posttoday

สื่อสาธารณะ หยาบได้แค่ไหน?

12 มิถุนายน 2561

คําหยาบคายในละครและรายการโทรทัศน์มีเพิ่มมากขึ้นทุกวันจนเราต่างรู้สึกได้

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี 

คําหยาบคายในละครและรายการโทรทัศน์มีเพิ่มมากขึ้นทุกวันจนเราต่างรู้สึกได้ โดยเฉพาะคนรุ่นเก่าที่เคยผ่านประสบการณ์การรับชมรายการโทรทัศน์ ในยุคที่ยังมีการดูดเสียงคำหยาบคาย การเซ็นเซอร์ และการตัดบทละครที่มีถ้อยคำรุนแรงเกินไป

ทว่าทุกวันนี้ไม่เพียงแต่ในละครที่ใช้คำหยาบ แม้แต่รายการแข่งร้องเพลง รายการเรียลิตี้โชว์ ก็ยังปรากฏคำหยาบคายและเนื้อหาเหยียดสีผิวและเพศออกมาอย่างต่อเนื่อง

หยาบคายโดยไม่รู้สึกตัว

“ที่เราเป็นอยู่ในเวลานี้เหมือนทฤษฎีกบต้ม ถ้าน้ำค่อยๆ ร้อนขึ้นเรื่อยๆ เราจะไม่รู้สึกอะไร จนถึงจุดเดือดก็สายไป เช่นเดียวกันคำหยาบที่ใช้กันอยู่ในสื่อนั้นค่อยๆ เพิ่มความรุนแรง ความถี่ โดยที่เราไม่รู้สึกอะไร

สมัยก่อนรายการโทรทัศน์จะไม่มีคำว่ากู มึง หรือคำที่จัดว่าเป็นคำหยาบคายอื่นๆ ออกอากาศ พอเข้าสมัยนี้เริ่มมีคำว่ากู มึง เข้ามาบ้าง เราเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องธรรมดา ก็ปล่อยผ่านไปแล้วก็เริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จากสองถึงสามครั้งก็กลายมาเป็นการพูดกันโดยปกติ และออกอากาศได้โดยไม่ต้องดูดเสียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไปที่เด็กรุ่นใหม่พูดกัน

แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเด็กสมัยนี้พูดกันเป็นเรื่องปกติ หรือคิดว่ารายการนี้เป็นละครต้องสะท้อนสังคม การทำละครต้องสะท้อนความเป็นจริง เด็กพูดกู มึงก็ไม่เป็นไร อย่างนี้ใครทำอะไรรุนแรงทุกอย่างในโลกความเป็นจริง ก็ต้องเอามาบอกกันในละครเหรอ แล้วที่สำคัญก็คือคำหยาบคายเหล่านั้นปรากฏอยู่ในรายการเรต ท. (รายการทั่วไปสามารถรับชมได้ทุกวัย) ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถใช้เวลารับชมร่วมกันให้เกิดประโยชน์ได้มีความเหมาะสมหรือไม่” ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้ยื่นหนังสือร้องเรียน กสทช. ถึงความเหมาะสมในการใช้คำหยาบในรายการเรต ท.

ผศ.ดร.วรัชญ์ อธิบายถึงกระบวนการตรวจสอบสมัยก่อนเราจะมีหน่วยงานที่เรียกว่า กบว. (คณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ถูกยุบไปเมื่อปี 2535) ที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบความเหมาะสมก่อนออกอากาศ

สมัยนั้นก็จะถูกกล่าวหาละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อ ในยุคหลังๆ มาก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้น ก็ควรจะมีการส่งเสริมการกำกับดูแลกันเอง ให้ทางช่องพูดคุยกับผู้ผลิตรายการตกลงร่วมกันว่ารายการคุณจะเป็นเรตอะไร และดูแลกันเอง ดังนั้นจึงไม่มีการเซ็นเซอร์มานานแล้ว แต่จะใช้วิธีการจัดเรตของช่องแทน และใช้วิธีการนี้มาโดยตลอดยกเว้นโฆษณาที่จะต้องมีเซ็นเซอร์อยู่ เพราะอาจจะมีเรื่องการหลอกลวงและเป็นเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้นทางช่องและผู้ผลิตจะต้องกำหนดเอง เช่น รู้เองว่าตัวเองทำรายการนี้จะต้องทำเรต ท. เนื้อหาจะต้องสอดคล้องกับเรตที่ตั้งไว้ แต่ว่าปัญหาก็คือว่าทุกคนอยากจะให้รายการตัวเองเป็นเรต ท. เพราะเป็นเรตที่ออกได้ทุกเวลา โดยเฉพาะเวลาช่วงเย็น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนดูเยอะที่สุดจะได้ค่าโฆษณามากที่สุด ก็ทำรายการออกลงในช่วงนั้นโดยไม่สนใจเรื่องเรตติ้ง

ความรุนแรงในรายการโทรทัศน์จะมีอยู่ 3 มิติก็คือเรื่องพฤติกรรมความรุนแรง เรื่องทางเพศ และเรื่องคำหยาบคาย ซึ่งเรต ท. ถ้าพูดกันตามหลักการมันไม่ควรจะมี เพราะเป็นรายการที่ดูได้ทุกวัยไม่ว่าจะเป็นเด็กผู้ใหญ่ ไม่ควรมีในทุกมิติทั้งคำหยาบ เรื่องทางเพศ หรือความรุนแรง แต่คำว่ามีได้บ้าง นั้นหมายถึงความถี่ หมายถึงจำนวนครั้งที่ปรากฏ

อย่างในรายการบางรักซอย 9/1 มีคำว่ากู มึง และคำที่ใช้เรียกสัตว์เลื้อยคลาน รวมจำนวนทั้งหมด 92 ครั้งใน 5 นาที แบบนี้จะเรียกว่าบางครั้งหรือไม่

สื่อสาธารณะ หยาบได้แค่ไหน?

กำกับแสดงให้ถึงบทบาทก็พอ

ทัพพ์เทพ ภาปราชญ์ ผู้กำกับละครอิสระและอาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร พูดถึงปัญหาคำหยาบคายในละครและรายการโทรทัศน์ ในมุมมองของผู้อยู่เบื้องหลัง...

“หากเล่าในมุมมองของผู้กำกับ โดยตัดเรื่องเรตหรือเซ็นเซอร์ออกไป ละครคือการจำลองความเป็นจริงมาเล่า บางครั้งเราก็ตัดสินใจว่า ให้นักแสดงพูดคำหยาบไปเลยเพราะเรารู้ว่าจะต้องถูกดูดเสียง เพราะจากที่ผ่านมาเราจะรู้ว่าคำพูดเหล่านี้จะถูกดูด

ดังนั้น เราก็จะกำกับโดยให้ตัวละครนั้นพูดคำว่าเหี้ยไปเลยแล้วเราก็ปล่อยให้พูดไป พอถูกดูดเสียคนดูจะรู้และเข้าใจกฎของการเซ็นเซอร์มาตลอด ว่าตัวละครพูดคำว่าเหี้ย แต่เสียงถูกดูดไป แต่ถึงเสียงจะถูกดูดไปแต่อารมณ์ยังได้และเราพร้อมที่จะสะดุด และนี่คือความคุ้นชินของคนดูที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด นี่คือบริบทแบบไทย เป็นไปตามบริบทของสังคม

อย่างสมัยก่อนคำว่าเหี้ยเป็นคำไทยที่มีระดับเหมือนกับคำว่า กู มึง ในมุมของเบื้องหลังคนทำงานไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรกับการใช้คำเหล่านี้มาก อยู่ที่ผู้หลักผู้ใหญ่เขาพิจารณาในมุมไหนกันเองต่างหากมากกว่าว่ายุคเปลี่ยนไปแล้วควรจะตามให้คำนี้เป็น
คำปกติหรือจัดเป็นคำหยาบหรือเปล่า

ลองมองดูในรายการทีวีเห็นผู้หญิงใส่กระโปรงสั้นๆ อยู่เกือบทุกๆ รายการ แต่ลองย้อนมองกลับไปในรายการสมัยก่อนผู้หญิงใส่กระโปรงสั้น จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมทางสังคม ดังนั้นผมมองว่าในวันนี้ คำเรียกสัตว์เลื้อยคลานกำลังจะกลายไปเป็นคำปกติ แต่มันจะไม่ไปถึงความหยาบคายถึงขนาดรุนแรงในเรื่องเพศมากนัก

ดังนั้นเราจึงไม่ได้สนใจในเรื่องคำเหล่านี้ แค่อยากจะเล่าเรื่องให้ถึงอารมณ์ให้มากที่สุดไปก่อนแล้วพอถึงเวลาจะไปติดเซ็นเซอร์ จะเบลอแก้วเหล้า จะถูกตัดถูกรื้อก็ว่ากันไปแต่เวลากำกับพูดคุยกับนักแสดงก็ต้องทำให้ถึงบทให้มากที่สุด

อีกอย่างหนึ่งในมุมของคนเบื้องหลังนั้นไม่มีการพูดคุยกันหรอกว่ารายการของเราจะจัดอยู่ในเรตไหน ในที่ประชุมแทบไม่ได้มีการพูดกันเลยว่ารายการนี้จะอยู่ในเรตนี้นะ ต้องทำรายการออกมาในแนวไหน

การจัดเรตคือการจัดของช่องที่จะนำไปจัดช่วงเวลาขายสปอนเซอร์ ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าละครหรือรายการโทรทัศน์กับสินค้าที่โฆษณานั้น ไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันเลย ยกเว้นสินค้าเหล้าที่จะต้องเอาไปโฆษณาช่วงเวลาดึก ดังนั้นคนเบื้องหลังจึงแทบจะไม่ได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้เพราะเขาไม่ได้พูดคุยกันว่าจะไปอยู่ในเรตอะไร ตอนทำงานจึงต้องทำให้สุดแล้วค่อยไปว่ากัน”

เรตในรายการโทรทัศน์ต่างประเทศ

ผศ.ดร.วรัชญ์ บอกว่า ในต่างประเทศก็จะมีหน่วยงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ กสทช. “อย่างที่อเมริกาเขาก็จะมีกำหนดเรต G  เทียบเท่ากับ เรต ท. ของประเทศไทย แต่เรตของเขานั้น ต้องบอกว่าเขามีอยู่ 3 มิติเหมือนกัน ความรุนแรง กับเรื่องเพศ อาจมีได้บ้างแต่ว่าเบาบาง คำว่าเบาบางของเขาจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความถี่ แต่เป็นเรื่องของระดับความรุนแรง เช่น ผลักกันแต่ไม่ได้ถึงขนาดทำร้ายร่างกายหรือมีเนื้อหาทางเพศได้บ้างเช่น อาจจะกอดกันจูบกันบ้าง แต่เป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ ไม่ใช่เชิงชู้สาวทางเพศ มีการยั่วยวน

ถ้าเป็นเรื่องคำหยาบ เขาจะระบุไว้เลยห้ามเด็ดขาด จึงกลายเป็นว่าอเมริกาให้ความสำคัญกับเรื่องคำหยาบมากกว่าอีก2 ประเด็น ส่วนที่อังกฤษจะมีความละเอียดมากกว่า โดยมีการเรียกประชุมให้ภาคส่วนต่างๆ มากำหนดร่วมกัน ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง นักวิชาการ สื่อมวลชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันจัดระดับคำหยาบคายของภาษาอังกฤษ จนแบ่งออกเป็น 4 ระดับ ระดับที่ 1 คือเป็นเบาบาง เช่น ไอ้บ้า หรือคำสบถที่ไม่รุนแรงนัก อาจจะพูดได้บ้าง เพื่อเพิ่มเนื้อหาให้สมบูรณ์ขึ้น แต่ระดับที่ 2 ถึง 4

“เขาบอกว่าไม่ควรใช้ หากใช้ต้องมีเหตุผลที่สมควรและต้องรับผิดชอบตัวเองหากมีการร้องเรียนและโดนเรียกเข้ามาสอบสวน ซึ่งเวลาเส้นแบ่งระดับเด็กกับผู้ใหญ่ของเขาจะอยู่ที่สามทุ่มของเรา สองทุ่มครึ่ง คำรุนแรงห้ามใช้ก่อนสามทุ่มถ้าเกิดใช้ก่อนก็ต้องมีความรอบคอบและรับผิดชอบในการกระทำนั้น”

ผศ.ดร.วรัชญ์ ทิ้งท้ายว่าควรจะมีการพูดคุยเพื่อหามาตรฐานการใช้คำพูดในรายการโทรทัศน์ที่ชัดเจน และมีเอกสารออกมาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร

“ส่วนตัวผมคิดว่ารายการในเรต ท. นั้นไม่ควรจะมีการใช้คำหยาบคายเลย การจัดเรตนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากสื่อที่มีความรุนแรง

หากรายการต้องการจะสื่อสารออกมาแบบนี้ เพื่อให้สะท้อนสังคมให้ตรงอารมณ์ ก็ยังมีเรตอื่นที่รายการสามารถอยู่ได้และใช้คำเหล่านั้นได้อย่างสบายใจ อย่างเช่น ซีรี่ส์เรื่องฮอร์โมน เขาก็ออกตัวว่าละครถึงเขาเป็นละครที่ค่อนข้างแรงและเขาจัดเรตตัวเองออกไปอยู่ในช่วงดึกก็เป็นสิ่งที่เหมาะสม

ผู้ใหญ่อย่างเราจะไม่ค่อยสนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะเรามีวุฒิภาวะรู้ดีว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ แต่ว่าในเรต ท. หรือ เรต ด. ที่ทำออกมาให้เยาวชนและครอบครัวได้ดู ต้องให้พวกเขาได้รับเนื้อหาที่มีประโยชน์ตามพัฒนาการ ส่งเสริมในเรื่องของสติปัญญา สร้างสรรค์สังคม

ยังมีพ่อแม่อีกเป็นจำนวนมาก ที่พยายามสอนลูกว่าคำหยาบคาย ไม่ใช่ว่าจะพูดกันจนเป็นไลฟ์สไตล์ อย่าเอาตัวเองมาตัดสินว่าฉันก็พูดหยาบได้ ดังนั้นทีวีก็น่าจะพูดได้ไม่เป็นไร เพราะนี่เป็นสื่อสาธารณะ ที่ไม่ได้มีแค่ใครคนใดคนหนึ่งรับชม”