posttoday

กิจกรรมประสานเสียงสร้างสุข ‘วงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย’

23 พฤษภาคม 2561

ถ้าพูดถึงวงประสานเสียงผู้สูงวัย นาทีนี้ชื่อของ “วงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย”

เรื่อง ภาดนุ

ถ้าพูดถึงวงประสานเสียงผู้สูงวัย นาทีนี้ชื่อของ “วงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย” ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง เพราะถือเป็นวงประสานเสียงชาวสูงวัยวงแรกในเมืองไทย ที่เคยไปแข่งขันในระดับนานาชาติจนคว้ารางวัลติดไม้ติดมือกันมาแล้ว

อ.ฤทธิ์ ทรัพย์สมบูรณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาอำนวยเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ก่อตั้งวงประสานเสียงเล่าว่า วงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย (Salaya Tiny Young Chorus) เกิดจากไอเดียของ รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข ขณะที่ดำรงตำแหน่งคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ต้องการให้ตั้งวงประสานเสียงผู้สูงวัยขึ้นมา

“แรกเริ่ม อ.สุกรี ตั้งชื่อวงว่า ‘วงศาลายาหนุ่มสาวน้อย’ ก่อน จากนั้นก็ได้มอบหมายให้ผมจัดการเรื่องงบประมาณ และวางแผนว่าจะให้วงร้องเพลงแบบไหนยังไง รวมทั้งจะเปิดรับสมัครตามช่องทางไหน เนื่องจากเป็นสิ่งใหม่ของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะมีแต่วงนักศึกษาเท่านั้น

ช่วงแรกเราก็เริ่มประชาสัมพันธ์การรับสมัครไปตามชมรมผู้สูงวัย โดยเพลงที่ใช้สอนจะเป็นเพลงในยุคพวกเขา ทั้งเพลงไทยเพลงลูกทุ่ง และเพลงจีน เพราะ อ.สุกรี ต้องการให้สมาชิกในวงมีความสุขที่ได้มาร้องเพลงร่วมกัน แทนที่เกษียณไปแล้วอยู่บ้านเฉยๆ ก็จะไม่เกิดประโยชน์

กิจกรรมประสานเสียงสร้างสุข ‘วงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย’

ปรากฏว่ามีคนมาสมัคร 30-40 คนเท่านั้น และเริ่มเรียนกันตอนปลายปี 2015 แต่พอรุ่นที่ 2 ก็มีคนมาสมัครเพิ่มขึ้นเป็น 100 คนได้ ซึ่งแต่ละรุ่นจะเรียนกันเทอมละ 4-5 เดือน เป็นเวลา 2 เทอมด้วยกัน ปัจจุบันนี้ก็เป็นรุ่นที่ 3 แล้วครับ”

อ.ฤทธิ์ บอกว่า หน้าที่ของเขาก็คือเป็นหัวหน้าโครงการและช่วยดูแลเรื่องการรับสมัครสมาชิกเข้ามาในวงเป็นหลัก นอกจากนี้เขายังช่วยสอนการขับร้องและการออกเสียงควบคู่ไปกับ อ.เดว์-ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ ด้วย

“เมื่อ อ.เดว์ ทำหน้าที่เป็นวาทยกร ผมก็จะลงไปเล่นเปียโนในวงให้ ล่าสุดวงก็กำลังจะเดินทางไปแข่งขันขับร้องประสานเสียงบนเวที ‘7th Bali International Choir Festival 2018’ ในช่วงปลายเดือน ก.ค.นี้ที่บาหลี อินโดนีเซีย เป้าหมายสำคัญของเราไม่ได้อยู่ที่การได้รับรางวัล แต่คือการทำให้ผู้สูงวัยมีความสุขกับกิจกรรมที่พวกเขาทำซะมากกว่า

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับพวกเขาไปในตัวโดยไม่เกี่ยวกับวัยอีกด้วยเพราะการได้ไปขึ้นเวทีคอนเสิร์ตในระดับนานาชาตินั้น ถือเป็นการสร้างคุณค่าทางจิตใจ และสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขาได้เป็นอย่างดี” ติดตามข่าวสารได้ที่ Page FB : วงประสานเสียงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย

กิจกรรมประสานเสียงสร้างสุข ‘วงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย’

ด้าน อ.เดว์-ธนาวุฒิ ศรีวัฒนะ วาทยกร ผู้ประพันธ์และเรียบเรียงบทเพลง อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาอำนวยเพลง วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า แรกเริ่มเขาเข้ามาในฐานะนักดนตรีที่เล่นเปียโนให้กับวงเท่านั้น แต่ยังไม่ได้เป็นผู้สอน

“ช่วงที่มีการเปิดรับสมัครนักร้องประสานเสียงรุ่นที่ 2 อ.ฤทธิ์ ได้ชักชวนให้ผมมาเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้สอน พร้อมทั้งทำหน้าที่เรียบเรียงเสียงประสานเนื้อร้องและดนตรีไปด้วย เนื่องจากผมเป็นนักประพันธ์เพลงอยู่แล้ว แต่ช่วงแรกๆ ก็เกิดปัญหาบ้าง เพราะผมไม่เคยเรียบเรียงเสียงประสานให้กับวงที่มีนักร้องสูงวัยทั้งวงมาก่อน ผมจึงต้องไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเสียง รวมทั้งความสามารถในการออกเสียงของผู้สูงวัย เพื่อจะได้นำความรู้นั้นมาเรียบเรียงดนตรีให้ตรงกับการออกเสียงของพวกเขาให้ได้มากที่สุด

แล้วเพลงส่วนใหญ่ที่ใช้สอนก็จะเป็นเพลงที่ทุกคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ซึ่งจะง่ายต่อการฝึกซ้อม เพราะปัญหาของผู้สูงวัยก็คือความจำ ฉะนั้นการเลือกเพลงที่พวกเขาคุ้นเคยเช่น เพลงลูกกรุง เพลงลูกทุ่งเก่าๆ หรือเพลงพระราชนิพนธ์ จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็จะมีการแต่งเพลงใหม่เพิ่มเข้าไปด้วย โดยจะเลือกที่เนื้อเพลงน้อยๆ และง่ายต่อการจดจำ

อย่างเมื่อปีที่แล้ววงเราก็ได้ไปแข่งขันบนเวที ‘10th Orientale Concentus International Choral Festival’ ซึ่งเป็นการประกวดวงประสานเสียงระดับนานาชาติที่จัดขึ้นที่สิงคโปร์ เราก็ได้เหรียญเงินกลับมาจึงถือว่าเป็นวงประสานเสียงผู้สูงวัยวงแรกของไทยที่สามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติมาได้”

อ.เดว์ เสริมว่า ในช่วงวันที่ 24-29 ก.ค.นี้วงประสานเสียงก็จะเดินทางไปแข่งขันที่บาหลี อินโดนีเซียแล้ว ซึ่งครั้งนี้ก็มีลุ้นเช่นกัน

กิจกรรมประสานเสียงสร้างสุข ‘วงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย’

“ปีนี้ผมคิดว่าวงเรามีศักยภาพในตัวเองประกอบกับความมุมานะของนักร้องแต่ละคนที่ขยันซ้อมด้วย เราจึงลงแข่งขัน 2 ประเภท คือ ประเภทผู้สูงวัย และประเภทเพลงพื้นบ้านซึ่งผมได้นำเนื้อร้องและทำนองเพลง ‘ลาวเสี่ยงเทียน’ มาเรียบเรียงใหม่ ทั้งยังนำกาพย์เห่เรือมาเรียบเรียงดนตรีใหม่เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นไทยด้วย ช่วงนี้เราจึงซ้อมกันสัปดาห์ละ 3 วันเป็นอย่างน้อย

และในช่วงเดือน พ.ย.ปลายปีนี้ เราก็มีแพลนว่าจะนำวงไปแข่งขันที่มาเลเซียด้วยโดยจะคัดนักร้องประสานเสียงจำนวน 25 คนจากสมาชิกทั้งหมดเพื่อเดินทางไปแข่งขัน ซึ่งอ.ฤทธิ์ ก็จะร่วมเดินทางไปช่วยเล่นเปียโนให้ด้วย”

สำหรับ ฉัฐพล พระวรรณ (วัย 69 ปี) ซึ่งเป็นประธานรุ่นในปีนี้ กล่าวว่า เขามีหน้าที่ดูแลประสานงานสมาชิกในวงให้มาซ้อมอย่างสม่ำเสมอ เพราะหากขาดซ้อมบ่อยๆ จะทำให้ประสิทธิภาพในการร้องเพลงของทุกคนลดลง

“ผมเข้ามาเรียนในรุ่นที่ 2 และได้รับมอบหมายให้เป็นประธานรุ่นในปีนี้ ผมจึงทำหน้าที่ประสาน งานกับสมาชิกในวงทุกคนทั้งเรื่องการนัดซ้อมและเรื่องอื่นๆ ตอนมาสมัครครั้งแรกผมทราบข่าวการรับสมัครจากเพื่อนที่มาเรียนรุ่นที่ 1 ผมจึงมาสมัครเมื่อปลายปีที่แล้ว สมาชิกที่มาสมัครส่วนใหญ่จะชอบร้องเพลงกันอยู่แล้ว บางคนมีคุณสมบัติในการร้องเพลงที่ดีมาก แต่พอมาเรียนร้องประสานเสียง ทุกคนก็ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ในเรื่องการร้องและการออกเสียงใหม่หมด

ผมถูกจัดอยู่ในกลุ่มโทนเสียงเบส (ผู้ชายเสียงต่ำ) ส่วนเพื่อนๆ บางคนจะอยู่ในโทนเสียงเทเนอร์ (ผู้ชายเสียงสูง) เสียงอัลโต้ (ผู้หญิงเสียงต่ำ) และเสียงโซปราโน่(ผู้หญิงเสียงสูง) โดยปีนี้อาจารย์ผู้สอนจะแยกโทนเสียงให้ละเอียดยิ่งขึ้น แถมยังแต่งเพลงใหม่เพิ่ม และนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่เพื่อให้ดนตรีมีความไพเราะนุ่มนวลมากขึ้นอีกด้วย”

กิจกรรมประสานเสียงสร้างสุข ‘วงศาลายาหนุ่มสาวน่อยน้อย’

ฉัฐพล เสริมว่า ช่วงก่อนไปแข่งปลายเดือน ก.ค.นี้ ที่บาหลี วงก็ได้มีการฝึกซ้อมที่เข้มข้นขึ้น เรียกว่าอยู่ด้วยกันสัปดาห์ละหลายวัน วันละหลายชั่วโมงทีเดียว

“หน้าที่ของผมนอกจากช่วยประสานงานในวงแล้ว บางครั้งผมยังใช้ความรู้ทางด้านสถาปัตย์ที่เคยเรียนและทำงานมา ออกแบบเวทีในการจัดการแสดงที่วิทยาลัยด้วย เนื่องจากเรามีงบที่จำกัด ผมจึงขอแรงเพื่อนๆ ในวงมาช่วยตกแต่งเวทีเป็นประจำ เพราะปีหนึ่งเราได้งบจากวิทยาลัยฯ แค่ 4 แสนบาทเท่านั้น เราจึงต้องหาทุนสนับสนุนอยู่เรื่อยๆ เพราะการเดินทางไปต่างประเทศครั้งหนึ่งต้องใช้งบคนละเกือบ 3.8 หมื่นบาท ดังนั้นบางครั้งเราจึงต้องออกเงินกันเองบ้างเพื่อทำให้ภารกิจสำเร็จลงด้วยดี”

ด้าน วรรณพร พลอยวัฒนาวงศ์ หรือแม่วรรณ (วัย 59 ปี) หนึ่งในสมาชิกของวงเล่าว่า จุดเริ่มต้นในการเป็นนักร้องประสานเสียงเกิดจากการที่ลูกสาวของเธอซึ่งทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัย มหิดล ศาลายา มาบอกว่าตอนนี้มีการเปิดรับสมัครนักร้องประสานเสียงสูงวัยอยู่นะ

“เมื่อลูกสาวมาถามดิฉันว่า แม่สนใจมั้ยเพราะเห็นว่าดิฉันมักชอบไปร้องคาราโอเกะกับชมรมผู้สูงอายุมาก่อน พอดิฉันตอบว่าสนใจ ลูกสาวก็สมัครให้เสร็จสรรพเลย ครั้งแรกที่ไปเข้าเรียน อาจารย์ผู้สอนก็ให้ซ้อมการออกเสียงเพื่อเทสต์ดูก่อนว่าเราจัดอยู่ในโทนเสียงประเภทไหน ดิฉันอยู่ในกลุ่ม ‘โซปราโน่’ซึ่งเป็นโทนเสียงสูงของผู้หญิง ตอนที่เข้าไปเรียนใหม่ๆ ก็รู้สึกไม่ค่อยชอบนะ แต่พอเรียนไปได้สักพักกลับรู้สึกชอบ เพราะได้ร้องไล่โทนเสียงสลับกับเพื่อนๆ ในวง เลยรู้สึกว่าการร้องเพลงประสานเสียงมันแปลกใหม่และสนุกดี เพราะขณะร้องเราจะต้องคอยฟังเสียงเพื่อนคนอื่นๆ ไปด้วย”

แม่วรรณ บอกว่าข้อดีของการได้เข้าร่วมในวงประสานเสียงก็คือ ได้มาเจอเพื่อนๆ ในวงบ่อยๆ เพราะต้องซ้อมด้วยกัน เลยไม่รู้สึกเงียบเหงาหดหู่ใจเหมือนตอนที่อยู่บ้านเฉยๆ ปัจจุบันนี้เธอเรียนร้องเพลงประสานเสียงมาได้ 3 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะเรียนเฉพาะวันเสาร์ ตั้งแต่ 09.00-17.00 น.

“ถ้าใกล้วันที่วงต้องแสดงคอนเสิร์ตที่ศาลายา อาจารย์ผู้สอนก็จะมาติวเข้มเพิ่มให้ในวันว่าง ที่ผ่านมาวงเราได้ไปแข่งขันที่สิงคโปร์และคว้าเหรียญเงินมาครองได้ จึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเองเป็นอย่างมาก แม้อายุเราจะเข้าสู่ช่วงสูงวัย แต่ก็เป็นชาวสูงวัยที่มีคุณภาพนะ”

ขณะที่ กิตติยา พลอยวัฒนาวงศ์ผู้เป็นลูกสาว เผยว่า ตั้งแต่คุณแม่ (แม่วรรณ)ได้เข้าไปอยู่ในวงประสานเสียง เธอก็ได้เห็นพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของคุณแม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

“ก่อนหน้านี้คุณแม่ช่วยเลี้ยงลูกดิฉันมาตั้งแต่ยังเป็นทารก ดิฉันสังเกตว่าท่านเหนื่อยและเครียดพอสมควรเลยละ แต่พอได้ไปเรียนร้องเพลงประสานเสียง ท่านดูเครียดน้อยลง อารมณ์ดี และมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ที่ทำมากขึ้น

ผลพลอยได้อีกอย่างก็คือ ทุกวันนี้ลูกดิฉัน (วัย 3 ขวบ) เริ่มซึมซับในเรื่องการร้องเพลงประสานเสียงไปด้วย เพราะคุณแม่มักจะพาหลานไปด้วยบ่อยๆ เวลาไปฝึกร้องเพลง ซึ่งดิฉันว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ นอกจากนี้คุณแม่ยังมีกลุ่มเพื่อนใหม่ๆ มากขึ้น แถมยังหัดเล่นเฟซบุ๊ก เล่นไลน์ ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกกลุ่มจะมีทั้งอาจารย์และเจ้าของธุรกิจ เลยทำให้สังคมของคุณแม่กว้างขึ้น ที่สำคัญการเรียนร้องเพลงยังช่วยให้ท่านฝึกความจำในการท่องโน้ต ท่องเนื้อเพลง และไล่โทนเสียงเป็นประจำ จึงน่าจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคอัลไซเมอร์ได้”