posttoday

'มะเร็งรังไข่' ภัยเงียบที่อาจคร่าชีวิตผู้หญิง

14 พฤษภาคม 2561

“มะเร็ง” เป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

เรื่อง วราภรณ์

“มะเร็ง” เป็นโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากเข้าใกล้ สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ช่วยกันสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยเงียบของ “มะเร็งรังไข่” ที่เป็นส่วนหนึ่งของการเสียชีวิตอันดับ 1 ในบรรดามะเร็งนรีเวชทั่วโลก จัดโครงการ “มะเร็งภัยเงียบ ควรใส่ใจตรวจภายในทุกปี”พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์ภายใต้แคมเปญ “Whisper of Overy เสียงกระซิบจากรังไข่”เพื่อให้ผู้หญิงตระหนักถึงอันตรายของมะเร็งรังไข่ ด้วยการสังเกต ฟังร่างกายของตนเองและไปตรวจภายในทุกปี เพื่อเฝ้าระวังเพราะหากใครเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะแรกยังมีโอกาสหายมากถึง 90% ทีเดียว

นพ.ณัฐวุฒิ กันตถาวร แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช ศูนย์การแพทย์มะเร็งวิทยา จุฬาภรณ์ โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ได้กล่าวถึงสภาวะมะเร็งรังไข่ของไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า มาเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งทั้งหมด แต่กลับเสียชีวิตอันดับ 2 เพราะส่วนใหญ่มักตรวจพบในคนไข้ที่เป็นระยะที่ 2 3 หรือ 4 แล้วเนื่องจากการแสดงอาการของโรคไม่ชัดเจน จึงมักเจอในระยะที่กระจายตัวไปที่ช่องท้องส่วนอื่นๆ และต่อมน้ำเหลืองแล้ว

ฟังเสียงกระซิบของร่างกาย

หากพบว่าเป็นมะเร็งรังไข่ในระยะที่ 2 นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวถึงโอกาสหายว่ามีมากถึง 70% แตกต่างจากระยะที่ 1 หากพบเร็วมีโอกาสหายมากถึง 90% หากพบว่าเป็นในระยะ 3 โอกาสหายมี 30-40% เป็นระยะ 4 มีโอกาสหายเพียง 20% เท่านั้น ซึ่งอุบัติการณ์ของมะเร็งรังไข่มีความคงที่ในบ้านเรา

“สภาวการณ์มะเร็งปากมดลูก เรามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ สวนทางกับมะเร็งเต้านมมีแนวโน้มสูงขึ้น อาจจะเกี่ยวข้องกับอาหารการกินซึ่งสาเหตุจริงๆ ยังไม่ชัด แต่มะเร็งรังไข่อุบัติการณ์ 30-40% คงที่อยู่อย่างนี้มา 20 ปีแล้ว เหตุที่เราหาวิธีรักษาให้หายขาดยังไม่ได้ แต่หากพบในระยะ 1 สามารถหายได้มากถึง 90% แต่ปัญหาคือเรามักไม่พบในระยะ 1 บวกกับยายังไม่มีประสิทธิภาพจึงทำให้ไม่หายขาด วิธีคัดกรองก็ยังไม่มีวิธีที่ดีพอ” นพ.ณัฐวุฒิเสริมด้วยว่าการรณรงค์ประเทศไทยยังไม่เน้นหนักมากเท่ามะเร็งเต้านมกับมะเร็งปากมดลูก ผู้เกี่ยวข้องจึงอยากให้คนตระหนักเกี่ยวกับมะเร็งรังไข่ให้มาก หากพบสิ่งปกติต้องรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจ

เนื่องจากสัญญาณและอาการของมะเร็งรังไข่มักไม่เฉพาะเจาะจง โดยสัญญาณและอาการหลายอย่าง มักพบในสตรีมีการแพร่กระจายออกนอกรังไข่แล้ว มะเร็งรังไข่ในระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติ ดังนั้นควรหมั่นสังเกตและฟังเสียงกระซิบจากภายในร่างกายเราให้ดี หากมีอาการเหล่านี้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์ หรือรู้สึกผิดปกติไปจากเดิม แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ 

ตั้งแต่อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดในอุ้งเชิงกราน หรือปวดท้อง แน่นท้อง รู้สึกอิ่มเร็วขึ้นหลังรับประทานอาหาร ท้องผูกเรื้อรังปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือลำบาก ท้องโตขึ้น คลำได้ก้อนใหญ่ในช่องท้อง

สาเหตุของการป่วยมะเร็งรังไข่ รู้ได้ยากมาก นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด บางส่วน 5-20% เกิดจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ ปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น ความอ้วน การกินอาหาร ประวัติทางสูตินรีเวช และประวัติครอบครัวที่เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งมดลูก และประวัติเป็นมะเร็งหลายๆ คนในครอบครัวก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยง 

สำหรับสถิติมะเร็งรังไข่ในไทย มาเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในสตรี โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ถ้าคิดเป็นผู้ป่วยใหม่ต่อปีประมาณ 700 ราย ที่ป่วยเป็นมะเร็งรังไข่ หรือพบวันละ 7 คน แต่ที่น่าตกใจคือเสียชีวิตร้อยละ 53% หรือวันละ 4 คน เมื่อเทียบกับมะเร็งอื่นๆ เช่น เต้านมกับมดลูก อัตราการตายผู้ป่วยมะเร็งรังไข่มีอัตราการตายสูงที่สุด

“มะเร็งรังไข่ นอกจากอายุ สภาพแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ ปัจจุบันพบว่าความผิดปกติทางพันธุกรรมยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งรังไข่ด้วย จากสถิติพบว่าผู้หญิงที่มีความผิดปกติ หรือการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 และ BRCA2 จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งรังไข่สูงถึง 35-70% และ 10-30% ตามลำดับ ในขณะที่บุคคลทั่วไปมีความเสี่ยงเพียง 1-2% เท่านั้น”

'มะเร็งรังไข่' ภัยเงียบที่อาจคร่าชีวิตผู้หญิง

ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ซึ่ง นพ.ธัช อธิวิทวัส อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันเราสามารถตรวจหาความผิดปกติของยีน BRCA ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ ซึ่งผู้ป่วยที่ตรวจพบความผิดปกติของยีนนี้จะมีโอกาสที่บุคคลในครอบครัว และญาติใกล้ชิดมีความผิดปกติของยีนเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นความผิดปกติที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมในลักษณะเด่น การค้นพบความผิดปกติของยีนตัวนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้สามารถคาดการณ์เฝ้าระวังและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งรังไข่ได้ เช่น กรณีของนักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดัง แองเจลินา โชลีที่ได้ตัดสินใจผ่าตัดเต้านมทั้งสองข้างรวมทั้งมดลูกและท่อรังไข่ออก เนื่องจากมีประวัติทั้งยาย ป้า และแม่ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง และเมื่อตรวจสอบทางพันธุกรรมยังพบว่าตัวเองมียีนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่สูงถึง 87%

“ยีน BRCA คือยีนที่ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงกับการเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นหลายเท่า หากเกิดการกลายพันธ์ุการตรวจสอบคือต้องเจาะเลือดนำเม็ดเลือดขาวไปตรวจสารพันธุกรรม ว่ามียีนมีอะไรผิดปกติหรือเปล่า แต่ส่วนใหญ่มักจะตรวจในครอบครัวที่มีความเสี่ยงเรื่องมะเร็งก่อนเช่น เรามีแม่ ป้าเป็นมะเร็งเต้านมแล้วเรากลัวว่าจะเป็นด้วยไหม หมอก็จะขอให้คนไข้ที่มีญาติเป็นมะเร็งเหล่านี้แล้วตรวจเลือดก่อน เพราะความเสี่ยงนี้อาจตกมาถึงเราก็ได้

โดยปกติควรจะตรวจหายีนผิดปกติเมื่ออายุประมาณ 40 ปี เป็นอย่างน้อย เพราะพอเราตรวจเจอแล้ว โดยที่เรายังไม่เป็นมะเร็ง เรายังมีเต้านมของเราอยู่เรายังมีรังไข่ของเราอยู่ โดยปกติผู้หญิงอายุ 40 มักมีบุตรมีครอบครัว ผ่านการให้นมบุตรเรียบร้อย ก็สามารถเลือกที่จะตัดเต้านมทิ้งเหมือนแองเจลินาก็ได้ เพราะเราก็ไม่ได้ใช้แล้ว”

ข้อมูลจากสมาคมมะเร็งนรีเวชไทย ยังระบุอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการตรวจคัดกรองที่สามารถตรวจจับมะเร็งรังไข่ได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ จึงย้ำว่าผู้หญิงทุกคนควรตรวจภายใน และพบสูตินรีแพทย์เป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งรังไข่ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัว หรือญาติใกล้ชิดเป็นมะเร็งรังไข่ตั้งแต่อายุยังน้อย

ประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยมะเร็งรังไข่

ที่บอกว่าเป็นภัยเงียบ เพราะอาการของโรคมะเร็งรังไข่ ไม่เฉพาะเจาะจง มีความคล้ายคลึงกับอาการที่เกิดจากความผิดปกติได้ในหลายระบบ เช่น ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ทำให้ตรวจวินิจฉัยได้ล่าช้าและมักตรวจพบเมื่อโรคมีการลุกลามออกไปมาก ทำให้ผลการรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรวิธีการตรวจหามะเร็งรังไข่ทำได้ด้วยวิธี

1.ตรวจภายในหรือทางทวารหนัก ตรวจหารอยของโรคก่อนมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเช่น หากพบว่ามีก้อนในอุ้งเชิงกรานหรือบริเวณปีกมดลูก ซึ่งจะช่วยให้แพทย์ควบคุมความเสี่ยงของคุณในการเป็นมะเร็ง และวางแผนการรักษาตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะช่วยชีวิตได้ดีที่สุด

2.ตรวจอัลตราซาวด์มีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อน

3.ตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ร่วมกันการทำอัลตราซาวด์เพื่อเพิ่มความแม่นยำ ฯลฯ เป็นต้น

สุมณี คุณะเกษม เซเลบริตี้ชื่อดังที่กำลังเข้ารับการรักษามะเร็งรังไข่ เล่าประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับสัญญาณและความผิดปกติของร่างกายว่า แม้เธอไปตรวจสุขภาพประจำปีตามปกติซึ่งทำทุกๆ 3-4 เดือนอยู่แล้ว การตรวจพบมะเร็งรังไข่นับว่า โชคดีที่เธอถึงกำหนดตรวจสุขภาพพอดีจึงไปพบคุณหมอประจำตัว

'มะเร็งรังไข่' ภัยเงียบที่อาจคร่าชีวิตผู้หญิง

เมื่อพบแพทย์เข้าตรวจทรวงอก ปกติดีพอไปตรวจเลือดก็พบความผิดปกติ จึงทำการสแกนทั้งร่างกายแล้วพบว่า มีก้อนเนื้อขนาด 7 เซนติเมตรที่บริเวณรังไข่ และอยู่ในสเต็ปที่ 2 แล้ว จากที่ไม่เคยมีอาการอะไรเลย สุมณีจึงรีบหาแพทย์เฉพาะทางที่เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งรังไข่ทำการรักษา ด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ 7 เซนติเมตรออกไปและรักษาโดยเคมีบำบัดหรือคีโมอีก 6 เข็ม ซึ่งหลังจากทำคีโมเพียงเข็มแรก ตรวจพบว่าไม่มีเชื้อมะเร็งแล้ว แต่ยังต้องได้รับคีโมไปจนครบ เพื่อความปลอดภัยและไม่ให้ลุกลามไปที่อื่น

มะเร็งรังไข่จึงเป็นภัยเงียบจริงๆ แม้ตรวจสุขภาพเป็นประจำตลอดทั้งปีก็ยังไม่พบ เรื่องนี้ รศ.พญ.อาบอรุณ เลิศขจรสุข แพทย์เฉพาะทางสาขามะเร็งวิทยานรีเวช สมาคมมะเร็งนรีเวชไทย โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่า รังไข่ในร่างกายของผู้หญิง เป็นอวัยวะที่เล็กมากและห้อยอยู่ 2 ข้างตรงอุ้งเชิงกราน หากเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงก็จะนิ่งๆ เราจึงไม่รู้ได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะเขามีขนาดที่เล็กมาก เปลี่ยนแปลงจนก้อนค่อนข้างโตขึ้น หากตรวจสุขภาพสม่ำเสมออาจเจอก้อนนี้ก็ได้ ถ้าไม่มีอาการใดๆ และไม่มีการตรวจภายใน แล้วก้อนเนื้อที่ผิดปกติเกิดการปริออก คนไข้จะรู้ถึงอาการเจ็บปวดจึงมาพบแพทย์ และพบว่าเป็นมะเร็งระยะมากๆ ในที่สุด หรือแม้แต่หากคลำได้เองแสดงว่าก้อนมีขนาดใหญ่มากแล้วก็ยังไม่สำคัญเท่า มะเร็งบริเวณรังไข่ได้แพร่ไปที่ไหนแล้วบ้าง

สำหรับวิธีการรักษา รศ.พญ.อาบอรุณ กล่าวว่า หากเข้าไปตรวจ ส่วนมากแล้วจะต้องตรวจเลือดก่อน หรือสงสัยว่ามีก้อน เสร็จจะอัลตราซาวด์ลักษณะภายในของก้อนคืออะไร ถ้าอัลตราซาวด์ พบว่าก้อนน่าสงสัยจะมีค่าสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น ถ้าเริ่ม
สงสัยต้องเริ่มผ่าตัด นำเนื้อไปยืนยันว่าเป็นมะเร็งของโรคและเพื่อยืนยันว่าเป็นมะเร็งระยะไหน และมีการกระจายของโรคไปที่ไหนบ้าง

ต้องตระหนักตรวจภายในทุกปี

วิธีที่ดีที่สุดของการป้องกันมะเร็งรังไข่ก็คือ หมั่นมาตรวจภายในทุกปี

“หมออยากให้คนตระหนักและมีความรู้เรื่องมะเร็งรังไข่ ให้มาตรวจภายในประจำปีกัน พบสิ่งผิดปกติให้มาพบแพทย์แค่นั้น แม้การตรวจภายในไม่ใช่การคัดกรองมะเร็งรังไข่ที่ได้ผล แต่จะดูความผิดปกติของมะเร็งรังไข่และปากมดลูกได้ด้วย ถ้าโชคดีเจอมะเร็งรังไข่มีโอกาสตรวจพบมากขึ้น แนวโน้มหรือสัญญาณบ่งบอกโรคก็ไม่มี หากมีอาการผิดปกติใดๆ รักษาไม่หายภายใน 1 เดือนให้รีบมาตรวจ เช่น อาการเหมือนเป็นโรคกระเพาะ เหมือนปวดท้องน้อย ถ้าปวดเกิน 4 สัปดาห์ไม่หายให้มาหาหมอ มะเร็งรังไข่เป็นภัยเงียบจริงๆ เพราะไม่มีอาการบ่งชี้” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

นอกจากรณรงค์ให้คนไทยตระหนักเกี่ยวกับอันตรายของมะเร็งรังไข่แล้ว โรงพยาบาลจุฬาภรณ์เชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมสมทบทุนสานต่อพระปณิธานของการจัดตั้งโรงพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งยากไร้ และด้อยโอกาสให้เข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งในโครงการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ”สานต่อที่พ่อให้ทำ เพื่อผู้ป่วยมะเร็งด้อยโอกาส” อีกด้วย