่ห์ของการทำงานธนาคารในยุคนี้ก็คือ การได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจดั้งเดิมและสามารถสร้างธุรกิจใหม่ได้ ได้คิดว่าจะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้ามาใช้ดิจิทัลได้อย่างไร จะเปลี่ยนพฤติกรรมลูกค้าอย่างไร ลูกค้าต้องการอะไร เพราะลูกค้ายุคนี้อะไรที่ไม่สนใจ ก็จะปิดรับเร็วมาก” สุวิชชา กล่าว

สุวิชชา ร่ายความคิดเห็นต่อว่า สำหรับคนรุ่นใหม่กับงานธนาคารนั้น ก็อยากบอกว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่จะชอบอะไรท้าทาย ซึ่งธนาคารเป็นอุตสาหกรรมที่ท้าทาย มีความหลากหลายของผลิตภัณฑ์

“ถ้าเข้ามาอยู่ในงานธนาคารอาจจะต้องใช้เวลา 3-4 ปีกว่าจะเรียนรู้ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างได้หมด ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ได้ลองเข้ามาในงานด้านนี้ แม้แนวคิดของธุรกิจธนาคารอาจจะดูเผินๆ แล้วเฉยๆ แต่งานหลายอย่างภายในมีความท้าทายที่คนรุ่นใหม่น่าจะชอบ

ตัวอย่างที่คนรุ่นใหม่น่าจะชอบในงานธนาคารก็คือ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทุกธนาคารก็สนใจ เช่น บล็อกเชน หรือเทคโนโลยีการเก็บข้อมูลแบบกระจายในเครือข่าย แทนที่จะเก็บไว้รวมศูนย์กลาง และแมชีน เลิร์นนิ่ง หรือเทคโนโลยีการเรียนรู้ด้วยเครื่อง”

สำหรับ สุวิชชา นั้น เข้ามาทำงานที่ธนาคารกรุงไทยกว่า 4 เดือนแล้ว โดยจะดูแลเกี่ยวกับนวัตกรรมดิจิทัล สิ่งที่เน้นทำหลังมาอยู่ที่นี่คือ การปรับกระบวนการทำงานให้เป็นแบบอไจล์ เวิร์กสเปซ (Agile Workspace) หรือระบบการทำงานที่ปราดเปรียว ว่องไวขึ้น จากเดิมที่ระบบการทำงานจะเป็นแบบวอเตอร์ฟอลล์ (Waterfall) คืองานไหลลงมาเป็นขั้นๆ ตามชั้นน้ำตก ซึ่งในช่วงแรกก็ร่วมกับทีมงานด้วยกันเรียนรู้กันไป

เมื่อนำระบบการทำงานแบบอไจล์ เวิร์กสเปซมาใช้แล้ว สุวิชชา มองว่า ระบบงานแบบนี้ทำให้ผลิตภาพสูงขึ้นจริง สิ่งที่เห็นชัดๆ คือเรื่องการลดใช้เอกสาร หากเป็นระบบการทำงานแบบเดิมๆ ก็อาจจะต้องทำเอกสารมากมาย แต่ด้วยระบบใหม่ ทีมงานนั่งทำงานด้วยกันอยู่แล้ว ก็ลดเรื่องการใช้เอกสารลงไป เพราะทุกคนเข้าใจตรงกันอยู่แล้วว่าทำอะไร ซึ่งสุวิชชาก็สนุกกับการทำงานแบบนี้ เนื่องจากได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมายดี

สุวิชชา สุดใจ ผู้หลงเสน่ห์งานธนาคาร

ส่วนงานบิซิเนส อินโนเวชั่น ที่สุวิชชาทำนั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สร้างผลิตภัณฑ์ด้านดิจิทัล เพื่อให้การทำงานว่องไวขึ้นโดยเฉพาะ หลักการคือ การผสมผสานระหว่างเรื่องธุรกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) เข้าด้วยกัน เพื่อทำงานร่วมกัน ด้วยเป้าหมายเดียวกันในการส่งมอบงาน

“การใช้ระบบงานที่ปราดเปรียวว่องไว คือการที่ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ทำให้สามารถออกผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาได้เร็วขึ้น ตรงกับสิ่งที่ต้องการจริงๆ และเวลามีปัญหาติดขัดอะไรขึ้นมา ก็จะแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว”

สุวิชชา กล่าวต่อว่า ในมุมของธนาคารกรุงไทย ให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัล ดังนั้นสิ่งที่ธนาคารพุ่งเป้าคือการเคลื่อนตัวให้เร็ว สร้างดีเอ็นเอใหม่ของธนาคาร คือควารวดเร็ว โดย 3 แพลตฟอร์มหลักๆ ที่ธนาคารกรุงไทยให้น้ำหนักในปีนี้ คือ เป๋าตัง เป๋าตุง และเน็ตแบงก์

“ทางด้านบริการต่างๆ ที่จะออกจะอยู่บน 3 แพลตฟอร์มหลักนี้ โดยเป๋าตัง เป็นแพลตฟอร์มรองรับการใช้งานของลูกค้ารายย่อย จะมีรูปแบบการใช้งานใหม่ๆ ออกมาตลอดทั้งปี นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์บัตรกรุงไทย ทราเวล การ์ด ที่เชื่อมโยงกับเป๋าตังซึ่งออกมาแล้ว

ขณะที่ เป๋าตุง เป็นแพลตฟอร์มเกี่ยวข้องกับร้านค้า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเน็ตแบงก์ แพลตฟอร์มที่เป็นเสมือนสาขาธนาคารบนมือถือ ก็จะมีการปรับปรุงรูปแบบให้ทันสมัยตอบโจทย์ลูกค้าที่ใช้งานบนมือถือมากขึ้น คาดว่าจะเปิดตัวรูปแบบใหม่ให้เห็นกันได้ไตรมาส 2 นี้

จะเห็นได้ว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งโอกาสของคนที่พร้อมจะเผชิญกับความท้าทาย พร้อมเดินหน้าไปกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาอยู่ในสายงานธุรกิจธนาคารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยี ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ให้กับธนาคาร โดยที่ผลิตภัณฑ์นั้นเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนไทยด้วยกันก็ได้ ของแบบนี้ ไม่ลอง ไม่รู้”