posttoday

ขบวนการ 4 พฤษภาคม จากอาวุโสสู่วัยรุ่น

07 พฤษภาคม 2561

นอกจากวันหยุดแรงงาน-เทศกาลหยุดยาวที่ขบวนทัพนักท่องเที่ยวจีนออกท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว

นอกจากวันหยุดแรงงาน-เทศกาลหยุดยาวที่ขบวนทัพนักท่องเที่ยวจีนออกท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว ต้นเดือน พ.ค. ยังมีวันสำคัญของจีนอีกหนึ่งวันนั่นก็คือ วันเยาวชนจีน ซึ่งกำหนดไว้เป็นวันที่ 4 พ.ค.ของทุกปี

ที่กำหนดดังนี้เป็นเพราะเหตุการณ์สำคัญเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 1919 ซึ่งถ้านับรอบปีนี้ก็จัดว่าครบ 99 ปีแล้วเลขสวย

แต่เหตุการณ์ช่วงนั้นในปี 1919 ไม่สวยเท่าไร ที่มาที่ไปเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จีนตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายพันธมิตร ซึ่งนำโดย ฝรั่งเศส โดยมีฝ่ายตรงข้ามเป็นฝ่ายมหาอำนาจกลาง นำโดยเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรียฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน ฯลฯ

อันที่จริงสงครามนี้มีสนามรบหลักอยู่ที่ฟากตะวันตกของโลก จีนในขณะนั้นเป็นเพียงคนป่วยแห่งเอเชียที่ยังไม่ฟื้นไข้ บ้านเมืองแตกแยกภายใน และชาติถูก

รุมทึ้ง แผ่นดินจีนฝั่งติดชายทะเลเต็มไปด้วยเขตเช่า ซึ่งก็คือเขตอิทธิพลของมหาอำนาจหลากหลาย จีนเพิ่งปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงสำเร็จ แต่ตามมาด้วยความวุ่นวาย ขุนศึกแต่ละท้องที่ไม่ยี่หระต่อรัฐบาลกลาง ด้านญี่ปุ่นก็ไกลจากสนามรบหลัก แต่ก็ขอเข้าร่วมในฝ่ายสัมพันธมิตร

ญี่ปุ่นกำลังมาแรง สามารถใช้จังหวะนี้ขยายอำนาจ ในเอเชีย จังหวะที่จีนยังลังเลว่าจะเข้าร่วมสงครามหรือไม่ ญี่ปุ่นอาศัยชื่อกองทัพสัมพันธมิตร ลงทุนลงแรงโจมตีกองทัพเยอรมัน ซึ่งครอบครองดินแดนส่วนหนึ่งของจีนอยู่ ย่อมต้องหวังได้แผ่นดินติดปลายนวม-ญี่ปุ่นวางแผนสร้างเขตอิทธิพลในจีนแทนที่เยอรมัน

สำหรับความร่วมมือจากจีน ญี่ปุ่นก็ต้องการเช่นกัน จึงร่วมชักจูงขุนพลต้วนฉีรุ่ย ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของจีนในขณะนั้นให้เข้าพวกสัมพันธมิตร ช่วงนั้นญี่ปุ่นยังให้รัฐบาลต้วนฉีรุ่ยยืมเงินกู้ 145 ล้านเยน แบบลับๆ ในนามสัญญาเงินกู้ Nishihara Loans

เด้งแรกขุนพลต้วนฉีรุ่ยสามารถใช้เงินกู้ก้อนนี้พัฒนากองทัพเพื่อร่วมสงครามโลก และมีแผนใช้กองทัพที่พัฒนาแล้วรวมแผ่นดินจีนที่ยังแตกแยกเป็นเด้งที่สอง ด้านญี่ปุ่นเองก็คิดใช้เงินก้อนนี้ผูกมัดและแทรกแซงรัฐบาลจีน เอาเป็นว่าต่างคนต่างดีดลูกคิดเสร็จสรรพ คนป่วยแห่งเอเชียซึ่งมีสิทธิจะไม่ข้องแวะกับสงครามโลกครั้งที่ 1 จึงประกาศเข้าร่วมกับเขาด้วย ภายใต้ความฝันที่ถูกฝ่ายพันธมิตรวาดไว้ว่า หากชนะจีนจะปลดแอกการ

รุมทึ้งของต่างชาติได้ ไม่มากก็น้อย แล้วญี่ปุ่นก็นำหยาดเหงื่อ เลือดเนื้อ และแรงกายของกองทัพอาทิตย์อุทัยเข้าปราบปรามเยอรมันในจีนได้สำเร็จ

อันที่จริงในสงครามครั้งนี้ จีนมิได้ส่งกองทหารไปที่สนามรบในยุโรปแต่อย่างใด เพียงแต่ส่งคนงานจำนวน 1.5 แสนคนไป เพื่อชดเชยแรงงานฝรั่งที่ต้องออกรบต้องตายในสงคราม แล้วสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็จบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร

เอาล่ะ แม้จีนจะไม่ได้ลงทุนอะไรมาก แต่ก็ได้ชื่อว่าอยู่ฝ่ายพันธมิตร เมื่ออยู่ฝ่ายชนะจีนก็ควรจะได้ยกระดับฐานะ ปลดแอกตัวเอง อย่างน้อยดินแดนซานตง ซึ่งเยอรมันเคยครอบครองสิทธิอยู่ เมื่อเยอรมันแพ้แล้ว จีนจึงเรียกร้องสิทธิในแผ่นดินซานตงคืนสู่จีน แต่ในที่ประชุมสันติภาพปารีสปี 1919 กลับมีมติยกสิทธิการครอบครองซานตงให้กับญี่ปุ่น โดยบอกว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสตกลงเรื่องนี้กันไว้แล้ว จึงต้องทำตามสัญญา

จีนได้แต่อุทานว่า...อ้าวเฮ้ย! ไม่เหมือนที่คุยกันไว้  กว่า 80 ปีก่อนหน้านั้นที่จีนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ถูกมหาอำนาจต่างชาติย่ำยีตลอดๆ มาครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยืนอยู่ข้างฝ่ายผู้ชนะ แต่กลับพบกว่ากลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในหมู่ผู้ชนะซะงั้น เรื่องนี้ทำให้ชาวจีนโกรธแค้นและกลุ่มคนที่ออกมาต่อต้านเป็นกลุ่มแรกไม่ใช่ใครอื่น คือกลุ่มเยาวชนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ นั่นเอง วันที่ 4 พ.ค. 1919 นักศึกษากว่า 3,000 คนจากหลายมหาวิทยาลัยแห่งในปักกิ่งรวมตัวกันที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เพื่อต่อต้านมติที่ประชุมสันติภาพปารีส ด้วยสโลแกนที่ว่า “ทวงแผ่นดินจากต่างชาติ กำจัดโจรขายชาติในประเทศ” “จะรบชิงแผ่นดินจีนไปก็ได้ แต่จะประเคนให้ญี่ปุ่นไปเฉยๆ ไม่ได้!” “จะฆ่าจะทรมานชาวจีนเราก็ได้ แต่เราจะยอมก้มหัวให้ศัตรูไม่ได้!” “ชาติเราถึงคราวเผชิญหายนะแล้ว พี่น้องทั้งหลายจงลุกขึ้นมา!”

สรุปเป็นสโลแกนจอมยุทธ์ได้ว่า “ฆ่าได้ หยามไม่ได้!” อารมณ์ร้อนแรงขนาดนี้ย่อมตามมาด้วยความรุนแรง แรกเริ่มเดินขบวนไปประท้วงที่หน้าสถานทูตอังกฤษและฝรั่งเศส แต่ทั้งคู่ก็ปฏิเสธการออกพบกลุ่มนักศึกษา มีเพียงทูตสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ออกมาแสดงท่าทีเห็นใจ สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจใหม่ ไม่บอบช้ำจากสงครามนัก และกำลังต้องการขยายอิทธิพลในจีน และในเมื่อการประท้วงครั้งนี้ชาวจีนเห็นญี่ปุ่นเป็นศัตรู สหรัฐแสดงออกแบบนี้จึงไม่มีอะไรเสียหายและอาจได้ใจชาวจีนมาบ้าง

พฤติกรรมนี้ทำให้กระแส “ทวงแผ่นดินจากต่างชาติ” มีทางระบาย ขบวนประท้วงจึงถึงหันหัวไป “กำจัดโจรขายชาติในประเทศ” กลุ่มนักศึกษาจึงเดินขบวนไปปิดล้อมรัฐมนตรีกระทรวงการสื่อสารที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีขายชาติ และได้พบว่าทูตจีนประจำญี่ปุ่นก็อยู่ในบ้านด้วย เหตุการณ์จึงบานปลายถึงขั้นเผาบ้านรัฐมนตรีทิ้ง จบลงด้วยการปราบปรามของรัฐบาลและจับผู้ชุมนุมได้ 30 ราย แต่ถ้าเรื่องทั้งหมดจบแค่นี้ได้ก็นับว่าแปลก

นักศึกษาทั่วประเทศตอบรับการประท้วง เกิดเป็นกระแสนัดหยุดเรียนออกมาเดินขบวน ยิ่งปราบยิ่งจับกระแสก็ยิ่งลุกลาม ไม่นานกระแสก็ลามไปที่กลุ่มพ่อค้าและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทั้งหมดร่วมประท้วงกับนักศึกษาด้วยการนัดปิดร้านและหยุดงานรัฐบาลจึงต้องถอย โดยสั่งสังเวยปลดเจ้าหน้าที่จีนที่เกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นออก 3 ราย และในวันที่ 28 มิ.ย. ตัวแทนของจีนในที่ประชุมสันติภาพที่แวร์ซายปฏิเสธการลงนามในสนธิสัญญา ถือเป็นชัยชนะของขบวนการ 4 พฤษภาคม ในที่สุด

และนี่เองจึงเป็นที่มาของ “วันเยาวชนจีน” เพราะนี่คือสัญลักษณ์ที่ว่าเยาวชนเปลี่ยนแปลงประเทศจีนได้ (ภายหลังมหาวิทยาลัยปักกิ่งยังถือเอาวันที่ 4 พ.ค. เป็นวันถือกำเนิด (ใหม่) ของมหาวิทยาลัยเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้เช่นกัน) แต่หน้าที่ของขบวนการ 4 พฤษภาคม คงไม่มีความหมายอะไรถ้าเสร็จสิ้นภารกิจเพียงเท่านั้น เหตุการณ์นี้ยังระเบิดกระแสตื่นตัวในความล้าหลังและด้อยค่าในเวทีโลกของจีน

ปัญญาชนและนักวิชาการทั้งหลายนำเสนอหนทางแก้ไขประเทศ โดยฝากความหวังให้คนสองคน คือ เต๋อ และ ไซ่ ปัญญาชนไม่ได้คิดฝากประเทศไว้กับใครที่ไหน แต่ชื่อ เต๋อ และ ไซ่ เป็นตัวย่อของ Democracy และ Science…

ประชาธิปไตยและวิทยาศาสตร์ และตามมาด้วยการปฏิวัติทางความคิดครั้งใหญ่ คงจะอ่อนหัดไปถ้าจะบอกว่าหลังขบวนการ 4 พฤษภาคม แล้วประเทศจีนพบแต่กับความดีงาม ปฏิกิริยาจาก 4 พฤษภาคมลอกคราบอารยธรรมอาวุโสสู่วัยรุ่นคนใหม่ ซึ่งมีไม่น้อยที่เหวี่ยงจีนไปสู่การปฏิเสธสิ่งเก่าอย่างไร้เยื่อใย และการมุ่งไปสู่หนทางใหม่อย่างสุดโต่ง จีนยังต้องเผชิญวิกฤตทางการเมือง การทหาร และวัฒนธรรมอีกมาก และหลายวิกฤตปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการใช้แนวคิด 4 พฤษภาคม แบบนอกลู่นอกทาง จีนกลายเป็นวัยรุ่นใจร้อนในบัดดล ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราสามารถบอกได้ว่าจีนตัดสินใจลาขาดกับโลกจีนเก่าด้วยเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม และจีนในปัจจุบันก็ยังคงอยู่บนเส้นทางของเหตุการณ์นี้แทบทั้งสิ้น นี่คือจุดหักเหสำคัญที่ทำให้ประเทศจีนเปลี่ยนไป

99 ปีผ่านไป คนป่วยแห่งเอเชียที่ขอเปลี่ยนตัวเองเป็นวัยรุ่นคนใหม่จึงเป็นอย่างที่เห็นเช่นวันนี้