posttoday

สะกิดใจกับโรคสะเก็ดเงิน

28 เมษายน 2561

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

โดย โสภิตา สว่างเลิศกุล [email protected]

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคเรื้อรังทางผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งไม่ใช่โรคติดต่อ และยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด โดยลักษณะอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ ผื่นนูนแดงมีอาการผิวแห้งลอกเป็นสะเก็ดสีขาว หรือผื่นตุ่มแดงมีน้ำหนอง สามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของร่างกาย ทั้งยังพบว่าผู้ป่วยนั้นมักมีอาการของโรคอื่นแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคข้อเสื่อม ซึ่งอาจก่อให้เกิดความพิการ หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาอย่างถูกต้อง

 เว็บไซต์เมดไทย ที่นำเสนอเรื่องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การรักษาโรค การใช้ยา สมุนไพร แม่และเด็ก ฯลฯ ให้ข้อมูลว่า โรคสะเก็ดเงินจัดเป็นโรคผิวหนังที่พบได้เรื่อยๆ แต่ไม่ถึงกับบ่อยมาก (ประมาณ 1-3% ของคนทั่วไป) สามารถพบได้ในคนทุกวัยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่พบได้มากในผู้ใหญ่ เพราะปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคในเด็กยังมีไม่มาก เช่น ความเครียด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน

 โอกาสที่พบในผู้หญิงและในผู้ชายมีใกล้เคียงกัน ผู้ป่วยมักจะเริ่มมีอาการครั้งแรกในช่วงอายุ 10-40 ปี ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 3 พบว่ามีประวัติโรคนี้ในครอบครัว และอาการมักจะกำเริบเมื่อมีปัจจัยมากระตุ้น (ที่พบบ่อยคือ ความเครียด)

 ผู้ที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน เพราะมีความผิดปกติทางพันธุกรรมเป็นพื้นฐาน แล้วมีสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการและอาการแสดงทางผิวหนัง เล็บ และข้อร่วมด้วย แต่ความผิดปกติทางพันธุกรรมไม่จำเป็นที่บิดา มารดา หรือญาติพี่น้องจะต้องเป็นโรคนี้กันทุกคน เพียงแต่ว่าผู้ป่วยโรคนี้จะมีแนวโน้มทางพันธุกรรมที่จะเป็นโรคนี้อยู่

 โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุในการเกิดที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาเชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน (ไม่ได้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งเพียงสาเหตุเดียว) เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน และปัจจัยกระตุ้นจากภายนอก ส่งผลให้เซลล์ผิวหนังส่วนนั้นแบ่งตัวเร็วกว่าปกติร่วมกับเกิดการอักเสบจึงเกิดเป็นปื้น (Plaque) หรือเป็นแผ่นหนา แดง คัน และตกสะเก็ด

 ดร.นพ.เวสารัช เวสสโกวิท แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคผิวหนัง สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า ในปัจจุบันคาดว่าร้อยละ 2 ของประชากรไทยเป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยสามารถพบได้ทั้งเพศหญิงและเพศชายในจำนวนเท่าๆ กัน

 ด้วยอาการของโรคสะเก็ดเงินที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ผื่นบริเวณหนังศีรษะลอกแห้ง ผิวหน้า หรือบริเวณนอกร่มผ้า จึงค่อนข้างส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ในด้านการทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจในการเข้าพบปะผู้คนหรือการเข้าสังคม

 “เนื่องจากโรคสะเก็ดเงิน ถือเป็นโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบในด้านการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด และคนทั่วไปอาจยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้อย่างชัดเจน จนมองว่าเป็นโรคติดต่อและเกิดจากความสกปรก ซึ่งล้วนแต่สร้างความกังวลใจให้แก่ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเพิ่มมากขึ้น”

สะกิดใจกับโรคสะเก็ดเงิน

 หรือบางกรณี ผู้ป่วยมักมีอาการปวดข้อ รูปลักษณะข้อเกิดการผิดรูปหรือเสียรูปถาวร จนส่งผลให้ไม่สามารถทำงาน หรือดำเนินชีวิตประจำวันได้เท่าคนปกติ โรคสะเก็ดเงินจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มีอาการเป็นช่วงๆ แต่สามารถควบคุมอาการได้

 ดังนั้น การวางแผนเพื่อการรักษาในระยะยาวและต่อเนื่องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จึงนับเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง โดยแพทย์ฯ จะต้องวินิจฉัยจากชนิดของอาการของผู้ป่วย ความรุนแรง

 สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินเกินร้อยละ 5 ของพื้นที่ผิวจะถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จำเป็นต้องได้รับยาที่นอกเหนือจากยาทา ได้แก่ การฉายแสงหรือการอาบแสงแดดเทียม และการรับประทานยาหรือฉีดยาสำหรับโรคดังกล่าว แต่หากผู้ป่วยมีอาการไม่ถึงร้อยละ 5 ของพื้นที่ผิว โรคมักจะสามารถควบคุมได้ด้วยการใช้เพียงยาทา

 การปฏิบัติตนเพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเคล็ดลับ 4 ประการในการดูแลตนเองของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินมีดังนี้

 1.เข้าใจโรคสะเก็ดเงิน ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงินอย่างชัดเจน เพื่อสามารถดูแลและรักษาตนเองได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 2.ดูแลร่างกายและจิตใจอย่างเคร่งครัด ด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 3.หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ การแกะเกา การปล่อยให้ผิวหนังแห้งขุย การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา เป็นต้น

 4.สังเกตและป้องกันตนเองจากภาวะโรคแทรกซ้อน เช่น หากว่าเกิดอาการปวดบริเวณข้อใด ข้อหนึ่งในร่างกายจะต้องรีบมาพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัยและรักษาจากโรคข้อเสื่อมอักเสบ ผู้ป่วยบางรายที่ปล่อยให้ตนเองอ้วนมากเกินไปก็อาจเพิ่มความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคหัวใจมากกว่าคนไข้ที่มีน้ำหนักปกติ

 ปัจจุบันสถาบันโรคผิวหนัง ได้ร่วมกับสมาคมแพทย์ผิวหนัง เพื่อเริ่มดำเนินการทำแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพโรคสะเก็ดเงินระดับประเทศขึ้น โดยจะมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสถิติโรคสะเก็ดเงินทั่วประเทศ

 รวมไปถึงแนวทางในการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน และแนวทางในการดูแลคนไข้โรคสะเก็ดเงินอย่างถูกวิธี ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินสามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมมากขึ้น รวมถึงได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมจากคนในสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน