posttoday

กินดี อายุยืน ยืดอายุอวัยวะ

19 เมษายน 2561

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบชัดเจนขึ้นทุกวัน สาระของการเป็นผู้สูงวัยว่าจะอยู่จนอายุเท่าไร

เรื่อง กันย์ ภาพ pixabay

ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบชัดเจนขึ้นทุกวัน สาระของการเป็นผู้สูงวัยว่าจะอยู่จนอายุเท่าไร ไม่สำคัญเท่ากับต้องอายุยืนแบบสุขภาพดีไม่เจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บออดๆ แอดๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีพอสมควร จะไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องพึ่งหา
คนอื่นจนเกินสมควรนั้นเป็นเรื่องที่ดี

มีข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกี่ยวกับวิธียืดอายุ 10 อวัยวะ ที่ใครๆ ก็ทำได้ โดยได้อ้างอิงผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ดร.โรแนน แฟคโทรา แห่งสถาบันการแพทย์ Cleveland Clinic สหรัฐ ได้เด็ดยอดวิธียืดอายุอวัยวะต่างๆ ไว้ ดังนี้

1.สมอง - ความเสื่อมของสมอง ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ตัวช่วยคือการ นิวโรบิกส์ เอ็กเซอร์ไซส์ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องใช้มือทั้งสองข้างทำงานประสานกัน เช่น 
ทำสวน เย็บผ้า ทำกับข้าว ช่วยให้สมองทั้งซีกซ้ายและขวาได้รับการกระตุ้นและทำงานไปพร้อมกัน เลือกกิน ปลาทะเล ถั่วเปลือกแข็ง และธัญพืช ฝึกเจริญสติก่อนนอน กำหนดรู้ลมหายใจเข้าและออก จนกว่าจะหลับ ช่วยลดความเครียดและทำให้สมองปลอดโปร่ง

2.ดวงตา - หลังอายุ 40 ปี ดวงตา จอประสาทตา เลนส์ตาจะเสื่อมลง ควรสวมแว่นกันแดด ก่อนทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกครั้ง ส่วนผู้ที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาทุกๆ 45 นาที อย่างน้อย 5-10 นาที เพื่อคลายเครียดให้สายตาและงดใช้โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตก่อนนอน

3.หู - คนสูงวัย 1 ใน 3 คน มีปัญหาเรื่องการได้ยิน ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหรืออาศัยอยู่ในที่ที่มีเสียงดัง หากจำเป็นต้องใส่เครื่องป้องกัน งดสั่งน้ำมูกแรงๆ หรือกลั้นจาม เพราะอาจทำให้เยื่อแก้วหูมีปัญหา งดแคะหูเอง เพราะขี้หูเป็นขี้ผึ้งรักษาความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ การแคะหูทำให้เกิดการอักเสบและเยื่อแก้วหูฉีกขาดได้

4.ปอด - หลังอายุ 30 ปี ประสิทธิภาพการทำงานของปอดจะลดลงราวร้อยละ 1 ควรว่ายน้ำ หรือวิ่ง อย่างน้อยวันละ 45 นาที-1 ชั่วโมง เลือกใช้สมุนไพรไทยปรับธาตุ จิบยาตรีผลา ก่อนอาหารเช้า-เย็น ครั้งละ 1 แก้ว หลีกเลี่ยงควันธูป ควันจากการประกอบอาหาร ฝุ่นขนาดเล็ก และสารเคมีที่มีไอระเหยต่างๆ

5.หัวใจ - หลังอายุ 65 ปี จะเริ่มมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจที่ลดลงสวนทางกับอัตราการหนาตัวของผนังหัวใจที่เพิ่มขึ้น งดอาหารหวาน มัน เค็ม รักษาความดันโลหิต และน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควร
ว่ายน้ำ เดิน วิ่ง โยคะ รวมถึงการยกน้ำหนัก ช่วยให้หัวใจทำงานต่อเนื่อง กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง ลองปลูกต้นไม้ ไปทำกิจกรรมในสวนสาธารณะ หรือมีสัตว์เลี้ยง

6.ไต - หลังอายุ 50 ปี ไตจะเริ่มเสื่อมลงทีละน้อยๆ การดื่มน้ำให้เพียงพอเป็นเรื่องที่ดี สถาบันการแพทย์สหรัฐ ระบุว่า ผู้ชายอายุ 19 ปีขึ้นไป ต้องดื่มน้ำ 13 แก้ว/วัน ขณะที่ผู้หญิง ต้องการน้ำวันละ 9 แก้ว งดปรุงแต่งรสอาหารโดยไม่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล เกลือ หรือซอสต่างๆ ต้องควบคุมน้ำหนักตัว และความดันโลหิตไม่ให้เกินเกณฑ์

7.สำไส้ - หลังอายุ 60 ปี ร่างกายจะดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง จึงต้องกินอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารทอด ควรกินโยเกิร์ต 1 ถ้วยทุกวัน เสริมโปรไบโอติก เพิ่มปริมาณแบคทีเรียดีในลำไส้ ลองฝึกโยคะช่วยระบบย่อยทุกเช้าหลังตื่นนอน อย่างท่าแมว ท่าสุนัข ท่าสามเหลี่ยม ท่าสะพาน และท่าศพ ครั้งละ 3-5 ลมหายใจ

8.กระดูก - หลังอายุ 35 ปี ความหนาแน่นของมวลกระดูกจะลดลงราวร้อยละ 1 และจะมีอัตราลดลงเร็วขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ควรยกน้ำหนัก หรือกระโดดขึ้น-ลง 20 ครั้ง วันละ 2 เซต เพิ่มเมนูไทยๆ เปี่ยมแคลเซียม เช่น น้ำพริกกะปิปลาทูทอดกับผักสด อย่างน้อย 3-4 มื้อ/สัปดาห์ ระวังการใช้ยาสเตียรอยด์และยาลูกกลอนที่มีผลทำให้กระดูกพรุน

9.กล้ามเนื้อ - หลังอายุ 40 ปี มวลกล้ามเนื้อจะลดลงและเปลี่ยนเป็นไขมัน อัตรานั้นไม่สม่ำเสมอขึ้นอยู่กับรูปแบบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ออกกำลังด้วยการวิดพื้น สควอต และยกน้ำหนัก ท่าละ 15-20 ครั้ง นับเป็น 1 เซต ทำทุกวันอย่างน้อยครั้งละ 2 เซต

การกินอาหารที่มีสารแอนติออกซิแดนต์สูง เช่น ผักหลากสี ผลไม้รสเปรี้ยว รสฝาดขม จะช่วยชะลอกระบวนการเสื่อมของเซลล์ตามปกติได้ อย่าลืมเสริมด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำสมาธิ และหาโอกาสออกไปพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ เพื่อลดความเครียด (ตัวการเร่งให้เกิดกระบวนการเสื่อมของเซลล์) เท่านี้ก็ช่วยยืดอายุให้อวัยวะต่างๆ ได้