posttoday

‘พ่อแม่คือเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดของลูก’ ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์

12 พฤษภาคม 2561

ความน่ารักและความอบอุ่นระหว่างแม่ลูกของ “อร” ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์ และ “น้องปัญ” วัย 2 ขวบ 3 เดือน

 โดย ฤดูกาล ภาพ : ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์ 

ความน่ารักและความอบอุ่นระหว่างแม่ลูกของ “อร” ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์ และ “น้องปัญ” วัย 2 ขวบ 3 เดือน ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องราวความสุขและสนุกสนานของการท่องเที่ยวแบบครอบครัว

แม้ว่าเธอและสามีจะเป็นเจ้าของบริษัทด้านอุปกรณ์ในงานอุตสาหกรรม เค เมทัล เทรดดิ้ง และเธอเองยังนั่งแท่นเป็นผู้บริหารหน่วยงานตัวแทนประกันชีวิต เอไอเอ

แต่สำหรับเจ้าหญิงตัวน้อยของครอบครัวแล้ว งานหนักไม่ใช่เหตุผลให้เธอใช้เวลากับลูกน้อยลง

‘พ่อแม่คือเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดของลูก’ ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์

แม่อรเล่าว่า เธอและสามีพาน้องปัญไปเที่ยวต่างจังหวัดตั้งแต่อายุ 5 เดือน โดยพาไปแรลลี่การกุศลที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งสำหรับครั้งแรกน้องปัญสามารถนั่งบนคาร์ซีตได้โดยไม่งอแงตลอดทาง แต่ฝ่ายที่ดูจะตื่นเต้นเป็นพิเศษน่าจะเป็นแม่อร

“ทริปแรกของลูก แม่เตรียมตัวอย่างมาก โดยเฉพาะของใช้ของลูกวัย 5 เดือน ทั้งเครื่องล้างขวดนม เครื่องปั๊มนมแม่ กระดาษเปียก ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ทิชชู่ น้ำดื่ม อาหารสำหรับทารกหากให้นมไม่สะดวก รถเข็น ชุดของลูกที่นำไปเผื่อหลายชุด และกระเป๋าประจำตัวที่ต้องพกไปทุกที่

โดยอรจะมีหลักว่า เหลือไม่เป็นไร แต่อย่าให้ขาด ซึ่งทริปแรกผ่านไปได้ด้วยดี ลูกไม่งอแง และรู้สึกได้ว่าลูกชอบไปเที่ยว ชอบออกจากบ้าน”

‘พ่อแม่คือเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดของลูก’ ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์

นอกจากนั้น ด้วยหน้าที่ของเธอและสามีที่ต้องเดินทางไปต่างจังหวัดบ่อยครั้ง โดยเฉพาะ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ทำให้เธอมักพาลูกไปด้วยเสมอ โดยยังเลือกวิธีการเดินทางด้วยรถยนต์ ซึ่งแม่อรรับหน้าที่วางแผนเรื่องอาหารการกิน ส่วนสามีทำหน้าที่จองที่พัก

“การเดินทางไกล 8-10 ชั่วโมงสำหรับเด็กเล็กไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าเราไม่รีบร้อน เพราะระหว่างทางนั้นต้องแวะพักบ่อยเพื่อไม่ให้ลูกเหนื่อยเกินไป และให้คุณพ่อกบ (สามี) ได้พักจากการขับรถด้วย” เธอกล่าวต่อ

“โดยเส้นทางขึ้นเชียงใหม่เราได้แวะเที่ยวที่กำแพงเพชรและลำพูนก่อน สถานที่ที่เราพาลูกไปอย่างแรกเลยคือ พาไปไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดนั้น จากนั้นจะพาเขาไปเที่ยวแบบสัมผัสธรรมชาติทั้งภูเขา น้ำตก สวนผัก ทุ่งนา เพราะอยากให้เขาได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติและได้สัมผัสดินต้นไม้ใบหญ้าให้มากที่สุด”

‘พ่อแม่คือเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดของลูก’ ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์

หากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์อย่างเสาร์-อาทิตย์ เธอก็ยังเลือกที่จะพาน้องปัญไปเที่ยวแถวชานเมือง ไปสวนผักแถวนครปฐมบ้าง หรือไปลุยสวนมะม่วงของคุณยายที่สระบุรีบ้าง เพื่อให้ลูกเรียนรู้วิถีชีวิตแบบอื่นนอกเหนือจากชีวิตเมือง

“อรอยากให้ลูกได้ไปเดินบนทุ่งนา ได้ลองไปขุดดินปลูกต้นไม้ เพราะเราไม่รู้เลยว่าโตขึ้นมาน้องปัญจะชอบอะไร จะชอบปลูกผักรดน้ำต้นไม้เหมือนตอนนี้ไหม แต่อย่างน้อยตอนนี้เราได้สอนเขาให้เห็นถึงความลำบากขั้นพื้นฐานที่ตัวเขาเองเคยทำและรับมือได้ ทำให้เขาไม่กลัวเปื้อนจากการจับดินจับทราย แค่นี้ลูกชาวนาชาวสวนอย่างอรก็ปลื้มแล้ว”

นอกจากนี้ แม่อรยังได้แบ่งปันให้ฟังว่า ลูกสาวของเธอเป็นโรคตาเหล่เข้าในโดยกำเนิด ซึ่งเธอสังเกตเห็นตั้งแต่ลูกอายุเพียง 7 เดือน และเข้ารับการรักษาตั้งแต่ตอนนั้น โดยเริ่มรักษาด้วยการปิดตาข้างที่ปกติเพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อตาข้างที่ขี้เกียจให้ขยันทำงานมากขึ้น

การรักษาควบคู่ไปกับการใส่แว่นสายตา (น้องปัญมีอาการสายตายาว) ซึ่งลูกสาวให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการใส่แว่นตาทำให้อาการของโรคดีขึ้นมาก แต่กระนั้นการรักษาที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดตาก่อนอายุ 3 ขวบ ซึ่งน้องปัญจะเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดในเดือน มิ.ย.นี้

‘พ่อแม่คือเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุดของลูก’ ฐิตารีย์ มีสวัสดิ์

“พ่อแม่ต้องสังเกตลูกตั้งแต่ยังเป็นทารกว่าดวงตามีความผิดปกติหรือไม่ เพราะภาวะตาเหล่เข้าในโดยกำเนิดไม่มีสาเหตุ และคนส่วนใหญ่มักคิดว่ามันคืออาการตาเอกที่พอโตขึ้นจะหายไปเอง แต่โรคนี้จะไม่หาย ดังนั้น ถ้าเห็นความผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที เพราะยิ่งรักษาตั้งแต่เล็กจะมีโอกาสหายได้มากกว่ารักษาตอนโต”

เธอยังได้แบ่งปันข้อมูลและวิธีการดูแลรักษาโรคนี้ไว้ในเพจเฟซบุ๊ก Pun Amlustians

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องโรคไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการพาลูกเที่ยว และไม่ใช่ปัจจัยที่จะมาขัดขวางความสุขของครอบครัว ซึ่งเธอได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการพาลูกเที่ยวว่า

“การพาลูกเที่ยวทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าเขามีความสุขที่ได้อยู่กับเรา เพราะลูกไม่รู้หรอกว่าเราพาเขาไปไหน เขารู้แค่ว่าได้ไปกับพ่อและแม่ก็มีความสุขที่สุดแล้ว ช่วงที่ลูกยังเล็กถือว่าเป็นช่วงเวลาทองสำหรับพ่อแม่ที่ต้องกอดลูกไว้ เดินไปด้วยกัน ไม่ให้ลูกรู้สึกเดียวดาย เพราะการเดินทางของลูกยังอีกยาวไกล

และแน่นอนว่าพ่อกับแม่เดินไปด้วยไม่ได้ตลอด ดังนั้น เวลานี้เองที่พ่อแม่ต้องเป็นเพื่อนร่วมทางของลูกให้มากและนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นความทรงจำและสร้างสายสัมพันธ์ ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ก็ไม่มีวันหายไปจากครอบครัว”