posttoday

'ใช้ชีวิต ตามวิถีธรรมชาติ' เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์

20 พฤษภาคม 2561

เบนซ์-เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์ เรียกตัวเองว่าเป็นทั้งชาวนาและกรรมการบริษัท หนึ่งบรรจง เจ้าของแบรนด์ “ข้าวเพลงรัก”

เรื่อง : วราภรณ์   ภาพ : ข้าวเพลงรัก, โครงการพอแล้วดี

เบนซ์-เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์ เรียกตัวเองว่าเป็นทั้งชาวนาและกรรมการบริษัท หนึ่งบรรจง เจ้าของแบรนด์ “ข้าวเพลงรัก” ข้าวอินทรีย์ปลอดสารพิษที่เป็นที่สนใจของผู้บริโภคหัวใจสีเขียว อีกทั้งแนวคิดของการปลูกก็เก๋ไก๋มีเสน่ห์ตรงเปิดเพลงรัก(เท่านั้น)ของ บอย โกสิยพงษ์ ให้ข้าวฟัง โดยปัจจุบันมีกลุ่มชาวนาร่วมกลุ่มประมาณ 7 ครัวเรือน ล้วนเป็นชาวบ้าน ต.บ้านโข้ง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และชาวนา จ.พิจิตร นอกจากอยากปลดแอกให้ชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์สามารถตั้งราคาข้าวได้เองแล้ว เกริกกฤษณ์ ยังทำธุรกิจของครอบครัวด้านจำหน่ายเหล็กเส้นบริษัท อาร์.พี.เอ็ม.เมททัลเวอร์ค เดิมทีเขาทำงานด้านไฟแนนซ์ที่ธนาคารแห่งหนึ่งราว 1 ปี และออกมาบริหารธุรกิจของที่บ้าน และศึกษาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และใช้ชีวิตช้าๆ ที่ได้เรียนรู้จากการปลูกข้าว จนปัจจุบันเขามีแนวคิดเลี้ยงลูกในสิ่งที่ตนเองเป็น และตัวเขาเองก็ยึดการใช้ชีวิตให้เรียบง่ายที่สุด

แรงบันดาลใจปลูกข้าว

เกริกกฤษณ์เกิดแรงบันดาลใจในการสนับสนุนให้ชาวนาปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ย้อนไปเมื่อปี 2557 เขาอ่านพบข่าวชาวนาจำนำข้าวไม่ได้ราคา เกริกกฤษณ์จึงเกิดความสงสัยว่า ทำไมชาวนาจึงมีความเป็นอยู่ที่ลำบาก ต้องเป็นหนี้สิน จากจุดนี้เขาต้องการหาคำตอบด้วยการลงมือปลูกข้าวด้วยตัวเอง โดยไปเรียนที่มูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี ของอาจารย์เดชา ศิริภัทร เรียนเพียงไม่กี่ชั่วโมงได้ความรู้ล้ำค่า ทำให้เขารู้ว่า ปัญหาของชาวนามีมานาน ก็คือ การติดกับดักการใช้สารเคมี ต้องไปซื้อปุ๋ยมาจำกัดศัตรูพืช จึงทำให้ต้นทุนปลูกต่อไร่สูง ปัญหาที่ 2 คือ ราคาข้าวถูกกำหนดโดยตลาด ชาวนาไม่มีสิทธิกำหนดราคาข้าวเอง พอเรียนเสร็จเกริกกฤษณ์จึงลงมือปลูกข้าวเองก่อน ด้วยการเช่าที่น่าผืนแรกที่ จ.นครปฐม ราว 1 ไร่ ปลูกข้าวหอมปทุม ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์ดีที่ปลูกโดยวิธีอินทรีย์ไม่ต้องพึ่งสารเคมี

หลังจากปีแรก ด้วยการปลูกโดยไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า เกริกกฤษณ์ต้องลงมาถอนหญ้าต้นเล็กๆ ที่ขึ้นแซมด้วยตัวเอง ปัจจุบันปลูกข้าวมา 5 ปีแล้ว เกริกกฤษณ์สามารถขยายเครือข่ายชาวนา สอดคล้องกับอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ คือ ถ้าทำให้ชาวนาหันมาปลูกข้าวแบบอินทรีย์จะช่วยเขาที่ต้นเหตุ

'ใช้ชีวิต ตามวิถีธรรมชาติ' เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์

“ปีนี้เรารวบรวมเครือข่ายได้ 15 ครอบครัว ปลูกข้าวบนพื้นที่ 200-300 ไร่ แต่ยังไม่ได้ทำการปลูกในปีนี้ รายได้ชาวนาเขาโอเค เพราะเขาได้กำหนดข้าวเปลือกเอง เพราะข้าวมีคุณค่าและมันคุณภาพดี และชาวนามีศักดิ์ศรี”

เมื่อย้อนกลับไป บ้านเขามีธุรกิจเล็กๆ คือ ค้าขายเหล็กเส้น ในเชิงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจหากคิดผลกำไรขาดทุน หลีกเลี่ยงไม่ได้กับความเครียด หากชีวิตเขาไปโฟกัสที่ตัวเงินอย่างเดียว อีกทั้งโลกนี้กระแสของโลกมีภาวะที่ซับซ้อน สภาพเศรษฐกิจเปลี่ยนไปตามกระแสสังคม หากเราอยู่ในวังวนของเศรษฐกิจโลก ชีวิตเราก็จะไขว่คว้าไม่จบสิ้น เกริกกฤษณ์จึงหันมาใช้ชีวิตแบบช้าๆ คือ การได้อยู่กับตัวเอง แล้วเราจะมีการค้นหาตัวตนของเราว่า เราชอบอะไร ถนัดในเรื่องไหน เพื่อนำความสุขซึ่งเป็นหลักปรัชญาเกษตรพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือ รู้จักตัวตนของเรา ความถนัด สิ่งที่เราชอบ แล้วจะทำให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น และทำให้เราชำนาญในสิ่งที่เรามีใจจดจ่อกับสิ่งที่เราทำมากขึ้น

จดจ่อกับสิ่งที่ทำ

“ถ้าอธิบายเป็นคำภาษาอังกฤษ คือ โฟกัส ใจจดจ่อมีสมาธิ ชีวิตเราก็จะมีความสุขในแบบของเรา ในทางกลับกันหากเราหมุนตามกระแสโลก ผมคิดว่าความสุขคงเกิดได้ยาก ผมจึงเริ่มค้นหาความสุขของผม คือ การปลูกข้าวที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต พัฒนาให้ชาวนาในกลุ่มดีขึ้นได้ เช่น เครือข่ายข้าวเพลงรักที่มีสมาชิก 7 ครอบครัว ที่ จ.สุพรรณบุรี และพิจิตร ทำให้พวกเขาสามารถปลดหนี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางคนไม่มีหนี้สินเลย วิธีช่วยของผม คือ เราแนะนำให้เขาทำนาแบบอินทรีย์ที่ต้นทุนประหยัดลง ข้าวเพลงรักจะให้ชาวนากำหนดราคาที่เขาอยู่ได้ จึงเป็นการทำนาที่ไม่ขาดทุน นับตั้งแต่ปี 2559 การจัดตั้งเครือข่าย เป็นผลมาจากการที่เราจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำ คนกินข้าวรู้สึกภูมิใจที่เขาได้ช่วยชาวนาได้ยืนหยัดได้ตัวเอง ไม่ใช่ชาวนาที่รอการพึ่งพาจากหน่วยงานรัฐบาล แต่รู้ในคุณค่าตัวเอง ถือเป็นการเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่คนไทยมีต่อชาวนา”

'ใช้ชีวิต ตามวิถีธรรมชาติ' เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์

ปัจจุบันเกริกกฤษณ์มีความสุขมากกับการใช้ชีวิตแบบช้าๆ ในแบบของเขาเอง คือ ใน 1 สัปดาห์ 6 วัน วันจันทร์ถึงเสาร์เขาทำงานของที่บ้าน และยังกระจายข้าวเพลงรักไปสู่ผู้บริโภค เวลาที่เหลืออยู่กับครอบครัวและใช้เวลาพักผ่อนค้นหาความรู้ที่ตนเองชื่นชอบ

“วิถีชีวิตของผมเรียบง่ายมาก ผมเข้านอน 4 ทุ่ม ตื่นนอน 6 โมงเช้า ซึ่งผมปฏิบัติอย่างมีระเบียบมาตั้งแต่ผมเด็กๆ กับลูกชาย 2 คน วัย 12 กับ 9 ขวบ คนโตชื่อ มิ้ง-เชาว์วรรธน์ คนที่ 2 ชื่อ ปิง-เจษฎากร ผมให้ลูกเข้านอนเร็ว 2 ทุ่ม ไม่เกิน 3 ทุ่ม ซึ่งเราทำได้ เพราะผมย้ายบ้านตามโรงเรียนของลูก ลูกเรียนแถวบางบอน บ้านเราก็อยู่บางบอน บ้านกับโรงเรียนจึงอยู่ใกล้กันมาก อีกทั้งผมเลี้ยงลูกแบบไม่กดดัน ไม่เน้นเกรดเฉลี่ยกับลูกเลย ซึ่งผมกับภรรยาคิดตรงกัน เราคุยกันว่า หัวใจของการเรียน คือ เรียนเพื่อให้รู้ ดังนั้นการวัดผลด้วยคะแนนจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ ผมอยากให้ลูกเรียนเพื่อรู้ ส่วนคะแนนมาทีหลัง สมมติเขาทำข้อสอบแล้วคะแนนไม่ดี ผมจะบอกลูกว่าอย่าเสียใจ เพราะชีวิตการเรียนในโรงเรียนเป็นแค่ 1 ใน 3 ของชีวิตเท่านั้น เพราะการเรียนรู้เป็นได้ทั้งชีวิตเรา เขาสามารถเรียนรู้จากการทำงานหรือทำกิจกรรมก็ได้ ผมจึงไม่กดดันลูก”

เกริกกฤษณ์มีหลักการใช้ชีวิตอื่นๆ คือ ชีวิตมนุษย์เรามี 24 ชั่วโมงเท่าๆ กัน และเขาแบ่งการใช้ชีวิตแต่ละวันเป็น 3 ส่วน 1 ส่วนอยู่ในโรงเรียน อีก 1 ส่วนเที่ยวเล่น อีก 1 ส่วนที่เหลืออยู่กับครอบครัว

“ผมเองแน่นอน ส่วนแรก คือ การทำงาน วันหนึ่งๆ ผมทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 2 ส่วนเหมือนลูก คือ เที่ยวเล่นกับอยู่กับครอบครัว ผมพยายามใช้ชีวิตแบบนี้ ส่วนการทำงานกับข้าวในฤดูกาลหนึ่งๆ ผมไปนาน้อยมาก เพราะเราปลูกแบบอินทรีย์เป็นการปลูกข้าวโดยพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก ก็เลยให้ธรรมชาติดูแล คือ ปลูกแล้วปล่อย ไม่ต้องเฝ้า ไม่มีศัตรูพืชกวนเพราะให้เพื่อนบ้านช่วยดู ในแง่นาของผมปลูกควบคุมเองประมาณ 10 ไร่ ที่ อ.อู่ทอง สุพรรณบุรี แต่หากมีเวลาก็ควรแวะไปดูข้าวบ้างสำหรับคนที่มีเวลา เพราะบางครั้งผมคิดว่า ผมหย่อนเกินไป ไม่สายกลาง ที่ดีควรแวะไปดูบ้างว่าต้นข้าวเติบโตดีไหม ที่ไม่ค่อยมีเวลาไปดูนาของตัวเองเพราะผมดูเรื่องการตลาดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างเยอะ เราทำทุกอย่างให้ดีทั้งหมดไม่ได้หรอก อะไรเกินกำลังก็ปล่อยไปบ้าง”

'ใช้ชีวิต ตามวิถีธรรมชาติ' เกริกกฤษณ์ กมลวิมุตศานต์

“พอแล้วดี” นำศาสตร์พระราชามาใช้

“ข้าวเพลงรัก” ของเกริกกฤษณ์เคยได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการ “พอแล้วดี” รุ่นที่ 2 สิ่งที่เขาได้เรียนรู้ ก็คือ การนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในชีวิตประจำอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่ใช้ในการทำงานเท่านั้น คือ การที่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่รัก เพื่อการเข้าใจตัวเอง การดื่มด่ำอยู่กับสิ่งที่รัก เราก็ยิ่งมีคุณค่าในสิ่งที่เราทำเพิ่มมากขึ้น แล้วคนอื่นที่เขาเห็นคุณค่าที่เราทำ เขาจะหันมามองเรา

นอกจากนี้ เขายังปลูกฝังให้ลูกเรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ตัว เช่น การชักชวนไปปลูกข้าวแบบอินทรีย์บ้าง

“ผมพาลูกไปนา เพื่อให้เขาได้หาตัวตนของเขา ในช่วง 10 ปีนี้ผมมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ให้เขาค้นหาสิ่งที่เขาชอบให้เจอ ถ้าเจอก็จะมุ่งไปทางนั้นเลย แต่ตอนนี้ลูกยังไม่เจอ ผมจึงให้เขาลองทำหลายๆ อย่าง แต่แววของคนโตชอบเลข ชอบการสืบสวน ชอบเรื่องราวที่ซับซ้อน ส่วนคนเล็กชอบเปียโน ใครชอบอะไรผมส่งเสริม จะศาสตร์หรือศิลป์เราก็ส่งเสริม และผมไม่กังวลกับเรื่องอาชีพของลูกว่าหากเขาเลือกในสิ่งที่เขาชอบแล้ว เขาจะเลี้ยงตัวเองได้ไหม แต่หากเขาได้ทำสิ่งที่ชอบ ศักยภาพของลูกก็จะออกมาเต็มที่ แล้วเขาจะรู้คุณค่าในตัวเขาเอง เมื่อไหร่ที่รู้คุณค่าในตัวเอง คนอื่นจะมองเห็น”

ปัจจุบันเกริกกฤษณ์บอกว่า พอใจกับชีวิตตนเองมาก เพราะเขายังได้แบ่งปันเพื่อช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้นบ้าง สามารถเป็นที่พึ่งของคนอื่นได้ ทั้งหมดทั้งมวลเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพราะพระองค์ทำเพื่อผู้อื่นโดยแท้ สิ่งที่เขาทำถือว่าเป็นเพียงเศษธุลีเดียว