posttoday

เมืองนวัตกรรมผู้สูงวัย

31 พฤษภาคม 2561

เป็นเบบี้บูมเมอร์อยู่หลัดๆ แต่เพียงบัดเดี๋ยวใจก็กลายเป็นเอจจิ้งบูมเมอร์ไปเสียแล้ว

เรื่อง วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อม เพื่อทุกคน

เป็นเบบี้บูมเมอร์อยู่หลัดๆ แต่เพียงบัดเดี๋ยวใจก็กลายเป็นเอจจิ้งบูมเมอร์ไปเสียแล้ว ก็ในเมื่อสังคมไทยคงไม่หนีไปจากสังคมผู้สูงวัย ด้วยอายุที่ยืนยาวขึ้นจากเทคโนโลยีทางการแพทย์ อัตราการเกิดสวนทาง และการก้าวเข้าสู่วัยเกษียณของเจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์ โดยการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรในครั้งนี้ นับว่าจะสร้างความท้าทายให้แก่สังคมไทยอย่างใหญ่หลวงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า รับมือสังคมผู้สูงวัย...โจทย์ใหญ่ของพวกเราทุกคน

รับมือสังคมสูงวัย เตรียมความพร้อมไปแค่ไหนและถึงไหนแล้ว ก็ต้องตอบว่า ใจหายใจคว่ำทีเดียวเมื่อนึกขึ้นมาได้และนับนิ้วได้ว่า อีกเพียง 3 ปีไม่ถึงดี สังคมไทยก็จะกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แบบ สำหรับผู้อยู่นอกวงการผู้สูงวัย ขออธิบายว่า สังคมไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุมาตั้งแต่ปี 2548 เมื่อประชากรผู้สูงวัยมีสัดส่วน 10% ของจำนวนประชากรทั้งหมด จากนั้นก็เดินหน้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์แบบ ประชากรผู้สูงวัยจะมีสัดส่วน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมดในปี 2564 หรือในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์ Chula UDC ศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center-UDC) เล่าให้ฟังว่า เลเวลหรือระดับความเป็นสังคมสูงวัย ยังไม่หมดแค่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ แต่ภายในปี 2574 หรือ 12 ปีข้างหน้า สังคมไทยจะเดินหน้าสู่ขั้นสูงสุดของการเป็นสังคมซูเปอร์เอจ (Super Age) หรือสังคมสูงวัยแบบสุดยอด เมื่อประชากรผู้สูงวัยคิดเป็นสัดส่วน 28% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

เมืองนวัตกรรมผู้สูงวัย

“เมื่อถึงจุดนั้นปัญหาจะตามมาอีกหลายเท่าตัว ยิ่งถ้าเราขาดการตระหนักต่อความรุนแรงของปัญหาที่แท้จริง ปัญหาก็จะรุนแรงจริงๆ” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว

4 ด้านที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนเข้าสู่สังคมสูงวัยสมบูรณ์แบบ 1.สุขภาพ 2.สังคม 3.เศรษฐกิจ และ 4.สภาพแวดล้อม สำหรับสังคมไทยปูพรมไปพอสมควรแล้วคือมิติด้านสุขภาพ อย่างไรก็ตาม รศ.ไตรรัตน์ เล่าว่า ประเด็นสภาพแวดล้อมก็สำคัญไม่แพ้กัน ได้แก่ การออกแบบบ้านและการปรับสิ่งแวดล้อมในบ้านให้ปลอดภัยและเหมาะสมกับการอยู่อาศัยใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ ออกแบบพื้นที่สำหรับผู้สูงอายุ

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2557 ระบุว่า ไทยมีผู้สูงอายุที่เสียชีวิตจากการหกล้ม 1,000 คน/ปี ทั้งนี้ความเสี่ยงในการหกล้มของประชากรทั่วโลกเพิ่มสูงตามอายุ โดยพบว่า 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้มและกระดูกหัก จะไม่สามารถกลับมาเดินได้อีก สูญเสียความสามารถในการดูแลตัวเอง ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในระบบบริการผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

เมืองนวัตกรรมผู้สูงวัย

“การหกล้มที่นำไปสู่ความตาย เป็นไปทั่วโลกและถือเป็นหนึ่งในเทรนด์โลก ที่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ สำหรับผู้สูงอายุไทย คือ 500 คน/ปี ที่หกล้มแล้วเดินไม่ได้อีก ครึ่งต่อครึ่งต้องติดเตียงไปชั่วชีวิต” รศ.ไตรรัตน์ กล่าว

สำหรับศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน คือ การจุดพลุความพร้อมด้านสภาพแวดล้อมในสังคมไทย เปิดประเด็นเรื่องการปรับปรุงบ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกในบ้านให้เหมาะกับผู้สูงอายุ โดยจะเป็นศูนย์รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้งานวิจัยและนวัตกรรม ขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์ให้คำปรึกษาเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งเป็นศูนย์รวมอุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้สำหรับผู้สูงอายุ กำหนดเปิดวันที่ 9 มิ.ย.นี้ ณ อาคารสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ (สามย่าน) ซอยจุฬาฯ 15

“ยูดีซี ศูนย์จุฬาฯ สร้างเสร็จเป็นศูนย์แรก โดยจะเป็นศูนย์ประสานงานกลางและศูนย์หลักประจำกรุงเทพฯ กับปริมณฑล ภาคตะวันออกและภาคตะวันตกที่นี่มีความพร้อมเกี่ยวกับองค์ความรู้เรื่องสภาพแวดล้อมเพื่อผู้สูงอายุที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ก็ขอเชิญให้มาเยี่ยมชมได้ตั้งแต่บัดนี้”

เมืองนวัตกรรมผู้สูงวัย

โครงการศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรองรับเรื่องการออกแบบเพื่อสังคมสูงวัยโดยจะมีทั้งหมด 5 ศูนย์ ประกอบด้วย ศูนย์จุฬาฯศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศูนย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และศูนย์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยจะเปิดครบทั้ง 5 แห่ง ภายในเดือน ส.ค. 2562 มีให้ชมตั้งแต่แบบบ้านจนกระทั่งสิ่งอำนวยความสะดวกแบบ 360 องศาผู้สูงวัย  

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า อย่าถามว่าอีก 5 ปี หรือ 10 ปีข้างหน้า แต่เพียง 3 ปีข้างหน้านี้ ไทยก็จะมีจำนวนประชากรผู้สูงวัย 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เลยจุดเรื่องการเตรียมความพร้อมหรือยัง ก็ต้องบอกว่ายัง และไม่มีอะไรที่สาย การเตรียมตัวรับสังคมสูงวัย ต้องทำและต้องเตรียมทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่หนุ่มสาว คนทำงาน วัยเด็ก

ภรณี กล่าวว่า มิติการใช้ชีวิตที่จำเป็น ได้แก่ ความพร้อมในฐานงานต่างๆ 1.ฐานงานด้านสุขภาพ เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ 2.ฐานงานเศรษฐกิจ เป็นผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองได้ และ 3.ฐานงานสังคม เป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาวะในมิติของสังคม สุดท้ายคือสภาพแวดล้อม ซึ่งได้ร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคนนั่นเอง

เมืองนวัตกรรมผู้สูงวัย

“การออกแบบพื้นที่ หากใครต้องการศึกษาหรือสนใจ สสส.ได้ร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยหลายแห่งจัดตั้งศูนย์ Universal Design Center ขึ้น ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในเรื่องการออกแบบพื้นที่เพื่อผู้สูงวัย”

สสส.เสนอให้เตรียมความพร้อมตั้งแต่เด็ก นั่นหมายถึงความพร้อมที่เติบโตไปพร้อมกับตัวของคนคนนั้น แต่ไม่ว่าจะอายุเท่าไร ก็ไม่สาย ไม่พร้อมก็ต้องพร้อม! มองไปข้างหน้า สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุ 30-40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เราต้องปรับตัวทั้งระบบ

ธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการดำเนินงานภายใต้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545-2564) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ล่าสุดคือ ที่จัดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่พัทยา จ.ชลบุรี โดยเป็นการระดมหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อเดินหน้าไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายผู้สูงอายุให้เป็นวาระแห่งชาติ

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เห็นพ้องตรงกันว่า ประเด็นผู้สูงอายุจะต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ แผนผู้สูงอายุแห่งชาติฉบับต่อไปจะเป็นการเดินหน้านโยบายเชิงรุก ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุจะต้องเป็นนโยบายเร่งด่วน” ธนาภรณ์ เล่า

วาระแห่งชาติผู้สูงวัยสังคมไทย จะดำเนินงานภายใต้ 8 กรอบผู้สูงอายุที่สหประชาชาติกำหนดขึ้น โดยปรับลดหรือเพิ่มตามความเหมาะสมในแต่ละบริบทชุมชน ประกอบด้วย 1.ที่อยู่อาศัย สิ่งอำนวยความสะดวกในบ้าน การสร้างบ้านและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตามวัยได้ 2.การเข้าไปมีส่วนร่วมกับสังคม ผู้สูงวัยมีมิติการใช้ชีวิตนอกบ้าน วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา เพื่อนบ้าน ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิต 3.การได้รับการยอมรับในสังคม ภูมิปัญญาและประสบการณ์ชีวิต ได้รับการยกย่อง ได้รับการให้คุณค่า

4.การมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ท้องถิ่นกับการใช้ชีวิตของผู้สูงวัย และการออกแบบพื้นที่สำหรับผู้สูงวัย เช่น จากหน่วยงานปกครองท้องถิ่น กระทรวงแรงงาน และอาชีพอิสระสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น 5.การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เครื่องมือสื่อสารและแอพพลิเคชั่นที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้สูงวัย (Gold app : กรมกิจการผู้สูงอายุ) 6.การสนับสนุนของชุมชนและบริการด้านสุขภาพ

7.สภาพพื้นที่ภายนอกตัวอาคาร นอกจากการออกแบบอาคารบ้านเรือนให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยแล้ว ภายใต้กรอบสากลยังหมายความรวมไปถึงพื้นที่ภายนอกตัวอาคาร เช่น พื้นที่ลาดเท ประตู ทางลาดรอบอาคาร เป็นต้น สำหรับผู้สูงวัยไทย พื้นที่นอกอาคาร 3 แห่งที่ต้องไปได้ (ด้วยตัวเอง) คือ วัด ตลาด และโรงพยาบาล และ 8.การคมนาคมขนส่ง การออกแบบนวัตกรรมเรื่องการขนส่งและคมนาคม เพื่อการเดินทางของผู้สูงวัย

การเตรียมความพร้อมสำหรับการมาถึงของสังคมสูงวัย อาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอย่างที่คิด หากเรามองอย่างเข้าใจว่านี่คือโอกาสสำหรับทุกคนในสังคม ไม่เฉพาะเพื่อนผู้อาวุโสเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโอกาสในการปรับปรุงเมืองให้เหมาะสม เพราะไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนทำงาน หรือคนหนุ่มสาวที่มีสุขภาพแข็งแรง สถานภาพที่เหมือนกัน ก็คือ การเป็นสมาชิกเพื่อนร่วมสังคม และเพื่อนร่วมสังขารเกิดแก่เจ็บ

อนาคตกับการอยู่ร่วมกัน ระหว่างกองทัพผู้สูงวัยกับคนรุ่นใหม่จะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ “เรา” ทุกๆ คน ผลประเมินล่าสุดจากแผนยุทธศาสตร์ผู้สูงวัยแห่งชาติ สังคมไทยยังมีภาวะเหยียดวัย ยังมีมนุษย์ลุงมนุษย์ป้า ยังมีเจตคติที่ดูหมิ่นเหยียดหยาม รวมทั้งการถูกทำให้เกลียดชัง ทัศนคติต่อผู้สูงวัย “ไม่ผ่าน” ในหลายประเด็น ทิ้งท้ายไว้สำหรับเมืองนวัตกรรมผู้สูงวัย (ในอนาคตอันใกล้)