posttoday

เอิร์ทเดย์ 2561 ขอให้โลกไร้ขยะพลาสติก

19 เมษายน 2561

22 เม.ย.ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันคุ้มครองโลก หรือเอิร์ทเดย์ ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะมีหัวข้อในการพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป

เรื่อง โยธิน อยู่จงดี ภาพ อีพีเอ, เอเอฟพี

22 เม.ย.ของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวันคุ้มครองโลก หรือเอิร์ทเดย์ ซึ่งในแต่ละปีนั้นจะมีหัวข้อในการพูดถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป ตามปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาใหญ่ในช่วงปีนั้น และในปี 2561 นี้ เอิร์ทเดย์ได้กำหนดหัวข้อว่า End Plastic Pollution สืบเนื่องจากปัญหาการพบไมโครพลาสติกในทะเล และตกค้างในตัวสัตว์ทะเลมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ และมนุษย์ก็บริโภคอาหารทะเลที่ปนเปื้อนไมโครพลาสติกกลับสู่ตัวเราเอง

ขยะนั้นคืนสนอง

ช่วงเวลาที่ผ่านมาชาวกรุงเทพฯ ได้เผชิญปัญหามลพิษทางอากาศด้วยฝุ่นควันขนาดเล็กเกินกว่า2.5 พีเอ็ม จนเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน แต่กลับกลายเป็นเรื่องเล็กในทันที เมื่อโลกทั้งใบโดยเฉพาะความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้กำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกขั้นรุนแรงที่สุดเท่าที่เราเคยมีการศึกษาวิจัยมา

หลายคนตั้งคำถามว่าปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องใหม่ ทำไมถึงได้ตื่นตระหนกกันไปมากมาย ซึ่งถูกต้องแล้วที่ว่าปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไมโครพลาสติกที่เกิดจากการย่อยสลายพลาสติก กำลังแพร่กระจายอยู่ในระบบนิเวศ อยู่ในอาหารและน้ำดื่มที่เราบริโภคกันอยู่ทุกวันนี้

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พูดถึงธีมใหญ่ของเอิร์ทเดย์ ในปีนี้ที่กล่าวถึงการจัดการปัญหาขยะพลาสติก ก็เพื่อจะขับเคลื่อนให้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกที่สั่งสมมานาน “และจะเป็นประเด็นที่เอิร์ทเดย์จะพูดถึงไปอีก 2 ปี จนถึงประมาณปี 2563 ซึ่งจะครบ 50 ปีของการก่อตั้งเอิร์ทเดย์ แล้วจบปัญหาขยะพลาสติกโดยให้ทั่วโลกมีส่วนร่วมช่วยกันแก้ไขให้ได้

เอิร์ทเดย์ 2561 ขอให้โลกไร้ขยะพลาสติก

การแก้ปัญหาขยะพลาสติก ตบมือข้างเดียวมันไม่ดัง ต้องมีการเน้นถึงพลาสติกว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร ใครเป็นคนผลิตใครเป็นคนใช้ โดยเฉพาะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดลงเลย โดยเฉพาะประเทศในแถบภูมิภาคเอเชีย

หากดูข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ราคาน้ำมันถูกลงมีการผลิตเพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อผลิตน้ำมันเพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้มีการผลิตเม็ดพลาสติกเข้าสู่ท้องตลาด เพิ่มเป็นเงาตามตัวยิ่งมีราคาถูกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งกระตุ้นให้เกิดการใช้พลาสติกกันมากขึ้นเท่านั้น

ในเอเชียที่มีปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุดก็คือ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก ก็จะพบปัญหาขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การเติบโตของขยะพลาสติกอย่างรวดเร็วนี้ ส่งผลให้มีปัญหาขยะพลาสติกไม่เพียงแต่เฉพาะบนบก แต่ยังแพร่กระจายไปสู่แหล่งน้ำสู่ทะเลจนถูก ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกที่สร้างผลกระทบในวงกว้างอีกด้วย”

พลาสติกล้นโลก

วาเรเลีย เมอร์ริโน รองประธานเครือข่ายเอิร์ทเดย์ กล่าวถึงปัญหาขยะพลาสติกไว้ว่า พลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นราว 9,100 ล้านตัน “ในจำนวนนี้จะกลายเป็นขยะพลาสติกสูงถึง 6,900 ล้านตัน และในจำนวนนี้มีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล จึงเห็นได้ว่าเรายังไม่สามารถจัดการปริมาณขยะจำนวนมหาศาลได้อย่างถูกต้อง และคาดว่าจะมีการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว ในอีก 25 ปีข้างหน้า

เวลานี้มีการพบไมโครพลาสติกในน้ำดื่มและปลาที่เรากิน พลาสติกที่เราทิ้งไว้ในธรรมชาติไม่เพียงฆ่าสัตว์ป่าเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนกว่า 2,000 ล้านคนทั่วโลก จากความไร้ประสิทธิภาพในการจัดการขยะพลาสติก

มลพิษพลาสติกเป็นความท้าทายที่เราต้องร่วมกันแก้ปัญหา เราเห็นพลาสติกลอยอยู่ในแม่น้ำ ในมหาสมุทรและทะเลสาบของขยะเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของเราและอนาคตของเยาวชนนับพันล้านคน เราทุกคนมีส่วนร่วมในปัญหานี้โดยไม่รู้ตัว และเราต้องทำทุกอย่างเพื่อลดขยะพลาสติก และท้ายสุดคือการยุติมลพิษพลาสติกลงให้ได้”

เอิร์ทเดย์ 2561 ขอให้โลกไร้ขยะพลาสติก

ข้อมูลจากเอิร์ทเดย์ยังระบุว่า เมื่อปี 2553 มีการปล่อยขยะลงสู่ทะเลสูงถึง 8 ล้านตัน และมีการคาดการณ์กันว่ามีขยะราว 2 แสนตัน แพร่กระจายไปทั่วท้องทะเล รวมไปถึงก้นมหาสมุทร

7 ปีถัดมา ในปี 2560 พบรายงานของมหาวิทยาลัยกริฟฟิธ ประเทศออสเตรเลีย ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า ตัวเคยจำนวนมากที่พบในมหาสมุทรแอนตาร์กติก สามารถย่อยเม็ดพลาสติกพอลิเอทิลีนขนาด 31.5 ไมครอน ให้กลายเป็นเม็ดพลาสติกขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียงไม่ถึง 1 ไมครอน ซึ่งคาดว่าจะมีพลาสติกขนาด 1 ไมครอน แพร่กระจายอยู่ทั่วมหาสมุทรแล้ว

ในขณะเดียวกันยังมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ พบเม็ดไมโครพลาสติกจากขยะอยู่ในท้องของสัตว์ที่อาศัยตามก้นทะเลลึกของมหาสมุทรแปซิฟิก แม้แต่ในสัตว์น้ำที่อาศัยตรงส่วนที่ลึกถึง 11 กิโลเมตร

ด้านมหาวิทยาลัยแห่งชาติไอร์แลนด์ก็รายงานในทิศทางเดียวกัน จากการสำรวจปลาใต้ทะเลลึกขนาดเล็กถึงปานกลางทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแอตแลนติก ก็พบไมโครพลาสติกตกค้างอยู่ในกระเพาะปลาทะเลเป็นจำนวนมากกว่า 73 เปอร์เซ็นต์

ประเทศที่มีปัญหาพลาสติกสูงเป็นอันดับ 1 ก็คือ จีน รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนไทยนั้นอยู่อันดับ 6 จากการเก็บข้อมูลของเครือข่ายเอิร์ทเดย์

จากขยะสู่วงจรอาหาร

ไมโครพลาสติก คือชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดประมาณ 1 นาโนเมตร  ซึ่งมีขนาดเล็กจนสายตาปกติของเรามองไม่เห็น เกิดจากการย่อยสลายพลาสติกบางส่วนที่ถูกทิ้งไว้ตามธรรมชาติ สามารถปนเปื้อนในน้ำและแพร่กระจายได้ในอากาศ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาไกลตัวเราแต่อย่างใด

องค์การอนามัยโลกได้ออกคำเตือน ผลสำรวจสารตกค้างในน้ำดื่มที่วางขายทั่วโลก พบไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำดื่มบรรจุขวดสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ และหนึ่งในนั้นมีน้ำขวดจากประเทศไทยรวมอยู่ด้วยโดยขวดที่มีปริมาณไมโครพลาสติกปะปนสูงสุดมีมากกว่า 1 หมื่นเม็ด ซึ่งจากการสำรวจทั้งหมด 259 ขวด มีเพียง17 ขวดเท่านั้น ที่ไม่มีไมโครพลาสติกปะปนอยู่

ธารา เล่าต่อว่า นโยบายการจัดการขยะที่มีอยู่นั้นไม่ครอบคลุมและเพียงพอต่อการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มมากขึ้น “หากมองประเทศที่มีการจัดการปัญหาขยะพลาสติกที่ดี เราก็จะพบว่ามีการควบคุมปัญหาขยะพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง และไม่คิดอะไรซับซ้อน เช่น ประเทศนิวซีแลนด์ มีโครงการที่เรียกว่าขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste) ที่เริ่มทำมานานแล้วและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

พวกเขามีการตั้งเป้าหมายว่าใน 10 ปีข้างหน้าจะลดขยะ ลดการผลิตสิ่งที่จะกลายเป็นขยะลงครึ่งหนึ่งการที่ลดลงครึ่งหนึ่งไม่ได้หมายความว่าจะจัดการด้วยการฝังกลบหรือไปสู่การเผา

เอิร์ทเดย์ 2561 ขอให้โลกไร้ขยะพลาสติก

การลดลงเกิดจากมาตรการ ห้ามการใช้ผลิตภัณฑ์ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ด้วยมาตรการทางภาษีทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค หรือขยายความรับผิดชอบร่วมกันนั่นเอง

ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงว่าถ้าจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีหีบห่อพลาสติกออกมา จะต้องออกแบบให้ดี คนเอาไปใช้แล้วสามารถนำกลับมาใช้ได้อีกไหม หรือเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่นได้แทนที่จะใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งในขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องลดการใช้เวลาซื้อสินค้า สังเกตว่าเมื่อไปที่นิวซีแลนด์ เขาจะไม่มีการให้ถุงพลาสติกเมื่อซื้อสินค้า แต่จะถามก่อนว่าต้องการไหม ถ้าต้องการก็จะต้องเสียค่าถุงพลาสติกเพิ่มเป็นการผลักภาระสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค

ในประเทศไทยเองเคยมีงานวิจัยในเรื่องของการลดใช้ถุงพลาสติก ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่นั้นเห็นด้วยที่จะมีการเรียกเก็บค่าถุงพลาสติกเพิ่มทุกครั้งที่ซื้อสินค้า แต่สิ่งที่เราพบในปัจจุบันก็คือ เมื่อเข้าไปยังร้านค้าก็จะมีการบริการใส่ถุงพลาสติกมาให้ในทันที ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกไม่ลดน้อยลงไปเลย มิหนำซ้ำขยะพลาสติกเหล่านั้น ส่วนหนึ่งจะถูกพัดพาลงทะเลอีกด้วย

สำหรับไบโอพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผมมองว่าเป็นแค่ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยลดปัญหา แต่ไม่ใช่กระสุนทองคำที่ยิงไปแล้วจะแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ทั้งหมด ทุกอย่างต้องเริ่มจากนโยบายที่ชัดเจน และออกมาตรการที่จูงใจให้ลดใช้พลาสติกมากกว่านี้

ปัญหาธรรมชาติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก ทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด เราเผาขยะ ขับรถใช้น้ำมัน เผาป่า ก็กลายเป็นปัญหามลพิษทางอากาศ เราทิ้งขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ปล่อยลงทะเล ไม่จัดการให้ดี สุดท้ายก็ย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกปนเปื้อนในน้ำที่เราดื่ม อยู่ในอาหารที่เรากิน กระทบวนเวียนกันเป็นวัฏจักรกลับมาสู่ตัวเรา” ธารา ทิ้งท้าย

เอิร์ทเดย์ 2561 ขอให้โลกไร้ขยะพลาสติก